“ทำไมแม่หญิงจันทร์วาดถึงใส่ชุดสีม่วง” คำถามของเด็กๆ สู่โปรเจ็กต์การเรียนรู้ผ้ามัดย้อม รร.บ้านโคกวัดใหม่ จ.ภูเก็ต

“ทำไมแม่หญิงจันทร์วาดถึงใส่ชุดสีม่วง” คำถามของเด็กๆ สู่โปรเจ็กต์การเรียนรู้ผ้ามัดย้อม รร.บ้านโคกวัดใหม่ จ.ภูเก็ต

“ในละครบุพเพสันนิวาส ทำไมแม่หญิงจันทร์วาดถึงใส่ชุดสีม่วงตลอด”

คำถามของนักเรียนคนหนึ่งดังขึ้นในชั้นเรียนของ ครูวลีรัตน์ รักษ์เดชา ครูฝ่ายวิชาการโรงเรียนบ้านโคกวัดใหม่ เรียกเสียงฮือฮาและดึงความสนใจของเพื่อนๆ ตัวน้อยให้เงี่ยหูฟังคำตอบจากปากคุณครู

แทนที่จะต่อว่านักเรียนที่นำเรื่องละครมาพูดในห้องเรียน ครูวลีรัตน์กลับเกิดความคิดที่จะบูรณาการการเรียนรู้โดยการทำใบงานที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการสวมชุดสีม่วงในอดีตว่าสีม่วงนั้นเป็นสีที่หายากมาก ผู้สวมใส่จึงจำกัดอยู่เฉพาะในแวดวงพระมหากษัตริย์ ขุนนาง และชนชั้นสูงเท่านั้น

แต่ไม่ใช่เพียงเท่านี้ เพราะคำตอบของครูยิ่งทำให้เด็กๆ ตาเป็นประกาย ก่อนตั้งคำถามต่อยอดออกไปอีกมากมาย โดยเฉพาะคำถามที่ว่า “แล้วสีม่วงกับสีอื่นๆ เกิดจากอะไร” ทำให้ครูนำประเด็นที่นักเรียนสนใจไปต่อยอดสู่การทดลองทำผ้ามัดย้อม

นี่คือกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงของโรงเรียนบ้านโคกวัดใหม่ โรงเรียนขนาดกลางในอำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ที่ปัจจุบันมีนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 2 ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวนกว่า 210 คน ภายหลังจากที่ผู้อำนวยการนำทีมคุณครูเข้าร่วมโครงการ TSQP2 ของกสศ. โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตรับหน้าที่เป็นผู้ดูแล

“ก่อนเข้าร่วมโครงการ เดิมทีโรงเรียนมีการจัดวง PLC (Professional Learning Community) ทุกวันอังคารอยู่แล้ว แต่เป็นการ PLC เพื่อประชุมวิชาการและแก้ไขปัญหานักเรียนตามปกติ ซึ่งไม่ได้พูดถึงการร่วมกันสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ที่สามารถนำมาใช้ทั้งระบบ เมื่อเข้าร่วมโครงการ ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตก็เข้ามาร่วม PLC และแนะนำให้มองถึงจุดด้อยหรือสิ่งที่เป็นปัญหาเพื่อนำไปพัฒนา เราเลยเลือกพัฒนาในส่วนของการคิดขั้นสูงในการแก้ไขปัญหาไปจนถึงการพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อให้เด็กๆ สามารถนำความรู้ไปต่อยอดและช่วยเหลือจุนเจือครอบครัวของตัวเอง ซึ่งส่วนมากผู้ปกครองร้อยละ 60 มีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ”

ในปีแรกที่เข้าร่วมโครงการ ครูวลีรัตน์ยอมรับว่าเป็นธรรมดาที่ครูส่วนมากยังไม่ค่อยถนัดวิธีการออกแบบการเรียนรู้รูปแบบใหม่ แต่อาศัยที่ครูทุกคนรวมถึงคณะผู้บริหารให้ความสำคัญกับวงประชุมทำให้สุดท้ายสามารถพัฒนาหน่วยการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะของนักเรียนออกมาได้สำเร็จ ก่อนนำหน่วยการเรียนรู้มานำเสนอต่อคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงผู้ปกครองให้รับรู้และอนุมัติ

“ในช่วงแรกโรงเรียนจะบูรณาการความรู้โดยเน้นไปที่เรื่องของพืชและสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนโดยการให้นักเรียนสำรวจพืชประเภทต่างๆ ในโรงเรียน และให้นักเรียนคิดกันเองว่าจะใช้ประโยชน์จากพืชเหล่านั้นยังไง”

ครูวลีรัตน์ รักษ์เดชา ครูฝ่ายวิชาการโรงเรียนบ้านโคกวัดใหม่
ผอ.จิรวรรณ ชูจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโคกวัดใหม่

ด้าน ผอ.จิรวรรณ ชูจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโคกวัดใหม่ บอกว่าโรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและไม่อาจอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ เธอจึงไปพบปะกับผู้นำชุมชนและปราชญ์ชาวบ้านหลายกลุ่มเพื่อดึงให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับการออกแบบการเรียนรู้

“สิ่งที่ยึดมั่นในการบริหารคือโรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และโรงเรียนจะต้องอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมภายในชุมชน เพราะฉะนั้นเมื่อโรงเรียนมีปัญหาอะไร ชุมชนก็จะมาร่วมด้วยช่วยกันกับโรงเรียน ซึ่งหลังจากได้ประชุมกับวง PLC ชุมชน ก็ได้ปราชญ์ชาวบ้านตอบตกลงมาสอนนักเรียนในคาบเรียนและชั่วโมงต่างๆ ที่โรงเรียนจัดไว้สำหรับ TSQP”

หลังจากที่ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง และชุมชนมีความเห็นตรงกันถึงรูปแบบการเรียนรู้ที่ไม่ได้มุ่งเน้นแต่เพียงความรู้ในห้องเรียน แน่นอนว่าผู้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนอย่างครูก็ต้องทำการบ้านหนักกว่าใคร โดยเฉพาะครูวลีรัตน์ที่สะท้อนว่าครูหลายคนต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสอนจากระบบ ‘ท่องจำ’ มาเป็นระบบการตั้ง ‘ชุดคำถาม’ เพื่อให้ศูนย์กลางของชั้นเรียนย้อนกลับไปที่ตัวนักเรียน

“เวลาตั้งคำถามแล้วเด็กๆ ยกมือตอบ ครูบอกตัวเองเสมอว่าเราจะไม่พูดว่าถูกหรือผิด เราจะต้องอดทนในการสร้างวัฒนธรรมในชั้นเรียนเพื่อจะให้เพื่อนๆ ได้ชมกันเองหรือติกันเองโดยที่ครูไม่ต้องไปยุ่ง แต่จะมีหน้าที่ในการเข้าไปพูดย้ำแนวคิดให้นักเรียนในห้องได้ฟังว่าสิ่งที่เพื่อนคิดคือแบบนี้ มีใครอยากเสนออะไรเพิ่มเติมไหม”

นอกจากเปลี่ยนวิธีการสอนแล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือในช่วงสองปีแรก โรงเรียนบ้านโคกวัดใหม่มีการนำนวัตกรรมการสอนแบบ Project-based Learning หรือ PBL มาใช้ แต่พอขึ้นปีที่สาม คุณครูต่างตกลงนำวิธีการเรียนรู้แบบสืบเสาะเข้ามาปรับใช้เพื่อให้การเรียนการสอนดำเนินไปอย่างลื่นไหล

“ครูก็คุยกันในวง PLC ว่าจะเน้นการสอนแบบ PBL (Project-based Learning) ซึ่งการรอให้เด็กเกิดประเด็นคำถามอาจทำให้ครูวางแผนได้ยากมากขึ้น เพราะตอนวางแผนการสอนก็ต้องมานั่งคาดเดาคำตอบหรือคาดเดาแนวคิดของเด็กว่าเขาจะสนใจเรื่องอะไรเพื่อมาเตรียมการสอนให้เขา ดังนั้นพอแลกเปลี่ยนกับครูและโค้ชจากมหาวิทยาลัยบ่อยๆ สุดท้ายเลยปรับ PBL มาใช้เป็นสืบเสาะแทน เพราะลักษณะของสืบเสาะจะสามารถช่วยให้ครูเตรียมการสอนได้คล่องมากกว่า”

พอเด็กๆ พบว่าวิธีการเรียนการสอนของคุณครูเปลี่ยนไปและสนุกสนานมากขึ้น พวกเขาเองก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ทั้งจำนวนนักเรียนขาดเรียนที่น้อยลง การมีส่วนร่วมตอบคำถามหรือแสดงความคิดเห็นในห้องมีมากขึ้น ซึ่งเมื่อครูสามารถทำให้เด็กเปิดใจกับการเรียนรู้ได้ สิ่งที่ตามมาคือการปล่อยพลังความคิดสร้างสรรค์ที่ทำให้โรงเรียนกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่พวกเขาสามารถคิดและทำในสิ่งที่ต้องการได้

“ที่โรงเรียนมีใบไม้ร่วงหล่นเยอะมาก เด็กก็มาบอกว่าอยากเพิ่มมูลค่าให้กับใบไม้เหล่านั้น สุดท้ายเลยได้โปรเจกต์การทำกระถางจากใบไม้ โดยใช้แป้งเปียกอัดขึ้นรูป 

หรือช่วงที่ละครบุพเพสันนิวาสกำลังโด่งดัง ในเรื่องแม่หญิงจันทร์วาดจะเกล้าผมสูงๆ และใส่ชุดสีม่วงตลอด ทำให้เด็กๆ ถามครู ครูก็เอาไปทำเป็นใบงานที่กำหนดให้ตัวละครโต้เถียงกันว่าทำไมแม่หญิงจันทร์วาดถึงใส่ชุดสีม่วงตลอด ซึ่งสมัยก่อนชุดสีม่วงเป็นสีที่หาได้ยากมาก 

ทีนี้พอบอกว่าชุดสีม่วงเป็นสีที่หาได้ยากมาก เด็กๆ ก็เกิดคำถามว่าแล้วสีม่วงเกิดจากอะไร พอได้คำถามก็เกิดเป็นความคิดอื่นๆ รวมถึงต่อยอดไปอีกว่าแล้วสีอื่นๆ เกิดจากอะไร ทำให้ครูได้จัดการเรียนการสอน โดยให้เด็กๆ นำวัสดุธรรมชาติอย่าง ดอกดาวเรือง (สีเหลือง) ขมิ้น (สีเหลือง) กระเจี๊ยบ (สีแดง) และอัญชัน (สีน้ำเงินแกมม่วง) มาลองต้มในบีกเกอร์ (Beaker) ซึ่งพอเด็กๆ ได้ทดลองก็จะบันทึกว่าพืชแต่ละชนิดให้สีอะไร”

ขณะเดียวกัน ผอ.จิรวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่าการทำผ้ามัดย้อมจะเป็นหน่วยการเรียนรู้แบบบูรณาการของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 โดยนอกจากจะมีครูคอยดูแลแล้ว ยังมีปราชญ์ชาวบ้านภายในชุมชนที่สละเวลามาเป็นโค้ชคอยให้คำแนะนำกับนักเรียน ไล่ตั้งแต่การทำสีไปจนถึงต้นทุนและมูลค่าทางการตลาด ทำให้เด็กๆ เห็นค่าอัตลักษณ์ในชุมชน รวมถึงเกิดความภูมิใจในท้องถิ่น

“เราเริ่มจากทำผ้ามัดย้อมแบบใช้สีสังเคราะห์เพื่อให้นักเรียนรู้จักกระบวนการทำผ้ามัดย้อม ต่อมาจึงเพิ่มเติมในเรื่องของสีธรรมชาติโดยใช้สีเปลือกไม้มะฮอกกานีซึ่งมีอยู่ในโรงเรียน และเปลือกของมะพร้าวจะได้สีกะปิ ส่วนสีชมพูก็สวยและเป็นที่ต้องการของตลาด ทีนี้ก็ค่อยมาเปรียบเทียบข้อดี ข้อด้อย ข้อแตกต่างของผ้ามัดย้อมว่าเป็นอย่างไร รวมถึงปราชญ์ชาวบ้านได้ให้ความรู้เพิ่มเติมในส่วนของการตลาดที่พูดถึงต้นทุน มูลค่า และความชอบของกลุ่มคนด้วย จนทุกวันนี้โรงเรียนสามารถนำผ้ามัดย้อมของเด็กๆ ไปออกบูธเพื่อแสดงผลงานและจำหน่ายตามสถานที่ต่างๆ ที่ชุมชนและหน่วยงานภายนอกเป็นผู้จัด”

นอกจากนี้ ครูวลีรัตน์ได้สรุปถึงการดำเนินงานตลอดโครงการ TSQP ว่าผลลัพธ์ที่เกิดกับนักเรียนตรงกับที่ครูต้องการคือ เด็กๆ มีความกล้าที่จะสื่อสารและมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น

“พอเราปรับการเรียนการสอน เด็กบางส่วนก็กลับมาเรียนเพิ่มขึ้น บางส่วนกล้าเดินเข้ามาคุยกับครูมากขึ้นว่าสาเหตุอะไรที่เขาไม่อยากเรียน เป็นเพราะครู เป็นเพราะเพื่อน หรือเป็นเพราะอะไร ส่วนเด็กบางคนที่นั่งเงียบมาตลอด พอเห็นครูปรับการสอนใหม่ กลับกล้ายกมือขอตอบเพราะเขามองว่าต่อให้เขาตอบผิดก็ไม่มีใครว่า ซึ่งพอเขาลองตอบแล้วคำตอบถูก เขาก็มีความมั่นใจ ต่างจากเดิมที่เขาไม่มั่นใจในตัวเองเพราะเขามองว่าตัวเองไม่เก่ง

เมื่อเด็กๆ มีความมั่นใจ กล้าที่จะพูด กล้าที่จะทำ แสดงว่าเขาได้ทลายกำแพงบางส่วนออกไปแล้ว เพราะการเรียนการสอนแบบเดิมจะเป็นลักษณะบีบบังคับให้เด็กไม่กล้าพูดไม่กล้าคิด หรือคิดแต่ไม่กล้าพูดออกมา ดังนั้นพอครูสอนในลักษณะสืบเสาะ หรือ Active Learning หลายๆ แบบ เด็กก็จะมีโอกาสได้คิด ได้นำเสนอความคิดของตัวเองโดยที่ครูจะไม่ไประบุว่าความคิดของเขาผิดหรือถูก แค่ให้เขาได้พูดคุยกัน แล้วค่อยๆ มองว่าความคิดตัวเองเป็นยังไง ถูกต้องไหม ทำให้เด็กๆ กล้าสื่อสาร ทำงานเป็นทีมมากขึ้น กล้ารับคำวิจารณ์มากขึ้น กล้าที่จะวิพากษ์เพื่อนด้วยเหตุและผล ซึ่งการที่เด็กๆ สื่อสารได้ดี คิดได้ แก้ปัญหาได้ ทำให้พวกเขารักการเรียนรู้มากขึ้น”

ครูวลีรัตน์ กล่าวทิ้งท้ายว่าแม้โรงเรียนจะสนับสนุนให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมนอกห้องเรียน รวมถึงปรับวิธีการสอนเพื่อเน้นทักษะชีวิต แต่ก็ไม่ได้ทำให้คะแนนเฉลี่ยของนักเรียนต่ำลง ทั้งยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของนักเรียนทั่วประเทศ

“ถ้าครูเตรียมการสอนมาดีพอจะทำให้เด็กคนหนึ่งเกิดความต้องการที่จะค้นหาคำตอบหรือต้องการออกมาพูดหน้าชั้นเรียนเพื่อเป็นที่ยอมรับของเพื่อน อยากมีชื่อตัวเองแปะอยู่บนกระดานว่านี่เป็นแนวคิดของเขา การที่เด็กคนหนึ่งอยากเอาชนะขนาดนั้นแสดงว่าตัวโจทย์ทั้งหมดเขาต้องทำได้ อยู่ที่ครูจะทำอย่างต่อเนื่องหรือเปล่า ถ้าทำต่อเนื่องเด็กทำข้อสอบได้แน่นอน แต่ถ้าทำแล้วขาดตอนมันก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม ครูกับผู้ปกครองที่นี่เชื่อว่า ต่อให้ผลการสอบ O-Net หรือการสอบระดับชาติของเราจะอยู่ในลำดับไหน สุดท้ายเด็กๆ ก็ต้องไปเรียนในชั้นที่สูงกว่าอยู่ดี เพราะฉะนั้นแล้วการเรียนที่มีคุณภาพคือการเรียนที่เน้นในเรื่องสมรรถนะและทักษะชีวิตมากกว่าความรู้ที่นำไปสอบ เพราะบางทีการมีความรู้แค่นำไปสอบแต่ปรับใช้กับชีวิตไม่ได้ มันก็เป็นความรู้ที่ไม่เกิดประโยชน์ ครูจึงเน้นการเรียนเพื่อนำไปใช้ ไม่ได้เรียนเพื่อนำไปสอบอย่างเดียว”