พวกเขาถูกสังคมด้อยค่าไปแล้ว อย่าให้เขาต้องด้อยค่าตัวเองอีกเลย : วัดร้องหลอดพื้นที่ที่มีคนพร้อมเข้าใจ และเชื่อว่า ‘เด็กทุกคนมีคุณค่า แม้จะไม่ได้อยู่ในระบบ’

พวกเขาถูกสังคมด้อยค่าไปแล้ว อย่าให้เขาต้องด้อยค่าตัวเองอีกเลย : วัดร้องหลอดพื้นที่ที่มีคนพร้อมเข้าใจ และเชื่อว่า ‘เด็กทุกคนมีคุณค่า แม้จะไม่ได้อยู่ในระบบ’

“ถ้าให้เปรียบว่าเราคืออะไรสำหรับวัดร้องหลอด เราขอเป็นน้ำตกที่คาเฟ่ละกัน เราจะอยู่ตรงนี้ ถ้าเด็กๆ อยากมาหาก็มา ถ้าไม่สบายใจอยากมานั่งพักผ่อนก็มา อยากมานั่งเล่นก็มา เราอยู่ตรงนี้เสมอ”

กร – ปกร นาวาจะ และ เต้ย – รณชัย คำปิน คือเจ้าของเพจและผู้ดำเนินงาน ‘จวนละอ่อนจาม’ ‘โครงการพัฒนาพื้นที่เรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษาบนฐานเครือข่ายชุมชน กรณีศึกษาวัดร้องหลอด’ ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) 

ทั้งเต้ย และกร มักจะขลุกตัวอยู่ที่วัดร้องหลอด โดยเฉพาะบริเวณคาเฟ่ด้านหน้าวัด เพื่อพูดคุยเล่นกับ ‘พี่มุ้ย’ มณีรัตน์ อุปะละ บาริสต้าสาว และเป็นคนเชื่อมต่อเจตนาของ พระครูพิศาลสังวรคุณ เจ้าอาวาส หรือที่ทั้งสองคนเรียกว่าตุ๊พี่ (ที่แปลว่าพระที่ให้ความเคารพ) หรือครูบา ที่ชาวบ้านเรียกกัน ด้วยการทำงานกับเด็กในการเป็นพี่เลี้ยงจำเป็นให้ ‘เด็กหลุดระบบ’ ในพื้นที่ชุมชนวัดร้องหลอด พาทำกิจกรรมเสริมทักษะอาชีพในบริเวณศาลาวัด เช่น การทำเล็บ เล่นบอร์ดเกม เล่นเกมฝึกทักษะ หรือเป็นพี่คอยให้คำปรึกษาเด็กๆ ร่วมกับพี่มุ้ยหากว่าเด็กๆ ไม่สบายใจ 

วัดร้องหลอด เป็นวัดในชุมชนเล็กๆ ในอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย พื้นที่แห่งนี้ไม่ใช่โรงเรียน ไม่ใช่มหาวิทยาลัย ไม่ใช่ศูนย์พัฒนาชีวิตตามนิยามของราชการ แต่เป็นพื้นที่ที่อบอวลไปด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของคน และเชื่อว่า ‘เด็กทุกคนมีคุณค่า แม้จะไม่ได้อยู่ในระบบ’

‘กร’ ปกร นาวาจะ และ ‘เต้ย’ รณชัย คำปิน

อยากให้คนในพื้นที่ลืมตาอ้าปาก จนมาเป็นการสร้างพื้นที่เรียนรู้ที่ไม่ใช่โรงเรียน 

“ตอนแรกเราจะทำโครงการสร้างอาชีพให้กับพ่อๆ แม่ๆ ในชุมชน แต่ก็ปรับมาทำงานกับเด็กๆ นอกระบบแทน แต่ว่าจุดประสงค์ยังคงเหมือนเดิมคืออยากให้คนในชุมชนไม่ต้องดิ้นรนเข้าไปทำงานในเมือง ในกรุงเทพฯ ”

กรและเต้ยคือคนเชียงรายทั้งคู่เจอกันในรั้วมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ จนเมื่อเรียนจบ ทั้งคู่กลับบ้านเกิด และลองหาอะไรทำสักอย่างที่มีจุดประสงค์หลักๆ คือให้คนในพื้นที่มีโอกาส มีรายได้ มีศักยภาพที่จะเลือกทางเดินของตัวเอง จึงสมัครเข้าโครงการสร้างพื้นที่เรียนรู้ที่ไม่ใช่โรงเรียน โดยเลือกที่พื้นที่วัดร้องหลอดเพราะเล็งเห็นว่าเป็นพื้นที่ของชุมชนอย่างแท้จริง

การทำงานกับเด็กนอกระบบ แรกเริ่มทั้งกรและเต้ยคิดว่าเป็นเรื่องง่าย โครงการพัฒนาพื้นที่เรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษาบนฐานเครือข่ายชุมชน กรณีศึกษาวัดร้องหลอด จึงถูกร่างกระบวนทำงาน และหน่วยกิจกรรมไว้ชัดเจน 

“เราก็เลยประกาศผ่านวัด ผ่านชุมชนเลยว่าเด็กๆ นอกระบบให้มาเรียนที่วัดร้องหลอดสิ ติดป้ายชวนมาทำกิจกรรม ประกาศเสียงตามสายในหมู่บ้าน สรุปไม่มีใครมา” 

สิ่งที่ทั้งคู่คิดว่าทำงานกับเด็กเป็นเรื่องง่ายๆ นั้นไม่เป็นความจริง เพราะโครงการของพวกเขาไม่มีเด็กคนไหนเดินเข้าหาแบบที่ตั้งใจไว้ จนเต้ยและกรต้องย้อนกลับมาคิดใหม่ว่ามีส่วนไหนที่พวกเขาพลาดไป 

“เริ่มคิดได้ว่าคงไม่มีเด็กคนไหนอยากถูกเรียกว่าเด็กนอกระบบ เด็กไม่เรียนหนังสือ เด็กแว้นหรอก เราเลยต้องมองลึกไปอีกว่าเราเคยเห็นพวกเขาในชุมชนอะ แต่เขาก็เหมือนเงาในชุมชน คือคนไม่ค่อยสนใจ เขาก็ไม่อยากเป็นจุดสนใจเพราะอะไร” กรเล่า 

กร และเต้ย ยอมรับจากใจจริงว่าตั้งต้นโครงการกระบวนการทำงานต่อเด็กๆ นอกระบบเป็นการทำงานแบบการ ‘สงเคราะห์’ จนได้ทำงานกับ ผอ.รพ.สต.เมืองพาน ที่คอยช่วยเหลือตลอดเรื่องการประสานกับ อสม. กับการเข้าถึงเด็กก็ทำให้ทั้งคู่ปรับเปลี่ยนแนวคิดเป็นการ ‘เข้าใจ’ หรือ ‘เห็นอกเห็นใจ’ (Empathy) แทน

“จากที่เรารอเด็กเข้าหา แนวคิดถูกปรับเป็นการเข้าหาเด็ก เพราะเรารู้แล้วว่าทั้งเด็กเกเร เด็กแว้น เด็กมีปัญหา หรือแม้แต่เด็กเหลือขอที่เรามองกัน พวกเขามีเหตุผล และปัจจัยอื่นๆ อีกเยอะ และปัญหาส่วนหนึ่งไม่ได้มาจากตัวเด็กหรือเยาวชนที่เป็นสาเหตุ แต่มาจากปัญหาแวดล้อมสะสมมาจนส่งผลให้เขาเป็นแบบนั้น” เต้ยบอก

เด็กไม่ได้หายไป เพียงแค่ไม่มีใครมองเห็นเขาแบบมนุษย์กับมนุษย์ 

กร และเต้ย บอกว่าส่วนหนึ่งที่เด็กๆ ไม่เข้ามาที่โครงการพวกเขา เพราะอาจจะมองว่าเขาเป็นคนแปลกหน้า จนได้เจอกับ อนุสรณ์ ศรีจันทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เมืองพาน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘หมออู๊ด’ และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ช่วยให้เข้าถึงเด็กๆ ที่พยายามซ่อนตัวอยู่ในสังคม 

“เด็กพวกนี้ไม่ได้หายไปไหน พวกเขาอยู่ตรงนั้น เพียงแค่ไม่มีใครมองเห็น หรือเข้าไปหาเขาแบบมนุษย์กับมนุษย์” หมออู๊ดกล่าว 

หมออู๊ดบอกว่าคนในชุมชนหลายคนมองว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือคือเด็กที่มีปัญหา เช่น ท้องวัยเรียน เรียนไม่เก่ง หรือข้องเกี่ยวกับยาเสพติด แต่เมื่อได้เข้าไปพูดคุยจริงๆ กลับพบว่าเด็กเหล่านี้หลายคนมีศักยภาพสูง เช่น เปิดอู่ซ่อมรถ หรือมีรายได้ดี สิ่งที่ต้องเปลี่ยนไม่ใช่แค่ระบบการศึกษา แต่คือนิยามของคำว่า ‘เด็กมีปัญหา’ ในสายตาของสังคม

“สังคมมักนิยามว่าเด็กนอกระบบคือเด็กมีปัญหา ทั้งที่จริงๆ ไม่ใช่ทุกคน” หมออู๊ดกล่าว 

การทำงานของคนเครือข่ายในพื้นที่จึงสำคัญ โดยเฉพาะ อสม. ที่เป็นคนในหมู่บ้านที่เป็นคนที่เห็นปัญหาจริงๆ เข้าใจจริงๆ และสามารถเข้าถึงเด็กๆ ได้ รวมถึงต้องทำงานที่นอกเหนือจากขอบเขตคำว่าสุขภาพ แต่ยังต้องทำงานด้านสังคม 

“เด็กพวกนี้ถูกสังคมด้อยค่าไปแล้ว อย่าให้เขาต้องด้อยค่าตัวเองอีกเลย”

สำหรับหมออู๊ด เป้าหมายของการทำงานกับเด็กนอกระบบ ไม่ใช่การพาเขากลับเข้าโรงเรียน แต่คือการเปิดโอกาสให้ค้นพบศักยภาพของตนเอง รู้ว่าตัวเองมีคุณค่า และสามารถมีทางเลือกชีวิตที่ดีขึ้นได้ 

โดยที่คำว่า ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ไม่ได้หมายถึงแค่สถานที่ แต่คือสภาวะทางใจที่เด็กจะ ‘กล้าแสดงออก’ และ ‘กล้าเป็นตัวเอง’ โดยไม่กลัวว่าจะถูกมองว่าแปลก ผิด หรือด้อยกว่า

“เราพบว่าบางคนที่ชอบแต่งรถ แว้นมอเตอร์ไซค์ ที่เคยถูกสังคมมองว่า ‘เกเร’ จริงๆ แล้วเขาแค่กำลังหาที่ที่เขา ‘มีตัวตน’ ได้อย่างปลอดภัย” หมออู๊ดบอก

‘หมออู๊ด’ อนุสรณ์ ศรีจันทร์

เรียนทำเล็บ เล่นบอร์ดเกม ถึงไม่ได้เรียน แต่ก็ต่อยอดชีวิตแม้อยู่นอกระบบห้องเรียน

จากการค้นหาเด็กร่วมกับเครือข่ายจากคนในพื้นที่ ทำให้กร และเต้ย ได้รู้จักกับน้องยอร์ช น้องอาย น้องหยก (นามสมมุติ) เด็กที่ขี่มอไซค์มาเข้าร่วมโครงการภายในบริเวณวัดร้องหลอด

“ก็มีคนไปชวนที่บ้าน แล้วตอนนั้นก็อยากหาทำค่ะ ตอนแรกไม่ได้คิดว่าจะจริงจังขนาดนี้” อาย ตอบขณะที่กำลังจัดอุปกรณ์ทำเล็บไปด้วย ณ ตอนนี้อายอายุ 19 ปี และกำลังเรียนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ในสังกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) เหตุผลหลักๆ ที่อายลาออกจากโรงเรียนตั้งแต่มัธยมต้นปีที่ 3 เพราะอายโดนครูตราหน้าว่า “เด็กขี้เกียจชอบโดดเรียน” ทั้งที่เหตุผลจริงๆ คืออายแค่ป่วยบ่อยจนต้องหยุดเรียนติดๆ กัน

อายบอกว่าสิ่งนี้ “มันบั่นทอน” เลยขอตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนดีกว่าทนเรียนกับครูที่ไม่เข้าใจ 

“หนูอยากทำเล็บ เพราะชอบทำเล็บอยู่แล้ว ก็เลยบอกพี่เต้ยกับพี่กรแล้วพี่เขาก็หาคนในหมู่บ้านมาสอนชื่อพี่ติ่ง ก็สนุกดี ทีแรกอยากหาทำ พอสักพักมันก็เริ่มอยากทำเป็นอาชีพ หนูตั้งใจอยากเปิดร้านทำเล็บแต่ก็ต้องมีทุนก่อน ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงฝึกหารับทำเล็บตามบ้านไปก่อนไม่มีหน้าร้าน”

อายบอกว่าช่วงแรกๆ ของการเรียนทำเล็บคือเรียนที่ศาลาในวัด โดยที่พี่ติ่งพี่ที่มาฝึกสอนให้ลองตะไบเล็บ 

“แรกๆ ก็จะดันหนังเล็บ ตะไบเล็บ อุปกรณ์สำคัญก็จะมี กรรไกร ท็อปโค้ท เบสสี แล้วเวลาทาสีก็ต้อง ไล่ความชื้นออกก่อน” 

การทำเล็บสำหรับอายไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย สิ่งที่อายไม่ชอบที่สุดคือต้องนั่งทำเวลานานแล้ว ‘ปวดหลัง’ แต่อายก็พยายามศึกษาการทาสี การเพ้นท์เล็บจากยูทูบ เพราะการทำเล็บสร้างรายได้ให้อายได้แม้ไม่ต้องมีหน้าร้าน 

คลาสเรียนทำเล็บในโครงการฯ ทำให้ หยก (นามสมมุติ) ได้ทักษะอาชีพเช่นเดียวกันกับอาย “ตอนแรกก็มีป้าๆ มาเล่าให้ฟังว่าที่วัดมีพี่ๆ เขามาชวนทำกิจกรรม ก็เลยลองมาดู จนพี่ๆ เขาก็ถามว่าอยากทำอะไรให้เสนอได้ก็ลองเสนอไป แรกๆ พี่เขาให้เล่นบอร์ดเกม แล้วก็กิจกรรมอื่นๆ ถ้ามีเวลาก็จะมา แต่ถ้าไม่มีก็เว้นไว้ เพื่อนคนอื่นก็มานะ”

หยก (นามสมมุติ) อายุ 16 ปี มีลูกสาว 1 คน เรื่องเงินคือเรื่องใหญ่สำหรับหยก (นามสมมุติ) งานประจำที่หยก (นามสมมุติ) ทำคือการเป็นแอดมิดเพจด้วงกว่าง และถักดอกไม้จากลวดกำมะหยี่ขาย บางวันของหยก (นามสมมุติ) ก็ต้องตื่นตั้งแต่ตี 3 เพื่อไปช่วยแฟนทำงานที่ฟาร์มด้วง 

“ตื่นตีสามก็มีค่ะ ไปทำงานกับแฟน ขับรถไปด้วยกัน ช่วยเป็นแอดมินจดรายชื่อคนที่เข้ามาซื้อด้วงกว่างในไลฟ์เพซบุ๊ก ถ้าว่างก็ถักลวดทำเป็นช่อขายช่วงที่โรงเรียนมีงานปัจฉิม” 

เรื่องต้องห้ามสำหรับหยก (นามสมมุติ) คือการเล่าถึงชีวิตครอบครัว สิ่งนี้ทำให้หยก (นามสมมุติ) ขอเงียบแทนที่จะตอบคำถาม แต่เมื่อถามถึงการทำเล็บ หยก (นามสมมุติ) ตอบว่า “ชอบทาสีแดง เพราะทาแล้วมือขาวขึ้น ลูกค้าส่วนใหญ่ก็ชอบเหมือนกัน” 

ตอนนี้หยก (นามสมมุติ) ลงทุนซื้ออุปกรณ์ทำเล็บเองเพิ่มเติม หลังมีได้รับอุปกรณ์ทำเล็บที่สมทบจากทางโครงการ เพราะคิดว่าอาจจะสร้างรายได้ให้กับตัวเองในอนาคต ซึ่งก็กำลังอยู่ในช่วงที่กำลังฝึกทักษะ 

อาย เด็กวัดร้องหลอด

คลาสทำเล็บอาจจะดีกับอาย และหยก (นามสมมุติ) แต่ ยอร์ช บอกแบบติดตลกว่าพวกผู้ชายไม่ค่อยชอบ ต้องมานั่งให้เพื่อนๆ ทดลองทำเล็บ แต่สิ่งที่ยอร์ชชอบที่สุดคือการจับกลุ่มเล่นบอร์ดเกม

“มันแปลกใหม่ดี ปกติไม่เคยเล่นพอพี่ๆ เขาชวนเล่นแล้วได้เล่นกับเพื่อนๆ ก็ดีกว่านั่งอยู่บ้านคนเดียวก็เลยมา หลักๆ ก็ตามเพื่อนมาที่นี่”

ยอร์ชไม่ได้เรียนต่อ ม.ปลาย เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเทอมจนทางโรงเรียนออกใบแจ้งหนี้ เหตุผลหลักๆ เพราะพ่อของยอร์ชป่วยหนัก ขาดเสาหลักของบ้าน รายได้ทั้งหมดจึงชะงัก รวมกับที่ยอร์ชต้องลาหยุดเป็นเวลาหลายวันไปเฝ้าพ่อที่โรงพยาบาล 

“ไม่มีใครเฝ้า พ่อทรุดสิบห้าวัน สุดท้ายก็ต้องออก ไม่ได้เอาใบลาออกด้วยซ้ำ จริงๆ ผมก็อยากเรียนต่อไปนะ แต่ทำไงได้อะ” 

ยอร์ช ตัดสินใจลาออกมาหางานทำ และได้พลัดถิ่นไปทำงานพัทยา จนกลับมาเมืองพานอีกครั้งแล้วเข้าร่วมโครงการของเต้ยและกร 

“ตอนนี้ก็เรียน กศน. ใกล้จบแล้ว ถ้าได้วุฒิม.6 แล้วก็อยากเรียนต่อช่างไฟถ้ามีเงินนะ แต่ถ้าเลือกได้จริงๆ ผมอยากขายของ เพราะมันง่าย ได้เงินเร็ว”

“มานี่ก็มีกิจกรรมให้ทำหลากหลาย พี่ๆ เขาก็จะถามว่าอยากทำอะไร ผมก็ได้หมดแหละ บางทีไม่มีกิจกรรมอะไรก็แวะมาถ้าว่าง” ‘แวะมา’ ที่ยอร์ชหมายถึงคือการแวะมานั่งเล่นที่คาเฟ่วัดร้องหลอด สถานที่ที่วัยรุ่นชอบมารวมตัวกัน เหมือนกับเด็กคนอื่นๆ 

ยอร์ช เด็กวัดร้องหลอด

ที่นี่มีพี่ๆ ที่เข้าใจ ไม่ใช่แค่การโอบกอด แต่ให้ความมั่นใจว่าสังคมยังมีพื้นที่ให้พวกเขาอยู่ 

“เรื่องที่สะเทือนใจมากๆ คือเด็กบางคนไม่ได้อยากลาออกจากโรงเรียนแต่โรงเรียนบีบให้เขาออก” มุ้ย มณีรัตน์ อุปะละ บาริสต้าประจำคาเฟ่วัดร้องหลอดชวนคุยขณะชงเครื่องดื่มไปด้วย คาเฟ่วัดร้องหลอดเป็นบ้านไม้สองชั้น โอบล้อมไปด้วยสายน้ำ และมีน้ำตกขนาดใหญ่อยู่ข้างๆ มุ้ยทำงานที่คาเฟ่วัดร้องหลอดมาประมาณ 4-5 ปี ก่อนหน้านั้นเธอทำงานในกรุงเทพฯ แต่เมื่อถึงจุดอิ่มตัวมุ้ยก็กลับมาที่เมืองพาน 

มุ้ยรู้จักเด็กๆ ในมุมมองของคนในชุมชน มุมมองของบาริสต้าคาเฟ่ และมุมมองพี่ที่สนิทของกร และเต้ย ที่มักจะมีการพูดคุยโครงการในคาเฟ่วัดร้องหลอดเป็นประจำ 

“พี่ก็เคยมีอคตินะ เห็นน้องนั่งวงเหล้า ไม่เรียน ไม่เห็นอนาคต แต่พอได้คุยจริงๆ เงินเดือนน้องยังเยอะกว่าพี่อีก!” 

‘พี่มุ้ย’ มณีรัตน์ อุปะละ

มุ้ยบอกว่าเด็กวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยในหมู่บ้านโดยเฉพาะกลุ่มที่หลุดจากระบบการศึกษา ถูกมองว่าเป็นเด็กเกเร กินเหล้า ติดเพื่อน ไม่เห็นอนาคต แต่เมื่อได้พูดคุยกับตัวเด็กเอง ได้คุยกับกร และเต้ย ทำให้มุ้ยมองเห็นว่าเด็กๆ กลุ่มนี้มีอีกมุมหนึ่งไม่ต่างกับคนทั่วไป 

“เด็กกลุ่มนี้มีความสามารถ แต่ไม่เคยมีใครให้โอกาสในการลองทำอะไรหลายอย่างมากกว่า” มุ้ยกล่าว

การใช้ความเข้าใจต่อเด็กเป็นสิ่งแรกๆ ที่กร และเต้ยปรับตัวเข้าหาเด็กๆ แทนการไล่ต้อน หรือไปตราหน้าว่าพวกเขาเป็นแบบไหน 

เต้ยบอกว่าเด็กบางคนดูเงียบ บางคนดูแรง บางคนดูเหมือนไม่สนใจอะไรเลย แต่เมื่อใช้เวลา ‘ฟังพวกเขาจริงๆ กลับพบว่า เด็กเหล่านี้มีทั้งความฝัน ความสามารถ และศักยภาพที่สังคมมองข้ามเพียงเพราะพวกเขา ไม่ได้อยู่ในห้องเรียน 

“เด็กคนหนึ่งบอกเราว่า ความฝันของเขาคือ ‘อยากเป็นเด็กปกติ’ พอเราถามว่าเด็กปกติคืออะไร เขาตอบว่า ‘คือเด็กที่ได้เรียนหนังสือ’” กรเล่าให้ฟัง 

จากที่โครงการฯ มีตัวชี้วัดชัดเจน พร้อมหน่วยการเรียนรู้ตายตัว แต่เมื่อกรและเต้ยพยายามเข้าไปสอบถาม และเข้าใจเด็กๆ แบบที่มองเห็นตัวตนพวกเขาจริงๆ จนในที่สุดโครงการฯ เริ่มต้นด้วยกิจกรรมที่เด็กๆ อยากทำจริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่ร่างไว้ในกระดาษ เช่น ทำเล็บ ซ่อมมอเตอร์ไซค์ ขายของ ต่อขนตา ฯลฯ โดยหวังว่าเด็กจะนำทักษะไปต่อยอดเป็นรายได้ แต่ในความเป็นจริงกร และเต้ยพบว่าเด็กกลับต้องการอะไรมากกว่านั้น

“สุดท้ายเด็กไม่ได้อยากเป็นผู้ประกอบการ เด็กแค่ต้องการพื้นที่ที่เขาได้ ‘เป็นตัวเอง’ โดยไม่ถูกตัดสิน” กรกล่าว 

กิจกรรมทั้งหมดของโครงการฯ จึงถูกปรับเปลี่ยนจากเวิร์กช็อปทางการสู่การ “พูดคุยแบบเพื่อนมนุษย์” นั่งเล่นบอร์ดเกม พูดคุยเรื่องชีวิต ทำความรู้จักกันทีละคน จากที่หวังจะรวมเด็ก 30 คนในรอบเดียว กลับกลายเป็นต้องแบ่งกลุ่มย่อยนับสิบรอบเพื่อให้เด็กกล้ามาร่วม

“เราไม่ได้หวังว่าเขาจะต้องเรียนต่อ หรือต้องเปิดกิจการ เราแค่หวังว่าเขาจะรู้ว่าเขามีค่า และเขาสามารถเลือกชีวิตที่ดีขึ้นให้ตัวเองได้” 

กรยอมรับว่าหนึ่งปีของโครงการ ไม่มีเด็กคนไหนได้ใบประกาศ ไม่มีใครสอบผ่านหลักสูตรใดๆ แต่สิ่งที่พวกเขาได้ คือการยอมรับตัวเอง และเห็นคุณค่าของตัวเองอีกครั้ง

“ถ้าให้เปรียบว่าเราคืออะไรสำหรับวัดร้องหลอด เราขอเป็นน้ำตกที่คาเฟ่ละกัน เราจะอยู่ตรงนี้ ถ้าเด็กๆ อยากมาหาก็มา ถ้าไม่สบายใจอยากมานั่งพักผ่อนก็มา อยากมานั่งเล่นก็มา เราอยู่ตรงนี้เสมอ” เต้ยกล่าว