เดินเคาะประตูบ้าน มุ่งมั่นแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

เดินเคาะประตูบ้าน มุ่งมั่นแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กๆ กลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่า “อาข่า” ในพื้นที่ตำบลแม่สลอง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย มีปัญหาในหลายด้าน ​เด็กบางคนไม่มีครอบครัวถูกทอดทิ้งให้ต่อสู้ชีวิตเพียงลำพัง บางคนฐานะทางบ้านยากจนไม่ได้เรียนหนังสือต่อ บางรายพ่อแม่ติดคุกขาดคนดูแล หรือบางรายโชคร้ายติดเชื้อเอ็ชไอวี​จึงถูกสังคมลอยแพปล่อยให้จมอยู่กับปัญหาสารพัดทำให้เด็กและเยาวชนเหล่านี้เข้าไม่ถึงการศึกษา

ด้วยความเข้าใจหัวอกของเด็กเหล่านี้เป็นอย่างดี ทำให้ “ธีระวัฒน์ พิทักษ์ไพรศรี” ประธานสหกรณ์การเกษตรลุ่มน้ำแม่คำ จำกัด หรือ​ “พ่อหลวงธีรวัฒน์” พยายามเข้าไปช่วยเหลือโอบอุ้มดูแล ช้อนพวกเขาให้ออกมาจากปัญหาเพื่อให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ เพื่อสกัดตัดวงจรไม่ให้พวกเขากลายเป็น เด็กจรจัดไร้บ้านสุ่มเสี่ยงไปข้องเกี่ยวอบายมุขและสิ่งเสพติด​

จนล่าสุดได้เข้ามาเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมเป็น “ครูพี่เลี้ยง” ในโครงการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา ปี 2563 ​​มุ่งมั่นทำงานอย่างทุ่มเทเพื่อเด็กๆ 

 

จากพ่อครัวสู่ครูเด็กนอกระบบ
เพราะเคยลำบากมาก่อนจึงไม่อาจนิ่งดูดาย​​

“พ่อหลวงธีรวัฒน์” เข้ามาทำงานช่วยเหลือเด็กชาติพันธุ์ตั้งแต่วัยหนุ่ม อายุ 23 ปี แม้ขณะนั้นยังไม่รู้ว่าจะหาวิธีช่วยเด็กๆ เหล่านี้ได้อย่างไร แต่ก็ตั้งใจเข้ามาทำงาน ทั้งๆ ที่เด็กเหล่านี้ไม่ใช่ลูกหลานตัวเองด้วยซ้ำ แต่ด้วยความที่มีสายเลือดอาข่าด้วยกัน มิอาจนิ่งดูดายได้ เพราะเคยลำบากมาก่อนต้องใช้ชีวิตปากกัดตีนถีบต่อสู้กับปัญหาความยากจน

จนกระทั่งเมื่อปี 2531 ​ได้มีโอกาสเข้ามาทำงานกับมูลนิธิรักษ์อาข่า ในตำแหน่งพ่อครัวทำอาหารเลี้ยงเด็กอาข่าที่ยากจนขาดโอกาสทางการศึกษา ​พ่วงกับไปกับ การทำหน้าที่ช่วยสอนหนังสือเด็กอาข่าที่ไม่ได้เข้าเรียนหนังสือ จึงเริ่มซึมซับบทบาทความเป็นครูเด็กนอกระบบการศึกษานับแต่นั้นเป็นต้นมา

 

ไม่ใช่แค่สอนให้อ่านออกเขียนได้
แต่ปลูกฝังให้สำนึกในรากเหง้าชาติกำเนิด

การให้ความรู้และการศึกษาของ “ครูพี่เลี้ยง” ในแบบฉบับ “หลวงพ่อธีรวัฒน์”  ไม่ใช่เพียงส่งเสริมให้เด็กมีการศึกษาอ่านออก เขียนได้ และ พูดภาษาไทยได้คล่อง แต่เป็นการสอนให้เด็กมีสำนึกในอัตลักษณ์ในขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันเป็นรากเหง้าของตนเองมาแต่ชาติกำเนิด โดยใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันในช่วงหลังเลิกเรียนกับช่วงวันเสาร์ – อาทิตย์   

เริ่มตั้งแต่การปลูกจิตสำนึกวิธีการแต่งกายชุดประจำเผ่าอาข่า เด็กเล็กกับเยาวชนคนหนุ่มสาวควรแต่งตัวอย่างไร มิใช่แต่งตัวเพื่อสร้างความสนใจต่อสายตานักท่องเที่ยวได้ชื่นชม แต่ต้องการให้เด็กรู้จักตัวตนที่แท้จริงของบรรพบุรุษของตนในอดีต นอกจากมีความรู้สึกภาคภูมิใจที่ตัวเองเป็นพลเมืองไทยคนหนึ่ง โดย “พ่อหลวงธีรวัฒน์” จะสอนให้เด็กรู้จักเครื่องประดับทุกชิ้นที่คนหนุ่มสาวประดับตกแต่งตามตัว หรือ สีสันของเสื้อผ้าแต่ละชิ้นที่เด็กน้อยสวมใส่มีนิยามความหมายและมีที่ไปที่มาอย่างไร

 

รวมกลุ่ม จีน เวียดนาม เมียนมา ลาว ไทย
อนุรักษ์ ภาษาอาข่า ไม่ให้เลือนหาย

โดยเฉพาะการอนุรักษ์ “ภาษาอาข่า” เด็กทุกคนควรได้เรียนรู้ทั้งการพูดและเขียน มิเช่นนั้นจะเลือนหายไปตามกาลเวลา จึงเกิดการรวมกลุ่มระดับชาติระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า จากประเทศจีน เวียดนาม เมียนมา ลาว และ ไทย โดยมีการประชุมร่วมกันอยู่เสมอเพื่อกำหนดภาษาเขียนอาข่าให้เป็นแบบเดียวกัน เพื่อการอนุรักษ์ความเป็นชนเผ่าอาข่าให้สืบทอดยืนนานต่อไปไม่สูญหาย

ยิ่งประเพณีวัฒนธรรมต้องได้รับการอนุรักษ์และสืบสาน จึงได้จัดการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชน เช่น ประเพณี “โล้ ชิงช้า” อันเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นประเพณีประจำชนเผ่าอาข่า เทศกาล “ไข่แดง” ประเพณีปีใหม่เป็นการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ที่เน้นความสนุกสนาน โดยจะมีการนำพืชจากธรรมชาติมาย้อมไข่ให้เป็นสีแดง จัดขึ้นประมาณหลังจากทำไร่ทำนาเสร็จ คล้ายประเพณีสงกรานต์แบบไทยๆ แม้แต่ประเพณี “เซ่นไหว้ไส้เดือน” กุศโลบายอนุรักษ์ผืนดินให้อุดมสมบูรณ์ด้วยการหยุดขุด หรือ หยุดปลูกพืชเพื่อให้ดินได้หยุดพัก นับเป็นการเคารพพระแม่ธรณี เพราะไส้เดือน เปรียบเสมือนตัวแทนปุ๋ยธรรมชาติที่ช่วยบำรุงรักษาดินให้สมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุเป็นวิธีการธรรมชาติบำบัดธรรมชาติอย่างหนึ่ง

 

บ่มเพาะให้หวงแหน ดิน น้ำ ป่า
ผ่านการเดินป่าเรียนรู้ธรรมชาติและต้นไม้แต่ละต้น

เด็กชนเผ่าอาข่าทุกคนได้รับการอบรมบ่มเพาะให้รักและหวงแหน ดิน น้ำ ป่า จึงเกิดกลุ่มยุวชนรักษ์ป่า สืบทอดประเพณี “บวชป่า” มาอย่างต่อเนื่อง มีการปลูกพืชสมุนไพรพร้อมกับรื้อฟื้นภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษโดยเชิญผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีองค์ความรู้ด้านพืชสมุนไพร มาให้ความรู้และพาเด็ก ๆ เดินเท้าล่องป่าเรียนรู้ธรรมชาติให้ได้รู้จักว่า ต้นไม้แต่ละชนิดในป่า กิ่ง ก้าน ใบ ดอก ผล ลำต้น เปลือก รากของพืชแต่ละชนิดมีสรรพคุณอย่างไร

รวมถึงการสอนให้เด็ก รู้จักประเพณี “ผิดผี” เสมือนสอนเรื่องเพศศึกษาทางอ้อม เป็นการกล่าวตักเตือนคนหนุ่มสาวที่อยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ไม่ให้แต่งงานกันเองในหมู่เครือญาติ หรือ สายสกุลเดียวกัน จะทำให้ลูกที่เกิดมาพิกลพิการหรือไม่สมประกอบจากปัญหาเลือดชิด หากจะแต่งงานกันต้องแน่ใจว่าเป็นคนละสายสกุลที่สายเลือดห่างกันถึง 7 ชั่วคน ถึงจะครองคู่รักกันได้

 

เรียนรู้ทักษะอาชีพเกษตร อยู่ร่วมกับป่า

ทักษะอาชีพของชนเผ่าอาข่าผูกพันธ์กับเกษตรกรรมอย่างใกล้ชิด เพราะชนเผ่าอาข่าส่วนใหญ่อยู่ในเขตอนุรักษ์หรือป่าสงวน จากครอบครัวยากจนเคยบุกรุกเผาป่าเพื่อยังชีพ ปัจจุบันกลับมามีความรู้การเกษตรและปศุสัตว์ที่ถูกต้องปราศจากปัญหาความขัดแย้งกับหน่วยงานภาครัฐ

“พ่อหลวงธีรวัฒน์” จึงพยายามอบรมฝึกฝนให้เด็กๆ รู้จักปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ที่ไม่ใช่ให้ความรู้แบบฉาบฉวยเพียงรู้ว่า ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพจะได้ไม่ไปบุกรุกทำลายป่าเท่านั้น แต่ต้องการให้เด็กมีจิตใจเคารพและสำนึกเชิงคุณค่าด้วยว่า ข้าวทุกเม็ดบนจาน ที่รับประทานในแต่ละมื้อ การปลูกข้าว หว่าน ดำ ไถ่ และเก็บเกี่ยวใช้หยาดเหงื่อแรงกายอย่างไร เช่นเดียวกับการเลี้ยงสัตว์ หมู ไก่ ปลา วัว เด็กเหล่านี้ได้เรียนรู้ตั้งแต่การทำคลอดลูกหมู เพาะพันธุ์ปลา ไปจนถึงการนำมาประกอบอาหารว่าเนื้อสัตว์แต่ละประเภทมีคุณค่าทางโภชนาการต่อร่างกายมากน้อยเพียงใด

 

เคาะประตูบ้าน เยี่ยมเยียนถึงครอบครัว
มุ่งมั่นแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ​

นับแต่ “พ่อหลวงธีรวัฒน์” ก้าวเข้ามาทำงานช่วยเหลือเด็กอาข่าที่เป็นเด็กนอกระบบการศึกษาให้เข้าถึงการศึกษา แต่ยังได้ช่วยเหลือและลงลึกไปถึงการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจครอบครัว โดยทุกๆ วัน “พ่อหลวงธีรวัฒน์” จะเดินตระเวนไปสำรวจตามบ้านเพื่อไต่ถามสารทุกข์สุขดิบครอบครัวเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่องแบบเคาะประตูตามบ้าน

อาจกล่าวได้ว่า “พ่อหลวงธีรวัฒน์” ได้ทำหน้าที่ทั้ง “ครูพี่เลี้ยง” และ “พ่อ” หล่อหลอมทักษะชีวิตของเด็กเหล่านี้ให้แหลมคม สามารถต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรคชีวิตได้อย่างรู้เท่าทัน จึงมิใช่เรื่องแปลกเหตุใด “พ่อหลวงธีรวัฒน์” จึงได้รับรางวัลพ่อดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2563 เพราะด้วยหัวใจที่อยากเห็นเด็กอาข่า สามารถหลุดพ้นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนราวกับว่าเด็กเหล่านี้เป็นลูกแท้ๆ ของตน