‘การเงินต้องไม่เป็นอุปสรรค’ : 4 มหาวิทยาลัยไทย ‘การันตีหลักประกันโอกาสทางการศึกษา’ จากทุนเสมอภาคถึงปลายทางปริญญาตรี

‘การเงินต้องไม่เป็นอุปสรรค’ : 4 มหาวิทยาลัยไทย ‘การันตีหลักประกันโอกาสทางการศึกษา’ จากทุนเสมอภาคถึงปลายทางปริญญาตรี

“ไม่ควรมีนักศึกษาคนใดที่สอบติด แต่เรียนไม่จบ เพียงเพราะมีฐานะทางการเงินเป็นอุปสรรค”

นี่คือส่วนหนึ่งของบทสนทนาโดยคณาจารย์มหาวิทยาขอนแก่น  มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ที่ได้แลกเปลี่ยนถึงนโยบายและนวัตกรรมที่จะเป็นประตูลดความเหลื่อมล้ำเมื่อเด็กทุนเสมอภาค ก้าวเข้าสู่ในรั้วอุดมศึกษา บนเวทีความร่วมมือ ‘สู่เส้นทางหลักประกันการศึกษา TCAS66’ ซึ่งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ร่วมกันจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2566

จากผลการยืนยันสิทธิ์ผ่านระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา หรือ TCAS ปีการศึกษา 2566 วิเคราห์โดยสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. พบว่า มีนักเรียนผู้เคยได้รับทุนเสมอภาคในระดับชั้น ม.3 เมื่อปีการศึกษา 2562 สอบติดมหาวิทยาลัย 21,921 คน คิดเป็นร้อยละ 12.46 ของนักเรียนทุนฯ จำนวน 175,977 คน โดยกระจายอยู่ในสถาบันอุดมศึกษา 69 แห่งทั่วประเทศ

ณ ขณะนี้ ยังมีข้อกังวลของผู้ปกครอง และน้อง ๆ หลายคน ที่แม้ว่าจะพาตัวเองข้ามผ่านการศึกษาขั้นพื้นฐานมาถึงระดับอุดมศึกษาได้แล้ว แต่ ณ จุดเปลี่ยนผ่านสำคัญก็ยังไม่แน่ใจเรื่องการข้ามพ้นบนเส้นทางการศึกษาอีกยาวไกล ด้วยมีข้อจำกัดจาก ‘ฐานะทางการเงิน’

ณ จุดนี้ จะมีหลักประกันใดที่จะช่วยยืนยันว่าพวกเขาจะสามารถไปถึงความสำเร็จ ณ ปลายทางได้บ้าง

‘มหาวิทยาลัยขอนแก่น’ กับภารกิจส่งช้างเผือกถึงจบปริญญาตรี

“ถ้าใครสอบติด มข. ต้องได้เรียนทุกคน เรามีทุนหลากหลายที่เป็นหลักประกันให้นักศึกษาทุกคน”

รศ.เพียรศักดิ์ ภักดี รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เน้นย้ำหลักการแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

รศ.เพียรศักดิ์ เล่าว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้จัดเตรียมทุนการศึกษาสำหรับผู้เรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยมีทั้งทุน ม.ดินแดง ที่มาจากการทำบุญทอดผ้าป่าระดมทุน รวมถึงเส้นเลือดสำคัญอย่างทุน กยศ. โดยมีทุนต่อเนื่องปีละ 30,000 บาท ทุนไม่ต่อเนื่องปีละ 10,000 บาท อีกทั้งทุนเอกชน รวมถึงโครงการที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการจ้างงานระหว่างเรียนที่มีงบประมาณเกือบ 10 ล้านบาท

รศ.เพียรศักดิ์ ภักดี รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

โดยการทำงานจะเริ่มจากการสำรวจว่านักศึกษาแต่ละคนเรียนอยู่คณะอะไรบ้าง ก่อนจะตรวจสอบสถานะทางครอบครัว หากพบว่าขาดแคลนทุนทรัพย์จริงก็จะดำเนินการจัดหาทุนช่วยเหลือประเภทต่าง ๆ  ที่สำคัญเพื่อความยั่งยืน มหาวิทยาลัยขอนแก่นยังมีนวัตกรรมที่เป็นแพลตฟอร์มในการส่งเสริมให้นักศึกษาได้ทำงาน ซึ่งแบ่งแยกย่อยไปตามคุณสมบัติของแต่ละทุน โดยครอบคลุมบริบทอันหลากหลายของผู้เรียน

“ทางมหาวิทยาลัยจะพยายามกระตุ้นนักศึกษากลุ่มที่มีความยากจนพิเศษ ให้เข้ามาสมัครทุนช่วยเหลือผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยจะนำข้อมูลนักศึกษาทั้งหมดมาปรึกษากับกรรมการฝ่ายดูแลนักศึกษาเพื่อประเมินความเดือดร้อนของนักศึกษาว่าอยู่ในระดับไหน และเหมาะกับรูปแบบทุนแบบใด หากเดือดร้อนเป็นพิเศษก็ยังมีช่องทางอื่น ๆ เช่น เงินช่วยเหลือจากกองทุนมอดินแดง ซึ่ง มข. ตั้งขึ้นเพื่อระดมความช่วยเหลือไว้รองรับปัญหา และรับรองว่านักศึกษาที่สามารถสอบเข้าเรียนที่นี่ได้ จะต้องมีเงินช่วยเหลือให้ได้เรียนทุกคน” รศ.เพียรศักดิ์ กล่าว

‘มหาวิทยาลัยสวนดุสิต’ กับภารกิจสอบติดต้องมีเงินเรียน

ดร.สมธีราภ์ พรมศิริ ผู้อำนวยการศูนย์สนเทศแนะแนวการศึกษาและอาชีพ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

“เป้าหมายของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต คือการทำให้นักศึกษาเรียนจบทุกคนและสำเร็จการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน”

ดร.สมธีราภ์ พรมศิริ ผู้อำนวยการศูนย์สนเทศแนะแนวการศึกษาและอาชีพ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เล่าว่ามหาวิทยาลัยสวนดุสิตมีระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา โดยได้ดูแลผู้เรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ผ่านศูนย์สนเทศแนะแนวการศึกษาและอาชีพ ดูแลทั้งด้านอำนวยความสะดวกให้นักศึกษากู้ยืมจากกองทุน กยศ. ในจำนวนเดือนละ 3,000 บาท

นอกจากนี้ยังมีโครงการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยในการจัดหาทุนอื่น ๆ อาทิ ‘โครงการสวนดุสิตเสริมโอกาส’ ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาใช้เวลาว่างจากการเรียนได้เข้ามาทำงานเสริมในมหาวิทยาลัย จำนวน 75 ชั่วโมงและได้ค่าตอบแทนเดือนละ 3,000 บาท และ ‘โครงการสหกิจศึกษา’ ที่เปิดให้นักศึกษาที่เข้าเกณฑ์สามารถฝึกปฏิบัติการสอนที่โรงเรียนสาธิตละอออุทิศจำนวน 4 แห่ง โดยมหาวิทยาลัยจะสนับสนุนทุนการศึกษาให้รายละ 5,000 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ในอนาคตยังมีการกำหนดทิศทางและกลยุทธ์อื่น ๆ ที่ช่วยให้นักศึกษาได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

“เมื่อได้รายชื่อนักศึกษาใหม่มาจาก กสศ. จะนำรายชื่อนั้นมาจำแนกเป็นกลุ่มต่าง ๆ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ เช่น กลุ่มที่ต้องการกู้ยืมจาก กยศ. ก็มีการอำนวยความสะดวกให้นักศึกษากู้ยืม และสามารถผ่อนชำระค่าเล่าเรียนได้ 3 งวด กลุ่มที่ไม่ต้องการกู้ยืมก็จะเข้าไปพูดคุยว่าต้องการความช่วยเหลือในรูปแบบใด เช่น หาช่องทางจัดหาทุน หรือการทำงานระหว่างเรียน ปีที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยได้พยายามหาทุนการศึกษารูปแบบต่าง ๆ มาดูแลนักศึกษาถึง 34 ล้านบาท และมีการระดมทุนจากศิษย์เก่าและผู้อุปถัมภ์จากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อนำเงินมาสนับสนุนโครงการช่วยเหลือนักศึกษาให้สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน” ดร.สมธีราภ์ กล่าว

‘มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่’ กับการโอบอุ้มนักศึกษาจนสุดปลายทาง

ผศ.สุรศักดิ์ นุ่มมีศรี รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

“เด็กที่กู้ กยศ. เราไม่ถือว่าเขาได้ทุน แต่เขาเป็นหนี้ เราจึงเปิดโอกาสให้เขาได้ขอทุนเพิ่มจากมหาวิทยาลัยร่วมด้วย”

ผศ.สุรศักดิ์ นุ่มมีศรี รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เล่าว่าแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ได้แบ่งผู้เรียนเป็น 2 กลุ่ม นั่นคือ

1. กลุ่มของเด็กชาติพันธุ์ที่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ผู้เรียนกลุ่มนี้นับเป็นกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถกู้ทุนจาก กยศ. ได้ มหาวิทยาลัยจะพิจารณากลุ่มนี้ก่อนเป็นอันดับต้น ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 20 ของนักศึกษาทั้งหมด

2. กลุ่มกู้ยืมเงินจากทุน กยศ. ที่ผ่านมาทุนเหล่านี้ไม่เคยเพียงพอสำหรับนักศึกษาที่มีแนวโน้มขาดแคลนทุนทรัพย์มากยิ่งขึ้น นักศึกษากลุ่มนี้มีสิทธิ์ขอทุนจากมหาวิทยาลัย ได้รับการจ้างงาน ขอทุนต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยเตรียมไว้ให้

ที่สำคัญ ‘การไม่ขึ้นค่าเทอม’ คือ นโยบายหลักที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ยึดถือเป็นหลักประกันให้ผู้เรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้มีโอกาสได้เข้าถึงการศึกษา ทำให้นักเรียนสามารถจ่ายได้ครบ 4 ปี จนตัวเองจบปริญญาตรี และยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่กู้เงินจาก กยศ. สามารถขอทุนจากทางมหาวิทยาลัยที่จัดไว้ให้เพิ่มเติมด้วยได้

“ข้อดีของการเห็นรายชื่อเด็กกลุ่มยากจนพิเศษที่เข้ามาเรียนกับเรา คือทำให้มหาวิทยาลัยตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาว่าจะช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้อย่างไร เราจะดูแลกลุ่มเด็กชาติพันธุ์ที่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนเป็นพิเศษ โดยพยายามระดมเงินทุนช่วยเหลือจากภาคเอกชนมามาดูแล ขณะที่กลุ่มยากจนทั่วไปจะเปิดโอกาสให้กู้ยืมจากกองทุน กยศ. และจัดหาโครงการทำงานระหว่างเรียนมาดูแลเด็กกลุ่มนี้ นอกจากนี้ยังมีทุนต่าง ๆ ที่ช่วยเหลือนักศึกษาที่มีความยากลำบาก เช่น โครงการอาหารกลางวันของมหาวิทยาลัย

“ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ทำให้เราทราบว่ายังมีนักศึกษาจำนวนมากที่ต้องการความช่วยเหลือโดยพบว่าตัวเลขนักศึกษาที่เดือดร้อนนั้นเพิ่มขึ้นทุกปี มาตรการความช่วยเหลือที่มหาวิทยาลัยกำลังทำอยู่ จึงเป็นเพียงความพยายามช่วยเหลือเบื้องต้นที่แก้ปัญหาปลายเหตุ ปัญหานี้ยังต้องการการดูแลจากต้นเหตุคือเรื่องการกระจายรายได้และสร้างโอกาสให้เด็กกลุ่มนี้เข้าถึงการศึกษา” ผศ.สุรศักดิ์ กล่าว

‘มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี’ จะไม่มีศิษย์คนใดไม่ได้เรียนเพราะปัญหาความยากจน

รศ.ดร.เชาวลิต ลิ้มมณีวิจิตร รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและผู้เรียนรู้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

“สิ่งที่มีค่าคือความพยายามของเด็กที่ฝ่าฟันจบสอบติดมหาวิทยาลัย เราการันตีได้ว่าการขาดแคลนทุนทรัพย์จะไม่เป็นอุปสรรคที่ทำให้นักศึกษาของเราเรียนไม่จบ”

รศ.ดร.เชาวลิต ลิ้มมณีวิจิตร รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและผู้เรียนรู้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เล่าถึงการแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาว่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ทำงานร่วมกันกับชุมชนและสังคม 6 มิติ โดยมีกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมทั้งผู้เรียนที่มีฐานะยากจนในเมือง ในชนบท ในชุมชนบนดอยและชาวเขาที่อยู่ห่างไกล ผ่านโครงการดังนี้

  1. ทุนการศึกษาธรรมรักษา มอบให้นักศึกษากลุ่มจำเพาะและโครงการพิเศษ โดยสนับสนุนค่าเทอมและหอพัก ทั้งยังมีค่าครองชีพรายเดือนเดือนละ 4,000 บาท มีค่าอุปกรณ์การศึกษา 10,000 บาท โดยเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด
  2. ทุนจากศิษย์เก่า มจธ.
  3. ทุนจากโครงการพัฒนาอาชีพคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม
  4. ทุนโครงการตามรอยพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
  5. ทุนโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง
  6. ทุนโครงการเด็กและเยาวชนชายขอบ

ซึ่งในอนาคต มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี ยังใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาและลดต้นทุนในการจัดการความเหลื่อมล้ำ เช่น การสร้างแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้เด็กทำงานวิจัยโดยมีค่าตอบแทนรายเดือน/ รายชั่วโมง และการเปิดโอกาสให้นักศึกษาใช้ความสามารถทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย เช่น การสร้างเว็บไซต์ ฯลฯ

“นโยบายในการช่วยเหลือนักศึกษาเป็นสิ่งที่อธิการบดีของมหาวิทยาลัยได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า จะไม่มีศิษย์คนใดที่ไม่สำเร็จการศึกษาเพียงเพราะปัญหาทางการเงิน โดยช่วยเหลือผ่านโครงการ ห้องปฏิบัติการทางสังคม Social lab และช่วยเหลือผ่านเครือข่ายต่าง ๆ รวมถึงมีโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาเรียนไปด้วยทำงานวิจัยไปด้วย มีโครงการรองรับความต้องการของนักศึกษาอีกมากมาย นักศึกษาที่สอบเข้ามาเรียนกับเราจะสามารถจบการศึกษาได้ทุกคน เราสามารถรับรองได้ว่าจะไม่มีอุปสรรคด้านการเงินมาขัดขวางผู้ที่ตั้งใจเรียน” รศ.ดร.เชาวลิต ทิ้งทาย