ลดจำนวนเด็กเยาวชนตกหล่นจากระบบการศึกษา เพื่อไม่ให้เรา ‘ก้าวถอยหลัง’ ไปสู่อนาคต

ลดจำนวนเด็กเยาวชนตกหล่นจากระบบการศึกษา เพื่อไม่ให้เรา ‘ก้าวถอยหลัง’ ไปสู่อนาคต

“ปัญหาเด็กเยาวชนตกหล่นจากระบบการศึกษา เป็นวาระสำคัญที่ประเทศอาเซียนเร่งพิจารณาร่วมกัน โดยมองว่าการจะแก้ปัญหาที่ต้นตอสาเหตุ จำเป็นต้องมีกลยุทธ์ลงลึกตั้งแต่ระดับชุมชน ท้องถิ่น จนถึงระดับประเทศ ระหว่างประเทศร่วมภูมิภาค และเชื่อมโยงกับโลกทั้งใบ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย คือ 1.สร้างโอกาสการเข้าถึงการศึกษาสำหรับทุกคน 2.สนับสนุนให้เกิดความเสมอภาค และ 3.ติดตามการเข้าถึงและโอกาสไปต่อทางการศึกษาของเด็กเยาวชนต่อเนื่องเป็นลำดับ  

“เด็กปฐมวัยต้องได้เข้าสู่การศึกษาตามเกณฑ์ เยาวชนที่จบชั้นประถมและมัธยมศึกษา ต้องได้เรียนต่อ ในระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น เท่าเทียม สอดรับกับทุกปัญหา ไม่ว่าความยากจน หรือหลักสูตรการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์ ขัดแย้งกับธรรมชาติหรือบริบท ความจำเป็น ทำให้เด็กไม่สามารถเรียนจนจบได้”

ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวถึงประเด็นสำคัญในการทำงานกับนานาประเทศ บนการเดินทางสู่เป้าหมายที่ท้าทายเพื่อบรรลุผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาร่วมกันในระยะยาว

ภูมิภาคอาเซียน (ASEAN) มีปฏิญญาว่าด้วยการส่งเสริมความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้กับเด็กเยาวชนที่ตกหล่น ในปี 2516 โดย ‘ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ เป็นหัวข้อที่ถูกยกขึ้นพิจารณาอย่างจริงจังเร่งด่วน โดยเฉพาะปัญหาเด็กเยาวชนนอกระบบซึ่งมีมิติปัญหาที่ซับซ้อน

ในฐานะที่ กสศ. มีหน้าที่รับผิดชอบการขับเคลื่อนภารกิจลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทย โดยมุ่งความสำคัญไปยังกลุ่ม ‘Last Mile’ คือเด็กยากจนด้อยโอกาสจากครอบครัวที่มีรายได้ครัวเรือน 15-20% ล่างสุดของประเทศ ซึ่งจากข้อมูลของคณะกรรมการปฏิรูปอิสระด้านการศึกษาระบุว่ามีราว 4 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นเด็กเยาวชนกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในระบบ 1.8 ล้าน (ป.1-ม.3) ที่ถ้าไม่มีการช่วยเหลือป้องกัน สนับสนุนทรัพยากร หรือให้โอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ที่เพียงพอ ก็มีแนวโน้มว่าจะหลุดจากระบบได้ทั้งหมด

นอกจากนี้ยังมีเด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบไปแล้วประมาณ 4 แสนกว่าคน ซึ่งกำลังจะกลายเป็นแรงงานรายได้ต่ำ หรือก้าวสู่วงจรอันตรายที่จะส่งผลสะท้อนกลับมาเป็นปัญหาสังคมได้ รวมทั้งยังมีเด็กเยาวชนผู้พิการในระบบการศึกษาอีกราว 246, 000 คน ที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ

งานวิจัยที่ กสศ. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า มีเด็กเยาวชนด้อยโอกาสจากครอบครัว 15-20% ล่างสุด ที่มีโอกาสเรียนสูงกว่าชั้น ม.6 หรือเทียบเท่าเพียง 5% ต่อรุ่น คำนวณแล้วเท่ากับว่าระหว่างครัวเรือนที่มีฐานะ กับครอบครัวเด็กยากจนด้อยโอกาส มีช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอยู่ที่ 20 เท่า อย่างไรก็ตาม ช่องว่างดังกล่าวมีแนวโน้มถ่างกว้างออกไปอีก จากโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบให้ประเทศไทยมีเด็กด้อยโอกาสใต้เกณฑ์ความยากจนเพิ่มขึ้นกว่า 3 แสนคน

ขณะเดียวกัน ยังมี ‘ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้’ จากการปิดโรงเรียนเป็นระยะเวลานาน ที่ทั่วโลกเผชิญพร้อมกันถ้วนหน้า อันเป็นสิ่งที่นานาประเทศรวมถึงประเทศไทยพยายามหาทางแก้ไขอย่างเต็มที่

ไทยกำลังจะสูญเสีย GDP ของประเทศถึง 3% ในทุกปี จากปัญหาเด็กเยาวชนนอกระบบ

“กล่าวเฉพาะภาพรวมของกลุ่มเด็กเยาวชนด้อยโอกาสในประเทศไทย เรามีเยาวชนอายุ 15 ปีขึ้นไปเป็นแรงงานนอกระบบมากถึง 70% ส่วนใหญ่จบการศึกษาไม่เกินมัธยมต้น เป็นแรงงานไร้ฝีมือ มีรายได้น้อย และเป็นกลุ่มที่มีโอกาสตกอยู่ในวงจรความยากจนข้ามชั่วคนต่อไป

“ไม่เพียงเท่านั้น เรายังมีกลุ่ม ‘เยาวชนว่างงานนอกระบบการศึกษา’ หรือ ‘NEET’ (not in education all employment or training) อีกราว 1.3 ล้านคน หรือคิดเป็น 14% ของเยาวชนไทยทั้งหมด พวกเขาไม่ได้รับการศึกษา ไม่ได้รับการฝึกอบรมในระบบใดเลย ที่น่าเป็นห่วงคือ NEET ในประเทศไทยกำลังเติบโตขึ้นปีละ 1% สวนทางกับอัตราการเกิดของเด็กไทยที่ลดลง 1.2% ต่อปี ซึ่งอาจพูดได้ว่า พัฒนาการของตลาดแรงงานไทยกำลัง ‘ก้าวถอยหลัง’ ไปสู่อนาคต”

ย้อนไปยังสาเหตุ งานวิจัยโดยองค์การยูนิเซฟเผยว่า มีปัจจัย 3 ระดับ ทั้งเชิงบุคคล เชิงระบบ และเชิงมหภาค อาทิ ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายการศึกษา ทำให้เด็กเยาวชนต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานเร็วกว่าวัยอันควร จนถึงการอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน ปัญหาพื้นที่ชายขอบที่เกี่ยวข้องกับภาษา เชื้อชาติ วัฒนธรรม หรือความพิการ ซึ่งล้วนเป็นอุปสรรคที่ฉุดรั้งเด็กไว้จากการศึกษา

ส่วนในเชิงระบบพบว่า ยังมีหน่วยจัดการเรียนรู้หรือสถานศึกษาในพื้นที่ไม่เพียงพอ มีกฎระเบียบซับซ้อนยุ่งยากในการสมัครเรียน ไปจนถึงเรื่องความพร้อมของครูผู้สอน สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ การขาดแรงบันดาลใจ ทำให้เด็กและครอบครัวไม่เห็นปลายทางว่าเรียนไปแล้วจะได้อะไรกลับมา และท้ายที่สุดคือการจัดสรรบริหารทรัพยากรด้านการศึกษาที่ขาดความเสมอภาค

ดร.นิโคลัส เบอร์เนตต์ นักเศรษฐศาสตร์การศึกษา อดีตรองผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก คำนวณว่า หากเด็กเยาวชนกลุ่มนี้ไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลือ อนาคตประเทศไทยจะสูญเสีย GDP จากปัญหาเยาวชนนอกระบบ เป็นมูลค่ามหาศาลถึงปีละประมาณ 3%

“เพราะหากเด็กเยาวชนกลุ่มนี้ยังอยู่ในระบบ เขาจะได้รับการพัฒนาให้เป็นแรงงานคุณภาพ มีงานทำ มีรายได้ เป็นฐานกำลังสำคัญในการการจ่ายภาษีและทำรายได้ให้ประเทศ ในทางกลับกันถ้าเราปล่อยให้เขาเป็นเพียงแรงงานด้อยทักษะ หรือเป็นภาระพึ่งพิงต่อไป เท่ากับประเทศจะพบกับความสูญเสียทางเศรษกิจและสังคมกว่าสามแสนล้านบาทในทุกปี”

เสนอ ‘7 Game Changer’ สกัดเด็กเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษา

ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าวว่า การประชุมระดับนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่ กสศ. จัดติดต่อกันในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจากทั่วโลกเข้าร่วม ทำให้ได้คำตอบว่า การแก้ปัญหาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาซึ่งเคยนำทางด้วย Education for All หรือการ ‘จัดการศึกษาให้ทั่วถึงสำหรับคนทุกคน’ ยังไม่เพียงพอ หากยังต้องมีความร่วมมือจากคนทุกภาคส่วน บนหลักการ All for Education หรือทำให้คนทุกคนมีภารกิจร่วมกันในการจัดการศึกษาด้วย          

ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกเห็นพ้องว่า ‘Game Changer’ ในการแก้ปัญหาด้านการศึกษามี 7 หัวข้อสำคัญ ซึ่งต้องทำอย่างเร่งด่วน คือ

1.พัฒนาครูและสถานศึกษา โดยสนับสนุนข้อมูล เทคโนโลยี องค์ความรู้ และทรัพยากร ให้ครูสามารถจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ และพัฒนาสถานศึกษาเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนได้

2.มีระบบข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศขนาดใหญ่ (Big Data) ที่มีคุณภาพและทุกคนเข้าถึงได้ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อการทำงานลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในเชิงลึก

3.ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อเชื่อมโยงข้อมูล ทรัพยากร ลดการเลือกปฏิบัติและการตีตรา เพื่อทำให้การศึกษาครอบคลุมทุกพื้นที่

4.นวัตกรรมการเงินและการคลัง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงบประมาณ โดยภาคประชาสังคมและเอกชนสามารถร่วมขับเคลื่อนนวัตกรรม ฯ ผ่านการระดมทุนต่าง ๆ

5.การจัดการศึกษาตามบริบทพื้นที่ (Area-based Education) สนับสนุนการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ กระจายอำนาจการจัดการและแก้ไขปัญหาการศึกษาเชิงพื้นที่ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาทักษะตลอดช่วงชีวิตตามบริบทแวดล้อม

6.คุ้มครองทางสังคมในระบบการศึกษา 5 ด้าน ได้แก่ ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางสถาบันครอบครัว ความพร้อมและความปลอดภัยของสถานศึกษาและครู ความพร้อมและความปลอดภัยในการเดินทาง และความพร้อมของชุมชนท้องถิ่น

7.ผลักดันให้เกิด ‘All for Education’ หรือ ‘การศึกษาเป็นกิจของทุกคน’ โดยทุกภาคส่วนในสังคม เฉพาะอย่างยิ่งคือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนอกภาคการศึกษา จำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อทำให้ความ ‘เสมอภาค’ เกิดขึ้นให้ได้

“แม้ประเทศไทยมีปัญหาความท้าทายนานัปการ แต่เรามีความโดดเด่นในหลายด้าน ประการสำคัญคือความร่วมมือที่เกิดขึ้นจากคนหรือองค์กรหน่วยงานต่าง ๆ ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ โครงการ ‘พาน้องกลับโรงเรียน’ ที่กระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพชวน 11 หน่วยงานรวมพลังพาน้องกลับโรงเรียน ซึ่ง กสศ. ได้นำระบบ iSEE ซึ่งรวบรวมข้อมูลของเด็กเยาวชนกลุ่มเสี่ยงหลุดและเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาไว้ เพื่อเป็นหมุดหมายเริ่มต้นในการค้นหา และวางแนวทางการช่วยเหลือดูแลในระยะยาวต่อไป   

“นอกจากนี้ กสศ. มีข้อเสนอว่า การสร้าง ‘หลักประกันโอกาสทางการศึกษา’ จำเป็นต้องมองที่ Age Line เป็นหลัก คือต้องไม่แบ่งเป็นแท่งประถม มัธยมต้น มัธยมปลาย แต่จะกำหนดตามช่วงอายุกลุ่มเสี่ยง แล้วผลักดันให้เกิดการทำงานเชื่อมต่อกันทุกแท่ง โดยเฉพาะการสร้างระบบเครือข่ายส่งต่อเด็กข้ามช่วงชั้น ปฐมวัยต่ออนุบาล, ป.6 ต่อ ม.1, ม.3 ต่อ ม.4 หรืออาชีวศึกษา 

“กสศ. มีตัวอย่างการทำงานโดยร่วมกับจังหวัดต้นแบบ ออกแบบการทำงานที่ทำให้ค้นพบตัวตนของเด็กเยาวชนนอกระบบได้รวดเร็วและแม่นยำ ด้วยกลไกทำงานเชิงพื้นที่ในรูปแบบอาสาสมัครท้องถิ่น รวมถึงสถาบันการศึกษา ช่วยกันติดตามเด็กตั้งแต่ระดับชุมชน ตำบล อำเภอ จนมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และสามารถส่งต่อให้หน่วยงานในจังหวัดออกแบบวิธีการดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสม เกิดเป็นโมเดลเชิงพื้นที่ที่หลากหลาย ผ่านการกำกับดูแลโดยเจ้าภาพ เช่น อบจ. ศึกษาธิการจังหวัด NGO หรือสมัชชาสภาการศึกษาจังหวัด ส่งผลให้การทำงานนำร่องประสบความสำเร็จแล้วในระดับหนึ่ง โดยสามปีที่ผ่านมา กสศ. และพื้นที่ต้นแบบ สามารถช่วยเหลือเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาได้มากกว่า 8 หมื่นคน”

ท้ายที่สุด การจัดการศึกษาจะไม่มีทางประสบความสำเร็จได้ ถ้าไม่ดึงพลังภาคส่วนต่าง ๆ มาใช้อย่างเต็มศักยภาพ โดยเฉพาะภาคเอกชน ที่มีความสนใจและมีใจที่จะลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานด้านการศึกษา

“ตัวอย่างที่ให้ภาพชัดของความร่วมมือที่ผ่านมา คือการที่ กสศ. ได้ร่วมกับบริษัทแสนสิริ และ SCB ในการออกหุ้นกู้ระดมทุนมูลค่า 100 บาท เพื่อทำงานในพื้นที่จังหวัดราชบุรีเป็นเวลา 3 ปี ในโครงการ ‘Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดจำนวนเด็กเยาวชนนอกระบบในจังหวัดให้เหลือ ‘ศูนย์’ หรือบริษัท ปตท. ที่สนับสนุนทุนการศึกษาให้เด็กกลุ่มเสี่ยงหลุด เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้อยู่ในการศึกษาต่อได้ ไม่ออกกลางคัน“สองกรณีนี้ได้แสดงให้เห็นว่า ในการจัดการศึกษา แม้เรามีความท้าทายหรือโจทย์ต่าง ๆ แต่ถ้าสามารถสร้างการมีส่วนร่วมขึ้นได้ เราก็มีทางที่จะประสบความสำเร็จ ซึ่ง กสศ. เอง เป็นพลังหนึ่งในการทำงานทั้งระดับนานาชาติ ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และระดับพื้นที่ เพื่อเชื่อมร้อยและผลักดันให้ความเสมอภาคทางการศึกษาเกิดขึ้น”


***เรียบเรียงจาก: อภิปรายเชิงวิชาการ เรื่อง ‘การศึกษาไทยก้าวไกลสู่ความยั่งยืนระดับภูมิภาค’
ในงานสัมมนาวิชาการว่าด้วย ‘การขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการศึกษา ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศไทย’