“มูนา ดูซง” CM แห่งบาโงยซิแน กับภารกิจพาเด็กกลับสู่ระบบการศึกษา

“มูนา ดูซง” CM แห่งบาโงยซิแน กับภารกิจพาเด็กกลับสู่ระบบการศึกษา

มูนา ดูซง เจ้าหน้าที่ธุรการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) บ้านเซเยาะ ในสังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลบาโงยซิแน อ.ยะหา จ.ยะลา ผู้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาและต้องการให้เด็กทุกคนกลับเข้าสู่ระบบ เพราะนอกจากการเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการ มูนายังเป็นเจ้าหน้าที่ CM หรือ Care Manager มาตั้งแต่ปี 2562 

ในด้านหน้าที่การทำงานของมูนา เธอบอกว่าเธอเป็นเหมือนผู้ประสานความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองของเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาให้กลับเข้ามาอยู่ในระบบอีกครั้ง ซึ่งก่อนหน้าที่ตำบลบาโงยซิแนเคยมีโครงการลักษณะนี้มาแล้ว แต่หลังจากนั้นโครงการหยุดชะงัดไป และพึ่งกลับมามีในปีนี้ การทำงานของมูนาเต็มไปด้วยข้อท้าทายและการเรียนรู้อยู่ตลอด เพราะเด็กแต่ละคนที่มาจากหลากหลายครอบครัว มีความแตกต่างอันเป็นสาเหตุให้เด็กเหล่านั้นหลุดจากระบบ 

อย่างไรก็ตามในความเป็นแม่ของมูนา เธอกลับเต็มใจและภูมิใจอย่างมากที่เป็นส่วนสำคัญและสามารถพาเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้

CM หรือ Care Manager กับการพาเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา

“การเป็นเจ้าหน้าที่ CM หรือ Care Manager เราจะเป็นคนออกตามหาเด็กที่อยู่นอกระบบหรือตามหาเด็กที่หายไประหว่างอยู่ในระบบการศึกษา เราต้องเป็นผู้ไปสำรวจเด็กกลุ่มนั้น และประสานกับหน่วยงานเพื่อที่จะช่วยให้เด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาโดยเร็ว” 

ก่อนหน้านี้มูนาเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีภูมิลำเนาอยู่ในตำบลบาโงยซิแน เธอเป็นคนที่รู้จักกับคนในชุมชนค่อนข้างเยอะ และคุณพ่อของเธอก็เคยเป็นสมาชิกในองค์การบริหารส่วนตำบลบาโงยซิแนมาก่อน จึงทำให้มูนารู้จักเรื่องราวชีวิของคนในชุมชนมาจากพ่อ ไปจนถึงการรู้จักกับบุคลากรที่ทำงานในองค์การบริหารส่วนตำบลบาโงยซิแนหลายคน จึงง่ายต่อการทำงานและประสานงาน 

“เราทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ CM มาตั้งแต่ปี 2562 การทำงานของเราจะอยู่ในลักษณะของการทำไปต่อยอดไป ซึ่งบรรลุเป้าหมายและสามารถส่งเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้” 

มูนา และเพื่อนร่วมงานขณะลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน

เคสที่หลากหลายและความยากง่ายในการทำงาน 

เท่าที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูล มูนาเผยความรู้สึกของบางครอบครัวให้เราฟังว่าในบางครอบครัวก็อยากให้ลูกเข้ารับการศึกษา แต่หลายครอบครัวก็อยู่ในสถานะที่ยากจน จึงไม่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ 

“จากที่เราสำรวจรายชื่อเด็กหลุดจากระบบการศึกษาร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และหลายหน่วยงาน ก็พบว่ามีมากถึง 200 คน และหลังจากที่เราประเมินช่วยกัน ก็พบว่ามี 5 เคส เป็นเคสที่ควรได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน บางทีเราลงพื้นที่ไปสำรวจและสอบถามเด็กว่าต้องการเข้าสู่ระบบการศึกษาไหม เด็กก็ตอบว่าต้องการเข้าสู่ระบบการศึกษา แต่ถ้าจะให้ไปอยู่โรงเรียนประจำคงเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องดูแลพ่อกับแม่ 

“หรือในบางเคสที่เราลงพื้นที่ไปสอบถามว่าอยากเข้ารับการศึกษาไหม เขาก็ตอบว่าไม่อยากเข้าสู่ระบบการศึกษาเพราะเขาไม่รู้ว่าเขาจะสามารถนำไปต่อยอดในชีวิตอย่างไร” 

ตอนนี้มูนาอายุ 31 ปี เธอมีลูก 2 คน คนโต 6 ขวบ คนเล็ก 2 ขวบ เธอบอกว่าเวลาเธอเห็นลูกหลานในหมู่บ้านก็มักจะนึกถึงลูกหลานของตัวเอง หรือบางครั้งก็คิดว่าถ้าวันหนึ่งเธอตกอยู่ในสถานการณ์นั้น เราเองก็คงลำบากเช่นกัน 

“คิดอีกแง่หนึ่งถ้าเด็กคนนั้นเป็นญาติของเรา เราจะรู้สึกอย่างไรถ้าเราทำสำเร็จ หากเขาได้เข้าสู่ระบบการศึกษาก็จะดีต่อครอบครัวของเราดีต่อวงศ์ตระกูลของเราด้วย

ความสุขของการทำงานในทุกวันนี้จึงมาจากการที่เราได้ช่วยให้ทุกคนมีการศึกษาแทบทั้งสิ้น” 

5 เคส ที่มูนากำลังพาพวกเขากลับเข้าสู่ระบบการศึกษา

มูนาบอกกับเราว่าหลากหลายเคสที่เธอได้สัมผัส เด็กมักจะเผชิญปัญหาคล้ายกัน นั่นคือปัญหาความยากจน ความยากจนทำให้เด็กขาดโอกาสทางการศึกษาและโอกาสอื่นๆ ในชีวิต 

“เคสแรกเด็กอาศัยอยู่กับทวด ส่วนพ่อกับแม่แยกทางกัน ทวดของเด็กบอกว่าแม่ของเขาไม่ต้องการที่จะดูแลเลี้ยงดูเด็ก และจะมอบเด็กให้คนอื่นเลี้ยงดูแทน ทวดจึงจำใจเลี้ยงดูเองด้วยเงินผู้สูงอายุเพียงไม่กี่บาท ซึ่งเด็กคนนี้เป็นเด็กเก่ง แต่เขาจำเป็นต้องจบการศึกษาเพียงแค่ ป.6 ขณะที่ตอนนี้เขามีอายุประมาณ 14-15 ปี แล้ว

“เคสถัดมาคือกรณีที่พ่อและแม่ของเด็กแยกย้ายไปแต่งงานใหม่ ซึ่งตอนนี้น้องอาศัยอยู่ที่บ้านของแม่และพ่อเลี้ยง และมีพี่น้องร่วมท้องถึง 7 คน เมื่อรวมกับสมาชิกของคนในบ้านของฝั่งพ่อเลี้ยง บ้านหลังนี้จะมีสมาชิกทั้งสิ้น 24 ชีวิต น้องจึงจำเป็นจะต้องจบการศึกษาเพียงแค่ชั้น ป. 6 แต่ตอนนี้เขามีอายุประมาณ 14-15 ปี แล้ว”

เคสที่ 3 มูนาลงพื้นที่สำรวจพบว่าพ่อและแม่ของเด็กแยกทางเหมือนกัน แต่พ่อของเด็กเป็นผู้ป่วยติดเตียง ช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง เด็กจึงจำเป็นต้องเป็นคนดูแลพ่อ ขณะที่พี่ทั้ง 2 คน ก็ทำงานรับจ้างประทังชีวิตรายวัน ส่วนตัวเด็กเองก็ต้องออกไปทำงานรับจ้างเก็บผลไม้บ้างบางครั้ง และต้องกลับมาดูแลพ่อที่ป่วย 

“ความจำเป็นเรื่องการดูแลพ่อทำให้เด็กบอกกับเราว่าสะดวกเรียนแบบ กศน. ในวัย 15-16 ปี เขาควรที่จะได้รับการศึกษาในระดับชั้น ม.3 แต่ด้วยความจำเป็น เด็กจึงต้องจบเพียงชั้น ม.1 เท่านั้น” 

เคสต่อมาคือกรณีที่พ่อของเด็กเจ็บป่วยด้วยโรคประจำตัว ขณะที่ก่อนหน้าพ่อและแม่ของเด็กก็สามารถทำงานรับจ้างได้ปกติ แต่ได้รับค่าจ้างเพียงวันละ 100 บาท ในจำนวนพี่น้องร่วมท้อง 3 คน ในบ้านหลังเล็ก ส่วนพี่ชายมีภาวะซึมเศร้า ซึ่งทำให้เด็กต้องออกจากระบบการศึกษา เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และเพื่อดูแลพ่อและพี่ชายที่กำลังป่วย

“อีกเคสคือกรณีที่พี่ชายของเด็กเป็นผู้ป่วยติดเตียงกระทันหัน ซึ่งก่อนหน้าพี่ชายจะทำหน้าที่เป็นเสาหลักของบ้าน การขาดเสาหลักคนสำคัญจึงทำให้การจัดการภายในบ้านเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องภาระค่าใช้จ่าย จึงทำให้เด็กต้องหลุดจากระบบการศึกษา ตั้งแต่ตอนที่เขายังเรียนอยู่ในระดับชั้น ป.3 เท่านั้น ขณะที่ตอนนี้เขาอายุประมาณ 14-15 ปี” 

หลังลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน เจ้าหน้าที่ของ อบต.บาโงยซิแน และหน่วยงานภาคีร่วมสรุปประเมินสถานการณ์และออกแบบวิธีการช่วยเหลือเด็ก Dropout ในพื้นที่

ความรู้สึกของมูนาในฐานะคนทำงานเพื่อเด็ก

“เรารู้สึกว่าเราทำตรงนี้ดีที่สุดแล้ว อย่างน้อยเด็กทุกคนก็จะได้รับการศึกษา ซึ่งหมายความว่าสิ่งที่ทำมาอย่างเน็ดเหนื่อยจากการลงพื้นที่มันไม่ศูนย์เปล่า อย่างน้อยๆ การศึกษาก็คงทำให้เขามีรายได้และมีชีวิตที่ดีขึ้น 

“จากที่เขาอาจจะเคยอยู่ในสภาพสังคมที่ไม่ดีมาก่อน เมื่อเขาได้รับการศึกษาเค้าอาจจะปรับเปลี่ยนตัวเองไปอยู่ในสังคมที่ดีกว่า”

มูนายังบอกว่าเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับฐานะทางครอบครัว หากเด็กได้รับการศึกษาก็จะทำให้ฐานะทางครอบครัวดีขึ้น ไปจนถึงการลดปัญหาเรื่องการมั่วสุมและยาเสพติดที่เกิดขึ้นในชุมชน ถ้าชุมชนเป็นชุมชนที่ทุกคนได้รับการศึกษาและมีความรู้ ก็จะทำให้ชุมชนนั้นเป็นชุมชนที่น่าอยู่และเข้มแข็งมากขึ้น และเธอก็มั่นใจว่าในเร็วๆ นี้ ตำบลบาโงยซิเเน จะสามารถทำให้ Zero Dropout กลายเป็นศูนย์อย่างแน่นอน