การศึกษาแบบสั่งตัดเฉพาะบุคคล “Personalized Learning” : เทรนด์ใหม่การเรียนรู้ของ Gen Alpha ในบริบทสังคมและโลกการทำงานที่พลิกโฉม

การศึกษาแบบสั่งตัดเฉพาะบุคคล “Personalized Learning” : เทรนด์ใหม่การเรียนรู้ของ Gen Alpha ในบริบทสังคมและโลกการทำงานที่พลิกโฉม

  • Gen Alpha คือกลุ่มประชากรที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2553-2567 (ค.ศ. 2010-2024) ซึ่งภายในปี พ.ศ. 2568 พวกเขาจะมีอายุอยู่ในช่วง 1–15 ปี หากมองในเชิงการศึกษา กลุ่มนี้ครอบคลุมตั้งแต่วัยหลังแรกเกิดไปจนถึงช่วงชั้นการศึกษาภาคบังคับ
  • Gen Alpha เติบโตขึ้นในยุคที่เทคโนโลยี AI พัฒนาอย่างก้าวกระโดด และจะใช้ชีวิตร่วมกับ AI ตลอดช่วงชีวิต
  • Gen Alpha ยังเป็นประชากรกลุ่มแรกของโลกที่อยู่กับโซเชียลมีเดียมาตั้งแต่เกิด พฤติกรรมการใช้เวลาในโลกออนไลน์ในทุกช่วงวัยจึงส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อวิถีชีวิตและโอกาสในการประสบความสำเร็จ
  • การเรียนรู้ของเด็ก Gen Alpha ได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีแบบ Personalized Learning อย่างเต็มที่ ส่งผลให้ประสบการณ์การเรียนรู้มีความหลากหลายและตรงกับศักยภาพเฉพาะบุคคล
  • บทบาทของครูและผู้ปกครองจึงเปลี่ยนจากการ “ถ่ายทอดความรู้” มาเป็น “การสร้างคุณลักษณะสำคัญ” เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีทักษะเฉพาะตัว ขณะเดียวกัน โรงเรียนก็ต้องปรับบทบาทจาก “พื้นที่แห่งความรู้” สู่ “พื้นที่สร้างตัวตน” ที่ช่วยให้เด็กค้นพบศักยภาพและคุณค่าภายในตนเอง
  • เมื่อเติบโตเข้าสู่โลกการทำงาน Gen Alpha จะได้พบกับรูปแบบที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนอย่างสิ้นเชิง โลกจะไร้พรมแดน และการทำงานจะเป็นไปในรูปแบบ “Anytime, Anywhere, Anyhow” – ทำงานได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกวิธี การมีหลายอาชีพพร้อมกัน หรือการเปลี่ยนอาชีพทุก 3–5 ปี จะกลายเป็นเรื่องธรรมดา

ก่อนที่อนาคตอันใกล้จะเดินทางมาถึงอย่างเต็มตัว การเตรียมความพร้อมให้กับเด็ก Gen Alpha กลายเป็นโจทย์สำคัญที่ครูและผู้ปกครองไม่อาจละเลย กสศ. ได้เรียบเรียงเนื้อหาจากงานอบรมเชิงปฏิบัติการ True Click Life Education Workshop ครั้งที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2568 ช่วงเสวนาภายใต้หัวข้อ EdTech Learning: Transforming Classrooms for Gen Alpha” ซึ่งเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจ และแนวทางปฏิบัติที่ตอบโจทย์ชีวิตเด็กยุคใหม่

เวทีนี้ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา ได้แก่ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา, ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หรือ ‘หมอโอ๋’ อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์วัยรุ่น จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และ ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านอนาคตศาสตร์และสินทรัพย์ดิจิทัล บริษัท ฟิวเจอร์เทลส์ แล็ป โดยมีผู้บริหารโรงเรียนเอกชน ครู และผู้สนใจร่วมรับฟังกว่า 500 คน

รู้จัก Gen Alpha: เมื่อเด็กยุคใหม่เติบโตเคียงข้าง AI และโลกที่ไม่เหมือนเดิม

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดวงสนทนาด้วยการชวนทำความรู้จักกับ Alpha Generation พร้อมสะท้อนภาพความเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังจะมาถึง และความท้าทายสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้เด็กกลุ่มนี้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จ

  • Gen Alpha: เด็กที่เกิดมาเพื่ออยู่ในศตวรรษแห่ง AI

ดร.ไกรยสอธิบายถึงบริบทประชากรศาสตร์ว่าเด็ก Gen Alpha คือกลุ่มประชากรที่จะเติบโตและใช้ชีวิตอยู่ตลอดศตวรรษที่ 21 ต่อเนื่องไปถึงศตวรรษที่ 22 ท่ามกลางโลกที่เทคโนโลยี โดยเฉพาะ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง จนมีแนวโน้มจะเข้าสู่ระดับ AGI (Artificial General Intelligence) ซึ่งสามารถทำงานได้ทัดเทียมกับมนุษย์

คำถามสำคัญจึงไม่ใช่แค่ “เด็กจะโตขึ้นอย่างไร” แต่คือ “จะเติบโตอย่างไรให้เข้าใจและอยู่ร่วมกับ AI ได้อย่างกลมกลืน” ไม่ใช่ในฐานะคู่แข่ง แต่เป็นผู้รู้เท่าทันและใช้ AI อย่างมีคุณค่า

งานวิจัยหลายชิ้นยังชี้ชัดว่า Gen Alpha คือคนรุ่นแรกที่เติบโตมากับโซเชียลมีเดียตั้งแต่เกิด ดังนั้นจำนวนเวลาที่ใช้ในโลกออนไลน์จะส่งผลโดยตรงต่อรูปแบบการใช้ชีวิต และโอกาสในอนาคต

ดร.ไกรยส ภัทราวาท

  • ห้องเรียนของอนาคต และการเรียนรู้เฉพาะบุคคล

ผู้จัดการ กสศ. ขยายภาพการเรียนรู้ของ Gen Alpha ว่าในอีกไม่ช้า เทคโนโลยีอย่าง VR (Virtual Reality) และ AR (Augmented Reality) จะเข้ามาผสานโลกจริงกับโลกเสมือน สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่แตกต่าง หลากหลาย และไร้ขอบเขต พร้อมเข้าสู่ยุคการเรียนรู้เฉพาะบุคคล หรือ Personalized Learning อย่างเต็มรูปแบบ

“วันนี้การมี AI Tutor ที่สอดคล้องเหมาะสมกับการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน เป็นเรื่องที่ทำได้แล้ว และจะค่อย ๆ กลายเป็นรูปแบบหลักของการเรียนรู้ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งหมายถึงการเข้าถึงความรู้เฉพาะบุคคลจะเลือนเส้นแบ่งของ ‘เด็กหน้าห้อง’ กับ ‘เด็กหลังห้อง’ ให้หมดไป แล้วเด็กทุกคนจะมีห้องเรียนของตัวเอง และห้องเรียนรวมที่ใช้ร่วมกันคนอื่น

“และเมื่อถึงวัยผู้ใหญ่ คน Gen Alpha จะใช้ชีวิตชีวิตประจำวันจะอยู่ในเมืองอัจฉริยะ ที่เรียงรายด้วยบ้านอัจฉริยะ เดินทางด้วยรถยนต์ไร้คนขับ การจับจ่ายใช้สอยปัจจัยสิ่งต่าง ๆ จะทำได้ทันทีจากที่ไหนก็ได้ ผ่านเครื่องมือสื่อสารอัจฉริยะบนฝ่ามือ

“จวบจนถึงวัยเกษียณ ด้วยอายุขัยที่ยืนยาว โดยประมาณการว่า Alpha Generation จะเป็นประชากรโลกรุ่นแรกที่มีอายุขัยเฉลี่ยเกิน 100 ปี การเตรียมพร้อมคน Gen Alpha จึงต้องมีทักษะและการวางแผนชีวิตรองรับ ซึ่งเราสามารถสร้างได้ตั้งแต่ที่เด็ก ๆ ยังอยู่ในวัยเรียน ณ วันนี้”

  • อยู่ร่วมกัน: ไม่ใช่แค่คนกับ AI แต่คือคนกับคน

ดร.ไกรยสได้ขยายความหมายของ ‘การอยู่ร่วมกัน’ ว่าไม่ได้เป็นเพียงเรื่องระหว่าง ‘มนุษย์กับ AI’ แต่ยังสื่อถึงความเผื่อแผ่ ‘ทรัพยากรและโอกาส’ หรือ ‘Empathy’ ที่กินความหมายถึงการพึ่งพาอาศัยระหว่าง ‘มนุษย์กับมนุษย์’ โดยนำเสนอข้อมูลจาก กสศ. ว่าปัจจุบันมีเด็ก Gen Alpha ในประเทศไทยถึง 483,791 คน ที่ไม่มีรายชื่อในระบบการศึกษาทุกสังกัด ทั้งกลุ่มที่ถึงเกณฑ์เข้าเรียนแล้วยังไม่เข้าสู่ระบบการศึกษา จนถึงเยาวชนที่หลุดจากระบบก่อนจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งคำถามสำคัญ ว่า

“เราจะทำอย่างไรให้ Gen Alpha ทั้งรุ่น เติบโตขึ้นด้วยหัวใจที่กว้างใหญ่ พร้อมสร้างสัมพันธ์และเผื่อแผ่โอกาสไปถึงเพื่อนมนุษย์ที่เกิดมาในรุ่นเดียวกัน รวมถึงคนรุ่นก่อนหน้าและคนที่จะเกิดขึ้นตามมาในยุคสมัยถัดไป ให้สามารถหยัดยืนและก้าวผ่านความผันผวนเปลี่ยนแปลงของอนาคตไปด้วยกันได้” 

  • ทักษะเพื่ออนาคต: ต้องมากกว่าแค่รู้หนังสือ

ดร.ไกรยสได้นำเสนอข้อมูลจากรายงานของ OECD ปี 2566 (คศ. 2023) ที่ระบุว่า การเตรียมทักษะให้กับเด็ก Gen Alpha ต้องเน้นทักษะที่หลากหลาย ได้แก่

Cognitive Skills (การคิดวิเคราะห์)
Metacognitive Skills (การรู้คิด)
Civic and Citizenship Skills (การเป็นพลเมืองที่รับผิดชอบ)
Interpersonal Skills (ทักษะทางสังคม)
Intrapersonal Skills (ทักษะการเข้าใจตนเอง)
ICT and Digital Skills (ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ)

“การคิด และการรู้คิด จะช่วยให้เด็ก ‘รู้เท่าทัน’ โลกที่เปลี่ยนไป ความสามารถในการลุกขึ้นได้ใหม่หลังความล้มเหลว เป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้เรียนแห่งอนาคต”

นอกจากนี้ เด็ก Gen Alpha ยังต้องมีความเป็น “พลเมืองโลก” ที่สามารถเชื่อมโยงตนเองกับสังคมได้อย่างไม่รู้สึกแปลกแยก และใช้เทคโนโลยีอย่างมีวิจารณญาณ

ดร.ไกรยสเน้นว่า โลกของงานในอนาคต งานที่ต้องทำซ้ำอย่างรวดเร็วและราคาถูก (Routine Jobs) จะถูกระบบอัตโนมัติแทนที่ แต่ งานที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และความแตกต่าง (None-Routine Jobs) จะเป็นที่ต้องการอย่างสูง

“งานวิจัยโดย OECD ได้เสนอแนวทางเกี่ยวกับการทำงานในโลกอนาคต โดยแบ่งประเภทงานออกเป็น ‘กลุ่มทักษะทำซ้ำ’ (Routine Jobs) และ ‘กลุ่มทักษะคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่’ (None Routine Jobs) โดยระบุว่าการทดแทนแรงงานมนุษย์ด้วยระบบ Automation ทำให้แนวโน้มความต้องการแรงงานที่มีทักษะทำซ้ำ ทำเร็ว ทำเหมือน หรือทำให้ราคาถูก ไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป ในขณะเดียวกัน ทักษะการทำงานที่มุ่งเน้นที่การทำให้ดีขึ้น แตกต่าง หรือการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ จะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน” 

  • การลงทุนเพื่ออนาคต: ไม่ใช่แค่เรื่องงบประมาณ แต่คือเรื่องของเจตจำนง

ผู้จัดการ กสศ. หยิบยกสถานการณ์ที่จำนวนประชากรเกิดใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี เพื่ออธิบาย ‘การพัฒนาเชิงโครงสร้าง’ รับมืออนาคต ว่าการที่ประเทศไทยจะเพิ่มขีดความสามารถเพื่อแข่งขันในเวทีโลก จำเป็นต้องลงทุน 4 ด้าน ได้แก่:

  1. Invest Early – พัฒนาเด็กตั้งแต่ต้น ลงทุนพัฒนาเด็กเยาวชนให้เร็วที่สุด และกระจายทรัพยากรอย่างเสมอภาค
  2. Invest Equitably – ลงทุนกับการปรับระบบการศึกษาให้ยืดหยุ่น รองรับเด็กทุกกลุ่ม
  3. Invest Smartly – ลงทุนอย่างชาญฉลาด ใช้ระบบสารสนเทศที่มีฐานข้อมูลรายบุคคล ระบุเป้าหมายการช่วยเหลือ และรายงานเกี่ยวกับการขาดแคลนและความต้องการทรัพยากรที่ตรงกับโจทย์ปัญหา
  4. Invest Innovatively – ลงทุนในนวัตกรรมการศึกษาที่ให้ผลทั้งระยะสั้นและยาว
  • ครอบครัวและโรงเรียน: พื้นฐานมั่นคงในวันที่โลกหมุนเร็ว

ดร.ไกรยสทิ้งท้ายด้วยการเน้นว่า ไม่ว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นเช่นไรหรือสิ่งต่าง ๆ จะแปรเปลี่ยนไปแค่ไหน ‘ครอบครัวและโรงเรียน’ จะเป็นฐานที่มั่นสำคัญที่สุดของเด็ก Gen Alpha เฉกเช่นเดียวกับวันเวลาที่ผ่านพ้นยาวนานนับพันปีของมนุษยชาติ และเชื่อว่าอีกหนึ่งพันปีผ่านไปก็จะยังคงเดิม

“สิ่งที่ทำให้คนคนหนึ่งประคองตัวอยู่ได้ คือฐานรากของจิตใจซึ่งเปรียบได้กับเสาอาคารที่มั่นคง และสำหรับโลกอนาคตที่จะมีเหตุการณ์ต่าง ๆ เข้ามาหาเราอย่างไม่ทันตั้งตัว หรือมนุษย์อาจต้องเจอกับภัยพิบัติรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สำหรับช่วงชีวิตของเด็ก Gen Alpha ซึ่งต้องผ่านเรื่องราวอีกคณานับ 

“ความรัก ความเข้าใจ และความสัมพันธ์จะเป็นสิ่งที่ช่วยก่อสร้างรากฐานจิตใจของเขาให้แข็งแรง ไม่พังทลายลงง่าย ๆ ไม่หลงไปกับสิ่งเร้า และมีวิจารณญาณที่จะใช้กลั่นกรองและเอาชนะทุกสิ่ง 

“ดังนั้นครอบครัวและโรงเรียนจะต้องเป็นพื้นที่พร้อมรองรับเด็กในทุกสถานการณ์ และนี่คือฐานหรือสมดุลที่เราต้องทำให้เกิดขึ้น เพราะอย่าลืมว่าถึงพัฒนาการจะก้าวหน้าไปเพียงใด แต่ AI จะไม่มีวันทำหน้าที่แทนพ่อแม่หรือครูของเด็ก ๆ ได้ และแม้แต่มีทรัพยากรอื่นสักแค่ไหน ก็จะไม่มีอะไรนำมาแลกกับความผูกพันนี้ได้”  – ดร.ไกรยส กล่าว

เมื่อ AI เปลี่ยนวิธีเรียนรู้: บทบาทใหม่ของครู และอนาคตของการทำงานในสายตา “นักอนาคตศาสตร์”

ในเวทีเสวนา ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่อนาคตศาสตร์และสินทรัพย์ดิจิทัล บริษัท ฟิวเจอร์เทลส์ แล็ป โดย MQDC ได้ร่วมเติมเต็มภาพอนาคตของการศึกษาและโลกการทำงานของ Gen Alpha โดยชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของ AI ได้เปิดทางให้ระบบการศึกษาหลุดพ้นจากกรอบเดิมแบบ One Size Fits All หรือการออกแบบหลักสูตรเพียงแบบเดียวสำหรับเด็กทุกคน โดยควรเลิกคิดว่าการศึกษาคือการตัดเสื้อขนาดเดียวให้เด็กทุกคนใส่เหมือนกัน ทั้งที่เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง 

“การศึกษาทุกวันนี้ไม่ต้องมีรูปแบบเดียว ไม่ต้องมีข้อสอบชุดเดียว เพราะเด็กทุกคนไม่จำเป็นต้องมุ่งไปยังปลายทางเดียวกัน”

  • เทคโนโลยีกับการเรียนรู้เฉพาะบุคคล: หนทางสู่ความเสมอภาค

หนึ่งในตัวอย่างสำคัญที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างชัดเจน คือ การใช้ AI เป็นครูที่ปรึกษาส่วนตัว (Individual Tutor) ซึ่งเปิดโอกาสให้เด็กแต่ละคนมีวิธีการเรียนรู้เฉพาะของตนเอง โดยมีเครื่องมือที่สนับสนุนความสามารถตามศักยภาพอย่างเหมาะสม

ดร.การดีกล่าวว่า แนวคิดที่ว่า “เด็กไม่จำเป็นต้องเรียนหลักสูตรเดียวกัน หรือในเวลาเดียวกัน” ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป ในทางกลับกัน คือการเปิดทางเลือกใหม่ เช่น เด็กที่เรียนรู้ได้เร็ว ก็สามารถก้าวไปข้างหน้าในเส้นทางของตน ขณะที่เด็กที่ต้องการเวลามากขึ้นก็สามารถเรียนรู้ในแบบที่เหมาะกับตนเอง โดยครูจะเป็นผู้ช่วยในการออกแบบและปรับการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความต้องการเฉพาะบุคคล

 “การพูดว่าเด็กไม่จำเป็นต้องเรียนหลักสูตรเดียวกัน หรือเรียนในเวลาเดียวกัน หมายถึงเราสามารถออกแบบทางเลือกที่หลากหลายได้ เช่นแทนที่ทุกคนต้องเรียนวิชาหนึ่งเหมือนกันเพื่อตัดเกรดแบบเดิม ๆ แต่คุณครูจะเป็นผู้ค้นหาเด็กที่ไปได้เร็วกว่าเพื่อน และสนับสนุนให้เรียนรู้ไปตามทางของเขา กลับกันเด็กบางคนอาจต้องการเวลามากกว่าเพื่อทำความเข้าใจในบทเรียนเดียวกัน ครูจะช่วยปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ตามความเหมาะสม เพื่อให้เด็กคนนั้นผ่านบทเรียนเดียวกันกับเพื่อนไปได้ ด้วยวิธีการเฉพาะของตัวเอง”

ดร.การดี เลียวไพโรจน์

  • การศึกษาในโลกไร้ขอบเขต และบทบาทใหม่ของครู

ดร.การดี มองว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสนับสนุนให้การเรียนรู้ด้วยตัวเองมีขอบเขตที่กว้างไกลขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังช่วยตอบโจทย์ว่า ‘เราเรียนเพื่ออะไร’ (personalized learning) เช่นเมื่อใครสักคนสนใจเรียนภาษาที่สองหรือภาษาที่สาม เทคโนโลยีจะช่วยตอบโจทย์การเรียนรู้ ว่าต้องการเรียนเพื่ออ่าน ฟัง หรือเพื่อสนทนาโดยเฉพาะ โดยผู้เรียนไม่จำเป็นต้องลงเรียนแบบเต็มคอร์ส

“ทุกวันนี้เราสามารถ ‘สั่งตัดหลักสูตร’ สำหรับเด็กแต่ละคนได้ โดยเฉพาะเมื่อผลสำรวจพบว่ามีประชากรโลก Gen Alpha ถึง 49% ที่คุ้นเคยกับการที่มี AI เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และยิ่งเวลาผ่านไป แนวโน้มของตัวเลขก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น 

“การศึกษา ณ วันนี้จึงเป็นการพาผู้เรียนก้าวข้ามขอบความรู้จากภายใน และยังสลายพรมแดนเชิงกายภาพ คือเรียนรู้จากที่ไหนก็ได้ และภายใต้หัวข้อที่สนใจเรื่องใดก็ได้ สำคัญคือทำยังไงให้เด็กสามารถเข้าถึงการเรียนรู้เฉพาะบุคคล ซึ่งครูจะต้องเป็นผู้เชื่อมโยงเด็กไปสู่การเรียนรู้ เป็นนักสร้างเครือข่ายเพื่อจะค้นหาสิ่งที่ดีที่สุดมาให้ได้ ตามศักยภาพและตามความสนใจของเด็กแต่ละคน”

ท่ามกลางยุคที่มีข้อมูลและความรู้ไร้ขอบเขต ครูจะต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้ถ่ายทอดความรู้ ไปสู่การเป็นผู้สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ (Learning Connector) และนักออกแบบหลักสูตรเฉพาะบุคคล (Designer) ที่สามารถตอบโจทย์ความสนใจและศักยภาพของผู้เรียนแต่ละคน

“ครูยุคใหม่ ต้องมีบทบาทเป็นผู้อำนวยความรู้ (Facilitator) และต้องเป็นนักออกแบบ (Designer) ที่สั่งตัดหลักสูตรได้เฉพาะตัวสำหรับเด็กคนหนึ่งโดยตรง นอกจากนั้นยังต้องเป็นที่ปรึกษาเรื่องสุขภาพจิต (Mentor) ในสังคมที่แวดล้อมด้วยความเปราะบางอ่อนไหว และท้ายที่สุด ครูจะต้องเป็น ‘ผู้ร่วมเรียนรู้’ (Co-Learning) ไปพร้อมกับเด็ก เพื่อให้ทั้งคำแนะนำและปรับตัวรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน”  

  • ใบปริญญาจะไม่ใช่ทุกอย่างอีกต่อไป

มองไปสู่โลกของการทำงานในอนาคต ดร.การดีชี้ว่า “ใบปริญญา” อาจไม่ใช่ดัชนีชี้วัดศักยภาพที่สำคัญในบางสายงานอีกต่อไป เพราะตลาดแรงงานจะให้ความสำคัญกับ “ตัวตน” ของบุคคลมากกว่าวุฒิการศึกษา โดยเฉพาะสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสนใจ ความสามารถเฉพาะด้าน และประสบการณ์นอกหลักสูตร

“เป้าหมายของการศึกษายุคใหม่ ไม่ใช่แค่สร้างผู้ตาม แต่ต้องสร้าง ‘ผู้สร้าง’ ที่คิดเองได้ มีทักษะหลากหลาย ยืดหยุ่น และพร้อมเรียนรู้ตลอดชีวิต”

  • โลกทำงานใหม่: หลายอาชีพ หลายประเทศ และหลายเขตเวลา

ดร.การดี คาดการณ์ว่าในอนาคตอันใกล้ ระบบการทำงานจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง Gen Alpha จะเข้าสู่ยุคที่สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ กับใครก็ได้ และในเวลาใดก็ได้ (Anytime, Anywhere, Anyhow) ผ่านเครือข่ายออนไลน์ที่ไร้พรมแดน พวกเขาจะต้องสามารถทำงานร่วมกับผู้คนจากหลากหลายประเทศ สื่อสารข้ามภาษา และปรับตัวให้เข้ากับเขตเวลาที่ต่างกันได้

“การทำงานหลายอาชีพในเวลาเดียวกัน หรือเปลี่ยนอาชีพทุก 3–5 ปีจะกลายเป็นเรื่องปกติของคนรุ่น Alpha”

ดร.การดีเน้นย้ำว่า การเตรียมความพร้อมให้เด็ก Gen Alpha ต้องไม่ใช่แค่การสอนให้รู้สิ่งเดิม แต่ต้องสร้างทักษะสำหรับการเผชิญกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่อย่างต่อเนื่อง พร้อมก้าวข้ามขีดจำกัดเดิม ๆ ทั้งในเชิงเนื้อหา เวลา และสถานที่

โรงเรียนไม่ใช่แค่พื้นที่ให้ความรู้ แต่ต้องเป็น “พื้นที่สร้างตัวตน” เพื่ออนาคตของ Gen Alpha

ปิดท้ายเวทีเสวนาด้วยมุมมองจาก ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หรือ “หมอโอ๋” อาจารย์แพทย์ด้านเวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และผู้ก่อตั้งเพจ เลี้ยงลูกนอกบ้าน ที่ช่วยชี้เป้าโจทย์สำคัญให้กับทั้งครูและผู้ปกครอง ว่าการเตรียมความพร้อมเด็ก Gen Alpha ต้องเริ่มจากการ สร้างคุณลักษณะภายใน มากกว่าการเร่งเติมความรู้ภายนอก ที่ช่วยให้เด็กค้นพบขุมทรัพย์ภายในตัวเอง บนฐานของความแตกต่างหลากหลาย

“โลกในวันข้างหน้าเราไม่ได้ต้องการคนที่เก่งเหมือน ๆ กัน แต่ความชำนาญนั้นจะต้องหลากหลายและสร้างสรรค์ ซึ่งมาพร้อมกับ Empathy ที่ไม่ใช่เพียงหาทางรอดของตัวเอง แต่จะต้องคำนึงถึงการพาคนอื่น ๆ ก้าวไปด้วยกันทั้งหมด” 

หมอโอ๋ชี้ว่า ในโลกอนาคต ความสำเร็จจะไม่ถูกวัดด้วยใบปริญญา แต่คือการที่คนหนึ่งสามารถ ทำให้ผู้อื่นหายใจได้สะดวกขึ้นเพียงเพราะการมีอยู่ของเขา นั่นคือ การเรียนรู้ต้องนำไปสู่การสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อผู้คนรอบตัว ต้องไม่ใช่แค่เพื่ออยู่รอดคนเดียว แต่เพื่อพา “พวกเรา” รอดไปด้วยกัน

“ศาสตร์ด้านจิตวิทยาเชิงบวกค้นพบว่า การทำให้เด็กค้นพบขุมทรัพย์ในตัวเองและพัฒนาต่อยอดได้ ต้องใช้ ‘ปัญญาแห่งการเรียนรู้’ หรือความรักที่จะเรียนรู้ นอกจากนั้นต้องมีความคิดสร้างสรรค์ มีมุมมองต่อสิ่งใหม่ที่แตกต่าง ซึ่งนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการและวิถีชีวิต และนี่คือคุณลักษณะสำคัญของคนที่จะประสบความสำเร็จ เพราะในทุกความผันผวนเปลี่ยนแปลง เราต้องการคนที่กล้าหาญจะลุกขึ้นตั้งคำถาม ด้วยความเป็นมนุษย์ที่เข้าใจหัวใจคนอื่น และตั้งมั่นกับความคิดที่ว่า ทำอย่างไรทุกคนถึงจะรอดไปด้วยกัน”

  • คุณลักษณะสำคัญของ Gen Alpha ที่ต้องเร่งปลูกฝัง

หมอโอ๋ระบุว่า Gen Alpha ควรได้รับการปลูกฝังคุณลักษณะหลัก 5 ประการ ได้แก่:

  1. การกำกับตัวเอง (Self-Regulation)
  2. ความเคารพและยอมรับตนเอง (Self-Esteem)
  3. ความสามารถในการจัดการ (Executive Function – EF)
  4. ความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy)
  5. ปัญญาล้มลุก (Resilience)

“ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยีที่ทำให้ Gen Alpha เติบโตขึ้นอย่างไม่คุ้นชินกับการอดทนรอคอย การกำกับตัวเองจึงเป็นคุณลักษณะที่ต้องปลูกฝัง ซึ่งการที่เด็กรุ่นนี้อดทนน้อยลงไม่ใช่ความผิดอะไรของเขา เพราะโลกที่เติบโตมามันเป็นอย่างนั้น ทุกอย่างอยู่บนหน้าจอ เมื่ออยากรู้อะไรแค่สัมผัสไม่กี่ครั้งก็ได้คำตอบแล้ว ดังนั้นเราต้องเพิ่มการกำกับตัวเอง บ่มเพาะมายเซ็ทแบบยอมลำบากก่อนสบายทีหลัง ให้เขารู้จักรอ รู้จักอดทน เพื่อต่อสู้ฝ่าฟันให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ”

หมอโอ๋อธิบายเพิ่มเติมว่า Self-Esteem ที่มั่นคงจะทำให้เด็กมีสุขภาพจิตดี เชื่อมั่นในศักยภาพของตน และมองเห็นคุณค่าของการพัฒนาตัวเอง ส่วน Executive Function หรือ EF คือความสามารถในการควบคุมอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม เพื่อให้ทำภารกิจหนึ่งสำเร็จ ซึ่งครูต้องเข้าใจว่านี่คือ สมองส่วนหน้าที่ต้องฝึกให้ทำงานได้ดี ไม่ใช่เพียงเรื่องระเบียบวินัยภายนอก

“การยอมรับและเคารพตัวเองในแบบที่เป็น จะช่วยสร้างสุขภาพจิตที่ดี มีความสุข และนำไปสู่ความมั่นใจว่าตัวเองมีความหมาย มีความสามารถ พัฒนาได้ และสร้างประโยชน์ได้ โดยมุมมองต่อตนเองที่มั่นคงจะเกิดขึ้นได้ ต้องมาจาก ‘การรับรู้ว่าตนเป็นที่รัก ส่วน EF หรือความสามารถในการจัดการ คือสิ่งที่ครูยุคใหม่ต้องเข้าใจ ว่าคือการพัฒนาสมองส่วนหน้าที่ช่วยให้คนเราสามารถควบคุมความคิด อารมณ์ พฤติกรรม เพื่อปฏิบัติกิจใดหนึ่งให้สำเร็จ โดยการกำกับตัวเองที่ดี จะส่งผลต่อความจำใช้งานที่มีประสิทธิภาพ และทำให้เด็กมีความยืดหยุ่นในตัวเอง”

  • พาเด็ก “ก้าวข้ามขอบ” สู่การเรียนรู้ใหม่ที่เติบโตจากภายใน

หมอโอ๋พูดถึงการสร้างทักษะ Gen Alpha เพื่อรองรับอนาคตว่า การออกแบบการเรียนรู้ให้สนุกและสามารถพาผู้เรียนทุกคนไปได้พร้อม ๆ กัน สามารถทำได้โดยให้ผู้เรียนเป็นผู้ค้นหาข้อมูล ออกแบบวิธีถ่ายทอดเรื่องราว และนำมาสรุปผลร่วมกันกับครู ซึ่งจะอยู่ในฐานะ ‘ผู้อำนวยการเรียนรู้’ (Facilitator) สิ่งสำคัญคือต้องทำให้ผู้เรียนรู้สึกอยากเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง จึงอาจเริ่มจากสิ่งใกล้ตัว หรือเรื่องราวที่ผู้เรียนสนใจ โดยทุกวันนี้ครูและผู้ปกครองต้องมีหน้าที่พาเด็กเรียนรู้แบบ “ก้าวข้ามขอบ” (Crossing Zones) ซึ่งหมายถึงการออกแบบวิธีการจัดการเรียนรู้ที่ช่วยให้เด็กพ้นจาก ‘พื้นที่คุ้นชิน’ (Comfort Zone) ผ่าน ‘พื้นที่ความกลัว’ (Fear Zone) ที่กระตุ้นให้เกิดความท้าทายตัวเองจนไปสู่ ‘พื้นที่เรียนรู้’ (Learning Zone) ใหม่ ๆ ที่จะส่งเสริมให้เติบโตจากภายใน ข้ามขอบความไม่รู้ และสามารถปลดล็อก (Unlearn) ความรู้หรือความเชื่อเก่า และนั่นเองคือขั้นตอนของการปรับปรุงชุดความรู้และกระบวนการคิด อย่างรู้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา 

  • ครูต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับพ่อแม่

หมอโอ๋ได้ฝากกับคุณครูว่า ในยุคสมัยที่สังคมตื่นตัวกับการนำรูปแบบ วิธีการ หรือองค์ความรู้ใหม่ ๆ มาใช้ในการเลี้ยงลูกมากขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ครูจะต้องช่วยเหลือพ่อแม่ผู้ปกครองให้มี ‘ความมั่นคงภายใน’ เชื่อมั่นว่าตนมีศักยภาพดูแลสนับสนุนลูกได้ 

“อย่าลืมว่าตัวผู้ปกครองเองเขาก็อยู่กับความไม่แน่ใจเช่นกัน ในโลกที่ Social Media มีข้อมูลความรู้และตัวอย่างความสำเร็จของการเลี้ยงลูกไหลบ่ามหาศาล

“ความเปราะบางของความรู้สึกด้อยค่า ล้มเหลว หรือไม่ดีพอ ที่พ่อแม่หลาย ๆ คนเผชิญอยู่ จึงเป็นสิ่งที่คุณครูต้องช่วยทำหน้าที่เป็นพื้นที่ปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นคงและเติมพลังบวก ให้พวกเขาได้รับรู้ว่าเด็กทุกคนดีพอ มีความเก่งความน่าสนใจในแบบของตัวเอง เพราะท้ายที่สุดแล้วคนเป็นพ่อแม่ที่มีความมั่นคงภายในเท่านั้น ถึงจะสร้างลูกที่มีความมั่นคงภายในขึ้นมาได้”