โรงเรียนพัฒนาตนเอง: เสริมทักษะเด็กเมื่อเผชิญปัญหา เรียนรู้จากภายในด้วยกระบวนการ ‘จิตตปัญญา’
รศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์ หัวหน้าโครงการสนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง เครือข่ายมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

โรงเรียนพัฒนาตนเอง: เสริมทักษะเด็กเมื่อเผชิญปัญหา เรียนรู้จากภายในด้วยกระบวนการ ‘จิตตปัญญา’

โจทย์สำคัญของโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง นอกเหนือจากการบริหารจัดการทรัพยากรทางการศึกษา บริหารจัดการบุคลากร และองค์ประกอบต่าง ๆ ให้มีความพร้อมและเพียงพอต่อการเรียนการสอนแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ การส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะที่ดีเมื่อต้องเผชิญกับปัญหา และสามารถหาหนทางรับมือกับปัญหาเหล่านั้นได้ด้วยตนเอง ด้วยเหตุนี้โรงเรียนจึงต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยและยืดหยุ่นสำหรับเด็ก เพื่อให้เด็กสามารถดำเนินชีวิตได้ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลกในศตวรรษที่ 21 รวมถึงสนับสนุนให้เกิดกลไกการมีส่วนร่วมระหว่างครอบครัว ชุมชน และโรงเรียน

รองศาสตราจารย์ไพโรจน์ คีรีรัตน์ หัวหน้าโครงการสนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง (Teacher and School Quality Program) หรือ ‘TSQP’ เครือข่ายมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยถึงแนวคิดในการยกระดับคุณภาพการศึกษาว่า การพัฒนาโรงเรียนทุกขนาด ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการดูแลความรู้สึกนึกคิดของเด็กได้ และปัจจุบันต้องยอมรับว่า เด็กหลายกลุ่มต้องเผชิญกับความเปราะบางทางความคิดและความรู้สึกมากขึ้น เพราะทุกพื้นที่ต่างมีปัญหาสังคมด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้นทุกวัน โรงเรียนทุกแห่งจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฝึกทักษะให้เด็กสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ซับซ้อน เพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาให้กับเด็ก

“โรงเรียนจำเป็นต้องมองเห็นความสำคัญของปัญหานี้ โดยเฉพาะโรงเรียนที่ต้องดูแลเด็กที่มีสถานะทางครอบครัวค่อนข้างลำบากหรือยากจน เพราะเด็กกลุ่มนี้มักจะใช้วิธีอยู่กับปัญหาต่าง ๆ ด้วยการยอมรับชะตากรรม ยอมที่จะเป็นผู้ถูกกระทำโดยไม่มีปากมีเสียง”

เด็กนักเรียนหลายคนทำกิจกรรมกลุ่มที่หน้ากระดานดำ โดยมีครูยืนเฝ้ามอง

รศ.ไพโรจน์ กล่าวว่า กระบวนการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ทางโรงเรียนอาจเริ่มด้วยการสร้างความร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักเรียน ครู ผู้ปกครอง กรรมการในโรงเรียน หรือหน่วยงานในชุมชน มาร่วมพูดคุยสนทนากัน โดยใช้แนวทางที่เรียกว่า ‘การประเมินเชิงพัฒนา’ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโรงเรียน พัฒนาการเรียนการสอน พัฒนาสื่อการเรียนรู้ การวัดประเมินผล และตั้งเป้าหมายในการทำงานร่วมกัน โดยกำหนดว่าอะไรคือผลลัพธ์ที่โรงเรียนอยากเห็น เช่น การพัฒนากระบวนการทำงานของครูที่ชัดเจนขึ้น นักเรียนเกิดทักษะอาชีพติดตัวมากขึ้น ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กมากขึ้น มีกระบวนการแก้ไขปัญหาของเด็ก เกิดความร่วมมือของผู้ปกครองที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม เกิดชุมชนที่สอนน้องเรียนรู้ไปด้วยกัน และสามารถสร้างนักเรียนให้มีกระบวนการคิดที่เป็นระบบมากขึ้น

“ต้องกระตุ้นให้เด็ก ๆ เป็นฝ่ายพูด บอกเล่าสิ่งที่ต้องการ เช่น อยากเรียนอะไรหรืออยากเรียนวิชาไหน ต้องให้พวกเขาออกไอเดียและมีส่วนร่วม เหมือนช่วยออกแบบอนาคตของตัวเอง ด้วยวิธีที่เขาช่วยครูคิดจะสามารถสร้างกลไกความรับผิดชอบที่เป็นเหตุเป็นผล ให้เด็กเลือกสิ่งที่สนใจเรียนรู้มาหนึ่งประเด็น แม้ความสนใจ ความต้องการของแต่ละคนไม่ตรงกัน จากนั้นก็กำหนดเงื่อนไขว่า ควรจะเป็นประเด็นเดียวกัน ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนทุกคนสื่อสารกันได้ เกิดความเป็นประชาธิปไตยในห้องเรียน เกิดการเคารพความคิดของคนอื่น แต่ละคนมีเหตุผลที่จะเลือก กระบวนการแบบนี้ควรจะถูกฝึกกันตั้งแต่ในห้องเรียน”

นักเรียนและครูร่วมทำกิจกรรมในห้องเรียน
นักเรียนทั้งห้องกระโดดโลดเต้นสนุกสนานในห้องเรียน

รศ.ไพโรจน์ กล่าวว่า เมื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบได้แล้ว โรงเรียนอาจจะสอดแทรกแนวทางที่กระตุ้นให้นักเรียนสะท้อนปัญหาที่มีหรือกำลังเผชิญอยู่ และสร้างกระบวนการแสวงหาทางออกอย่างสร้างสรรค์

“โรงเรียนจะต้องช่วยเด็ก ๆ สร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘จิตตปัญญา’ โดยเริ่มจากเปิดช่องทางให้เด็ก ๆ สามารถสื่อความรู้สึกผ่านภาพวาดหรือกิจกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ ที่พวกเขาอยากมีส่วนร่วม และใช้ผลงานที่ออกมาเป็นสะพานเชื่อมไปถึงความรู้สึกของเด็ก โรงเรียนบางแห่งเล่าให้ฟังว่า เมื่อให้เด็กวาดภาพ บางคนวาดออกมามีแต่สีดำ พอครูถามว่าทำไมมีแต่สีดำ เด็กก็ตอบว่า ภาพมีแต่สีดำเพราะมีความทุกข์ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยให้เด็กค่อย ๆ เล่าสิ่งที่เก็บไว้ในใจได้ เปิดเผยถึงปัญหาที่เขาเผชิญอยู่ ให้ครู โรงเรียน หรือชุมชนช่วยกันหาทางแก้ไขต่อไป”

นักเรียนนั่งทบทวนบทเรียนในสวน
นักเรียนหลายคนนั่งสมาธิร่วมกับครู ในห้องเรียน

รศ.ไพโรจน์ ขยายความว่า กระบวนการจิตตปัญญาศึกษา เป็นกระบวนการที่ช่วยสร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียนอยากเรียนรู้จากสิ่งที่ตัวเองต้องการ และเรียนรู้ด้วยความรู้สึกว่าไม่ได้ถูกบังคับ จึงสามารถช่วยให้เด็ก ๆ เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ อย่างใคร่ครวญด้วยความใส่ใจ เน้นการพัฒนาความคิด จิตใจ อารมณ์ภายในตนเอง สร้างการตระหนักรู้ในตนเอง รู้คุณค่าของสิ่งต่าง ๆ โดยปราศจากอคติ เกิดความรัก ความเมตตา อ่อนน้อมต่อธรรมชาติ มีจิตสำนึกต่อส่วนรวม และสามารถประยุกต์เชื่อมโยงกับศาสตร์ต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างสมดุลและมีคุณค่า 

“จิตตปัญญา สามารถสร้างการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงในระดับต่าง ๆ เริ่มจากภายในตัวเด็ก โดยกระตุ้นให้เกิดความอยากรู้อยากเห็นและความสามารถในการใช้จินตนาการของตัวเอง ทำให้เข้าใจด้านในของตัวเอง รู้ตัว เข้าถึงความจริง ทำให้เปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโลกและผู้อื่น เกิดความเป็นอิสระ ความสุข และปัญญา ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับสร้างแนวทางในการรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละวันได้ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกคน รวมถึงพบแนวทางในการเสริมสร้างและให้กำลังใจตัวเองไปพร้อม ๆ กัน” รศ.ไพโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย