ให้อิสระโรงเรียนพัฒนาตนเอง ด้วยแนวทางต่างกัน เพื่อการจัดการศึกษาที่หลากหลาย
นายฐณรินทร์ หวายฤทธิ์ธนกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ.

ให้อิสระโรงเรียนพัฒนาตนเอง ด้วยแนวทางต่างกัน เพื่อการจัดการศึกษาที่หลากหลาย

สพฐ.และ กสศ. มีความใกล้ชิด มีความเชื่อมโยงในการทำงานและการบริหารจัดการ ซึ่งเรามีบันทึกความร่วมมือร่วมกันโดยเฉพาะเป้าหมายการจัดการศึกษาที่มุ่งสร้างคุณภาพการศึกษาให้ผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งเป้าหมายที่เหมือนกันของ สพฐ.และ กสศ. นอกจากนี้เรายังมีแนวปฏิบัติและข้อมูลที่ทำร่วมกันอยู่คือข้อมูลนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษที่บริหารจัดการร่วมกัน ที่จะให้งบประมาณให้ลงไปถึงนักเรียนของพวกเราอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่ง สพฐ. และ กสศ. อาจจะมีภารกิจไม่เหมือนกันทั้งหมด แต่เป้าหมายเหมือนกันคือคุณภาพผู้เรียน โดยอาจมีวิธีการและแนวทางที่ต่างกัน ภายใต้บริบทของโรงเรียน แต่ระหว่างทางเดินในสายงานของตนเองนั้น เป้าหมายที่ออกมาคือคุณภาพผู้เรียน

เป้าหมายหนึ่งของ กสศ. คือ โรงเรียนพัฒนาตนเอง หมายความว่า 30,000 กว่าโรงเรียนของ สพฐ. นั้นมีบริบทที่ไม่เหมือนกัน โรงเรียนบางแห่งอาจจะมีความเหมือนกันบ้างในพื้นที่ แต่ความหลากหลายของภูมิศาสตร์ ตัวนักเรียน สภาวะเศรษฐกิจ และชุมชน คือความแตกต่างที่มีอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทยที่เราพยายามลดความเหลื่อมล้ำลงนั้น ภาพที่ออกมาจะเห็นว่าความเหลื่อมล้ำยังมีอีกมาก เพียงแต่โอกาสในการเข้าถึงความรู้และการพัฒนาตนเองดีขึ้น จากที่เราอยู่ในโลกโซเชียลและการสื่อสาร แต่สภาวะความเป็นอยู่และการดูแลโดยสถานศึกษา การดูแลโดยครูและผู้ปกครองมีความต่างกันลิบลับเมื่อเทียบกับโรงเรียนในเมือง ขอยกตัวอย่างโรงเรียนในพื้นที่ จ.เชียงราย ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลซึ่งตนได้เห็นจากการได้ลงพื้นที่ร่วมกับ รมว.ศธ. และเลขา กพฐ. โรงเรียนอยู่ห่างไกลมาก ต้องนั่งเรือและเดินเท้าเข้าไป เป็นโรงเรียนประจำ ภาระที่เกิดขึ้นกับคนที่เป็นครูในโรงเรียน เราต้องบริหารจัดการหาที่พักให้ครู และหาอินเทอร์เน็ตเพื่อให้เด็กได้เข้าถึงความรู้

นายฐณรินทร์ หวายฤทธิ์ธนกุล ผอ. สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ.

ขณะเดียวกันเด็กก็มีความแตกต่าง มีทั้งเด็กชนเผ่าและเด็กพื้นราบ การดูแลต้องใส่ใจเท่าทวีคูณ นี่คือความแตกต่างของการจัดการศึกษาที่หลากหลาย หากใช้วิธีการจากส่วนกลางอย่างเดียวโดยไม่มีเรื่องการพัฒนาตนเองโดยเฉพาะ ไม่มีรูปแบบของตนเอง จะไม่สามารถจัดการได้ ในหลักการเดียวกันกับโรงเรียนอื่น ความแตกต่างอีกเรื่องคือ เด็กที่มาอยู่โรงเรียนไม่ได้กลับบ้านแม้จะปิดเทอมและอยู่ยาวเพราะกลับไปแล้วลำบาก ครูก็ต้องดูแล บางคนมาเรียนนำน้องมาเลี้ยงที่โรงเรียนด้วย ครูก็ต้องดูแลทั้งหมด บางช่วงเด็กจะหายไปค่อนโรงเรียนเพราะมีเทศกาลจับคู่ของชนเผ่า บางคนไม่กลับมาเรียนอีก แต่บางคนกลับมาเรียน โรงเรียนก็ต้องหาวิธีการดูแลและให้เด็กเหล่านี้ยังสามารถกลับมาเรียนได้ นั่นคือความหลากหลายของบริบทและพื้นที่ที่ไม่สามารถบริหารจัดการด้วยวิธีเดียวกัน แต่ต้องกำหนดด้วยรูปแบบและวิธีการที่เหมาะสม แต่สิ่งที่ผู้บริหารได้เห็น แม้ภาระงานจะมีนอกเหนือจากการสอน และครูต้องทำวิทยฐานะเช่นเดียวกับครูอื่น ๆ แต่ภาระงานมากกว่าครูปกติ แต่ครูเต็มที่ทุกคน ผู้อำนวยการโรงเรียนไม่คิดจะย้ายโรงเรียน และยังอยากช่วยงานทำสิ่งที่ทำได้อยู่ตรงหน้า มีครูผู้หญิงที่ขอมาอยู่โรงเรียนนี้และไม่ขอย้ายเข้าในเมือง ครูบางท่านย้ายไปแล้วแต่ขอกลับมาสอนอีก เป็นสิ่งที่ตนประทับใจมาก

ผมเคยเป็นผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา และเคยใช้คำว่าการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อตนเอง เพราะเชื่อว่าสถานศึกษาสามารถพัฒนาตนเองได้ หลักสูตรที่ดีจะพัฒนาการศึกษาได้ แต่หากหลักสูตรดีแต่คนนำไปใช้ไม่ดีก็ไม่เกิดอะไรขึ้น ตนเคยเป็นผู้อำนวยการเขตพื้นที่อยู่บุรีรัมย์ เขต 2 ซึ่งพื้นที่ติดกับกัมพูชา เด็กพูดไทยไม่ชัด การอ่านออกเขียนได้มีปัญหา ทำให้ผลสัมฤทธิ์ต่ำ จึงเกิดแนวคิดเหมือนโรงเรียนพัฒนาตนเอง ตนพยายามสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้บริหาร เพราะทุกคนอยากย้ายไปโรงเรียนใหญ่ ต้องสร้างแรงบันดาลใจว่าเราจะพยายามสร้างโรงเรียนเล็กให้จัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ เพราะโรงเรียนจะมีแต่เล็กลงเรื่อย ๆ ด้วยจำนวนเด็กที่เกิดน้อยลง แต่หากเราบริหารโรงเรียนเล็กภายใต้บริบทและทรัพยากรที่มีให้มีประสิทธิภาพ นั่นคือการพัฒนาตนเองที่เราทำได้

ผมเปลี่ยนวิธีคิดให้ทำสถานศึกษาพัฒนาคุณภาพตนเอง โดยเปลี่ยนเป้าหมายจากการกำหนดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้เป็นสิ่งที่โรงเรียนต้องแก้ไขและพัฒนา 1.การอ่านออกเขียนได้ต้องได้ 100% 2.กำหนดคุณลักษณะของนักเรียนที่อยากได้ และ 3.ต้องการสร้างคุณภาพตนเองของโรงเรียนในเรื่องอะไร จากนั้นประกาศออกไปเป็นเป้าหมาย 3-4 เรื่อง เพื่อเป็นกรอบให้โรงเรียนได้เดินไป แต่ไม่ได้นำเรื่องผลสัมฤทธิ์มากำหนด เพราะไม่ตรงกับวิถีของเขา และให้ทำข้อตกลงกับครูและผู้บริหาร ว่าเป้าหมายจะให้เด็กมีคะแนนคณิตศาสตร์เท่าไร เพื่อให้เขาหาวิธีของเขาเองที่จะทำออกมา เพราะบางโรงเรียนบอกจะให้ขึ้น 5% เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ ผลที่เกิดขึ้นเขาสามารถทำในสิ่งที่เขาเสนอได้ ซึ่งผลการสอบ NT ในปีนั้นก็เพิ่มขึ้น นอกจากนี้มีการประเมินวิธีการของครูเป็นช่วง ๆ ว่าเด็กอ่อนเรื่องอะไร เนื้อหาส่วนไหนอ่อน เพื่อทำการปรับปรุงและพัฒนา

การบริการจัดการสถานศึกษาพัฒนาตนเองให้มีคุณภาพนั้น สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นมากกว่าหน้าตาและกิจกรรมของโรงเรียน คือการเก็บข้อมูลระหว่างทางว่ามีการดำเนินการอย่างไร มีการพัฒนา สร้างการรับรู้ หรือเพิ่มเติมต่อยอดในการนำไปสู่คุณภาพได้อย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต่างกับการเสนอโครงการต่าง ๆ เพราะต้องดูบริบทของโครงการที่วางไว้ว่าคุณภาพของเด็กมีหน้าตาอย่างไร และ กสศ. จะพัฒนาเรื่องอะไร เพื่อให้ 600 กว่าโรงเรียนรู้ว่าต้องพัฒนาเรื่องอะไร เพื่อให้เดินไปสู่เป้าหมายนั้น เหมือนที่ตนทำในการพัฒนาโรงเรียน เป็นโจทย์สำหรับการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาด้วยตนเอง ไม่ว่าใครจะย้ายไปไหน คนใหม่เข้ามาก็จะเติมเข้าไปในกระบวนการและสร้างคุณภาพการศึกษาที่จะเดินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

สิ่งที่ผู้บริหารที่จะต้องทำนอกเหนือจากนโยบายคือ การสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้บริหารสถานศึกษา ไม่ควรไปพูดเรื่องการย้ายผู้อำนวยการบ่อย แต่ต้องดูว่าคุณภาพการบริหารงานอยู่ตรงไหน หากยังไม่สามารถบริหารโรงเรียนเล็กได้สำเร็จแล้วจะย้ายไปอยู่โรงเรียนใหญ่ ต้องถามว่าจะไปทำได้อย่างไรในเมื่อโรงเรียนเล็กยังบริหารไม่ได้ และในการนิเทศไม่ใช่ให้โรงเรียนใหญ่ไปนิเทศโรงเรียนเล็กอย่างเดียว ตนใช้ 5 to 5 ให้ครูได้ไปนิเทศด้วยกัน ได้เห็นการทำงานของโรงเรียนใหญ่และไม่ผูกขาดการนิเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนา