▪️“ไม่ใช่แค่โรงเรียนหรือครู แต่คือเราทุกคน ทุกภาคส่วน ที่ต้อง ‘เปิดใจ’ ต่อการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น เพื่อให้ทุกคนมีพื้นที่เรียนรู้ในแบบของตัวเองจนจบการศึกษา และมีทางเลือกในการใช้การศึกษาเพื่อพัฒนาตนเอง ไม่ว่าชีวิตของเขาจะตั้งอยู่บนบริบทใดก็ตาม”
▪️“ในความ ‘ไม่พร้อม’ รอบด้าน การจะช่วยเด็กคนหนึ่งให้เดินต่อไปได้ ต้องอาศัย ‘หลายมือ’ จากหลากหลายบทบาทหน้าที่ สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้มือเหล่านั้นทำงานร่วมกันได้อย่างเป็นระบบ มีข้อมูลเดียวกัน เชื่อมโยงกันตั้งแต่พบเด็ก ไปจนถึงส่งต่อเขาสู่ปลายทางอย่างเหมาะสม”
▪️“หลักการที่ต้องยึดให้มั่นคือ ‘เด็กควรเป็นผู้ตัดสินใจ’ ว่ารูปแบบการเรียนรู้แบบไหนเหมาะกับเขา และสำคัญกว่าคือไม่ว่าการจัดการเรียนรู้จะยืดหยุ่นแค่ไหน ‘คน’ ก็ต้องยืดหยุ่นตามไปด้วย โดยเฉพาะในกรณี ‘ตั้งครรภ์’ แม้กฎกระทรวงจะวางหลักการไว้อย่างชัดเจนแล้ว แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับว่า ‘คน’ จะสามารถยืดหยุ่นและใช้เครื่องมือที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้แค่ไหน”

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัดเวทีเชื่อมโยงภาคีเครือข่าย เพื่อยกระดับการทำงานพัฒนาการศึกษาและคุณภาพชีวิตสำหรับกลุ่มพ่อแม่วัยรุ่น ภายใต้การสนับสนุนโครงการเสริมศักยภาพและถอดบทเรียนหน่วยจัดการเรียนรู้สำหรับกลุ่มพ่อแม่วัยรุ่น สมาคมเพศวิถีศึกษา เพื่อร่วมกันหาแนวทางหนุนเสริมการศึกษาที่ยืดหยุ่น สำหรับเยาวชนพ่อแม่วัยรุ่นที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ให้มีโอกาสกลับมาเรียนรู้อีกครั้ง
หนึ่งในช่วงสำคัญของงาน คือวงเสวนาภายใต้หัวข้อ “รูปแบบการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของเด็กนอกระบบ” โดยเน้นกรณีพ่อแม่วัยรุ่น มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จาก ครูชัชวาลย์ บุตรทอง จากศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม จ.อุตรดิตถ์, คุณธิติพร ดนตรีพงษ์ จากมูลนิธิแพธทูเฮลท์ (P2H) ซึ่งทำงานเรื่องสุขภาวะเด็กเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา, ครูธัญญเรศ เกษมศรี จากโรงเรียนเนกขัมวิทยา จ.ราชบุรี ต้นแบบ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ และ ดร.นิสาพร วัฒนศัพท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. ด้านการดูแลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษารายกรณีระดับพื้นที่
เวทีนี้เปิดโอกาสให้ทุกภาคีร่วมกันมองเห็นสถานการณ์ อุปสรรค และแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับพ่อแม่วัยรุ่น ผ่านตัวอย่างการลงมือทำจริงจากโรงเรียนและหน่วยงานต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นไปได้ที่จะพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น และสามารถเชื่อมต่อการทำงานร่วมกันจากหน่วยสนับสนุนที่หลากหลาย เพื่อให้เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังเพียงเพราะความไม่พร้อม
‘ตั้งครรภ์ไม่พร้อม’ เหตุที่ไม่มีใครอยากให้เกิด
“จากประสบการณ์ของผมในฐานะครูโรงเรียนมัธยม ทำให้สัมผัสได้ว่าหลังเด็กคนหนึ่งตั้งครรภ์ระหว่างเรียน สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ‘ทุกฝ่ายจะตกอยู่ในความหวาดกลัว’ เด็กเองก็รู้สึกกลัว เพราะรับรู้ได้ถึงบรรยากาศรอบตัวที่เปลี่ยนไป ขณะเดียวกันโรงเรียนที่ไม่มีวิธีจัดการก็กลัวว่า ถ้าให้เด็กเรียนต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันก็อาจจะลุกลามพากันท้องไปทั้งโรงเรียนหรือเปล่า”

ครูชัชวาลย์ บุตรทอง จากศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม จ.อุตรดิตถ์ กล่าวถึงสถานการณ์นี้ พร้อมอธิบายว่า สิ่งที่เขากำลังเปรียบคือ “ความกลัวที่ไม่มีทางเป็นจริง” ในมุมของโรงเรียน พร้อมชี้ให้เห็นว่า เราควรเริ่มจากความเข้าใจพื้นฐานว่า “ตั้งครรภ์ไม่พร้อม” คือเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด และคำว่า “ไม่พร้อม” ก็ไม่ได้มีเจตนาชี้นำให้ใครกระทำตาม ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดที่สถานศึกษาควรยึดเป็นจุดเริ่มต้น คือ “แผนรับมือที่เหมาะสม”
ครูชัชวาลย์สะท้อนว่า ในหลายกรณีที่ผ่านมา เด็กมักตัดสินใจลาออกเอง เพราะความหวาดกลัวทำให้เขาไม่สามารถอยู่ในโรงเรียนต่อไปได้ บางรายเกิดเหตุการณ์ช่วงใกล้ปิดภาคเรียน พอสอบเสร็จก็ไปคลอดลูก แล้วกลับมาเรียนต่อในเทอมถัดไป ถึงอย่างนั้น ภาพรวมที่ตามมายังคงเต็มไปด้วยความไม่ปกติ เพราะความกลัวดังกล่าวยังคงอยู่ในทุกฝ่าย
ครูชัชวาลย์ยังชวนมองจากอีกมุมหนึ่ง ผ่านประสบการณ์ทำงานกับเยาวชนนอกระบบในศูนย์การเรียน ซึ่งมักพบกับกลุ่ม “แม่วัยรุ่น” อยู่เป็นประจำ
“ถ้าให้จำแนกแม่อายุน้อยที่ศูนย์การเรียน เราแบ่งได้เป็นคนที่อยู่ในครอบครัวพร้อมดูแล กับอีกกลุ่มที่เจอสถานการณ์เปราะบางกว่า เพราะไม่ใช่แค่ปัจจัยเศรษฐกิจ แต่คือความไม่พร้อมทุกด้านในการดูแลอีกชีวิตที่เกิดขึ้นมา
“สำหรับศูนย์การเรียน เราไม่ได้จำแนกหรือระบุว่าเขาเป็นแม่วัยรุ่น แต่มองว่าเขาเป็นคุณแม่คนหนึ่ง และการตั้งครรภ์มีลูกมันคือขั้นตอนหนึ่งของชีวิต เพียงแต่เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญคือ ‘ความพร้อม’ ซึ่งหากเขาไม่มี ก็ต้องมาช่วยกันว่าจะช่วยดูแล หรือหาทางส่งต่อเด็กที่เกิดมาต่อไปยังหน่วยงานที่พร้อมดูแลได้อย่างไรเพื่อสวัสดิภาพของตัวเด็ก
“ขณะที่เรื่องการเรียนถ้าใครตั้งครรภ์หรือมีลูกแล้วเรียนได้ ก็เรียนกันต่อไปตามปกติ แต่เรื่องที่เราเป็นห่วงคือ ในท่ามกลางบรรยากาศของการต้องดูแลชีวิตหนึ่งที่เกิดขึ้นมาบนความไม่พร้อม วันนี้ยังน่ากังวลใจ เมื่อมองว่าคุณแม่คนหนึ่งต้องแบกรับอะไรบ้าง กับปัญหามากมายที่รายล้อม”
ครูชัชวาลย์กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน การจัดการศึกษาในโรงเรียนสำหรับเยาวชนที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมยังขาดแนวทางที่ชัดเจน แม้จะมีกฎหมายรองรับอย่าง พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 แต่ในทางปฏิบัติ โรงเรียนจำนวนมากยังคงลังเลหรือระแวงที่จะรับมือกับสถานการณ์นี้ ส่งผลให้เด็กจำนวนไม่น้อยต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาไปในที่สุด
“ผมอยากให้ช่วยกันทำความเข้าใจว่าเยาวชนที่อยู่ในสถานการณ์ตั้งครรภ์ไม่พร้อม เขาไม่รู้เลยว่าต้องทำยังไงต่อ หรือต้องหันหน้าไปพึ่งใคร ฉะนั้นถ้าไม่มีความช่วยเหลือหยิบยื่นไปให้ มันก็เหมือนอนาคตที่เหลือโดนตัดจบทันที ทั้งที่ทุกคนมีศักยภาพ มีความฝันที่อยากบรรลุ หรือมีอีกหนึ่งชีวิตที่เขาจะต้องรับผิดชอบจนเติบโต”

ที่ศูนย์การเรียนของครูชัชวาลย์ ปัจจุบันดูแลนักเรียนประมาณ 30 คน ในจำนวนนั้นมี 4–5 คนที่เป็นแม่วัยรุ่น บางคนครูเพิ่งรู้ภายหลังว่าเขามีลูก บางคนอายุยี่สิบกว่าแล้ว เคยเป็นแม่วัยรุ่นและตัดสินใจกลับมาเรียนใหม่ในภายหลัง
“หลายคนบอกว่าไม่กล้าเล่าแต่แรก เพราะกลัวถูก ‘ตีตรา’ ว่าเป็นแม่วัยรุ่น และหลายคนต้องใช้เวลานานมากกว่าจะกลับมาเรียนอีกครั้ง แต่เมื่อเรียนจนจบ ได้วุฒิ ม.3 หรือ ม.6 พวกเขาก็บอกว่านี่คือจุดเปลี่ยนของชีวิต ที่ทำให้ ‘กล้าฝัน’ ถึงการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ‘กล้าคิด’ ถึงงานที่มีรายได้มั่นคง และ ‘กล้ามองอนาคต’ ว่าจะสามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้”
ดูแลนักเรียนตั้งครรภ์ให้เรียนจบ 1 คน เท่ากับการค้นพบหลากหลายหนทางประคองเด็กกลุ่มเสี่ยงทุกคนไว้ในระบบการศึกษา
“การจัดการเรียนรู้ที่สามารถแยกแยะระหว่างการมุ่งเป็นเลิศทางวิชาการ กับการจัดการเรียนรู้ที่เอื้อต่อบริบทชีวิต คือทางออกหนึ่งของระบบการศึกษาสำหรับเด็กทุกคน เพราะเด็กบางคนตั้งต้นจากความไม่พร้อม หรือกลุ่มที่อยู่ ๆ ก็ตกลงไปอยู่ท่ามกลางความไม่พร้อมภายหลัง พวกเขาควรมีโอกาสได้เอาสิ่งที่เรียนรู้จากประสบการณ์มาวัดประเมินศักยภาพ เพื่อให้ ‘ความรู้’ จากการศึกษายืนยันตัวเองได้ ว่าจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริง”

คุณธิติพร ดนตรีพงษ์ จากมูลนิธิแพธทูเฮลท์ กล่าวถึงแนวคิดการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น โดยเฉพาะในกรณีของเยาวชนพ่อแม่วัยรุ่นว่า “ความช่วยเหลือจากครู” คือหัวใจสำคัญที่ทำให้เด็กกลุ่มนี้สามารถอยู่ในระบบการศึกษาได้ต่อไป พร้อมกับมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
คุณธิติพรเล่าถึงกรณีตัวอย่างของครูท่านหนึ่งซึ่งเคยทำงานร่วมกับมูลนิธิ และมีความเข้าใจลึกซึ้งในประเด็นเพศศึกษาวัยรุ่น รวมถึงสามารถรับมือกับกรณีตั้งครรภ์ไม่พร้อมได้อย่างรอบด้าน โดยครูได้สื่อสารกับผู้บริหารโรงเรียนและเพื่อนครูเพื่อหาทางออกร่วมกันในการจัดการศึกษาเฉพาะกรณี
“ช่วงเวลานั้น พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เพิ่งเริ่มใช้ คนทั่วไปยังไม่รับรู้มากนัก แต่สิ่งที่ครูท่านนั้นทำคือพยายามอธิบายให้ผู้อำนวยการโรงเรียนเข้าใจว่ามีกฎระเบีบบรองรับอยู่ อย่างไรก็ตามแม้จะมีตัวบทชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ในทางปฏิบัติโรงเรียนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าจะจัดการเรียนรู้ยังไง เพราะมันเกี่ยวพันถึงอีกหลายเรื่อง เช่น การดูแลครรภ์ อายุครรภ์ รวมถึงความเสี่ยงด้านอื่นที่อาจเกิดขึ้น
“หลังคุยกับผู้บริหาร คุณครูได้ประสานทำความเข้าใจกับครูรายวิชา ซึ่งต้องต่อสู้กับหลากหลายความเห็นที่ไม่ได้มองไปทางเดียวกัน แต่ตัวคุณครูเองก็พยายามชี้ให้ทุกคนมองที่เป้าหมายว่า โรงเรียนต้องช่วยประคองเด็กให้จบการศึกษา ส่วนในเรื่องวิธีการ ได้ใช้ ‘ระเบียบ’ ที่ว่าด้วยการให้อิสระกับการจัดการเรียนรู้ ที่มุ่งไปที่การออกแบบการเรียนรู้และการประเมินผล ซึ่งสอดคล้องทั้งเรื่องเวลาเรียนและการเก็บหน่วยกิตตามหลักสูตร จนสามารถบูรณาการการเรียนรู้ที่เอื้อต่อนักเรียนที่ตั้งครรภ์ โดยนำเอาสิ่งที่ต้องทำในชีวิตประจำวันมาแปลงเป็นเนื้อหาบทเรียน จนสามารถประเมินผลและออกเกรดได้”

คุณธิติพรกล่าวว่า ผลจากความพยายามหาวิธีการจัดการเรียนรู้ที่ต่างไปจากห้องเรียนปกติกรณีนี้ ไม่เพียงช่วยนักเรียนคนหนึ่งที่เสี่ยงหลุดจากระบบ ได้เรียนจบอย่างมีศักดิ์ศรีและคุณภาพ แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้โรงเรียนค้นพบวิธีออกแบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น และตอบโจทย์ชีวิตจริงของเด็กในกรณีอื่น ๆ ตามมา
“พอโรงเรียนเห็นว่าการจัดการเรียนรู้บางสามารถออกแบบเองได้ ดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับการเข้าเรียน 80% ก็กลายเป็นว่าโรงเรียนสามารถหาวิธีช่วยเหลือดูแลเด็กบางกลุ่มให้จบการศึกษาอย่างมีคุณภาพได้ จากการเรียนตามบริบท เช่นเรียนรู้จากการทำงานในสวนผลไม้ ที่องค์ประกอบของการทำงานจะถูกปรับให้ตรงกับจุดประสงค์ของแต่ละกลุ่มสาระวิชา และคิดเป็นหน่วยกิตได้ และนี่คือผลที่ต่อยอดจากการดูแลนักเรียนตั้งครรภ์หนึ่งคนในวันนั้น”
จัดการเรียนรู้ “1 โรงเรียน 3 รูปแบบ” ผ่านห้องเรียนบวรสร้างโอกาส
“ตอนแรกเราไม่รู้เลยว่าต้องทำยังไง แต่ในเมื่อตัวเด็กอยากเรียน และทางโรงเรียนก็เห็นตรงกันว่าอยากให้เขาเรียนต่อ ก็ต้องหาวิธีกันให้ได้ อย่างเคสแรก ๆ ที่เจอเด็กหลุดไปแบบเราไม่ทันรู้ พอไปตามถึงรู้ว่าตั้งครรภ์ ก็ชวนทุกฝ่ายมาคุยกัน ทั้งตัวเด็ก ผู้ปกครอง ครู และผู้บริหารโรงเรียนด้วย จนช่วยกันหาวิธีเรียนรู้ที่เหมาะสมได้”

ครูธัญญเรศ เกษมศรี จากโรงเรียนเนกขัมวิทยา จ.ราชบุรี หนึ่งในโรงเรียนต้นแบบของการจัดการเรียนรู้แบบ “1 โรงเรียน 3 รูปแบบ” ภายใต้โครงการ Thailand Zero Dropout เล่าถึงประสบการณ์ทำงานกับนักเรียนที่ตั้งครรภ์ ซึ่งเริ่มต้นจากความไม่รู้ แต่ด้วยหัวใจของความเป็นครูและแรงสนับสนุนอย่างเต็มที่จากผู้อำนวยการโรงเรียน ทำให้โรงเรียนเนกขัมวิทยากลายเป็นหนึ่งในโรงเรียนแรก ๆ ที่มีแนวทางและกระบวนการจัดการศึกษาสำหรับกรณีเฉพาะหน้าเช่นนี้อย่างเป็นรูปธรรม
“กรณีแรก ๆ บางทีเรามารู้เด็กก็หลุดจากระบบไปแล้ว จึงตามหาตัวกันจนรู้ว่านักเรียนคลอดลูกแล้ว แต่ก็ไม่ได้กลับมาเรียนอีก ทีนี้พอเจอกันก็เลยคุยทุกฝ่าย ตัวเด็กบอกว่าถ้าให้กลับมาเรียนตามปกติ เขารู้สึกแปลกแยกกลัวปรับตัวไม่ได้ เราก็แนะนำว่าโรงเรียนมีการจัดการเรียนรู้แบบ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ผ่าน ‘ห้องเรียนบวรสร้างโอกาส’ ที่เราจะช่วยออกแบบการเรียนจากวิถีชีวิตประจำวัน และสามารถเรียนผ่านระบบออนไลน์หรือใบงานได้”
ในกรณีของเด็กที่มีลูกแล้ว โรงเรียนได้ปรับบทเรียนจากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การเตรียมอาหารที่มีโภชนาการครบถ้วน หรือการส่งเสริมพัฒนาการลูกตามวัย ให้อยู่ในรูปแบบที่เทียบเคียงกับ 8 กลุ่มสาระวิชาหลัก และยังจับมือกับวิทยาลัยสารพัดช่างราชบุรี เปิด “ห้องเรียนส่งเสริมทักษะอาชีพ” เพื่อสอนทักษะที่นำไปหารายได้ได้จริง เช่น การทำขนม หรืองานประดิษฐ์ เพื่อรองรับความจำเป็นด้านเศรษฐกิจของเด็กเหล่านี้ด้วย

ครูธัญญเรศเน้นว่า การจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนที่ตั้งครรภ์ รวมถึงนักเรียนกลุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา หรือแม้แต่เด็กที่หลุดจากระบบไปแล้ว สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่การ “ดึงตัวกลับมาเรียน” เท่านั้น แต่ต้องคิดต่อไปให้ไกลกว่านั้น
“เราต้องมองหาวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน และต้องคิดเผื่อไปถึงวันที่เขาจบการศึกษา ว่าจะมีช่องทางไหนที่ช่วยให้เขาเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น หรือสามารถมีอาชีพที่มั่นคง ดูแลตัวเองและครอบครัวได้ในอนาคต”
‘การศึกษายืดหยุ่น’ ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ในแบบของตัวเอง
“ไม่ว่าจะเรียนเพื่อให้ได้วุฒิหรือเพื่อประกอบอาชีพ การศึกษาจะเป็นเครื่องมือสำคัญให้คนคนหนึ่งหลุดพ้นจากกับดักรายได้ค่าแรงขั้นต่ำ เป็นตัวช่วยเปิดตลาดแรงงานให้กว้างกว่าเดิม และถ้าเป็นไปได้ เราหวังให้เกิดกลุ่มน้อง ๆ ที่สามารถพัฒนาไปเป็น SME หน้าใหม่ในพื้นที่ของตัวเองได้ในอนาคต”

ดร.นิสาพร วัฒนศัพท์ ผู้ทรงคุณวุฒิของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวถึงภารกิจสำคัญในการพัฒนา “ระบบจัดการรายกรณี” เพื่อรองรับเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ด้วยหลากหลายเหตุปัจจัย หนึ่งในนั้นคือกรณี “พ่อแม่วัยรุ่น”
กสศ. เริ่มต้นงานนี้ตั้งแต่ปี 2562 โดยร่วมมือกับ 20 จังหวัดนำร่องในการจัดตั้งกลไกอาสาสมัคร (Core Team) เพื่อออกค้นหาเด็กเยาวชนที่ไม่มีรายชื่อในระบบการศึกษา นำข้อมูลมาวิเคราะห์และยืนยันตัวตน ก่อนเข้าสู่กระบวนการออกแบบแผนการดูแลและการเรียนรู้เฉพาะรายบุคคล กลายเป็นระบบ “การจัดการรายกรณี” ที่มีผู้จัดการรายกรณี (Case Manager) เป็นผู้รับผิดชอบดูแลแต่ละคน โดยทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพภายใต้ “ระบบบริหารจัดการรายกรณี” ที่เชื่อมโยงหน่วยงานสำคัญระดับจังหวัด เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กที่ได้รับการติดตามตัวจะไม่หลุดออกจากระบบอีกครั้ง
“ในปี 2567 การทำงานได้ยกระดับสู่มาตรการ Thailand Zero Dropout ที่ขยายสู่ทั้ง 77 จังหวัด โดยส่วนที่เพิ่มเข้ามาคือ ‘การจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น’ ซึ่งอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 15 ที่อนุญาตให้โรงเรียนจัดการศึกษาได้สามรูปแบบ คือในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ร่วมกับมาตรา 12 ที่ระบุว่านอกเหนือจากรัฐ เอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานได้”
การศึกษาที่ยืดหยุ่นในที่นี้ หมายถึงการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้ในรูปแบบที่เหมาะสมกับตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่ไม่สามารถอยู่ในระบบปกติได้ เช่น กลุ่มที่ตั้งครรภ์ ซึ่งโรงเรียนหรือหน่วยจัดการศึกษาสามารถออกแบบการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับชีวิตจริง โดยนำประสบการณ์มาเทียบกับสาระวิชาต่าง ๆ เพื่อเก็บหน่วยกิตเทียบเท่าระบบปกติ และประเมินผลเพื่อจบการศึกษาและได้รับวุฒิอย่างเป็นทางการ

ดร.นิสาพรกล่าวว่า การจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น คือ “การสร้างทางเลือก” ที่ตอบโจทย์ผู้เรียนในแต่ละราย โดยเติมเต็มและขยายขอบเขตจากระบบการจัดการศึกษาที่มีอยู่เดิม เพื่อให้การศึกษาเข้าถึงทุกคนอย่างแท้จริง เป้าหมายคือ การดูแล “ทรัพยากรมนุษย์” ให้สามารถเติบโตเป็นกำลังสำคัญของสังคมในอนาคต
“ข้อค้นพบจากการทำงานกับเยาวชนกลุ่มนี้ คือเราต้องให้คุณค่ากับศักยภาพ ความฝัน และความต้องการของเด็กทุกคน โดยคำนึงถึงเงื่อนไขและข้อจำกัดต่าง ๆ ที่แต่ละคนเผชิญอยู่ โดยไม่เพียงมองถึงการศึกษาเพื่อให้ได้วุฒิ แต่ยังมีทางเลือกสำหรับการพัฒนาทักษะอาชีพที่ทุกคนต้องได้รับโอกาสและ ‘มีพื้นที่ค้นหาตัวเอง’ เพื่อต่อยอดเส้นทางเรียนรู้ให้ไปถึงความฝันความตั้งใจได้ แล้วในวันข้างหน้าที่งาน Thailand Zero Dropout มีเครือข่ายที่แข็งแรงขึ้น ผ่านการถอดบทเรียน และหมุนวงรอบการทำงานต่อไปเรื่อย ๆ ถึงตอนนั้นทุกจังหวัดจะมี ‘ตาข่ายรองรับ’ ที่เกิดจากมือของคนในชุมชน กลายเป็นเครือข่ายตำบล อำเภอ จังหวัด ที่สามารถแลกเปลี่ยนแบ่งปันและส่งต่อทั้งประสบการณ์ทำงาน และส่งต่อเด็กเยาวชนได้ระหว่างพื้นที่”
ดร.นิสาพรสรุปว่า ขณะนี้โครงการ Thailand Zero Dropout กำลังเข้าสู่ปีที่สอง ซึ่งเริ่มเห็นผลลัพธ์ของ “ความยืดหยุ่น” ที่สะท้อนผ่านโครงสร้างการทำงานแนวราบ มีคนตัวเล็กตัวน้อยจำนวนมากเข้ามาร่วมเป็นกำลังสำคัญ ขณะที่หน่วยงานรัฐก็แสดงถึงความพร้อมในการสนับสนุนอย่างชัดเจน และทั้งหมดนี้คือ “ความร่วมมือที่สร้างความหวัง” ว่าระบบการศึกษาจะไม่ทิ้งเด็กและเยาวชนคนใดไว้ข้างหลังอีกต่อไป