‘ทัช’ วรรณกร บวรวัชรเดชา พ่อมอญ​ แม่พม่า แต่เติบโตมาเป็นครูรัก(ษ์)ถิ่นได้อย่างงดงาม

‘ทัช’ วรรณกร บวรวัชรเดชา พ่อมอญ​ แม่พม่า แต่เติบโตมาเป็นครูรัก(ษ์)ถิ่นได้อย่างงดงาม

“ชื่อทัชเฉยๆ ครับ ไม่มีชื่อจริงและนามสกุล”

วรรณกร บวรวัชรเดชา ใช้ชื่อ ‘ทัช’ มาตลอดสิบกว่าปีเพราะเพิ่งได้บัตรประชาชนและมีคำนำหน้าว่านายเมื่อตอนอยู่ ม.5 ด้วยความที่มีพ่อเป็นคนมอญและแม่เป็นคนพม่า แต่เข้ามาตั้งรกรากทำงานในกาญจนบุรีตั้งแต่ก่อนทัชเกิด 

ทัชเกิดและเติบโตในหมู่บ้านชุมชมศูนย์อพยพพม่า ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ พูดได้ทั้งพม่า มอญ และไทย แต่สิบกว่าปีต่อมาด้วยกระบวนการพิสูจน์สัญชาติจากภาครัฐทำให้ทัชเปลี่ยนสถานะจากเด็กไร้สัญชาติมาเป็นสัญชาติไทย ยิ่งไปกว่านั้นการมีทั้งชื่อและนามสกุลในบัตรประชาชนยังทำให้ความฝันว่าอยากเป็นครูของทัชใกล้ความจริงเต็มที 

“เวลาอยู่บ้านชอบเกณฑ์เด็กๆ มาสอน สมมุติว่าเราเป็นครู ใช้เพิงเล็กๆ หลังบ้านเป็นที่สอนการบ้าน  พอการบ้านเขาเสร็จเราก็จะสอนอ่านออกเขียนได้แล้วก็ตัวเลข เด็กประถมก็จะมาเรียนกับเรา ก็เลยชอบ” ทัชเล่าเรื่องสมัยมัธยมให้ฟัง 

ทัช-วรรณกร บวรวัชรเดชา นักศึกษาในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1

ระดับความฝันที่ใกล้เป็นจริง ‘เต็มที’ ของทัช พูดให้ชัดมากขึ้นคือปีนี้ 

เพราะทัชเป็นหนึ่งในนักศึกษาโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นแรก ที่สนับสนุนโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งมีเป้าหมายผลิตและพัฒนาครูรุ่นใหม่ปีละ 300 คน เพื่อส่งไปประจำอย่างน้อย 6 ปี (เงื่อนไขผูกพันของทุน) ในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลราว 1,500 แห่งทั่วประเทศ เพื่อลดปัญหาครูย้ายออกบ่อย เพราะผู้รับทุนต้องเป็นคนในท้องถิ่นๆ นั้น 

กลางปีนี้ ทัชเตรียมบรรจุเป็นข้าราชการครูโรงเรียนบ้านจันเดย์ ที่อยู่ห่างจากบ้านเพียง 11 กิโลเมตรหลังจากฝึกสอนมา 1 ปีเต็ม โรงเรียนบ้านจันเดย์เป็นโรงเรียนขนาดกลาง เด็กส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ครูเป็นคนไทยทั้งหมดรวมถึงผู้อำนวยการโรงเรียนด้วย 

มีครูทัชคนแรกที่เป็นครูจากกลุ่มชาติพันธุ์ 

“มันส่งผลอย่างแรกเลย เค้าเป็นตัวอย่างที่ดีที่บอกว่าเด็กชาติพันธุ์ก็เป็นครูได้ เพราะนักเรียนเห็นว่าครูก็เหมือนเรานะ” เกศฤทัย คําษร ผู้อำนวยการโรงเรียนบอกข้อดีอันดับแรกของ(ว่าที่) ครูจากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น 

อันดับต่อมา เด็กๆ ที่มีทั้งพม่า มอญ กระเหรี่ยง เดิมไม่ค่อยกล้าพูด กล้าสื่อสารเพราะกลัวผิด แต่พอเห็นครูทัชเป็นฝ่ายทักก่อนด้วยภาษาพม่า ภาษามอญ เค้าเลยเริ่มกล้าพูด

“เด็กที่พูดไม่ได้หรือพูดไม่ชัด เขาจะบอกเราว่า ขออนุญาตพูดเป็นภาษาพม่าได้มั้ยครับ  เราก็บอกว่าได้ แล้วจะช่วยแปลให้ครูคนอื่นฟังว่าเด็กคนนี้ต้องการอะไร” 

เช่นเดียวกับพ่อๆ แม่ๆ ที่มีข้อจำกัดทางภาษาเหมือนลูก เวลามีประชุมผู้ปกครอง ครูทัชจะเข้ามาเป็นล่าม 

“ส่วนใหญ่ทำงานรับจ้างเป็นชาวสวน ชาวไร่ ทำสวนมัน สวนยาง แต่ก่อนเขาก็ไม่ค่อยกล้าพูดกับครู แต่เขากล้าพูดกับเรามากขึ้นเพราะเราพูดภาษาเขา เขาสื่อสารกับเราเพื่อให้ไปบอกต่อกับคณะครู เหมือนเราเป็นตัวกลางเชื่อมความเข้าใจของเขา” ครูทัชเล่า

นี่เป็นทักษะที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดของครูทัช และถึงแม้ครูทัชจะรู้เร็วกว่าเพื่อนคนอื่นว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร แต่ด้วยความที่ฐานะทางบ้านยากจน พ่อแม่เคยบอกว่าถ้าจบม.6 แล้วให้ออกมาทำงาน แต่ทัชไม่ยอม ถ้าที่บ้านไม่ไหวก็จะหาทางส่งตัวเองเรียนให้ได้ ช่วงนั้นเองครูที่ปรึกษาก็แนะนำให้สมัครทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น เพราะเป็นทุนสนับสนุนเต็มจำนวน ทั้งค่าเทอม ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่ากินอยู่ 

จนทัชผ่านการคัดเลือกได้เป็นนักศึกษาทุนรุ่นแรก และเข้าไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี 

ผ่านไป 4 ปี วันนี้เรามานั่งคุยกับครูทัชที่เด็กๆ แอบกระซิบว่าแรกๆ ใจดี ตอนนี้ใจร้าย

“เมื่อเช้ายังวิ่งมากอด ส่งมินิฮาร์ตให้กันอยู่เลย” ครูใจร้ายหัวเราะร่วน 

1. กว่าจะมานั่งหัวเราะได้อย่างนี้ ทั้งภูมิหลัง ทั้งการเรียน เรื่องราวของ ‘ทัชเฉยๆ’ ที่กลายมาเป็น ‘ครูทัช’ มันไม่ง่ายเลย 

เริ่มตั้งแต่ตอนเรียนในรั้วมหาลัย ทัชบอกว่าทั้งเหนื่อยและสนุก เพราะไม่ได้นั่งเรียนอย่างเดียวแต่มีกิจกรรม Enrichment Program หลักสูตรที่เฉพาะสำหรับนักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่เน้นผลิตครูออกไปเป็นนักพัฒนาชุมชน ทำให้ต้องลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูล ศึกษาบริบทชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน เนื้อหาเหล่านี้จะบูรณาการอยู่ในวิชาต่างๆ

“นวัตกรรมที่ผมทำคือ นวัตกรรมภาษาเพื่อที่จะสื่อสารกับชุมชนรู้เรื่อง ผมใช้พยัญชนะไทย พยัญชนะของเขา (มอญ พม่า) มาผสมผสานกัน แล้วก็สร้างคำที่เขาเข้าใจ เราเข้าใจ ให้เขาฝึกอ่าน เขียนได้ ผ่านสื่อที่ใช้คือ บัตรคำ บัตรภาษา ที่ครูเคยใช้กับเราตอนป.1 แต่พอเราเอาไปใช้กับชุมชนเอง ยากมาก (หัวเราะ)” 

ทัชใช้เวลาทุกวันเสาร์ในช่วงฝึกสอนไปลงชุมชนเพื่อทำความรู้จัก ให้คนคุ้นหน้าคุ้นตาก่อน ขนาดทัชไปด้วยภาษาท้องถิ่นที่คล่องปากปร๋อ แรกๆ ก็ยังบอกว่าโหดเอาการ

“เข้าชุมชนยาก บางบ้านก็ไม่ต้อนรับเพราะเขาไม่รู้จักเรา เราแนะนำตัวไปก่อนเขาก็ไม่เอาด้วย เหมือนเขาไม่รู้ว่าเราเป็นครู เราแนะนำตัวก็ไม่ฟัง ใช้ทั้งภาษาไทย ภาษาอื่นๆ เขาก็ไม่ฟัง”

แต่ครูฝึกสอนก็ไม่ท้อ ทุกเสาร์ทัชจะขี่มอเตอร์ไซค์ไปพร้อมกับสมุด กระดาษ น้ำดื่ม แล้วก็เดินคุยตามบ้าน ชวนคุยเรื่องทั่วไป จนนานวันเข้าจากที่เคยถูกปิดประตูใส่ วันนี้หลายบ้านชวนหลานชายเข้าไปดื่มน้ำดื่มท่า 

“ส่วนใหญ่เป็นคนแก่ อยู่บ้านเหงา เลยเริ่มคุยกับเรา” 

พอความคุ้นเคยมา ทัชก็เริ่มได้วัตถุดิบกลับมาหลายอย่างเพื่อนำมาปรับใช้กับการสอน เช่น พืชท้องถิ่นต่างๆ จากปู่ตาย่ายาย ก็ถูกครูเอามาแต่งเป็นนิทานเล่าให้เด็กๆ ฟัง

“เป็นนิทานเรื่องหาของป่า เช่น วันนี้ตาโทนเดินไปในป่าเพื่อที่จะหาของป่า เราก็ถามเด็กๆ คิดว่าของป่ามีอะไรบ้าง เขาก็จะบอกมีเห็ด หน่อไม้ เราก็ถามต่อว่าเด็กๆ คิดว่าทำอาหารอะไรได้บ้าง เขาจะบอกว่า ต้มยำ ผัดเห็ด ผัดผักกูด เราถามอีกว่าแล้วของเหลือทำยังไงต่อ เด็กตอบว่า เอาไปแบ่งบ้านเพื่อน เอาไปขาย เด็กๆ ก็จะเชื่อมโยงเรื่องตัวเองกับนิทานนี้” 

ทัชบอกว่านิทานบางเรื่องเต็มไปด้วยข้อคิดที่ดีมาก แต่สอนแล้วเด็กๆ ไม่เข้าใจ เขาจึงใช้ของฝากจากชุมชนมาแต่งนิทานที่ใกล้กับชีวิตของเด็ก ข้อดีอันดับแรกคือ เด็กๆ จะได้รู้จักชุมชนของเขาเอง สองคือเขาจะได้รู้จักสิ่งที่ถูกต้อง เช่น ตอนที่ถามว่า ผักเหลือแล้วจะทำยังไงดี  ไปแบ่งใครได้บ้าง 

“เด็กก็จะคิดออก แล้วมันใช้ได้จริง เวลากินขนมไม่หมด เขาก็จะแบ่งให้น้องให้พี่” 

นอกจากนิทานแต่งเองแล้ว ครูทัชยังชอบพาเด็กๆ ไปทำกิจกรรมนอกสถานที่ ยกตัวอย่าง วิชาหน่อไม้ ซึ่งครูทัชไม่สันทัด แต่ใช้วิธีเชิญชาวบ้านผู้รู้มาพร้อมพาเด็กๆ ลงสนามจริง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม project approach และเป็นสิ่งที่ทัชชอบที่สุดของการเป็นครู 

“เราชอบการพาเด็กไปทำกิจกรรมนอกสถานที่ พาไปเดินแล้วสอน เช่น กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ เราก็พาเด็กไปเดิน จดบันทึกของเขาเอง เขาจะจดบันทึกเป็นภาพแล้วก็ให้เขาเอามาเล่า เราจะได้รู้ว่าเขาต้องการอะไร ให้เขาได้เติมแต่งภาพของเขาเอง เราชอบกิจกรรมแบบนี้มากกว่าสอนในห้องเรียน”​

แต่กว่าจะเล่าไปยิ้มไปได้อย่างนี้ ฝึกสอนแรกๆ ทัชยอมรับว่าหนักเอาการ ทั้งกิจกรรมที่เข้มข้นและงานสอนที่เข้มงวด รวมถึงการคิดถึงเงื่อนไขผูกพันจากทุนที่กำหนดว่าต้องสอนที่นี่ 6 ปี โดยไม่ย้ายไปไหน ทั้งหลายทั้งมวลเหล่านี้ทำให้ทัชถึงกับต้องฟังพี่อ้อยพี่ฉอดปลอบประโลมใจทุกเช้า   

“ยอมรับว่ากดดัน แต่คิดๆ แล้ว 6 ปีกับการได้บรรจุเลย บวกกับสิ่งที่เขาให้เรามาอีก มันจะติดตัวเราไปตลอด มันคุ้มค่า ระยะเวลาตรงนี้ทำให้เราทำงานกับชุมชนได้ดี” 

ขณะเดียวกัน ถึงแม้โรงเรียนบ้านจันเดย์จะเป็นโรงเรียนขนาดกลาง มีครู 7 คน ครูอัตราจ้าง 2 คน ครูธุรการอีก 1 การเข้ามาของครูฝึกสอนจึงถือเป็นอีกหน่วยที่สำคัญมากต่อการดูแลเด็กๆ 120 คนเศษ 

“เด็กพวกนี้ไม่เหมือนเด็กไทย พ่อแม่ทำงานแต่เช้ากลับมืด ตื่นมาไม่ได้กินข้าวเช้าต้องรีบขึ้นรถรับส่งตั้งแต่หกโมง โรงเรียนก็เตรียมนมกับขนมปังไว้ให้เด็กเล็ก เพราะกว่าเขาจะได้กินอีกทีสิบเอ็ดโมงครึ่งเลย เลิกเรียนบ่ายสามครึ่ง ก็ต้องรีบนั่งรถกลับ กว่าพ่อแม่จะกลับถึงบ้านก็ดึกดื่น” 

เกศฤทัย ผอ.รร.บ้านจันเดย์ บอกต่อว่าถึงแม้เด็กอนุบาลที่นี่จะมีแค่ 19 คนแต่มีครูดูแลถึง 3 คนและหนึ่งในนั้นคือครูทัช ที่จบเอกการศึกษามาโดยตรง จากคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี  

“ถามว่าเยอะไหม ต่อให้มีครูร้อยคนก็ไม่พอ ตรงๆ เลยนะ อนุบาล 19 คนครูอนุบาล 3 คน ไม่พอ ถ้าเราคิดถึงความปลอดภัยของเด็ก ทั้ง เรื่องเพศ การเดิน การถอดรองเท้า การกิน การนั่งนิ่งๆ ควบคุมตนเอง ต้องฝึกตั้งแต่อนุบาล” 

เกศฤทัย คําษร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านจันเดย์ จ.กาญจนบุรี

และแผนการสอนของโรงเรียนขนาดกลางแบบนี้จะราบรื่นได้ ความเข้าใจและเชื่อใจจากชุมชนสำคัญมากๆ 

“นักศึกษาที่ได้ทุนโครงการนี้ (ครูรัก(ษ์)ถิ่น) เค้าถูกขัดเกลา ฝึกฝนมาแล้ว ได้รับโอกาสดีๆ มาแล้ว คาดว่าเขาจะต้องส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กับชุมชนโดยเฉพาะน้องอยู่ที่นี่ถึงหกปี ถ้าน้องสามารถฝังเข้าไปในชุมชนได้ น้องก็จะเป็นตัวแทนโรงเรียนที่จะเข้าไปประสานและพัฒนาชุมชนในเรื่องต่างๆ เพราะปัญหามีเยอะ ขณะเดียวกันสิ่งดีก็มาก น้องสามารถเอาสิ่งดีในชุมชนเข้ามาสู่รร.ได้  เช่น บ้านผู้ปกครองสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดี พ่อแม่เป็นวิทยากรที่ดีมาก แต่สิ่งแรกเลยเค้าต้องเปิดใจให้โรงเรียนเข้าถึงเค้าได้ก่อน” ผอ.ยิ้มและย้ำ 

ด้านคนถูกคาดหวังอย่างทัชเองที่เตรียมจะบรรจุเป็นครูเต็มตัวเทอมการศึกษาหน้า รู้สึกว่าจากการลงชุมชนตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา เห็นความก้าวหน้าของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ 

“เวลาโรงเรียนมีกิจกรรม ชุมชนจะให้ความสำคัญเพราะเด็กของเขาเรียนกับเรา เขาจะช่วยซัพพอร์ตเราทุกอย่าง อย่างการพัฒนา ทำความสะอาดในวันสำคัญ เขาก็จะมากันเยอะมาก จากแต่ก่อนเราขอความช่วยเหลือเขาไป มีมาบ้างแค่ 2-3 คน”  

กับเด็กๆ เองทัชก็มีหลายโมเมนต์ที่รู้สึกว่าการเป็นครูมันดีจังเลยนะ

“ทุกวัน มีเด็กมาพูดแบบ ‘ครูทัชขา หล่อมากเลยค่ะ’ เราก็บอกว่าเออ ครูรู้แล้ว บางทีเขาก็มากอด แล้วบอก ครูขากอดหน่อย มีให้มินิฮาร์ตแล้วบอก ทอนหนูด้วยนะคะ เราก็ให้กลับไป เรารู้สึกได้ว่าเขารักเรา” 

โดยเฉพาะเด็กๆ กลุ่มชาติพันธุ์ที่ต้องใช้ความมั่นใจมากกว่าปกติในการแสดงออก

“บางทีเขามองหน้าเราแล้วก็ร้องไห้ เขามีอะไรอยากพูดกับเราแต่เขาพูดไม่ออก เราก็ให้กำลังใจเขาโดยการคุยกับเขาเป็นภาษาพม่าเลย ‘ไม่ต้องเขินไม่ต้องอายนะ ผิดหรือถูกพูดออกมาเลย ไม่เป็นไร เดี๋ยวคุณครูช่วยแก้ให้’ เขาก็เช็ดน้ำตาแล้วค่อยๆ พูดกับเรา”

รอยยิ้มของครูทัชตลอดการสนทนาบอกกับเราว่า พรุ่งนี้และวันต่อๆ ไปไม่ง่ายแต่ไปต่อแน่นอน พร้อมเล่าความฝันสเตปต่อไปให้ฟังว่าระหว่างทำงานก็จะอ่านหนังสือไปด้วยเพื่อสอบเป็นรองผู้อำนวยการโรงเรียน

“ผมมีความใฝ่ฝันสูงสุดว่าอยากเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนครับ (ยิ้ม)”