เพราะชีวิตเล่นตลก หนังตลกเลยเข้ามาช่วย : ชีวิตที่ซึมเศร้า ไม่ตลก แต่มีความหวังของ ‘อิฐ’ เด็กนอกระบบในพื้นที่อันตราย

เพราะชีวิตเล่นตลก หนังตลกเลยเข้ามาช่วย : ชีวิตที่ซึมเศร้า ไม่ตลก แต่มีความหวังของ ‘อิฐ’ เด็กนอกระบบในพื้นที่อันตราย

หอแต๋วแตก บ้านผีปอบ และโดราเอมอน

สามสิ่งนี้ช่วยสร้างสีสันในชีวิตของ ‘อิฐ’ อนุชา ขุนหวาง ได้ดีมาก ปกติตารางในแต่ละวันของอิฐเริ่มตั้งแต่ตี 5 และจบตอน 3 ทุ่ม อิฐบอกว่าถ้ามีเวลาก็จะนั่งดูหนังในโทรศัพท์ อิฐไม่มียูทูปเบอร์ที่ชอบ ไม่ค่อยเล่น TikTok เท่าไหร่ สิ่งที่เขาชอบที่สุดคือการได้ดูหนังตลกเก่าๆ แบบนี้ เขาบอกว่าเรื่องที่ดูซ้ำและชอบมากที่สุดคือ หอแต๋วแตก แหกกระเจิง 

เพราะชีวิตเล่นตลก หนังตลกเลยเข้ามาช่วย อิฐ พี่ชายวัย 21 ปีที่รับบทเป็น ‘ทุกอย่าง’ ให้น้องๆ 3 คนในบ้าน 

“ตื่นตั้งแต่ตี 5 มาหุงข้าว ทำกับข้าว ปลุกน้อง พาน้องไปกินข้าวและอาบน้ำ จากนั้นก็ไปส่งน้องที่โรงเรียน”

หลังจากส่งน้องที่โรงเรียนเสร็จ สิ่งต่อมาที่อิฐทำคือทำงาน อย่าถามว่าทำงานอะไรบ้าง ให้ถามว่าอิฐไม่ทำงานอะไรบ้างดีกว่า งานที่ทำอยู่ประจำตอนนี้คือรับจ้างทำความสะอาดบ้าน ดูแลผู้สูงอายุ ถ้ามีเวลาว่างจากงานประจำอิฐก็จะตามพ่อไปเก็บถังปาล์ม หาปลา ตกปู โพสต์ขายข้าวต้มมัด ส่งขนมให้ลูกค้า ซึ่งบ้านของอิฐก็อยู่ในพื้นที่ ต.ม่วงกลวง อ.กะเปอร์ จ.ระนอง

ฟังแล้วรู้สึกว่าอิฐใช้เวลา 24 ชั่วโมงต่อวันได้คุ้มสุดๆ แต่สิ่งที่ขาดไปในกิจวัตรประจำวันคือการเรียน อิฐออกจากโรงเรียนตั้งแต่ ม.3 เหตุผลที่ต้องออกเพราะว่าพ่อกับแม่ให้ออก อิฐบอกกับเราว่าความรู้สึกตอนนั้นมันบอกไม่ถูก

“เมื่อก่อนชอบเรียน ตอนนี้ชอบทำงาน ไม่รู้ทำไม มันอาจจะเป็นหน้าที่ของเราไปแล้ว”

อิฐ-อนุชา ขุนหวาง

เมื่อไม่มีเรียน ชีวิตของอิฐเลยมีแต่เลี้ยงน้องและทำงาน ถ้าถามว่าทำไมเด็กคนหนึ่งต้องทำสารพัดอย่างขนาดนี้ ก็คงเป็นเพราะว่าตอนนี้เขาคือเสาหลักของบ้าน เนื่องจากพ่อและพี่ชายติดยาเสพติด ส่วนแม่ก็ย้ายไปอยู่ที่อื่น

ผลข้างเคียงของยาเสพติดนอกจากที่มันจะทำลายร่างกายและความคิด ยาเสพติดยังทำร้ายคนรอบข้างอีกด้วย อิฐและน้องๆ คือกลุ่มคนที่เจอกับความรุนแรงจากที่อยู่ใกล้คนเสพยา บางครั้งพ่อไปลงที่น้อง อิฐก็ต้องเข้าไปห้าม และเมื่อห้ามเขาก็จะโดนลูกหลงไปด้วยเช่นกัน ในขณะเดียวกันปัญหานี้ส่งผลให้อิฐไม่มีเพื่อน เพราะเพื่อนรู้ว่าพ่อของอิฐอารมณ์รุนแรง จึงไม่มีใครๆ กล้ามาที่บ้าน

“เขาบอกว่าเสพยาแล้วจะขยัน ผมไม่เห็นคนเสพแล้วขยันสักคน”

อิฐพูดขึ้นระหว่างทางไปหาดบางเบน ซึ่งห่างจากบ้านอิฐไม่ถึง 5 กม. แต่นี่คือการมาเที่ยวทะเลครั้งที่สองในชีวิตของอิฐ 

ที่นี่หายาเสพติดได้ง่ายมาก อิฐบอกว่ากำเงินไม่ถึง 50 บาทก็หายาได้แล้ว พ่อกับพี่ชายเคยพูดว่ายาทำให้พวกเขามีแรงทำงานมากขึ้น แต่อิฐไม่เห็นด้วย

เพราะแบบนี้เองทำให้น้องๆ คือคนที่อิฐรักและเป็นห่วงมากที่สุด เขาไม่อยากให้น้องโดนทำร้าย ในขณะเดียวกันก็ไม่อยากให้น้องๆ โตไปและมีพฤติกรรมแบบพ่อ ตอนนี้อะไรที่ทำได้เขาจึงทำไปก่อน เงินที่ได้มาก็เอาไปเลี้ยงน้องทั้งหมด อิฐเล่าให้เราฟังว่าถ้าน้องขออะไร ก็จะพยายามให้เท่าที่ให้ได้และให้ทันที

แต่ของที่ให้ตัวเอง อิฐกลับคิดแล้วคิดอีก อิฐหยิบโทรศัพท์ให้เราดูและบอกว่าเขาใช้เวลาคิดว่าควรจะซื้อโทรศัพท์เครื่องนี้หรือไม่เป็นเวลาเกือบปี ทั้งๆ ตัวเองก็มีเงินเก็บพร้อมแล้ว แต่เพราะอะไรไม่รู้ทำให้อิฐรู้สึกว่าไม่อยากซื้อของให้ตัวเอง จนกระทั่งคิดได้ว่าโทรศัพท์เครื่องนี้สามารถใช้ให้น้องๆ ติดต่อกับแม่ได้ เขาจึงตัดสินใจซื้อทันที

ด้วยความที่เป็นคนที่นึกถึงคนอื่นก่อนเสมอ เวลามีเรื่องราวทุกข์ใจอะไรก็เลือกที่จะเก็บไว้กับตัวเอง เพราะมองว่าทำแบบนี้แล้วคนอื่นน่าจะสบายใจมากกว่า ไม่ใช่ว่าอิฐไม่เคยลองปรึกษามาก่อน เขาลองเอาความกังวลใจไปเล่าให้พ่อ ญาติ หรือคนรอบตัวคนอื่นๆ ฟัง สิ่งที่ได้กลับมาคือการมองว่าเรื่องของอิฐเป็น ‘เรื่องเล็กน้อย’

“เคยปรึกษาทั้งพ่อและแม่เรื่องที่พ่อเสพยา เขาก็บอกว่ามันเรื่องเล็กนิดเดียว ก็เลยเก็บทุกอย่างไว้คนเดียว อย่างน้อยมันก็ดีกับคนอื่น”

เมื่อต้องเก็บทุกอย่างไว้คนเดียว สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นกับอิฐโดยที่เขาไม่รู้ตัวคือ ‘โรคซึมเศร้า’ อิฐไม่รู้ว่าโรคซึมเศร้าคืออะไร มารู้อีกทีก็ตอนที่หมอบอก ซึ่งอิฐต้องใช้เวลากินยาเป็นปีๆ กว่าจะดีขึ้น

อิฐเคยมีความคิดที่อยากจะลาโลกใบนี้ และเขาลองทำมาแล้วครั้งหนึ่ง โชคดีที่คนแถวบ้านมาเห็นจึงช่วยไว้ทัน อิฐเล่าว่าตอนนี้ไม่ได้คิดจะฆ่าตัวตายอีกแล้ว เพราะก็คิดได้ว่าถ้าเขาไม่อยู่น้องๆ ก็คงจะลำบาก ภาระและหน้าที่ทำให้อิฐมีแรงใช้ชีวิตต่อ อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือศาสนา อิฐนับถือศาสนาอิสลามซึ่งตามหลักแล้วฆ่าตัวตายถือว่าเป็นบาป

แต่ท่ามกลางมรสุมชีวิต ก็ยังมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แสงสว่างนี้มาจากผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่งที่มองเห็นความขยันและหวังดีของอิฐ พวกเขาเข้ามาช่วยเป็นที่พึ่งให้อิฐเพื่อที่จะไม่ได้โดดเดี่ยวจนเกินไป

น้ำข้นกว่าเลือดได้ พื้นที่ปลอดภัยไม่จำเป็นต้องมาจากคนในครอบครัว

“เด็กเหมือนตัวแสดงผลที่มันเกิดจากปัญหาอื่นๆ”

‘แจง’ ณัฐกานต์ ไท้สุวรรณ สมาชิกกลุ่มปัญญาชนสร้างสรรค์กล่าว เธออยู่ในโครงการพัฒนาการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เพื่อสร้างโอกาสให้กับเยาวชนนอกระบบการศึกษา จ.ระนอง 1 ใน 40 ของโครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

แจง-ณัฐกานต์ ไท้สุวรรณ

อิฐเองก็เป็นเด็กที่แจงใกล้ชิดและรู้จักเป็นอย่างดี เขาคือผลสะท้อนของปัญหายาเสพติด ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งถ้าเป็นเด็กคนอื่นเมื่อต้องมาอยู่ท่ามกลางพื้นที่เทาๆ แบบนี้ ก็ไม่แน่ว่าอาจจะหลงผิดไปกับคนรอบตัวด้วย แต่อิฐไม่เป็นแบบนั้น แจงบอกว่านี่ก็เป็นความพิเศษของเด็กคนนี้

เพราะรอบตัวเด็กมีหลายปัญหา และปัญหาของเด็กแต่ละคนก็มีความแตกต่างกัน กลุ่มปัญญาชนสร้างสรรค์จึงออกแบบการทำงานให้ช่วยเหลือเด็กได้จากการปรับสภาพแวดล้อมโดยรวม ซึ่งก็ต้องทำร่วมกับผู้ปกครอง ถ้าทำกับผู้ปกครองไม่ได้ก็ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากชุมชน โดยต้องมีแกนนำคนสำคัญที่สร้างความไว้วางใจให้เด็กได้ ซึ่งสำหรับอิฐคนคนนั้นคือ ‘สุวรรณา สมิง’ หรือที่อิฐมักเรียกว่า ‘แม่ปอ’ ผู้ช่วยหัวหน้าโครงการพัฒนาการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เพื่อสร้างโอกาสให้กับเยาวชนนอกระบบการศึกษาจังหวัดระนอง

แม่ปอ-สุวรรณา สมิง และ อิฐ-อนุชา ขุนหวาง

เรามักเห็นแม่ปอคุยเล่นกับอิฐ หัวเราะคิกคักกันสองคน แม่ปอบอกว่ากว่าจะสนิทกันได้ขนาดนี้ ต้องมาจากการสร้างความเชื่อใจให้กับอิฐ

“ช่วงแรกเราจะมีกิจกรรมให้น้องแนะนำตัวเองว่าเรียนจบชั้นไหน อยากทำงานอะไร ตอนนี้เจอปัญหาอะไรบ้าง จากนั้นเราก็แลกเปลี่ยนเรื่องของตัวเองสมัยก่อน และวิธีที่เราผ่านมาได้”

วิธีของแม่ปอคือการทำให้เด็กๆ ได้รู้ว่าปัญหาที่พวกเขาเจอ แม่เองก็เคยเจอมาเหมือนกันและผ่านมันมาจนโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ เพื่อที่เด็กๆ จะได้ไม่รู้สึกว่าเขาเผชิญปัญหาชีวิตอยู่คนเดียว

เพราะบางทีครอบครัวตามสายเลือดอาจจะไม่ใช่ที่พึ่งที่ดีที่สุด กลุ่มปัญญาชนสร้างสรรค์จึงพยายามสร้างพื้นที่ปลอดภัยใหม่ๆ ให้กับเด็กได้ ‘หนุ่ม’ นิพนธ์ มีชัย อีกสมาชิกจากกลุ่มปัญญาชนสร้างสรรค์ หัวหน้าโครงการพัฒนาการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม บอกกับเราว่าตอนนี้อิฐมีที่พึ่งเพิ่มขึ้นในหลายมิติแล้ว

หนุ่ม-นิพนธ์ มีชัย

“ถ้าเขาอยากได้ความเป็นแม่เขาจะมองหาแม่ปอ แต่ถ้าเขาอยากได้คำปรึกษาแบบพี่น้องเขาจะทักหาผมไม่ก็แจง อิฐก็รู้สึกดีขึ้นเพราะมีพื้นที่ปลอดภัยให้เลือก”

กว่าเด็กคนหนึ่งจะเติบโตได้ อย่างน้อยเขาควรมีที่พักทางใจ หรือใครสักคนที่เขารู้สึกว่าเขาอยู่ด้วยแล้วปลอดภัย กลุ่มปัญญาชนสร้างสรรค์ไม่ได้ช่วยชี้ทางให้กับอิฐได้ทุกอย่าง เพียงแต่เข้ามาช่วยให้อิฐไม่รู้สึกโดดเดี่ยวจนเกินไป และที่สำคัญคือพยายามป้องกันไม่ให้อิฐรวมถึงเด็กคนอื่นๆ ดำดิ่งไปสู่พื้นที่อันตราย

ปัจจุบันอิฐได้เปิดโลกกว้างมากขึ้นจากการทำกิจกรรมกับกลุ่มปัญญาชนสร้างสรรค์และ กสศ. เขาได้พักผ่อนจากการทำงานและได้ไปเล่นตามประสาเด็กบ้าง บางทีทีมก็พาไปเปิดหูเปิดตาที่กรุงเทพฯ ซึ่งหนุ่มและคนอื่นๆ ก็เห็นว่าอิฐมีความสดใสขึ้นเยอะ

ความฝันของอิฐตอนนี้คือการทำงานในโรงพยาบาล อิฐบอกว่าจะเป็นงานอะไรก็ได้ ขอแค่ได้อยู่ในโรงพยาบาลเพราะเขาอยากช่วยเหลือคน ทุกวันนี้อิฐมีทักษะจากการทำงานดูแลผู้สูงอายุซึ่งเป็นงานประจำที่ตัวเองทำอยู่ อีกหนึ่งเป้าหมายที่ทีมสนับสนุนให้อิฐอย่าเพิ่งทิ้งไปคือการเรียน ซึ่งอิฐเองก็เริ่มหันมาสนใจการเรียน กศน. (การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย) เพราะดูแล้วน่าจะเหมาะกับตัวเองที่ไม่ค่อยมีเวลาว่าง

เส้นทางในชีวิตของอิฐอาจจะมีขรุขระบ้าง แต่ด้วยความตั้งใจดีและความเป็นพี่ของน้องๆ ของเขาเองทำให้เขาก้าวผ่านปัญหาแต่ละวันมาได้ และบวกกับการเอาใจช่วยของผู้ใหญ่ จึงทำให้อิฐมีแรงใช้ชีวิตต่อไปมากยิ่งขึ้น

‘ทักษะชีวิต’ สำคัญไม่แพ้ทักษะวิชาการ

พ่อแม่บางคนคาดหวังให้ลูกจำสูตรคณิตศาสตร์แม่นๆ ท่องศัพท์ภาษาอังกฤษได้เป็นร้อยๆ คำ แต่ในขณะเดียวกันก็มีพ่อแม่บางคนที่ไม่ขออะไรจากลูกมาก ขอแค่ดูแลตัวเองได้ก็พอแล้ว โครงการพัฒนาการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยกลุ่มปัญญาชนสร้างสรรค์จึงพยายามออกแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อให้เหมาะสมเด็กทุกคน

“ดูแลตัวเองได้ก็พอแล้ว” คือความคาดหวังของมะห์ (แม่) ที่มีต่อลูกสาว ‘เราะห์’ อุไรรัตน์ หวันว่าหมาน มะห์บอกกับเราว่าแค่เห็นลูกพอดูแลตัวเองได้ แค่นี้ก็พอใจแล้ว

เราะห์-อุไรรัตน์ และมะห์ (แม่)

ในบรรดาพี่น้องทั้ง 3 คน เราะห์ในวัย 22 ปีเป็นลูกคนเล็กสุด เธอเป็นเด็กที่มีพัฒนาการช้า อันเนื่องมาจากโรคลมชักตั้งแต่เด็ก ทำให้ไม่สามารถเรียนหนังสือเหมือนคนอื่นได้ ส่วนการใช้ชีวิตประจำก่อนหน้านี้ มะห์บอกว่าตัวเองต้องเป็นคนลงมือทำให้ทุกอย่าง ตั้งแต่ตื่นจนนอน ซึ่งมะห์เองก็ต้องตัวประกบอยู่กับลูกเสมอ

ครอบครัวของมะห์ทำประมงในพื้นที่ท่ายาง จ.ระนอง มีทั้งตกปลา ลอกปู จากนั้นก็แกะเนื้อแล้วส่งขายตามกิโล เราะห์มีส่วนช่วยครอบครัวทำงานโดยการฉีกเนื้อปู ถ้าไม่ได้ทำงานอะไร เราะห์จะตื่นตั้งแต่ 8 โมงเช้า อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน กินข้าวและอยู่กับมะห์

ชีวิตประจำวันของเราะห์มีแม่จัดการให้เสมอ จนกระทั่งมีโครงการพัฒนาการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเพื่อสร้างโอกาสให้กับเยาวชนนอกระบบการศึกษาเกิดขึ้น ‘สุรานีย์ สุวรรณเนาว์’ หรือที่คนในพื้นที่รู้จักว่า ‘หมอแนน’ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลม่วงกลวง อ.กะเปอร์ จ.ระนอง เป็นคนช่วยมะห์และเราะห์เข้าร่วมโครงการ

เพราะเด็กแต่ละคนมีความต้องการและปัญหาที่ไม่เหมือนกัน โครงการนี้จึงออกแบบการเรียนให้กับเราะห์โดยมุ่งให้เธอสามารถใช้ชีวิตพื้นฐานได้ด้วยตัวเอง เอาตั้งแต่ทำกับข้าว พับผ้าปูที่นอน หรือแม้กระทั่งเขียนชื่อ

เรามีโอกาสได้ไปตามดูกิจวัตรประจำวันของเราะห์ที่บ้าน ความตื่นเต้นของเราะห์แสดงให้เราเห็นผ่านรอยยิ้มและการหัวเราะ ด่านแรกของวันนี้คือปูที่นอนซึ่งเราะห์ทำได้เรียบร้อยดี นอกจากนี้เราะห์ยังโชว์ฝีมือการทอดไข่เจียวสูตรพิเศษให้เราดูด้วย

น้ำปลา 3 เหยาะ น้ำตาล 1 ช้อน เทน้ำมันประมาณหนึ่งใส่กระทะ และเปิดไฟกลาง นี่คือวิธีการทำไข่เจียวสูตรของเราะห์โดยเฉพาะ วันนี้อิฐมากับเราด้วย เนื่องจากอิฐและเราะห์เป็นเด็กในโครงการด้วยกันทั้งคู่ 2 คนนี้ก็เป็นเพื่อนที่รู้จักกันอยู่แล้ว อิฐจึงทำหน้าที่เป็นนักชิมอาหาร ซึ่งเขาบอกกับเราว่าอร่อย

“เห็นไหมละ น้อง (เราะห์) ทำเอง” เราะห์อวด

นี่เป็นความภูมิใจเล็กๆ น้อยๆ ของเราะห์ที่ได้เห็นคนอื่นกินฝีมือทำกับข้าวของตัวเอง สำหรับมะห์ที่มองอยู่ก็ดูจะภูมิใจไม่แพ้กัน

“รู้สึกเหนื่อยน้อยลง เราไม่ต้องพูดกับเขามาก” มะห์บอก

ถ้าใครมองว่าการทอดไข่เจียว พับผ้า เป็นเรื่องเล็กๆ ก็เข้าใจได้ แต่สำหรับมะห์นี่คือก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่พอที่จะทำให้เธอสบายใจได้ว่า ถ้าถึงวันที่แม่ไม่อยู่ เราะห์สามารถอยู่ได้และมีศักยภาพที่พัฒนาตัวเองได้ 

ในอนาคตเราะห์อาจจะดูแลตัวเองในด้านอื่นๆ ได้อีก ซึ่งกว่าจะถึงจุดนั้นได้ก็ต้องมีการพัฒนาและช่วยเหลือกันต่ออีกเรื่อยๆ กลุ่มปัญญาชนสร้างสรรค์เล่าว่า มีพ่อแม่หลายคนปิดกั้นความสามารถของลูกเนื่องจากเห็นว่าพวกเขาเป็นเด็กพิเศษ จริงๆ แล้วเด็กกลุ่มนี้เขาก็มีศักยภาพของตัวเอง เพียงแต่คนรอบตัวอาจจะต้องลงแรงกันพอสมควรกว่าจะเจอสิ่งนั้นได้ ดีกว่าไปปิดกั้นไม่ให้เขาทำอะไรเลย

“พ่อแม่เด็กพิเศษหลายคนไม่คิดว่าลูกจะมีศักยภาพทำได้ ลูกไม่ทำก็ไม่เป็นไร เช่น กินข้าวไม่เก็บหรือล้างจาน ก็จะรู้สึกว่าไม่เป็นไรเพราะลูกไม่ปกติ แต่เราจะคุยกับพ่อแม่ว่าลูกมีศักยภาพทำสิ่งเหล่านี้ได้ แค่ต้องผ่านการฝึกฝน” หมอแนนย้ำทิ้งท้าย  


เรื่อง : ณัฐริฎา สิริสอน
ภาพ : อธิคม แสงไชย