โรงเรียนที่ตั้งเพื่อขจัดวงจรความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน

โรงเรียนที่ตั้งเพื่อขจัดวงจรความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน

แม้ในทางกฎหมายประเทศอินเดียจะยกเลิกระบบวรรณะอย่างเป็นทางการไปนานแล้ว แต่ในทางปฏิบัติการแบ่งแยกวรรณะก็ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะตามแถบชนบทอันห่างไกลความเจริญ ปัญหาความยากจนประกอบกับความเชื่อที่ว่าจัณฑาลเป็นวรรณะต้อยต่ำซึ่งฝังรากลึกในสังคมอินเดียมานานนับพันปี ทำให้เด็กจำนวนมากไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมและขาดโอกาสในการพัฒนาความรู้ความสามารถ

เพื่อขจัดวงจรความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน Abraham George นักธุรกิจชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย จึงได้ก่อตั้งโรงเรียนสันติภาวัณ (Shanti Bhavan) ขึ้นในปี 1997 สถานที่แห่งนี้คือโรงเรียนประจำที่รับเด็กยากจนเข้ามาศึกษาเล่าเรียนพร้อมที่พักและอาหารฟรี โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เด็กๆ เติบโตขึ้นเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ 

นอกจากจะเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อเด็กด้อยโอกาสแล้ว สันติภาวัณยังเปรียบเสมือนพื้นที่ทดลองทางสังคมที่พิสูจน์ว่าเด็กจากวรรณะจัณฑาลไม่ได้ด้อยไปกว่าเด็กวรรณะอื่น Abraham George ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสันติภาวัณกล่าวไว้ว่า

ถ้าคุณช่วยเด็กคนนึง เด็กคนนั้นอาจช่วยเด็กคนอื่นได้อีกเป็นร้อยเป็นพัน หรืออาจช่วยได้อีกเป็นล้านถ้าเขาได้เป็นผู้นำประเทศ ผมคิดว่าถ้าให้ความรักความใส่ใจ เลี้ยงดูพวกเขาด้วยค่านิยมที่ดีงาม มอบการศึกษาที่ดี ส่งพวกเขาเข้าวิทยาลัยดีๆ ได้งานดีๆ พวกเขาจะประสบความสำเร็จ

ช่วงปีแรกๆ ของการก่อตั้ง ครูอาจารย์ที่เชื่อมั่นในตัวเด็กเหล่านี้ยังไม่สามารถพิสูจน์ความจริงให้ประจักษ์ได้ว่าการศึกษาจะเปลี่ยนชีวิตครอบครัวยากไร้ได้อย่างไร แต่เวลาต่อมาเมื่อเด็กหลายรุ่นเติบโตจนสามารถศึกษาต่อในระดับสูงและมีหน้าที่การงานที่ดี ศิษย์เก่าสันติภาวัณหลายคนใช้เวลาเพียงห้าปีแรกของการทำงานหาเงินได้มากกว่าที่พ่อแม่ของพวกเขาทำมาตลอดชีวิต

การศึกษาเปิดประตูสู่โอกาสให้พวกเขาได้เติมเต็มความฝันและยกระดับฐานะครอบครัวให้หลุดพ้นจากกับดักความยากจนที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น รวมถึงสร้างคุณค่าบางอย่างกลับคืนสู่สังคมที่ดูจะมีความหวังมากขึ้นในการขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำ หากสนใจเรื่องราวของโรงเรียนสันติภาวัณที่มุ่งมั่นใช้การศึกษาเป็นอาวุธต่อสู้กับความยากจน นอกจากนี้ทาง Netflix ยังนำโรงเรียนนี้ไปถ่ายทอดเรื่องราวในรูปแบบสารคดี สามารถรับชมสารคดี Daughters of Destiny ได้