การศึกษาที่ยืดหยุ่น ลดเด็กหลุดจากระบบได้อย่างไร ? ฟังเสียงจากราชบุรี หลังนำร่อง 1 โรงเรียน 3 รูปแบบทั้งจังหวัด

การศึกษาที่ยืดหยุ่น ลดเด็กหลุดจากระบบได้อย่างไร ? ฟังเสียงจากราชบุรี หลังนำร่อง 1 โรงเรียน 3 รูปแบบทั้งจังหวัด

ย้อนกลับไปในปี 2565 บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ จังหวัดราชบุรี ได้ริเริ่มโครงการ “Zero Dropout: เด็กทุกคนต้องได้เรียน” ซึ่งมีเป้าหมายลดจำนวนเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาให้เหลือ “ศูนย์” โดยเริ่มต้นที่อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ก่อนขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในจังหวัด ด้วยทุนสนับสนุนเริ่มต้นจากแสนสิริ จำนวน 100 ล้านบาท นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จังหวัดราชบุรีได้กลายเป็นต้นแบบของ “โมเดลสร้างกลไกการเปลี่ยนแปลงการศึกษาระดับประเทศ” และได้จัดตั้งสมัชชาการศึกษาราชบุรีขึ้น

ด้วยวิสัยทัศน์ที่การเรียนรู้ไม่ได้หมายถึงการให้ทุกคนเข้าไปเรียนในห้องเรียนเหมือนกันทั้งหมด นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นและเหมาะสมกับแต่ละเงื่อนไขชีวิต จึงถูกนำมาใช้ในหลายโรงเรียนภายใต้การดูแลของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 หนึ่งในนั้นคือ “นวัตกรรมการจัดการศึกษา 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ” ซึ่งสอดคล้องกับ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 15 ที่กำหนดให้สถานศึกษาสามารถเลือกจัดการเรียนการสอนได้ 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) การศึกษาในระบบเหมือนหลักสูตรทั่วไป 2) การศึกษานอกระบบที่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียน และ 3) การศึกษาตามอัธยาศัยที่ออกแบบการเรียนรู้ตามศักยภาพและความสนใจของผู้เรียน

การจัดการศึกษา 1 โรงเรียน 3 รูปแบบนี้มุ่งเน้นความยืดหยุ่นในการเรียนรู้ โดยให้ความสำคัญกับการปรับตัวตามความต้องการและสถานการณ์ของผู้เรียนแต่ละคน ทั้งในเรื่องหลักสูตร วิธีการเรียน และการประเมินผล ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมและความจำเป็นของผู้เรียน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในโรงเรียน, การเรียนรู้แบบออนไลน์ หรือการเรียนรู้นอกระบบ เช่น การฝึกอาชีพ การทำเกษตร หรือการทำงานในชีวิตจริง

นวัตกรรมการจัดการศึกษา 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ได้ช่วยให้เด็กเยาวชนที่เคยหลุดออกจากระบบการศึกษา หรือกลุ่มที่เสี่ยงจะหลุดจากระบบ สามารถกลับเข้าสู่การเรียนรู้ได้อีกครั้ง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ผ่านมา การเรียนรู้ภายใต้ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ได้กลายเป็นทางเลือกและที่พึ่งสำคัญของเด็ก ๆ ซึ่งเผชิญกับปัญหาแตกต่างหลากหลาย เช่น ปัญหาทางเศรษฐกิจ สุขภาพ หรือความจำเป็นในการดูแลครอบครัว

ผลลัพธ์ที่ได้จากการนำร่องนวัตกรรม 1 โรงเรียน 3 รูปแบบในโรงเรียน 12 แห่งของจังหวัดราชบุรีในปี 2567 พบว่า เด็กเยาวชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา รุ่นแรก จำนวน 98 คน สามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีเพียง 1 คนที่ย้ายภูมิลำเนาออกจากจังหวัดราชบุรี

ในปี 2568 โครงการนี้จะก้าวไปอีกขั้น เมื่อภาครัฐและเอกชนในจังหวัดราชบุรี 25 องค์กร ได้ประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือเพื่อให้จังหวัดราชบุรีเป็น “จังหวัดแรกของประเทศ” ที่จะพัฒนาโรงเรียน 333 แห่งในสังกัด สพฐ. ให้กลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ยืดหยุ่น 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ 100% ทั้งจังหวัด โดยมีเป้าหมายต่อไปในการสร้าง “ราชบุรี Zero Dropout: เด็กทุกคนต้องได้เรียน”

ครั้งนี้ กสศ. ขอเชิญชวนฟังเสียงจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการนี้ ตั้งแต่เขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาที่เริ่มดำเนินการ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ รวมถึงเด็ก ๆ ที่ได้รับผลจากการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ชีวิต รวมถึงผลลัพธ์จากการร่วมมือครั้งนี้ ซึ่งจะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงในจังหวัดราชบุรี และวงการศึกษาไทยในระยะยาว

เขตพื้นที่การศึกษา: ผู้สื่อสารนโยบายที่เปิดกว้าง ผู้โอบอุ้ม และผู้ฉุดขึ้นเมื่อสะดุดล้ม

ดร.บรรเจิด อุ่นมณีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 กล่าวถึงบทบาทสำคัญของเขตพื้นที่การศึกษาในการสื่อสารนโยบายการจัดการศึกษาที่เปิดกว้างตามมาตรา 15 ซึ่งครอบคลุมทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย โดยมีเป้าหมายออกแบบการเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการของทุกชีวิต ด้วยเชื่อมั่นว่า “เด็กทุกคนมีความฝัน” และ “ทุกคนอยากจะบรรลุความฝันนั้น”

ดร.บรรเจิด อุ่นมณีรัตน์

ดร.บรรเจิดเล่าต่อว่า ชีวิตของเด็กเมื่อย่างก้าวเข้าสู่โรงเรียนเหมือนผ้าขาว ที่จะต้องเผชิญกับอุปสรรคและข้อจำกัดของการเติบโตและการเรียนรู้ บางคนอาจข้ามผ่านไปได้ แต่ก็ยังมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่สะดุดล้มระหว่างทาง ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้จัดการศึกษาที่จะต้องโอบอุ้มและฉุดช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ให้กลับมายืนหยัดได้ โดยทำงานอย่างเต็มกำลังเพื่อส่งเสริมและผลักดันให้เด็กทุกคนเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้มากที่สุด

“ย้อนกลับไปสามปีที่แล้ว ตอนที่เรากำลังเริ่มต้นพาทีมจัดการศึกษาในรูปแบบ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ เราไม่มั่นใจเลยว่าจะทำได้ แต่ด้วยความทุ่มเทของโรงเรียน ผู้บริหารโรงเรียน และครูทุกท่าน วันนี้เรามั่นใจแล้วว่าจังหวัดราชบุรีทำได้จริง” 

ดร.บรรเจิดกล่าวต่อ “โดยเฉพาะเมื่อสามหน่วยงานในเขตพื้นที่การศึกษาสังกัด สพฐ. จับมือกันทำงานร่วมกับ 25 หน่วยงานที่ลงนามความร่วมมือกัน เราเชื่อว่าจากนี้ไป จังหวัดราชบุรีจะสามารถสร้างตาข่ายคัดกรอง ส่งต่อ และจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นอย่างไร้รอยต่อได้ และจะไม่มีเด็กคนไหนหลุดจากระบบการศึกษาออกไปอีก”

การทำงานร่วมกันในพื้นที่ราชบุรีแสดงให้เห็นถึงการสร้างกลไกที่เข้มแข็งและยืดหยุ่น เพื่อให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสทางการศึกษาที่เหมาะสมกับชีวิตของตนเองอย่างแท้จริง

ศุภกร วิแสง

ศุภกร วิแสง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 2 กล่าวถึงเหตุผลที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ “1 โรงเรียน 3 รูปแบบ” ว่า เขามองเห็นว่าโครงการนี้เป็นการสร้างโอกาสให้กับนักเรียนทุกคน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีต้นแบบการทำงานที่สำเร็จแล้ว จึงมั่นใจว่าการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ สามารถให้คุณภาพการศึกษาที่ดีและสร้างโอกาสให้ผู้เรียนได้จริง

“เริ่มแรกเราจะทำความเข้าใจกับโรงเรียนในสังกัด เพื่อให้ทุกสถานศึกษาเห็นถึงความสามารถในการจัดการศึกษาในหลากหลายรูปแบบ จากนั้นเราจะวางระบบบริหารจัดการให้ทุกโรงเรียนสามารถเข้าใจร่วมกันได้”  ผอ.ศุภกรกล่าว พร้อมเสริมว่า จะมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายสนับสนุน เพื่อให้การจัดการศึกษาที่เปิดกว้างและยืดหยุ่นสามารถรองรับเด็กทุกคนและทุกกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การดำเนินการนี้สะท้อนถึงความตั้งใจที่จะยกระดับการศึกษาให้เหมาะสมกับความต้องการของเด็กทุกกลุ่ม รวมถึงการทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียนในสังกัดเพื่อสร้างความเข้าใจและสนับสนุนกันในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและเปิดกว้าง

สิทธิพล พหลทัพ

สิทธิพล พหลทัพ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาราชบุรี กล่าวถึงบทบาทของ “1 โรงเรียน 3 รูปแบบ” ที่จะช่วยรองรับนักเรียนที่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะเด็กที่ขาดความพร้อม ทั้งในด้านการเรียนรู้และปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมต้องตระหนักถึง เนื่องจากในปัจจุบัน สังคมของเรามีความหลากหลายของเด็กมากขึ้น โรงเรียนจึงจำเป็นต้องปรับการเรียนการสอนให้ยืดหยุ่นและรองรับเด็กทุกกลุ่ม

“การจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นจะช่วยให้เด็กได้รับโอกาสในการเรียนรู้มากขึ้น และสามารถจบการศึกษาได้ ซึ่งถือเป็นการเปิดทางไปสู่การศึกษาระดับที่สูงขึ้น” ผอ.สิทธิพลกล่าว พร้อมเน้นย้ำว่า หากเด็กหลุดจากระบบการศึกษาแล้วไม่กลับมาเรียนอีก เขาจะเสียโอกาสทุกด้านของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานหรือการเติบโตทางสังคม

ผอ.สิทธิพลยังบอกต่อว่า การดึงภาคีจากภาคส่วนต่าง ๆ มาช่วยสนับสนุนการทำงาน ทำให้โรงเรียนสามารถจัดการเรียนรู้ที่เด็กสามารถทำงานและเรียนไปพร้อมกันได้ โรงเรียนจึงต้องปรับหลักสูตรการเรียนการสอน และการวัดประเมินผล เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาตามศักยภาพที่พึงมี และเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้พัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตอย่างเต็มที่

“เด็กหลายคนยังรอโอกาส บางคนอยากเรียนแต่ไม่มีช่องทาง หากโรงเรียนเปิดพื้นที่ให้มากขึ้น เราเชื่อว่าเด็กทุกคนจะมีโอกาสพัฒนาและมีชีวิตที่ดีขึ้น”

โรงเรียนที่เริ่มต้นแล้ว : “อยากบอกว่าการให้โอกาสเด็กที่ไม่มีความพร้อม ถ้าโรงเรียนไม่ทำ เด็กเหล่านี้ก็แทบจะไม่มีทางไปต่อ”

กันทิมา ตีกะพี้ รองผู้อำนวยการ โรงเรียนมหาราช 7 กล่าวถึงการนำนวัตกรรม “1 โรงเรียน 3 รูปแบบ” มาใช้ในโรงเรียนว่า โรงเรียนมหาราช 7 เริ่มใช้การเรียนรู้รูปแบบนี้ตั้งแต่ระดับชั้น ป.4 ถึง ม.3 รวมทั้งสิ้น 29 คน โดยเด็ก ๆ มีสาเหตุที่หลากหลายในการต้องการทางเลือกการศึกษาที่ยืดหยุ่น บางคนต้องทำงานหาเลี้ยงตัวเอง หรือบางคนต้องดูแลพ่อแม่ที่เจ็บป่วยจนไม่สามารถทำงานได้ การจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นจึงเป็นการเพิ่มทางเลือกให้เด็ก ๆ สามารถทำงานประกอบอาชีพได้ ดูแลครอบครัวได้ และยังคงสามารถเรียนรู้ในวิธีที่เหมาะสมกับความจำเป็นในชีวิตของพวกเขา

“ยกตัวอย่างเด็กคนหนึ่งที่แม่พิการทำงานไม่ได้ เด็กต้องไปรับจ้างเลี้ยงวัว โรงเรียนก็ช่วยปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับแผนงานและรูปแบบชีวิตประจำวัน โดยครูจะไปสอบถามและพูดคุยกับนายจ้างและตัวเด็กจนทราบว่างานที่เด็กทำคือการตัดข้าวโพด โม่ข้าวโพด และบรรจุถุง โรงเรียนจึงนำงานที่เด็กทำมาประยุกต์ใช้ในการเรียน โดยเชื่อมโยงกับหลักสูตร เช่น คณิตศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณปริมาณกิโลกรัมของข้าวโพดที่โม่ได้ในแต่ละวัน และคำนวณราคาในการขายได้ถุงละเท่าไหร่ เป็นต้น” รอง ผอ.กันทิมาอธิบาย

กันทิมา ตีกะพี้

รองผู้อำนวยการโรงเรียนมหาราช 7 ยังกล่าวถึงข้อดีของการจัดการศึกษา 1 โรงเรียน 3 รูปแบบว่า เด็กที่ขาดโอกาส หรือเด็กที่ต้องเผชิญสถานการณ์เฉพาะที่ทำให้เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา จะยังสามารถอยู่ในระบบได้อย่างมั่นคง โดยโรงเรียน ครู และสถานประกอบการหรือนายจ้างจะมีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้ การทำงานร่วมกันนี้ช่วยพัฒนาชุมชนด้วยการให้โอกาสทางการศึกษากับเด็ก ๆ เพื่อในอนาคต เด็กเหล่านี้จะมีความรู้ความสามารถและกลายเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนชุมชนและประเทศชาติ

การจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นจึงไม่เพียงแต่ช่วยให้เด็ก ๆ สามารถเรียนต่อไปได้เท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเด็กในทุก ๆ ด้านอย่างยั่งยืน

ดร.นุชนาถ สอนสง

ดร.นุชนาถ สอนสง ผู้อำนวยการโรงเรียนพนมทวนชนูปถัมภ์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากาญจนบุรี กล่าวถึงการติดตามเด็กที่หลุดออกไปให้กลับมาเรียนได้ว่า โรงเรียนจำเป็นต้องมีรูปแบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นและเปิดกว้างต่อความจำเป็นและความต้องการในชีวิตของเด็ก โดยเน้นให้เห็นว่าการเรียนรู้ที่สามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา จะช่วยรองรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษที่อาจไม่ได้มาจากด้านวิชาการเท่านั้น

“เรามีเด็กคนหนึ่งที่หยุดเรียนเพราะต้องดูแลคุณยาย เขาจึงหางานทำและเริ่มหัดพากย์ฟุตบอล เมื่อทักษะดีขึ้นเขาก็เริ่มมีรายได้ พอโรงเรียนชวนกลับมาเรียน ใจเขาก็ยังอยู่ที่การพากย์บอล แต่เราเสียดาย อยากให้เด็กได้เรียนจบ จึงให้ครูออกแบบใบงานและนำบทเรียนไปให้เขาที่สนามฟุตบอล ด้วยวิธีนี้ เด็กก็สามารถเรียนได้ ดูแลคุณยายได้ และยังทำงานหารายได้ช่วยครอบครัวได้” ดร.นุชนาถอธิบาย

ผอ.นุชนาถยังเสริมว่า เป้าหมายของโรงเรียนคือการทำให้เด็กจบการศึกษาภาคบังคับก่อน จากนั้นเด็กจะมีโอกาสอื่น ๆ ในการศึกษาต่อ หรืออาจนำวุฒิการศึกษามาต่อยอดการเรียนรู้เฉพาะทาง เช่น การพากย์บอล ซึ่งจะช่วยพัฒนาและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับเด็กได้ในอนาคต

การจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นในรูปแบบนี้จึงไม่เพียงแค่ช่วยให้เด็กเรียนจบ แต่ยังสร้างโอกาสให้เด็กได้พัฒนาทักษะอื่น ๆ ที่สามารถใช้ทำงานและพัฒนาตัวเองต่อไปได้ในอนาคต  

ผอ.เปลว ปุริสาร ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง กล่าวถึงการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นว่า โรงเรียนอนุบาลสวนผึ้งใช้วิธีการเรียนที่เปิดโอกาสให้เด็กบางคนที่ต้องทำงานหาเงินไปพร้อมกับการเรียน หรือบางคนที่มีปัญหาสุขภาพจนไม่สามารถมาเรียนทุกวันได้ โรงเรียนจะจัดตารางเรียนให้เด็กมาเรียนสัปดาห์ละอย่างน้อยหนึ่งวัน และที่เหลือจะให้เด็กทำงานหรือทำกิจกรรมที่สนใจไป จนเมื่อพวกเขาเรียนจบ

“หลายคนได้แสดงให้เห็นว่าโอกาสที่ได้รับได้เปลี่ยนความคิดของพวกเขาให้อยากเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น หลายคนกลายเป็นเสาหลักของครอบครัวทำงานหาเงิน และบางคนก็เปลี่ยนแปลงตัวเองจากเด็กเกเรมาเป็นคนใฝ่รู้ใฝ่เรียน เมื่อเขาเจอกับสิ่งที่ตัวเองสนใจ” ผอ.เปลวกล่าว

ผอ.ยังเน้นว่า การให้โอกาสเด็กที่ไม่มีความพร้อมเป็นสิ่งสำคัญ หากโรงเรียนไม่ทำเช่นนี้ เด็กเหล่านี้อาจไม่มีทางไปต่อได้ “โรงเรียนและครูต้องเป็นคนคอยพยุง ดูแล และเป็นเพื่อนคู่คิดที่สำคัญ ช่วยให้เด็กทุกคนพัฒนาได้ตามศักยภาพของตัวเอง ซึ่งการจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นจะช่วยให้ทั้งเด็กและครูไปถึงเป้าหมายร่วมกันได้”

การจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปิดโอกาสให้เด็กทุกคนได้พัฒนาตามบริบทและสถานการณ์ของตัวเอง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

โรงเรียนที่กำลังเข้าร่วม 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ : ฟังเสียงเด็ก ปรับการเรียนรู้ให้ตอบโจทย์ชีวิต เพื่อไม่ให้เด็กหลุดจากระบบและจบการศึกษา

วนิชยา กันขำ ครูโรงเรียนวัดบึงกระจับ อำเภอบ้านโป่ง กล่าวถึงการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ “1 โรงเรียน 3 รูปแบบ” ว่าเป็นวิธีการฟังเสียงของเด็ก ๆ ว่าเขาต้องการอะไร แล้วโรงเรียนจะจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับสิ่งที่เด็กประสบ เพื่อไม่ให้เด็กหลุดออกไปจากระบบการศึกษาและสามารถเรียนจนจบได้

วนิชยา กันขำ

ครูวนิชยายกตัวอย่างเคสนักเรียนที่เคยหลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะต้องทำงานช่วยแม่ เมื่อครูไปตามเด็กกลับมาที่โรงเรียน แต่เด็กไม่สนใจจะเรียนต่อแล้ว ซึ่งน่าเสียดายว่าเด็กคนนี้เสียโอกาสในการพัฒนาความสามารถที่มีอยู่ไป

“เด็กคนนี้อยู่ชั้น ป.6 และมีความสามารถด้านศิลปะ แต่เมื่อไปตามเขากลับไม่สนใจจะเรียนต่อ โดยยืนกรานว่าจะช่วยแม่ทำงาน” ครูวนิชยายอมรับว่ารู้สึกเสียดายที่เด็กมีทักษะ ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาได้ไกลกว่านั้นเธอเชื่อว่า การนำ “1 โรงเรียน 3 รูปแบบ” มาใช้ จะเป็นวิธีที่ช่วยให้เด็กคนนี้กลับมามีโอกาสเรียนได้ใหม่ โดยไม่ทิ้งศักยภาพที่เขามีไว้ ซึ่งหลังจากนี้โรงเรียนจะใช้แนวทางนี้ในการช่วยดูแลและไม่ให้เด็กหลุดออกจากการศึกษาอีกต่อไป

ปวิช ไชยยุทธ์

ปวิช ไชยยุทธ์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนรัฐราษฎร์อุปถัมภ์ กล่าวว่า “1 โรงเรียน 3 รูปแบบ” คือแนวทางที่โรงเรียนใช้ในการเข้าหาและรับฟังปัญหาของเด็ก ๆ เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่เขาต้องการ จากนั้นโรงเรียนจะปรับการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เด็กเผชิญ เพื่อไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาและสามารถเรียนจนจบได้

รองผู้อำนวยการโรงเรียนรัฐราษฎร์อุปถัมภ์ยังกล่าวเสริมว่า การศึกษาไม่ควรหมายถึงแค่การทำเกรดให้ดีหรือเรียนจบสูงเท่านั้น แต่ควรคำนึงถึงการดูแลด้านสังคม จิตใจ และความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เด็กอาจต้องเผชิญ โรงเรียนจึงควรเป็นที่พึ่งให้เด็กในทุกมิติและไม่ทอดทิ้งเขา เพื่อให้เด็กได้รู้ว่าเขาไม่ได้อยู่เพียงลำพัง

“การศึกษาคือการดูแลเด็กในทุกด้าน รวมถึงความรู้สึกและความท้าทายที่เขาต้องเผชิญ ซึ่งการใช้ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบจะช่วยให้โรงเรียนสามารถทำหน้าที่นี้ได้อย่างเต็มที่ และทุกโรงเรียนสามารถประยุกต์ใช้วิธีนี้เพื่อช่วยเด็ก ๆ ได้” รอง ผอ.ปวิชกล่าว  

รองผู้อำนวยการโรงเรียนรัฐราษฎร์อุปถัมภ์ กล่าวว่า “1 โรงเรียน 3 รูปแบบ” คือแนวทางที่โรงเรียนใช้ในการเข้าหาและรับฟังปัญหาของเด็ก ๆ เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่เขาต้องการ จากนั้นโรงเรียนจะปรับการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เด็กเผชิญ เพื่อไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาและสามารถเรียนจนจบได้

รองผู้อำนวยการโรงเรียนรัฐราษฎร์อุปถัมภ์ยังกล่าวเสริมว่า การศึกษาไม่ควรหมายถึงแค่การทำเกรดให้ดีหรือเรียนจบสูงเท่านั้น แต่ควรคำนึงถึงการดูแลด้านสังคม จิตใจ และความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เด็กอาจต้องเผชิญ โรงเรียนจึงควรเป็นที่พึ่งให้เด็กในทุกมิติและไม่ทอดทิ้งเขา เพื่อให้เด็กได้รู้ว่าเขาไม่ได้อยู่เพียงลำพัง

“การศึกษาคือการดูแลเด็กในทุกด้าน รวมถึงความรู้สึกและความท้าทายที่เขาต้องเผชิญ ซึ่งการใช้ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบจะช่วยให้โรงเรียนสามารถทำหน้าที่นี้ได้อย่างเต็มที่ และทุกโรงเรียนสามารถประยุกต์ใช้วิธีนี้เพื่อช่วยเด็ก ๆ ได้” รอง ผอ.ปวิชกล่าว  

สิริพร ลิ้นจี่

สิริพร ลิ้นจี่ ครูโรงเรียนวัดโพธิ์ศรี ราชบุรี เขต 1 กล่าวว่า การเยี่ยมบ้านนักเรียนทุกคนทำให้ครูเข้าใจปัญหาของเด็ก ๆ ได้ดีขึ้น โดยเฉพาะทำไมบางคนไม่สามารถมาโรงเรียนได้ทุกวัน ดังนั้น “1 โรงเรียน 3 รูปแบบ” จึงเป็นการเรียนรู้ที่จะช่วยให้เด็กได้รับการศึกษาในรูปแบบที่เหมาะสม หลังจากการคัดกรองเพื่อหาว่าเด็กคนไหนจำเป็นต้องเรียนในวิธีที่แตกต่างออกไป

เธอกล่าวต่อว่า การเรียนรู้ตามความสนใจและความถนัดของเด็ก หรือแม้แต่ตามข้อจำกัดในชีวิต เป็นการศึกษาในรูปแบบที่ยืดหยุ่นและช่วยให้เด็กเข้าถึงการเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถเชิญบุคลากรจากภาคส่วนอื่น ๆ มาร่วมพัฒนาเด็ก ๆ ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีทัศนคติที่ดีและมีความสุขในการเรียนมากขึ้น

“อยากชวนโรงเรียนอื่น ๆ ให้เข้ามาลองเรียนรู้และทำร่วมกัน เพราะเด็กทุกคนมีคุณค่า มีความสามารถ และมีความเก่งในแบบของตัวเอง เราในฐานะครูจะต้องช่วยพัฒนาและส่งเสริมให้เด็ก ๆ สามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้เต็มที่ที่สุด” ครูสิริพรกล่าว   

เด็กรุ่นแรกของโครงการ : “1 โรงเรียน 3รูปแบบ คือการมองเห็นจริง ๆ ว่าเด็กทุกคนมีคุณค่าและสามารถเรียนรู้พัฒนาตัวเองได้”

สิริวิมล เหลนปก

สิริวิมล เหลนปก ชั้น ม.2 โรงเรียนอนุบาลสวนผึ้ง เล่าว่าช่วง ม.2 เทอม 2 มีเหตุให้ขาดเรียนบ่อย จนในที่สุดก็หลุดไปจากโรงเรียน แต่ในที่สุดก็ได้กลับมาเรียนผ่าน 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ “ตอนหลุดออกไปแล้ว หนูได้รับคำแนะนำจากครูให้เรียนด้วยวิธีที่เราไม่ต้องมาเรียนทุกวัน มันทำให้หนูทำงานและเรียนไปพร้อมกันได้ คือตอนนี้หนูทำงานกับที่บ้าน เป็นร้านเสริมสวย ได้ค่าแรงเป็นวัน แล้วในหนึ่งอาทิตย์ก็จะไปโรงเรียน 2-3 วัน ส่วนวันที่ทำงานครูก็จะให้โจทย์มาเป็นรายวิชา เราก็จะเผื่อเวลาเรียนต่อวันไว้ แล้วพอถึงวันไปพบครูที่โรงเรียนก็จะมีการประเมินสิ่งที่เราได้เรียนรู้ พอเรียนด้วยวิธีนี้ ทำให้ตอนนี้กำลังจะจบ ม.2 แล้ว หนูคิดว่าการเรียนอย่างนี้ คือการมองเห็นจริง ๆ ว่าเด็กทุกคนมีคุณค่าและสามารถเรียนรู้พัฒนาตัวเองได้ค่ะ”

สุทัตตา เพ็งกัด

สุทัตตา เพ็งกัด นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนมหาราช 7 เล่าว่าเธอต้องหยุดเรียนไปดูแลแม่ที่ผ่าตัดดวงตา หลังจากนั้นครูเห็นว่าเธอเสี่ยงจะหลุดจากระบบการศึกษา จึงแนะนำให้เรียนผ่านโครงการ “1 โรงเรียน 3 รูปแบบ” ซึ่งทำให้เธอสามารถทำงานรับจ้างในสวนเพื่อดูแลตัวเองและแม่ได้ แม้ว่าแม่จะยังไม่สามารถทำงานได้ 

เธอบอกว่า “หนูมองว่าข้อดีของการเรียนแบบนี้คือถึงเรามีเรื่องที่ต้องทำจนทำให้มาโรงเรียนไม่ได้ แต่เราก็ไม่ต้องออกจากโรงเรียนไปเลย ก็รู้สึกดีใจค่ะ ที่ยังมีสิทธิ์จบ ม.3 เหมือนเพื่อน ๆ”
ทั้งสองกรณีแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น ซึ่งไม่เพียงแค่ช่วยให้เด็ก ๆ กลับมามีโอกาสในการศึกษา แต่ยังช่วยให้พวกเขาสามารถพัฒนาตัวเองตามสถานการณ์ชีวิตและความสามารถของแต่ละคน