“ทุนเสมอภาค” ส่งต่ออนาคต พาเด็กบนพื้นที่สูงเปิดโลกการศึกษาอย่างไร้ข้อจำกัด : ผอ.สมบัติ ยาวิชัย โรงเรียนบ้านห้วยสิงห์ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

“ทุนเสมอภาค” ส่งต่ออนาคต พาเด็กบนพื้นที่สูงเปิดโลกการศึกษาอย่างไร้ข้อจำกัด : ผอ.สมบัติ ยาวิชัย โรงเรียนบ้านห้วยสิงห์ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

กลางหุบเขาในเขตชายแดนของประเทศ โรงเรียนบ้านห้วยสิงห์ ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทำหน้าที่ไม่ต่างจาก “โรงเรียนประจำ” สำหรับเด็กจากหลายอำเภอในพื้นที่สูงของจังหวัด เด็ก ๆ ที่นี่มากกว่าครึ่งต้องพักนอนในโรงเรียนเพราะบ้านอยู่ห่างไกลและการเดินทางยากลำบาก ปีการศึกษาที่ผ่านมา โรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 2 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 รวม 304 คน โดยเป็นนักเรียนระดับมัธยมต้นกว่า 200 คน ที่สำคัญ ในจำนวนนั้นมีถึง 210 คนที่ได้รับ “ทุนเสมอภาค” จากโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข (Conditional Cash Transfer: CCT) ซึ่งดำเนินการโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

“เด็กส่วนใหญ่มาจากหมู่บ้านบนดอยสูง หรือพื้นที่ตะเข็บชายแดน ที่มีโรงเรียนถึงแค่ระดับประถม พอพวกเขาอยากเรียนต่อ ก็ต้องเดินทางไกล โรงเรียนบ้านห้วยสิงห์จึงกลายเป็นจุดหมายปลายทาง”
– ผอ.สมบัติ ยาวิชัย

โรงเรียนบ้านห้วยสิงห์จึงไม่ใช่แค่ ‘โรงเรียนขยายโอกาส’ ตามคำจำกัดความของระบบการศึกษา แต่คือความหวังของครอบครัวบนพื้นที่สูง ที่อยากให้ลูกได้เรียนต่อในระบบอย่างราบรื่น โดยเฉพาะสำหรับครอบครัวที่ยากจน เด็กที่นี่จำนวนมากอยู่ในสถานการณ์ “น้อยกว่าทุกด้าน” ทั้งด้านทรัพยากร โอกาส และสภาพแวดล้อมที่พร้อมจะสนับสนุนการเรียนรู้

“การที่เด็กต้องย้ายมาอยู่ในสังคมใหม่ ซึ่งไม่มีอะไรคุ้นเคยเลย คือจุดเริ่มต้นที่เหนื่อยกว่าคนอื่นอยู่แล้ว การมีอยู่ของทุนเสมอภาค เป็นการเปิดประตูโอกาสจริง ๆ หลายปีมานี้ เราค่อย ๆ ลดอัตราเด็กออกกลางคันและส่งต่อไปถึงชั้นเรียนสูงขึ้นได้ ซึ่งเป็นการยืนยันว่าการเติมเต็มนี้ คือแนวทางลดความเหลื่อมล้ำที่เห็นผล”

“ทุนเสมอภาค” มอบทั้งโอกาสการศึกษา และความต่อเนื่องการเรียนรู้

ในมุมมองของ ผอ.สมบัติ ทุนเสมอภาคไม่ได้เป็นแค่ ‘เงินช่วยเหลือ’ แต่คือระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ที่ช่วยดูแลต่อเนื่อง ตั้งแต่การอยู่รอดในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กมีเป้าหมายทางการศึกษา

หนึ่งในโอกาสที่ได้รับ คือ ‘SIM พร้อมเรียน’ ซิมการ์ดแห่งการเรียนรู้ที่ กสศ., กสทช. และผู้ให้บริการเครือข่าย Infinite Sim สนับสนุนให้นักเรียนทุนเสมอภาคระดับ ป.6 – ม.3 ทุกคน ได้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษาฟรี

“สำหรับเด็กที่อยู่ไกลจากศูนย์กลางความเจริญเป็นร้อยเป็นพันกิโลเมตร การส่งเสริมให้เขาแสวงหาความรู้ด้วยตัวเองได้ มีลักษณะนิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนติดตัวไป เท่ากับเราช่วยเพิ่มโอกาสเติบโตและใช้ชีวิตในสังคม และวิธีที่สะดวก เร็วที่สุดที่ทำได้ตอนนี้คือทำให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างเสมอภาคมากขึ้น”

ผอ.สมบัติ บอกว่าการที่นักเรียนมีโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ผลลัพธ์จะต่อเนื่องไปถึงการจัดการเรียนรู้ ที่ครูสามารถวางแผนการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์เด็กได้เป็นรายคน ทั้งยังช่วยบรรเทาปัญหาครูไม่พอต่อจำนวนเด็ก และเป็นการเปลี่ยนบทบาทครูเป็นผู้แนะนำ ผู้ให้คำปรึกษา หรือผู้ชี้ทางไปสู่ความรู้ ที่จะทำให้การเรียนรู้นั้นก้าวไปได้ไกลขึ้น

“ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะเปิดโลกทั้งใบให้เด็ก ๆ เห็น ช่องว่างของเด็กในเมืองกับเด็กพื้นที่ห่างไกลจึงยิ่งถ่างกว้างออกไป แต่วันนี้อินเทอร์เน็ตทำให้ความต่างนั้นแคบลงได้ ด้วยบทเรียนสำเร็จรูปมากมายที่รอให้เข้าไปค้นคว้า ทดลอง เรียนรู้เรื่องทักษะอาชีพ งานอดิเรก หรือทักษะกีฬา แล้วพอเข้าถึงแหล่งความรู้มากขึ้น ในระยะยาวภาพของเด็กทั้งโรงเรียนก็จะเปลี่ยนไป หรือถ้าพูดถึงเรื่องเป้าหมายการศึกษาก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนตามไปด้วย เพราะเขารู้แล้วว่าตัวเองชอบอะไร อยากเรียนอะไร จะพาชีวิตไปทางไหน”

ครู = ผู้ประคอง และผู้จุดประกาย

ผอ.สมบัติ ยาวิชัย

โรงเรียนบ้านห้วยสิงห์พยายามวางแผนให้เด็ก ๆ เห็นอนาคตของตัวเองตั้งแต่ ม.1 และก่อนจบ ม.3 ต้องรู้แล้วว่าอยากเรียนอะไร จะไปทางไหน และต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง เพราะเส้นทางข้างหน้า ไม่ใช่แค่มีใจอย่างเดียว แต่ต้องมีทุน ทั้งทุนการศึกษาและทุนชีวิต ‘ถ้าเด็กรู้ว่าเรียนไปทำไม’ ก็แทบลดความเสี่ยงของการหลุดจากระบบกลางทางได้ 100%

“การดูแลนักเรียนทุนเสมอภาคครอบคลุมทั้งเรื่องเรียนและปัจจัยแวดล้อม ตั้งแต่อัตราการเข้าเรียน ผลการเรียน อาหารการกิน การติดตามการเจริญเติบโต สุขภาพจิต

“การเยี่ยมบ้านเด็กทุกเทอมทำให้เราเข้าใจพื้นฐานของเด็กแต่ละคนว่ากว่าจะพาตัวเองมาถึงโรงเรียนได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว อีกประการคือการส่งข้อมูลระหว่างกันตั้งแต่ครูที่โรงเรียนประถมมาถึงเรา การดูแลจึงทำได้ต่อเนื่องไม่ต้องเริ่มใหม่ทั้งหมด ส่วนทางโรงเรียนบ้านห้วยสิงห์เมื่อรับไม้ต่อ เราจะตั้งเป้าหมายว่าเด็กทุกคนต้องจบการศึกษาภาคบังคับ ระหว่างนั้นก็ค่อย ๆ เตรียมความพร้อมด้วยการแนะแนวทางเรียนต่อที่เหมาะสม สอดคล้องกับความสนใจ เพื่อผลักดันให้ไปต่อในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น 

“…นั่นหมายถึงว่าก่อนจะจบ ม.3 เด็ก ๆ ต้องรู้ตัวเองเบื้องต้นว่าสนใจทางไหน อยากเรียนอะไร แต่ละเส้นทางที่เลือกเป็นอย่างไร ไปต่อทางไหนได้บ้าง และสุดท้ายปลายทางจะพาไปที่ใด เพราะถ้าเขามีข้อมูลเหล่านี้พร้อมกับพอมีทุนรอนที่สะสมไว้ เราก็มั่นใจว่าจะยิ่งช่วยเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จได้มากขึ้น”   


กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. เป็นองค์กรที่มุ่งสนับสนุนเด็ก เยาวชน ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ให้สามารถเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพอย่างเต็มตามศักยภาพ ในแต่ละปีสามารถป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา ผ่านการสนับสนุน “ทุนเสมอภาค” หรือ “เงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข” ครอบคลุมตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล – ม.ต้น และ นำร่องชั้น ม.ปลาย ใน รร.ตำรวจตระเวนชายแดน

“ทุนเสมอภาค” ของ กสศ. เป็นทุนให้เปล่าที่สร้างโอกาสทางการศึกษา โดยในปีการศึกษา 2567 ได้สนับสนุนนักเรียนยากจนพิเศษจำนวน 1.3 ล้านคน โดยมีการติดตามการมาเรียน การเจริญเติบโต และการคงอยู่ในระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาคเรียนที่ 1 ที่ผ่านมาพบว่า “ทุนเสมอภาค” สามารถป้องกันไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษาอย่างได้ผล นักเรียนทุน 97.88% ยังคงอยู่ในระบบการศึกษา และได้เรียนต่อถึงระดับอุดมศึกษามากขึ้น