การลงทุนอาหารเช้าในโรงเรียนเพื่อประสิทธิภาพการเรียนรู้

การลงทุนอาหารเช้าในโรงเรียนเพื่อประสิทธิภาพการเรียนรู้

มื้ออาหารที่โรงเรียนนั้นมีความสำคัญยิ่ง เพราะไม่ใช่เพียงแค่การอิ่มท้องของเด็กๆ แต่มีค่าเป็นการลงทุนกับ “คน” ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกในระดับชาติและเศรษฐกิจท้องถิ่น หลายประเทศในโลกจึงให้ความสำคัญในการจัดมื้ออาหารในโรงเรียน เพราะอาหารที่ดีสามารถให้ผลลัพธ์เป็นประสิทธิภาพทางการศึกษา ความเท่าเทียมทางเพศ สุขภาพและโภชนาการ การป้องกันทางสังคม การพัฒนาทางเศรษฐกิจและเกษตรกรรม

…ไปจนถึงสร้างความก้าวหน้าให้กับประเทศ 

ตัวอย่างหนึ่งในประเทศต้นแบบที่ให้ความสำคัญกับมื้ออาหารในโรงเรียนอย่าง ฟินเเลนด์ ที่เริ่มต้นปฏิบัติตั้งแต่ยุค 1940s เป้าหมายสำคัญคือเพื่อสนับสนุนระบบการศึกษาในประเทศจนถึงปัจจุบันนี้ เด็กนักเรียนในโรงเรียนระดับอนุบาล ประถมศึกษา จะได้รับประทานอาหารในโรงเรียนแบบไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม เพื่อให้เด็กทุกคนได้อิ่มท้องและได้มีการตระหนักรู้ในเรื่องการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เรียนรู้โภชนาการที่ได้รับต่อวัน ศึกษาเรื่องอาหารผ่านจานที่รับประทาน

ภาพคุณครูตักซุปหรือโจ๊กให้กับเด็กนักเรียนในห้องเรียนช่วงยุค 1950s มื้อเที่ยงในสมัยนั้นจะกินภายในห้องเรียน ที่มาภาพ: Pekka Kyytinen / Finnish Heritage Agency – Musketti: Kansatieteen kuvakokoelma

จากประวัติศาสตร์กว่า 70 ปี ที่ฟินเเลนด์ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศอันดับหนึ่งในการมีระบบมื้ออาหารฟรีในแต่ละโรงเรียน โดยเด็กนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถม และมัธยมศึกษาจะได้รับมื้ออาหารที่เต็มอิ่มและมีประโยชน์ถูกต้องตามหลักโภชนาการ มื้ออาหารโรงเรียนกว่า 830,000 มื้อถูกเสิร์ฟสำหรับเด็กๆ ในแต่ละวัน การมีมื้ออาหารฟรีในโรงเรียนนั้นเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เด็กนักเรียนมีสุขภาพและคุณภาพความเป็นอยู่ที่ดี การเติบโตสมวัย อาหารที่ได้รับการจัดการโภชนาการและประโยชน์มาแล้วนั้น เป็นมากกว่าเรื่องสารอาหารที่จะได้รับ แต่เป็นการรักษาความสามารถในการเรียน เติมแหล่งพลังงานให้กับเด็กๆ ได้พร้อมเล่น ตลอดจนเพิ่มการตระหนักรู้และความรู้เกี่ยวกับอาหารและโภชนาการให้กับเด็กๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่มีการร่วมมือกันระหว่างสถาบันแห่งชาติและผู้ผลิตในท้องถิ่น

 

จุดเริ่มต้นในศตวรรษที่ 20 ขณะที่ฟินแลนด์ยังตกอยู่ในภาวะการเป็นประเทศยากจน

ผู้คนพึ่งพิงอยู่กับการทำเกษตรกรรมเป็นสำคัญ ในช่วงเวลานั้น มีเด็กจำนวนน้อยที่มีโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียน  และ 40% ของเด็กวัย 15 ปีไม่อาจอ่านออกเขียนได้ จนเมื่อกฎหมายด้านการศึกษามีผลบังคับใช้ในปี 1921 จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่โรงเรียนของแต่ละเทศบาลเมืองเริ่มจะต้องมีการเตรียมอาหารสำหรับผู้เรียน ถึงอย่างนั้น มีเพียงเด็กด้อยโอกาสอย่างถึงที่สุดเท่านั้นที่ได้รับการสนับสนุนด้านอาหารจากรัฐบาล

มื้ออาหารที่โรงเรียนในฟินเเลนด์ ที่มาภาพ MM, Viestintävalkea

กฎหมายบังคับการมีมื้ออาหารฟรีในโรงเรียนสำหรับเด็กนักเรียนทุกคนเริ่มบังคับใช้อย่างจริงจังในปี 1943 ช่วงเวลานั้นฟินเเลนด์เป็นประเทศที่เผชิญอยู่กับภาวะสงคราม ทำให้มีผู้คนจำนวนมากที่ไม่อาจเข้าถึงอาหารหรือว่าได้รับอาหารที่ดีมีประโยชน์ หลังจากผ่านไป 5 ปี ระบบการมีมื้ออาหารฟรีในโรงเรียนก็เริ่มถูกนำมาปัดฝุ่นบังคับใช้อย่างเหมาะสมอีกครั้ง

ระบบมื้ออาหารที่โรงเรียนในฟินเเลนด์นั้น เป็นไปแบบกระจายออกจากศูนย์กลาง (decentralised) นั่นหมายความว่า ความรับผิดชอบในการวางแผนและจัดการกฎหมายด้านการศึกษาจะเป็นของส่วนท้องถิ่น งบประมาณสำหรับการศึกษาที่ถูกกำหนดโดยท้องถิ่น การจัดสรรงบสำหรับแต่ละโรงเรียนจะถูกจัดการโดยส่วนการเมืองการปกครองท้องถิ่นทั้งหมด ในปี 2017 ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสำหรับมื้ออาหารโรงเรียนจะอยู่ที่  2.8 ยูโร (ราวๆ 102 บาทไทย) เป็นค่าใช้จ่ายที่รวมการขนส่งอาหารและบุคลากรที่รับผิดชอบ

ถึงอย่างนั้น การที่สภาพเศรษฐกิจของประเทศไม่ดีนัก ก็ส่งผลต่อการจัดสรรงบสำหรับมื้ออาหารในโรงเรียนเช่นกัน จำนวนโรงเรียนในแต่ละเขตเทศบางท้องถิ่นก็แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ไม่กี่แห่งจนถึงร้อยแห่ง ความสามารถในการจัดการงบประมาณและอาหารของแต่ละพื้นที่จึงแตกต่างกันออกไปเช่นกัน ทั้งเรื่องของหลักสูตร แผนประจำปีที่ทำหน้าที่กำหนดข้อปฏิบัติในการจัดการกับมื้ออาหาร วัตถุประสงค์ในการมีมื้ออาหารโรงเรียนและความเกี่ยวข้องกับการศึกษา การใส่ใจเรื่องสุขภาพ โภชนาการ และมารยาทบนโต๊ะอาหาร ประเด็นทั้งหมดนี้ก็แตกต่างกันออกไป 

นอกเหนือจากมื้ออาหารจานใหญ่ที่อิ่มท้องแล้ว การมีมื้ออาหารที่โรงเรียนยังเป็นเรื่องของการให้ความรู้ด้านอาหารอีกด้วย ในหนึ่งมือสามารถทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสอนเรื่องอาหารในภาพรวมได้ เช่น การแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมอาหารของประเทศ สารอาหารที่เหมาะสม มารยาทการรับประทานอาหารที่ดี และการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน ช่วงเวลาแต่ละมื้อทำหน้าที่เป็นการพักเบรคจากชั่วโมงเรียนของเด็กๆ และเป็นเวลาที่เด็กนักเรียนจะได้มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับคนอื่นๆ ทั้งในและนอกชั้นเรียนภายใต้สภาพแวดล้อมที่ผ่อนคลาย มากไปกว่านั้นคือเด็กนักเรียนในโรงเรียนที่ฟินแลนด์ จะมีโอกาสในการเข้าร่วมวางแผนมื้ออาหารที่พวกเขาอยากกินอีกด้วย

 

7 จุดแข็งที่น่าสนใจ ที่ทำให้ระบบมื้ออาหารที่โรงเรียนของฟินแลนด์เข้มแข็ง

  1. การจัดสรรอาหารที่มีประโยชน์ โภชนาการครบถ้วนสำหรับที่เด็กต้องการในแต่ละวัน
  2. ระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ที่เรียนรู้จากประสบการณ์กว่า 70 ปี
  3. การขับเคลื่อนที่เข้มเเข็งผ่านการบังคับใช้กฎหมาย ข้อปฏิบัติ และข้อแนะนำต่างๆ
  4. ระบบการจัดซื้อจัดจ้างที่จัดการได้ในระดับท้องถิ่น
  5. บุคลากรที่ดูแลเรื่องอาหารได้รับการอบรมและฝึกฝนทักษะมาอย่างเชี่ยวชาญ
  6. มีการตรวจสอบด้านความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด
  7. ระบบที่มีการร่วมมือและความเชื่อใจซึ่งกันและกัน

 

ไทม์ไลน์แสดงพัฒนาการของระบบมื้ออาหารในโรงเรียนของประเทศฟินแลนด์

 

ที่มาบทความ: School feeding: investment in effective learning – Case Finland