เราเข้าวัดบ่อยแค่ไหน ถ้าไม่ใช่วันพระ หรือวันสำคัญทางศาสนา แต่ที่ ‘วัดร้องหลอด’ ตำบลเมืองพาน จังหวัดเชียงราย สถานที่นี้กลับมีผู้คนในชุมชนเดินเข้าออกวัดกันเป็นเรื่องปกติ บ้างก็มานั่งกินก๋วยเตี๋ยวชามยักษ์ที่ตลาดหน้าวัด บ้างก็เข้ามายืมเตียงสำหรับผู้ป่วย บ้างก็มานั่งเล่นน้ำตกที่คาเฟ่วัดร้องหลอด บ้างก็พาลูกหลานมาซ้อมกลองกันตอนเย็น
เพราะนอกจากคงสถานะวัดแล้ว ที่นี่ยังเป็น ‘ศูนย์เรียนรู้ทางวัฒนธรรม วิถีชีวิตและภูมิปัญญาล้านนา’ ที่พระครูพิศาล สังวรคุณ เจ้าอาวาสวัดคนปัจจุบันที่ได้รับฉายาจากทางการบ่อยครั้งว่าเป็นพระนักพัฒนา พยายามทำให้ “วัดทำหน้าที่ร้อยรัดคนในสังคมให้สามัคคีกันแบบที่วัดควรจะเป็นอย่างในอดีต”
โดยเริ่มจากการมองเห็นตัวตนของเด็กเยาวชน รวมถึงให้พื้นที่แก่เด็กหลุดระบบได้เรียนรู้ภายใต้ ‘โครงการพัฒนาพื้นที่เรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษาบนฐานเครือข่ายชุมชน กรณีศึกษาวัดร้องหลอด’ 1 ใน 40 ของโครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
ดังนั้นแล้ววัดแห่งนี้ อาจจะมีเด็กวัยรุ่นขี่มอเตอร์ไซค์เป็นกลุ่มๆ เข้ามานั่งเรียนทำเล็บที่ศาลา นั่งเล่นบอร์ดเกม หรือรวมตัวกันที่คาเฟ่ของวัดก็ไม่ใช่เรื่องแปลกของคนในชุมชน เพราะที่นี่คือวัดของทุกคนโดยแท้จริง

สังคมต้องเริ่มจากเด็ก ไม่ใช่ผู้ใหญ่
โครงการพัฒนาพื้นที่เรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษาบนฐานเครือข่ายชุมชน กรณีศึกษาวัดร้องหลอด คือโครงการที่นำเด็กๆ นอกระบบมาเรียนรู้ตามทักษะชีวิตที่ต้องการ โดยที่มี เต้ย-รณชัย คำปิน และกร-ปกร นาวาจะ เป็นผู้ดำเนินงานโครงการ โดยการเรียนรู้ทั้งหมดตลอดโครงการเกิดขึ้นที่ศาลา หรือในบริเวณวัดร้องหลอด รวมถึงยังเป็นพื้นที่จัดงาน ‘กาดละอ่อน’ งานที่แสดงศักยภาพของน้องๆ เยาวชนนอกระบบการศึกษาในพื้นที่ภาคเหนือ ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
กรเล่าว่าเมื่อนึกถึงผู้ใหญ่ หรือพื้นที่ที่สนับสนุนเด็กๆ ในพื้นที่เมืองพาน สิ่งแรกที่เขาคิดคือวัดร้องหลอด ดังนั้นแล้วกรและเต้ยจึงเข้ามาปรึกษาพระครูพิศาล สังวรคุณ เจ้าอาวาสวัดร้องหลอดถึงโครงการที่เกิดขึ้น

“ตุ๊พี่ฟังแล้วก็ไฟเขียวทันที บอกเอาเลย ทำเลย” กรกล่าว
แต่เดิมทุกเย็นที่วัดร้องหลอดจะมีการฝึกสอนเด็กๆ ตีกลอง หรือเสาร์อาทิตย์ก็จะมีการทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ในบริเวณวัด ตุ๊พี่ (ในภาษาเหนือแปลว่าพระภิกษุ) จะเป็นผู้ฝึกสอนเองบ้างบางครั้ง เพราะพระครูพิศาล มีหลักคิดว่าการดึงราตๆ มาที่วัดคือรากฐานการแก้ปัญหาสังคม โดยเฉพาะต้องเริ่มจากเด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ และใช้วัฒนธรรมเป็นตัวเชื่อมสังคมให้สามัคคีกันที่จะได้ผลมากกว่าการออกคำสั่งให้ทุกคนทำตาม
“ตอนปี 2534 อาตมาจบ ป.6 แล้วมาเป็นเด็กวัด จนบวชเป็นเณรแล้วได้เป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่นี่ ผูกพันกับวัดตลอดเวลา แต่พอบวชเรียนนานเข้าจึงเห็นความเปลี่ยนแปลง วัดไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเอง ผู้คนไม่ค่อยเข้าวัด หรือคนจะเข้ามาก็คาดหวังวัดเป็นแบบอื่นแทนที่จะคาดหวังว่าวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจแบบในอดีต อาตมาเลยคิดว่าเราต้องทำวัดให้เป็นวัดแบบที่อาตมาเคยเจอมา”
พระครูพิศาลกล่าวเพิ่มเติมว่าเคยมีคนถามว่าทำไมวัดต้องอยากได้เด็กเข้ามาที่วัดด้วย ซึ่งพระครูก็ตอบไปตรงๆ ว่า วัดเป็นของคนทุกเพศทุกวัย
“ทำไมจะต้องปล่อยให้เด็กๆ เป็นเรื่องที่โรงเรียนต้องจัดการอย่างเดียว ตอนนี้ปัญหาทับซ้อนเยอะขึ้นทั้งตีกัน ยาเสพติด อีกอย่างถ้าเราไปจำกัดว่าฉันต้องทำหน้าที่แค่ 1 2 3 จะไม่ทำเกินหน้าที่ มันน่าจะช่วยอะไรสังคมไม่ได้ หรือถ้าบอกว่าหน้าที่ของพระแค่อยู่เฉยๆ นั่งปฏิบัติธรรมไปมันก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไรกับสังคม คนก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากวัดเหมือนกัน”
“ชาวบ้านถวายข้าวกับพระ แล้วข้าวแล้วก็เป็นเลือดเป็นเนื้อขับเคลื่อนในร่างกายเรา เราก็เลยอยู่เฉยไม่ได้ต้องตอบแทนสังคมตรงนั้นบ้าง”

ตุ๊พี่นอกจากเป็น ‘นักธรรม’ แล้วยังเป็น ‘นักทำ’ กับการสร้างพื้นที่ที่ทุกคนเข้าถึงได้
ทำแล้วเห็นผลเลย คือสิ่งที่พระครูพิศาลสร้างความเชื่อมั่นแก่คนในชุมชน
เต้ย เล่าให้ฟังว่าวัดร้องหลอดมีพระประจำอยู่ 2 รูปคือเจ้าอาวาส กับพระอีก 1 รูป ส่วนการสร้างต่างๆ ถ้าชาวบ้านไม่เข้ามาช่วย เจ้าอาวาสก็จะลงมือเอง
“อันนั้นคือยุ้งฉางโบราณที่ชาวบ้านเอามาตั้งในบริเวณวัด ตุ๊พี่ก็ลงมือคุมเอง ถ้าไม่จ้างช่างตอกเสาก็ขึ้นเอง” เต้ยชี้ไปบริเวณที่กำลังทำการก่อสร้าง โดยที่มีเจ้าอาวาสยืนคุมงานอยู่
พื้นที่วัดร้องหลอด ประกอบไปด้วยศาลาการเปรียญ กุฏิเจ้าอาวาส ที่ทำการอนามัย พิพิธภัณฑ์บ้านโบราณ บ้านพักนักศึกษาแพทย์ ตลาดวัดร้องหลอด คาเฟ่วัดร้องหลอด
“ใช้วัฒนธรรมเชื่อมชุมชน สร้างชุมชนให้ดีกว่าเดิม ซึ่งศาสนาก็เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมนะจริงไหม” พระครูพิศาล กล่าว

ก่อนหน้านี้วัดร้องหลอดขึ้นชื่อเรื่องการเป็นพื้นที่การเรียนรู้ของนักศึกษาแพทย์สำหรับลงเก็บข้อมูลในชุมชน จนต้องมีบ้านพักสำหรับนักเรียนแพทย์ในบริเวณฝั่งซ้ายของวัด
“ที่นี่เราสนับสนุนให้บริจาคของใช้ผู้ป่วยอย่างเตียง หรือแพมเพิสผู้ใหญ่มากกว่าถวายสังฆทาน แล้ววัดก็จะเอาสิ่งของนั้นบริจาคให้กับผู้ที่ต้องการใช้ ถ้าเป็นเตียง หรือถังออกซิเจนก็จะมอบให้กับอนามัยเปิดให้คนทั่วไปเข้ามายืม”
เจ้าอาวาสยอมรับว่าพอแสดงจุดยืนของวัดไปอย่างนี้ ชาวบ้านไม่เห็นด้วยตั้งแต่แรกเนื่องจากความเชื่อโลกแห่งความตายว่าบริจาคสิ่งใดจะได้ใช้สิ่งนั้น แต่เจ้าอาวาสก็ค่อยๆ ทำให้ชุมชนได้เห็นว่าสิ่งของที่ชาวบ้านบริจาคมานั้นได้ใช้ประโยชน์จริงๆ
“ตอนนี้ชาวบ้านก็บริจาคเตียง ผ้าอ้อม แพมเพิส เราก็ปรับแนวคิดว่าการบริจาคนี้คือการส่งต่อสังฆทานบุญ”
ศูนย์บริการให้ยืมเครื่องมือทางการแพทย์ที่ดูแลโดยอนามัย จึงอยู่ในวัดร้องหลอดเช่นเดียวกัน เพราะนอกจากจะเป็นที่ทำการของ อสม. แล้ว ยังเป็นสถานที่ชาวบ้านจากทั่วสารทิศเข้ามายืมเตียงพยาบาล ถังออกซิเจน อุปกรณ์สำหรับผู้ป่วยติดเตียงที่ชาวบ้านเอามาบริจาคนั่นเอง
รวมถึงมีคาเฟ่วัดร้องหลอดที่นำรายได้ทั้งหมดสมทบทุนแก่ผู้ป่วยติดเตียง

“บรรยากาศดีไหม” ‘มุ้ย’ มณีรัตน์ อุปะละ บาริสต้าประจำคาเฟ่วัดร้องหลอดถามขณะชงเครื่องดื่มไปด้วย คาเฟ่วัดร้องหลอดเป็นบ้านไม้สองชั้น โอบล้อมไปด้วยสายน้ำ และมีน้ำตกขนาดใหญ่อยู่ข้างๆ มุ้ยทำงานที่คาเฟ่วัดร้องหลอดมาประมาณ 4-5 ปี ก่อนหน้านั้นเธอทำงานในกรุงเทพฯ แต่เมื่อถึงจุดอิ่มตัวมุ้ยก็กลับมาที่เมืองพาน
“เริ่มต้นคืออยากทำคาเฟ่เลยไปแจ้งเจ้าอาวาส ซึ่งสรุปสุดท้ายก็ได้ทำ แต่เจ้าอาวาสจะไม่เอาเงิน ลองทำไปสักพักนึงต้นทุนร้านคาเฟ่มันสูงมาก ก็เลยปรับราคาแต่ว่าเงินส่วนนี้ก็จะเอาไปบริจาคผู้ป่วยผู้ยากไร้อยู่ดี”
บนเมนูในคาเฟ่วัดร้องหลอดจึงเขียนไว้บรรทัดสุดท้ายว่า “ทุกแก้วของท่านสมทบทุนช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง”

พื้นที่ให้เด็กๆ ได้โชว์สิ่งที่มี สิ่งที่เป็นแบบไม่ต้องกลัวอะไร
การเป็นศูนย์กลางด้านสาธารณสงเคราะห์ของชุมชนร้องหลอด ก็ไม่ได้ทำให้พระครูพิศาลทิ้งหลักการเดิมของการพัฒนาพื้นที่วัดเพื่อโอบรับเด็กๆ ผู้ที่จะส่งต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ในอนาคต
แต่การดึงเด็กๆ รุ่นใหม่เข้าวัดก็ไม่ใช่เรื่องง่าย พระครูพิศาลจึงเริ่มจากสิ่งที่เด็กต้องการจริงๆ โดยบทเรียนมาจากการใช้ประสบการณ์ที่เคยประสบมา
พระครูพิศาลเล่าอดีตตอนที่ยังเป็นเด็กวัดว่าการได้มาวัดทุกครั้งคือเรื่องสนุก แต่ถ้าเปรียบเทียบกับเด็กสมัยนี้อาจจะสวนทางกัน
“หน้าที่ของวัดคือการเป็นที่พึ่ง คนแก่อาจจะมาทำบุญนั่งสมาธิแต่กับเด็กๆ จะทำแบบนั้นไม่ได้ เลยลองถามเด็กๆ ว่าอยากทำอะไรบ้าง สรุปก็คืออยากเรียนดนตรี เราก็เลยมีการจัดสอนตีกลองแบบล้านนาที่จะเรียนกันทุกเย็น แล้วก็จะมีการแสดงโชว์ในวันสำคัญ คนในชุมชนก็จะเห็นว่าเด็กๆ ไม่ได้ไปมั่วสุมที่ไหน มาเล่นดนตรีแทน แล้วก็แสดงได้จริงใช้งานได้จริง”
จากการใช้ความสนุกอย่างดนตรีมาเป็นเครื่องล่อเด็กเข้าวัด ขยายต่อเนื่องจนกลายเป็นโครงการต่างๆ ที่มักจะชวนเด็กๆ ในชุมชนไปทำกิจกรรมมากกว่าอยู่บ้านเฉยๆ

“เด็กๆ พอเห็นว่ามาวัดแล้วสนุก ได้ตีกลองก็ชวนกันมาเขาก็ตามกันมาเองโดยอัตโนมัติ หลังจากนั้นก็สร้างกิจกรรมแบบต่อเนื่องได้ เช่นแรกๆ จะเป็นจิตอาสาอย่างการพาไปเก็บขยะในชุมชนตามถนนหนทาง”
เก็บขยะเป็นกิจกรรมอาสาแรกๆ ของเยาวชนที่เกิดขึ้นที่วัด โดยแบ่งหลักการง่ายๆ ตามสายพื้นที่การบิณฑบาตของพระ
“ก็แบ่งเด็กๆ ตามสายพระ เช่นสายใต้ สายเหนือ ก่อนเริ่มกิจกรรมก็จะมารวมตัวกันที่วัด ถ้าเสาร์นี้ไปเก็บที่สายใต้ กลุ่มสายใต้ก็จะพาไป แล้วมีการแข่งขันประกวดสายไหนสะอาดสุดประมาณนี้ ซึ่งพอทำกิจกรรมแบบนี้เด็กๆ ก็เริ่มฝึกนิสัยไม่ทิ้งขยะข้างทาง”
หลังจากนั้นมาเด็กๆ กลุ่มที่มาวัดก็ขยับขยายเป็นการทำสาธารณประโยชน์อื่นๆ โดยที่เจ้าอาวาสช่วยดันหลังให้เป็นตัวแทนในการจัดกิจกรรมวันสำคัญต่างๆ ของชุมชนไปโดยปริยาย

“เด็กๆ ก็จะทำกิจกรรมแถวหน้าวัด เช่นงานลอยกระทง งานปีใหม่ ซึ่งเขาก็จะประสานงานกันเองกับผู้ใหญ่บ้าน จัดปฏิทินกันเองแล้วชุมชนก็ตอบรับดี จนตอนนี้การพัฒนาด้านวัฒนธรรมก็ให้เด็กๆ เป็นคนดูแล เป็นคนขับเคลื่อนสู่ชุมชน”
“ตอนนี้ก็พยายามสร้างพิพิธภัณฑ์บ้านโบราณเพื่อเป็นศูนย์การเรียนให้เด็กไปมาดู ได้มาเรียนรู้เพื่ออนุรักษ์ไว้ในอนาคต เพราะพวกเขานี่แหละที่จะเป็นคนสืบสานต่อวัฒนธรรมของเรา”
เจ้าอาวาสยอมรับว่าการทำงานกับเด็กง่ายกว่าผู้ใหญ่เยอะ โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนทัศนคติ
“เด็กเหมือนผ้าขาว เราสามารถจะสอนหรือแนะนำอะไรก็ง่าย แต่กับผู้ใหญ่ก็ต้องทำให้เห็นผลสำเร็จ เหมือนกับตอนที่พยายามพัฒนาวัฒนธรรมเก่าแก่ของพื้นที่นี้อย่างการตีกลอง แสดงดนตรีล้านนา ผู้ใหญ่ก็ยังตั้งคำถามบ้างว่าทำแล้วได้อะไร แต่พอเด็กๆ เอาสิ่งนี้ไปโชว์แสดงให้คนข้างนอก ตลอดจนโชว์ความเป็นวัฒนธรรมชุมชนร้องหลอดแล้วคนสนใจเยอะขึ้น สร้างชื่อเสียง ผู้ใหญ่บางคนก็ไม่มีข้อกังขาแล้วว่าจะฝึกสอนตีกลองตอนเย็นไปทำไม ตอนนี้มีแต่สนับสนุนให้ลูกหลานมาเรียนตีกลอง”

การทำงานกับทัศนคติของผู้ใหญ่ ก็ใช้หลักการเดียวกับสังฆทานต่อบุญที่ตอนแรกชาวบ้านไม่เห็นด้วยกับการบริจาคแพมเพิส เตียงผู้ป่วย เพราะเชื่อว่าจะได้ใช้ในอนาคต แต่เมื่อสิ่งนั้นสร้างประโยชน์แบบแท้จริง ชาวบ้านก็เห็นด้วยกับวิธีการนี้ในที่สุด
เมื่อถามว่าวัดในอุดมคติของพระครูพิศาล คืออะไร พระครูตอบว่าคือพื้นที่ของทุกคน และเป็นผู้ให้อย่างแท้จริง
“วัดควรเป็นสถานที่ที่เมื่อเข้ามาแล้วอิ่มอกอุ่นใจทุกเพศทุกวัย เมื่อมาแล้วเด็กก็ได้ประโยชน์อย่างหนึ่ง ผู้ใหญ่ก็จะได้อีกอย่างหนึ่ง คนกลางวัยก็จะได้อีกอย่างหนึ่ง”
เรื่อง : มยุรา ยะทา
ภาพ : ธาตรี แสงมีอานุภาพ