งานวิจัย กสศ. ชี้จบ ม.3 ไม่หลุดพ้นความยากจนข้ามรุ่น “เด็กต้องเรียนอย่างน้อย ปวส.”

งานวิจัย กสศ. ชี้จบ ม.3 ไม่หลุดพ้นความยากจนข้ามรุ่น “เด็กต้องเรียนอย่างน้อย ปวส.”

งานวิจัย กสศ. ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้หากจะยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กกลุ่มเปราะบางหรือยากจน ควรต้องสนับสนุนให้สำเร็จการศึกษาในระดับ ปวส. หรือสูงกว่า หากเป็นระดับที่ต่ำกว่านั้น ระดับทุนมนุษย์ที่ไม่ต่างจากตอนจบ ม.3 มากนัก จะไม่สามารถช่วยให้เด็กหลุดพ้นจากความยากจนข้ามรุ่นได้

การวิจัยครั้งนี้พบว่าเด็กสูญเสียความพร้อมด้านอาชีพจากโควิด-19 และหลักสูตรการเรียนการสอนที่ใช้ทักษะปี 2015 ในการจัดการศึกษา  

การประเมิน Soft Skill ทั้ง 7 ด้าน พบว่าเด็กต่ำกว่าเกณฑ์ทั้งหมด โดยลดลงถึง 30-50% กลุ่มที่มีคะแนนทดสอบต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียนจากครัวเรือนยากจน 

เด็ก ม.3 ทุกคนควรได้รับการประเมินจากเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้  เพื่อรับรู้สถานะว่ามีความพร้อมก่อนเข้าสู่โลกของตลาดแรงงานมากน้อยเพียงใด จะได้นำข้อมูลไปวางแผนจัดการดูแลเป็นรายบุคคล ดังที่คณะผู้วิจัยได้ทำการทดลองจัดหลักสูตรพัฒนา Soft Skill  และได้ผลออกมาชัดเจนว่าสามารถยกระดับความพร้อมได้อย่างมีนัยสำคัญ

สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ดำเนินการวิจัยเพื่อประเมินความพร้อมของเด็กและเยาวชนในการปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานภายใต้ “โครงการพัฒนาเครื่องมือเพื่อประเมินความพร้อมของเด็กและเยาวชนในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน”

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าคณะวิจัย กล่าวว่า การสร้างระบบนิเวศเพื่อสร้าง Soft Skill แบบที่ทุกคนมีส่วนโอบอุ้มเด็กเป็นเรื่องสำคัญ

“หากจะใช้การศึกษาเพื่อเป็นกลไกในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเยาวชนกลุ่มเปราะบางหรือยากจน จำเป็นต้องสนับสนุนให้สามารถสำเร็จการศึกษาในระดับ ปวส. หรือสูงกว่า หากเป็นระดับที่ต่ำกว่านั้น ระดับทุนมนุษย์ที่ไม่ต่างจากตอนจบ ม.3 มากนัก จะไม่สามารถช่วยให้เยาวชนเหล่านี้หลุดพ้นจากความยากจนข้ามรุ่นได้

“ดัชนีทักษะของเด็กไม่ได้เพิ่มขึ้นตามวัย ต่อให้อยู่ในงานเดิมก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเก่งขึ้น เขาทำงานเดิมได้ดีขึ้นจริง แต่โอกาสที่จะขยับไปสู่งานที่ซับซ้อนกว่า ที่จะได้สะสมทุนมนุษย์และประสบการณ์ที่สูงกว่ามีน้อยมาก เพราะฉะนั้นการหลุดออกจากระบบการศึกษา บาดแผลที่เกิดขึ้นไม่จบแค่เด็ก และไม่จบแค่ปีสองปี แต่จะนำพาไปสู่กับดักของความสิ้นหวังในชีวิตจากรุ่นสู่รุ่นไปอีกนาน จากการหลุดออกจากระบบการศึกษาไปสู่ปัญหาเรื่องของความเหลื่อมล้ำ การเข้าไม่ถึงโอกาสเรื่องอื่น ๆ ต่อไปด้วย

เราจะแก้แค่การสูญเสียความพร้อมด้านอาชีพไม่ได้ เพราะเมื่อเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา โอกาสเติบโตมีน้อยมาก การที่เขาจะวิ่งไปสู่งานที่ใช้ทักษะสูง ๆ จะยากมาก รายได้ตอนเริ่มต้นชีวิตกับรายได้ตอนที่มีอายุมากขึ้นแทบจะไม่ได้ต่างกันเลย ในขณะที่ค่าครองชีพต่าง ๆ สูงขึ้น ทำให้ชีวิตเขาลำบากและเป็นการนับหนึ่งของวังวนความยากจนข้ามรุ่นอย่างถาวร”

โลกที่หมุนเร็วและไม่แน่นอน 
จำเป็นต้องมีตัวช่วยเพื่อให้ระบบการศึกษาปรับตัวให้ทั

การวิจัยเริ่มต้นในปีการศึกษา 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 โครงการได้นำเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นเพื่อวัดความพร้อมด้านอาชีพ (Career Readiness) ซึ่งเครื่องมือนี้พัฒนาร่วมกับสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มศว. ประสานมิตร โดยสำรวจเด็ก ม.3 จำนวนกว่า 5,200 คน ใน 26 จังหวัด ทั้งหมด 246 โรงเรียน แบ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสจำนวน 156 โรงเรียน และโรงเรียนประเภทอื่น ๆ จำนวน 91 โรงเรียน  ผลการวิจัยพบว่า

  • การประเมิน Soft Skill ทั้ง 7 ด้านพบว่าเด็กต่ำกว่าเกณฑ์ทั้งหมด โดยลดลงถึง 30-50% กลุ่มที่มีคะแนนทดสอบต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียนจากครัวเรือนยากจน 
  • เด็กชั้น ม.3 ในทุกจังหวัดมีความสามารถมองโลกในแง่บวกอยู่แค่ระดับปานกลาง 
  • โควิดทำให้ Soft Skill ของเด็กที่เสี่ยงจะหลุดออกจากระบบที่อยู่ในโรงเรียนขยายโอกาส ลดลงประมาณ 30-50% แต่ถ้าเป็นเด็กในโรงเรียนมัธยมทั่วไปจะลดลงแค่ 5-15% 
  • กลุ่มเด็กในโรงเรียนขยายโอกาส มี Soft Skill น้อยกว่าที่ควร ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวลเพราะถ้าไม่สามารถดึงเด็กขึ้นมาได้ เขาจะผ่านด่านชีวิตต่าง ๆ ไม่ได้ และจะกลายเป็นปัญหาความยากจนข้ามรุ่น 

“คะแนน Career Readiness หรือการเตรียมความพร้อมด้านอาชีพ เป็นตัวชี้วัดว่าเวลาเด็กเรียนจบออกไปสู่โลกตลาดแรงงานจะมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน เด็กที่มีคะแนนสูงจะปรับตัวได้เร็ว มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง รวมถึงโอกาสที่จะเติบโตไปสู่ตำแหน่งงานที่สูงกว่าก็จะมีมากขึ้น ส่วนกลุ่มที่มีคะแนนต่ำกว่าจะส่งผลกระทบต่อโอกาสในการได้งานทำและรายได้ โดยเฉพาะการรับมือในตลาดแรงงานหลังโควิด-19 ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าเดิมมาก

“การประเมินความพร้อมเข้าสู่โลกของงานด้วย Soft Skill ทั้ง 7 ด้านพบว่าต่ำกว่าเกณฑ์ทั้งหมด ทั้งทักษะการทำงานเป็นทีม ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งหมายถึงล้มแล้วลุก อดทน ไม่วีน ไม่แตกสลายไปง่าย ๆ นี่คือสภาพของเด็กที่เราบอกว่าจะเจอปัญหาหนักที่สุด แต่ความสามารถในการรับมือกับปัญหาต่ำที่สุด” 

ฟื้นฟูการสูญเสียความพร้อมด้านอาชีพ (Career Readiness Loss)
ด้วย Right Data +Right Intervention

การวิจัยได้ดำเนินการต่อเนื่องถึงเดือนมีนาคม 2566 ดร.เกียรติอนันต์ระบุว่ามีหลายวิธีที่ใช้เพื่อฟื้นฟูเด็ก และการวิจัยครั้งนี้ได้ทดลองเลือกขึ้นมาหนึ่งเครื่องมือคือการจัดสภาพแวดล้อมให้เด็กได้เติบโตในระยะสั้น (Intervention) โดยออกแบบกิจกรรมด้วยกระบวนการ Coaching ที่เหมาะสมผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า Career Coach ร่วมกับเครือข่ายครู เพื่อพัฒนาระดับ Soft Skill หรือทุนทางจิตวิทยาสำหรับเด็ก ผลพบว่าคะแนนของเด็กกลุ่มทดลองสามารถตีตื้นขึ้นมาเป็นกลุ่มเดียวกันกับเด็กกลุ่มก่อนโควิด -19 ได้

“การวัดผลพบว่าเด็กดีขึ้นได้จริง ๆ ฟื้นฟูขึ้นมาได้ และไม่ใช่ฟื้นฟูเฉพาะวันสุดท้ายที่วัดผล เราตามไปอีก 45 วันหลังจากนั้น ทักษะนั้นก็ยังอยู่กับตัวเด็ก อาจจะน้อยลงหน่อย แต่เด็กไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิมแล้ว เพราะฉะนั้นการให้วิตามินบำรุงเขาเป็นระยะแบบนี้จะช่วยให้เขาประคองตัวเองไปได้ดีขึ้น 

“ครูต้องดูแลต่อเนื่อง เป็นลมใต้ปีก หนุนประคอง เพื่อให้เด็กเชื่อมั่นในตัวเองได้ เพราะเขาอยู่ในโลกที่ไม่เป็นมิตร โลกเปลี่ยนเร็ว โลกที่โอกาสเริ่มลดลงเรื่อย ๆ เมล็ดพันธุ์ความเหลื่อมล้ำซับซ้อนกว่าที่ตาเห็น แต่เราต้องไม่หมดหวังเพราะยังมีเครื่องมือที่ช่วยเด็กได้”

ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อยกระดับทักษะเด็กและเยาวชนในตลาดแรงงาน

1. Career Readiness Survey ปูพรมทั้งประเทศ

เพื่อรับรู้สถานะของเด็กแต่ละคนว่ามีความพร้อมก่อนเข้าสู่โลกของตลาดแรงงานมากน้อยเพียงใด จะได้นำข้อมูลไปวางแผนจัดการดูแลเป็นรายบุคคล บางเรื่องสามารถทำร่วมกันได้ในระดับพื้นที่ เนื่องจากเด็กในอำเภอหรือตำบลเดียวกันอาจมีลักษณะ Soft Skill ด้านเดียวกัน สามารถจัดค่ายหรือจัดหลักสูตรพิเศษร่วมกันได้ และควรนำข้อมูลการวัดผลไปพัฒนาหลักสูตรด้านต่าง ๆ เพื่อช่วยยกระดับความพร้อมของนักเรียน ดังที่คณะผู้วิจัยได้ทำการทดลองจัดหลักสูตรพัฒนาระดับทุนทางจิตวิทยาและได้ผลออกมาชัดเจนว่าสามารถยกระดับความพร้อมได้อย่างมีนัยสำคัญ

2. การพัฒนากำลังคน การยกระดับ Soft Skill ไม่ใช่ภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น แต่เป็นภารกิจร่วมกันของทุกหน่วยงาน พร้อมจับมือภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม เพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ในทุกช่วงวัย

ยุคนี้เป็นยุคที่ระบบการศึกษาจำเป็นต้องปรับตัวอย่างมากทั้งด้านความเร็วและมิติในการปรับตัว กระทรวงศึกษาควรต้องเป็นกระทรวงเพื่ออนาคตแล้วเอาอนาคตนั้นมาจัดการศึกษา โดยปรับเรื่อง Mindset ให้ไม่ยึดติดกับวิธีการจัดการศึกษาแบบเก่า เช่น การเรียนรู้ที่มีความหลากหลายและเคลื่อนที่ได้ 

ในอนาคตเราต้องจัดการเรียนสอนการสอนที่ทำให้เด็กมีความหลากหลายและเคลื่อนที่ได้ ถ้าเด็กคนหนึ่งมีความพร้อมและไปข้างหน้าก่อน ครูไม่มีเหตุผลจะหยุดรั้งเขาไว้เพียงเพราะนิยามของคำว่าช่วงชั้น แต่ควรทำให้การเรียนรู้มีความหลากหลาย เด็กจะเข้าใจมวลของการเลือก เพราะเขาจะเลือกเส้นทางชีวิตตัวเอง และที่สำคัญกว่าคือ วิธีการนี้จะทำให้เด็กค้นพบวิธีการเรียนรู้และโอกาสในการพัฒนาการเรียนรู้

3. นโยบาย 1 จังหวัด 1 Career Team ใช้ในจังหวัดนำร่องในช่วงปี 2567-2568 จำนวนไม่น้อยกว่า 5 จังหวัดครอบคลุมทุกภูมิภาค

จากการทดลองนำหลักสูตรไปใช้พบว่า ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้หลักสูตรประสบความสำเร็จคือ การพัฒนาครูที่มีความสามารถและมีความสนใจในประเด็นนี้ให้สามารถเป็น School Career Coach ได้ จึงควรมีหลักสูตร “พัฒนาครูให้เป็นโค้ช” โดยอาจมีการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่รับรองคุณวุฒิหรือทักษะ เช่น สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ เพื่อให้มีการจัดทำมาตรฐานคุณวุฒิของการเป็น School Career Coach ช่วยให้ครูได้รับการยอมรับและมีความก้าวหน้าด้านอาชีพ ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องให้ทุกโรงเรียนมี School Career Coach แต่อาจจะเป็นตัวแทนครูจำนวนหนึ่งที่ทำงานระดับจังหวัดแล้วหมุนเวียนกันไปตามโรงเรียนต่าง ๆ หรืออาจหาแนวทางอื่นที่เหมาะสมในระดับพื้นที่ต่อไป

4. การบูรณาการฐานข้อมูลผู้เรียนและกำลังคนแบบ Case-Based เพื่อให้มีข้อมูลเยาวชนและแรงงานครอบคลุมทุกช่วงชีวิต นำไปสู่การใช้ Big Data เพื่อช่วยออกแบบเครื่องมือส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้ “ตรงคน” “ตรงสถานการณ์” “ตรงเวลา” และ “ตรงวัตถุประสงค์”

การ Upskill- Reskill มีข้อจำกัดด้วยพื้นฐานของแรงงานและประสบการณ์ ในกลุ่มที่ติดตามได้ ควรได้รับการประเมินเพื่อวิเคราะห์จุดอ่อนและจุดแข็งสำหรับยกระดับความพร้อมด้านอาชีพ เพราะคนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไปแล้วเกือบทั้งหมดเป็นลูกจ้างรายวัน หรือกลุ่มลูกจ้างที่หากขาดงานเมื่อไรจะตกงาน จึงต้องช่วยเหลือแบบครบวงจร เพราะเขารายได้น้อย การขาดงานเพื่อมาฝึกทักษะให้สูงขึ้นมีต้นทุนสูง จึงต้องช่วยลดต้นทุนให้เขาด้วย

หลายภาคส่วนต้องมาคิดช่วยกันว่าจะร่วมมือกับสถานประกอบการอย่างไร อาจจะต้องให้เรียนนอกเวลา มีแพลตฟอร์มให้เลือกเรียนแบบออนไซต์หรือออนไลน์ รวมถึงอาจจะต้องมีมาตรการสร้างแรงจูงใจ เช่น จ่ายเงินเดือนเป็นค่าอาหาร ค่าเดินทาง 

เวลาช่วยเด็กเราต้องช่วยทั้งครัวเรือน (Household Intervention) ไม่ใช่ช่วยที่ตัวเด็กอย่างเดียว การที่เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา สาเหตุเพราะบางคนต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน หรือพ่อแม่มีเงินไม่พอส่งเขาเรียน ถ้าสาเหตุคือเงินก็ต้องแก้ที่ตรงนี้ คือทำอย่างไรให้ครอบครัวมีเงินพอได้ โดยการให้เงินช่วยเหลือ หรือเป็นความช่วยเหลืออย่างอื่น เช่น การจ้างงานพ่อแม่ โดยมีเงื่อนไขว่าระหว่างที่พ่อแม่ทำงาน ลูกจะต้องไปเรียนหนังสือ มีคูปองให้ลูกไปเบิกอาหารที่โรงเรียน

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ :ทุนมนุษย์เพื่อพ้นความยากจนข้ามรุ่น การเตรียมความพร้อมด้านอาชีพในเด็กและเยาวชนเพื่อเข้าสู่ตลอดแรงงาน คลิก