‘Youth Talk’ “ขอบคุณมโนราห์” ฉุดพ้นวงจรเสี่ยง เชื่อมต่อเส้นทางชีวิต

‘Youth Talk’ “ขอบคุณมโนราห์” ฉุดพ้นวงจรเสี่ยง เชื่อมต่อเส้นทางชีวิต

“เราผูกพันกับมโนราห์ตั้งแต่เด็ก ทีแรกคิดแค่อยากรำ อยากรวมกลุ่มกับเพื่อนสนุกไปวัน ๆ ไม่เคยคิดว่าจะมาถึงวันที่มโนราห์กลายเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวนำทางชีวิต คือวันที่เราเจอกับปัญหา อยู่บนเส้นทางสุ่มเสี่ยง หรือวันหนึ่งเราหลุดจากระบบการศึกษาไปเพราะไม่มีเงิน ไม่มีทุน ก็เป็นมือจากครอบครัวมโนราห์ฉุดเราออกมา ช่วยถากถางทางเดินตีบตันให้มีทางไปต่อ”

‘เค’ วิชญะ เดชอรุน นักเรียนชั้น ม.6 จากเครือข่ายเพื่อเยาวชน อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในโครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา(กสศ.) โดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ภาคใต้ตอนบน กับประสบการณ์ที่นำมาแบ่งปัน โดยแม้จะมีพื้นเพเติบโตมาจากสภาพแวดล้อมสุ่มเสี่ยง แต่ความสนใจในศิลปะภูมิปัญญาเก่าแก่ของภาคใต้ กลับกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้เคค้นพบตัวตน พบเส้นทางดีงาม ทั้งยังต่อยอดถึงการเชื่อมโยงตัวเขาไว้ ให้อยู่ในระบบการศึกษา ซึ่งเกือบสะดุดลงเพราะไม่มีเงินชำระ ‘หนี้การศึกษา’ ที่คั่งค้าง

ชั่วไม่กี่เดือนสั้น ๆ ที่หลุดไป เคต้องดิ้นรนทุกวิถีทาง ทำให้เขายิ่งตระหนักถึงคุณค่าของการเรียน และเขาอยากใช้พื้นที่ตรงนี้เล่าบอกและขอบคุณ ‘ครู’ รวมถึงทุกสิ่งทุกคนที่เกี่ยวข้อง ที่ทำให้วันนี้เขายังได้อยู่บนเส้นทางการศึกษาในระบบต่อไป

เคเล่าว่าเขาเติบโตขึ้นในครอบครัวที่มีสมาชิกเกี่ยวข้องกับการพนัน แต่เขาไม่ได้รู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นปมในใจ กลับเต็มไปด้วยความเข้าใจว่าบ้านของเขายากจน ไม่มีที่ทาง จึงต้องเวียนวนกับหนี้สิน พยายามหากินไปวัน ๆ

เค มีพี่น้องสามคนอายุไล่เลี่ยกัน การศึกษาจึงเป็นภาระการเงินที่ค่อนข้างหนัก ยิ่งเมื่อทุกคนขึ้นชั้นมัธยมพร้อมกัน รายรับที่ไม่พอรายจ่าย ก็บีบให้ครอบครัวต้องติดค้างค่าเทอมสะสม จนถึงวันเรียนจบ

“เราพยายามหาเงินตั้งแต่เด็ก ด้วยสภาพแวดล้อม เลยเข้าไปคลุกคลีในวงจรการพนัน กระโจนลงไปอย่างไม่ได้คิดอะไรเลย เห็นเขาทำเราก็ทำ ความเป็นเด็กเราไม่รู้อะไรถูกอะไรผิดอยู่แล้ว รู้แค่ไปโรงเรียนเห็นเพื่อนมีเงินหกสิบเจ็ดสิบ จะซื้อขนมซื้ออะไรกินก็ได้ ส่วนเราทุกวันต้องกินข้าวไปจากบ้าน ก็น้อยใจตัวเอง อยากมีเหมือนคนอื่นเขาบ้าง  

“แต่พอเข้าวงจรนั้นแล้ว ก็รู้ว่าเงินที่ได้มาไม่เยอะเลย แล้วแป๊บเดียวเราก็ใช้หมดไป เป็นจังหวะเดียวกับที่ชีวิตเราเริ่มเปลี่ยน เจอสิ่งที่สนใจ สิ่งที่ช่วยดึงเราออกมา คือมโนราห์ เริ่มรวมกลุ่มกับเพื่อนรำกัน ทำให้ค่อย ๆ ห่างออกมาจากวงจรเสี่ยงได้ ยิ่งพอโตขึ้น เรายิ่งเข้าใจว่าสิ่งที่เคยทำมันไม่ดีเลย”

หางานทำแลกวุฒิการศึกษา

เหตุที่เคต้องตกอยู่ในสถานะเด็กนอกระบบ เนื่องจากตอนจบ ม.3 เขาค้างค่าเทอมจำนวนหนึ่ง จึงไม่มีสิทธิ์รับใบ ปพ. เพื่อจบการศึกษา เขาเล่าถึงช่วงเวลานั้นว่า “คือเรารู้ว่าครอบครัวเราไม่มีอาชีพมั่นคง ก็ทำใจตั้งแต่เด็กแล้วว่าไม่น่าได้เรียนสูง แต่ลึก ๆ ยังแอบฝันว่าอยากจบปริญญา ตอนรู้ยอดค้างค่าเทอมก็ตกใจ คิดว่าจะหาจากไหน ข้าวจะกินยังแทบไม่มีเลย แต่เราอยากเรียนจริง ๆ คิดว่าทำยังไงดี เลยตัดสินใจเก็บของมุ่งหน้าไปเกาะสมุยไม่บอกใครเลย ตั้งใจจะดิ้นรนหางานทำ เอาเงินมาจ่ายค่าเทอมที่ค้าง คิดว่าช้าหน่อยก็ไม่เป็นไร อย่างดีเสียเวลานิดหน่อยช่างมัน ยังไงเราต้องเรียนต่อให้ได้

“แต่ทีนี้พอไปเจอความเป็นจริงที่สมุย ไปลองสมัครงานตามร้าน ตามผับตามบาร์ แล้วไม่มีที่ไหนรับ เพราะอายุตอนนั้นแค่สิบห้า วุฒิก็ไม่มี ทักษะอะไรก็ไม่มี เลยยิ่งรู้ว่าโลกไม่มีที่ทางให้เราเลย”

ครอบครัวมโนราห์ …ที่พึ่งพิงของชีวิต

‘กลับบ้านมาก่อนเค ครูโอนเงินค่าเดินทางให้แล้ว มีอะไรกลับมาคุยกันที่บ้านเรา’

คือประโยคที่ครูพูดในสายโทรศัพท์ เพื่อตามเคกลับบ้าน และเป็นประโยคที่เหมือนจุดหักเหสำคัญของชีวิตเขา  

ย้อนไปยังช่วงที่เคกับเพื่อนรวมกลุ่มฝึกฝนมโนราห์ ด้วยข้อจำกัดเรื่องพื้นที่และผู้สอน ต้องแกะท่ารำกันเองจากจากคลิปใน Youtube แต่กลายเป็นว่าความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังของเด็ก ๆ ได้ไปสะดุดใจของ ครูชานนท์ ปรีชาชาญ จากเครือข่ายเพื่อเยาวชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งทำงานร่วมกับ โครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา(กสศ.) โดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ครูชานนท์ ที่มีชื่อเสียงในฐานะครูมโนราห์ จึงชวนเด็ก ๆ เข้าร่วมกลุ่มฝึกฝนอย่างจริงจัง จนเกิดเป็นพื้นที่กิจกรรมสำหรับเด็กเยาวชนทั้งในและนอกระบบ ทั้งที่อำเภอเวียงสระและอำเภอใกล้เคียง ก่อนแผ่ขยายความสนใจออกเป็นกลุ่มฝึกอาชีพอื่น ๆ ตามมา

น้องเคกับครูชานนท์ และแม่พรจิต ครูภูมิปัญญาในพื้นที่ อ.เวียงสระ

“ครูชานนท์คือคนแรกที่โทรหาที่สมุย อย่างแรกเลยคือบอกให้เรากลับบ้านทันที แล้วเขาถามต่อว่าทำไมไม่บอกปัญหาให้เขารู้ เราเสียใจ ไม่กล้าพูด ว่าเราคิดว่าถ้าครอบครัวช่วยเราไม่ได้ ทำไมครูที่เป็นคนนอกด้วยซ้ำจะต้องมาเดือดร้อนไปกับเรา จนพอกลับมาเจอกัน ครูพูดกับเราแค่ ต่อไปนี้มีเรื่องอะไรให้ปรึกษาครูก่อน เราจะมาช่วยกันทุกทางให้ปัญหาทุเลาลง   

“ครูเข้ามาเปลี่ยนเราหลายอย่าง จากวันที่รวมกลุ่มกันรำ ไม่มีที่ ไม่มีคนสอน ซ้อมกันใต้ต้นไม้บ้าง ตรงไหนมีที่โล่งก็รำกันตรงนั้น จนครูมาหา มาคุย มาให้โอกาสเรา ให้คำแนะนำจริงจัง จนพวกเรายกระดับมาตรฐานขึ้นมา วันหนึ่งได้ออกแสดง หาเงินได้ กลายเป็นอาชีพหนึ่ง แล้วมันไม่ใช่แค่เรื่องรายได้ แต่เหมือนครูมาจุดประกายให้รู้ว่าพวกเราทำอะไรได้ และมีพื้นที่ปลอดภัย กล้าที่จะเชื่อมั่นในตัวเองแล้วพยายามทำ พยายามเอาชนะอุปสรรคที่ใหญ่โตขึ้น”   

ไม่ทันเปิดเทอมใหม่ ด้วยความช่วยเหลือของครูชานนท์ในการไกล่เกลี่ยชำระค่าเทอมที่ค้าง ร่วมด้วยครูที่โรงเรียนซึ่งเข้ามาเป็นธุระสะสางเรื่องวุฒิการศึกษา เคจึงสามารถเข้าเรียนชั้น ม.4 ได้ทัน โดยหลังจากนั้นยังได้ก้าวไปเป็นเยาวชนแกนนำใน ‘ศูนย์สืบสานมโนราห์ปักษ์ใต้บ้านปากลัด’ ที่อำเภอเวียงสระ ซึ่งครูชานนท์เป็นคณะทำงานคนสำคัญอยู่ โดยเคไม่ได้เพียงเข้าไปฝึกฝนและออกแสดงมโนราห์ หากเขายังนำประสบการณ์ของตนมาแบ่งปันในฐานะ ‘ที่ปรึกษา’ ให้กับเพื่อนและน้อง ๆ ในกลุ่ม

“ไม่ขอเป็นผู้รับฝ่ายเดียว”

หลังผ่านช่วงเวลายากลำบากหลายครั้งโดยได้รับการดูแลจากครู จากเพื่อนในคณะมโนราห์ จนเข้มแข็ง ลุกยืนได้ เคมองว่าพลังที่ได้รับมาต้องถูกถ่ายเทต่อไป จึงตั้งใจจะช่วยครูดูแลเพื่อนและน้อง ๆ ในศูนย์ ฯ ช่วยสอนรำ ทำกิจกรรมปลูกผัก ร้อยลูกปัด ที่เขาบอกว่า “อะไรช่วยได้แนะนำได้ เราทำหมด เพื่อให้ทุกคนมีรายได้ มีอาชีพ แล้วระหว่างสอนกิจกรรม เรามีโอกาสแบ่งปันประสบการณ์หรือคำแนะนำที่มีประโยชน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งให้เขาเห็นทางออกจากปัญหาที่เจออยู่ ก็ดีใจ เพราะที่นี่เราอยู่กันแบบครอบครัว

“สิ่งที่เจอมากับตัวทำให้เคยคิดว่าคงไม่มีที่ทาง ไม่มีโอกาสสำหรับคนอย่างเรา แต่วันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปในทางดีขึ้น เราจึงเชื่อว่าทุกคนควรได้รับโอกาส น้อง ๆ ควรได้มีช่องทางทำอาชีพ ได้เรียนรู้ทักษะชีวิต ได้พัฒนาตัวเอง หรือกับตัวเราขณะที่อยู่กับน้อง ๆ ก็เหมือนได้คิด ได้คุยกับตัวเองไปด้วย ว่ากว่าจะผ่านแต่ละวันมาถึงตรงนี้ได้มันไม่ง่าย นึกไปถึงว่าครั้งหนึ่งเคยคิดอยากตั้งบ่อนเองเลย แต่พอมองไกลกว่านั้นก็รู้แล้วว่าเส้นทางนั้นมีแต่จะฉุดเราให้ตกต่ำลง

“การอยู่กับครูกับเพื่อนและน้องในศูนย์ ฯ เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนทัศนคติเราทุกวัน ๆ เราได้อยู่กับสิ่งที่รักและเป็นอาชีพที่มั่นคง คือรำมโนราห์ ยังอยู่บนเส้นทางเรียนในระบบที่จะพาชีวิตเราไปไกลขึ้น ๆ ได้มองเห็นโลกข้างนอกที่กว้างกว่าแค่สภาพแวดล้อมที่เคยเจอตอนเด็ก เป็นความภูมิใจว่าจากแทบเอาตัวไม่รอด แต่ตอนนี้เราดูแลส่งตัวเองเรียนได้ ด้วยเงินจากการรำ จากกิจกรรมฝึกอาชีพ แล้วเงินส่วนนี้ยังเอาไปช่วยที่บ้าน ช่วยจ่ายค่าเทอมให้พี่เรียนมหาวิทยาลัยได้ด้วย”

ท้ายสุด เคฝากไว้ว่า วันนี้เขาเข้าใจแล้วว่าการสนับสนุนการศึกษา ด้วยการ กระจายโอกาสไปถึงเด็กเยาวชนที่รอคอยอยู่นั้น มีคุณค่าเพียงใด เพราะสำหรับเขา การได้พบครูชานนท์ ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา คือการพลิกกลับของเส้นทางชีวิต ซึ่งจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ หากไม่มีใครเห็นคุณค่าในตัวเขา

“อยากขอบคุณทุกคนที่มีส่วนร่วม ขอบคุณครู ที่มองเห็นพวกเรา ที่มีคำแนะนำและความช่วยเหลือดี ๆ โดยไม่เคยมีไม้บรรทัดวัดว่าใครสูงต่ำดำขาวหรือเป็นใครมาจากไหน ขอบคุณที่ครูเลือกเราจากหัวใจ จากความรักในมโนราห์ ครูทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่เป็นตัวเราจะไม่มีทางที่ใครมาบั่นทอนได้ถ้าเราเชื่อมั่น และขอบคุณมโนราห์ที่พามาจนถึงวันนี้”             นี่คือเรื่องราวของ ‘เค’ ตัวแทนเยาวชนคนหนึ่งที่พิสูจน์ตัวเอง จากวันหนึ่งที่เขาคิดว่าตัวเองไม่ได้รับการยอมรับ หาทางไปไม่เจอ แต่เมื่อได้โอกาสเรียนรู้ ได้อยู่ในกระบวนการปลูกสร้างกล่อมเกลาทัศนคติใหม่ เมื่อนั้นเขาก็ได้พบกับความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่