เส้นทางสู่ “​แคดดี้มืออาชีพ” ความภูมิใจที่ได้ทำงานในบ้านเกิด

เส้นทางสู่ “​แคดดี้มืออาชีพ” ความภูมิใจที่ได้ทำงานในบ้านเกิด

กลุ่มคนที่ยืนอยู่กลางสนามหญ้าสีเขียวสดของสนามกอล์ฟแห่งหนึ่งในจังหวัดพังงา กำลังเรียนรู้ทักษะการเป็น “แคดดี้” หรือ ผู้ช่วยนักกอล์ฟ ตามโครงการพัฒนาทักษะการปฏิบัติงานและทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษของพนักงานแคดดี้เพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงกีฬาของจ.พังงา

​คนกลุ่มนี้ บ้างก็มาจากแรงงานนอกระบบ ทั้งรับจ้างรายวัน ทำสวน ทำประมง ซึ่งหาเงินได้เพียงวันละ 100-200 บาท  บ้างก็เป็นคนว่างงาน และมีบางส่วนที่เป็นนักเรียนซึ่งต้องการมีรายได้เสริมเพื่อนำไปแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่บ้าน

แม้จะต่างที่มา แต่ทุกคนล้วนแล้วแต่ตั้งใจเรียนรู้เทคนิคการดูแลนักกอล์ฟอย่างเต็มที่ ด้วยความหวังว่าองค์ความรู้ที่ได้รับเหล่านี้ จะเป็น “จุดเปลี่ยน” ในชีวิตของพวกเขาที่จะได้สร้างงาน-สร้างเงินด้วยลำแข้งของตัวเอง

“พังงาเป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ มีนักท่องเที่ยวทั่วโลกมุ่งหน้ามาพักผ่อนที่นี่ นอกจากทะเล และธรรมชาติที่สวยงามแล้ว ยังมีสนามกอล์ฟที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวมาโดยตลอด แต่ก็พบว่าในสนามกอล์ฟยังขาดแคดดี้จำนวนมาก” ธวัชชัย จิตวารินทร์ ครูเชี่ยวชาญ วิทยาลัยชุมชนพังงา ฉายภาพให้เห็นถึงที่มาของโครงการ

การฝึกทักษะอาชีพ แคดดี้ของจ.พังงา นับเป็นหนึ่งใน 70 กว่าโครงการจากโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)​โดยเน้นการคัดเลือกผู้เข้าร่วมอบรมจากกลุ่ม “ผู้ด้อยโอกาส” ใน 7 อำเภอของจ.พังงา ที่มีอายุไม่เกิน 45 ปีจำนวน 50 คน

 

นักกีฬา นักวิชาการ ผู้ประกอบการ จับมือร่วมวางหลักสูตร

หลักสูตร ถูกออกแบบมาจากการระดมสมองของทั้งนักวิชาการ จากมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด รวมถึงข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการสนามกอล์ฟในพื้นที่

สำหรับเนื้อหาการเรียนในหลักสูตร  4 ด้าน คือ 1.ความรู้ในการสื่อสารภาษาอังกฤษ  2.ทักษะการปฏิบัติงานของแคดดี้  3.การปฐมพยาบาลและการโภชนาการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแคดดี้ที่เข้าอบรม และ 4.การดำเนินชีวิตแบบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อที่จะเป็นช่องทางให้ผู้อบรมสามารถบริหารรายรับรายจ่ายหลังจากเสร็จสิ้นโครงการ

 

อัพสกิลภาษาอังกฤษ เสิรมศัพท์เทคนิคกอล์ฟ

“ธวัชชัย” บอกว่า การสื่อสารภาษาอังกฤษของแคดดี้ถือว่ามีความจำเป็น เพราะนอกจากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากแล้ว กีฬากอล์ฟยังมีศัพท์เฉพาะทางด้วย ดังนั้นผู้ที่ผ่านการอบรมจะสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ทั้งในระดับที่ใช้สื่อสารปกติในสถานการณ์จริง รวมไปถึงเข้าใจและใช้ศัพท์เทคนิคได้อย่างถูกต้อง

นอกจากการอบรมทางวิชาการแล้ว การปฏิบัติและลงพื้นที่ฝึกหัดจริงมีความสำคัญอย่างยิ่งของหลักสูตรนี้  

“ฝึกขับรถกอล์ฟ ทุกคนต้องเรียน ต้องขับให้ได้ทุกคน ส่วนทักษะที่สำคัญอื่นนั้น คือ อย่างแรกจะต้องมีใจบริการมาเป็นพื้นฐาน ต้องเรียนรู้กฎ กติกาต่างๆ เทคนิค การอ่านไลน์หญ้าบนกรีน ดูทิศทางลม ดูอุปสรรคต่างๆ มีอะไรบ้าง รายละเอียดของสนามเป็นอย่างไร ซึ่งทักษะเหล่านี้แคดดี้ ต้องให้คำแนะนำกับผู้เล่นได้ว่าหลุมนี้มีลักษณะอย่างไร มีความลาดเอียงเท่าไหร่”

 

ทดสอบมาตรฐานผ่านมีงานทำทันที

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนจะถูกเคี่ยวกรำเป็นเวลา 60 ชั่วโมง และหลังจากทดสอบมาตรฐานเสร็จสิ้น พวกเขาจะมีงานทำทันที  โดยวิทยาลัยชุมชนพังงา ได้ทำเอ็มโอยูกับผู้ประกอบการเอาไว้ก่อนหน้านี้

รายได้ของแคดดี้ที่จ.พังงา จะอยู่ที่รอบละ 350 บาท (3-4 ชม.) รวมกับทิปขั้นต่ำ 300 บาท  วันหนึ่งออกได้มากสุด 2 รอบ เป็นรายได้ที่ผู้เข้าโครงการจะได้รับ

 

ความภูมิใจที่มี “อิสระ” ได้ทำงานในบ้านเกิด

“คนที่เขามาอบรมเขารู้สึกประทับใจ และ ภาคภูมิใจ ที่มีโครงการ ซึ่งเป็นโอกาสที่จะทำให้เขาได้พัฒนาตัวเอง สามารถทำงานที่บ้านได้ มีความเป็นอิสระ ไม่ต้องไปหางานที่ต่างจังหวัด ได้อยู่กับครอบครัว เพราะเราตั้งใจทำหลักสูตรนี้ให้ยึดบริบท และความต้องการของท้องถิ่น”

นอกจากนี้ยังมีแนวคิดว่าจะต่อยอดอบรมในรุ่นต่อไป เพราะหลังจากที่ผู้ประกอบการสนามกอล์ฟอื่นเห็นหลักสูตรนี้ ได้ติดต่อมายังวิทยาลัยชุมชนเพื่อให้จัดการสูตรในรูปแบบเดียวกันนี้อีก เพื่อผลิต “แคดดี้”ที่มีคุณภาพในพื้นที่

“ความสำเร็จของโครงการนี้สุดท้ายเห็นคนว่างงานมีอาชีพ และมีเครือข่ายหรือชมรมแคดดี้เกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อพัฒนางานอาชีพแคดดี้ให้จังหวัดพังงาต่อไปและยกระดับสู่ระดับสากล  ส่วนคนที่ไม่ได้เป็นแคดดี้ ก็สามารถไปเป็นงานได้อื่น ที่ใช้ทักษะภาษาอังกฤษที่ฝึกมาได้ ทั้งงานโรงแรม และงานท่องเที่ยว” ธวัชชัย กล่าว

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค