การเรียนสายอาชีพไม่มีทางลัด – “ฟิล ปิยะพงษ์” นศ.ทุนนวัตกรรมฯ

การเรียนสายอาชีพไม่มีทางลัด – “ฟิล ปิยะพงษ์” นศ.ทุนนวัตกรรมฯ

“อาหารที่ดีต่อใจ
คือการเรียนรู้ไปด้วยตัวเอง”

“งานครัวสอนผมว่าความชำนาญไม่มีทางลัด แต่จะเกิดได้เมื่อเราฝึกฝนและหมั่นทำซ้ำทุกๆ วัน ผมจึงมองว่าความสำเร็จหรือการก้าวข้ามตัวเองไปได้ทุกครั้ง มันคือหลักฐานที่สามารถภูมิใจได้ว่าเราใช้เวลาเรียนรู้กับสิ่งที่เรารักมากขนาดไหน”  

แนวคิดจาก ปิยะพงษ์ ชาติเวียง หรือ ‘ฟิล’ นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่น 1 สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ วิทยาลัยเทคนิคลำพูน เล่าถึงมุมมองต่อวิชาชีพที่เขาร่ำเรียนอยู่ในระดับ ปวส.1 และยังเป็นงานพิเศษที่ช่วยให้เขาสามารถแบ่งเบาภาระทางบ้าน พร้อมเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในสายงานที่ตนรักได้ 

 

ความธรรมดาที่โดดเด่น

ฟิลบอกว่า สมัย ม.ต้นเขาเป็นเด็กที่ไม่มีอะไรเด่น ไม่มีแรงจูงใจในการเรียน เพราะยังหาตัวเองไม่เจอ จนเริ่มเข้าเรียนในระดับชั้น ปวช. ในสาขาวิชาที่ตนสนใจ เมื่อนั้นเองที่รู้สึกว่า
“เหมือนบางอย่างในตัวได้ถูกปลุกขึ้นมา” 

“ผมเริ่มตั้งใจกับการเรียนตั้งแต่ตอนนั้น รู้สึกว่าเราต้องต่อสู้ ต้องดิ้นรน ต้องพยายามเพื่อทำในสิ่งที่เราเลือก ที่เราอยากทำให้ดี เราถึงจะพาตัวเองไปสู่ความสำเร็จได้”

 

สายใยครอบครัวสู่สายอาชีพ

ครอบครัวของฟิลมีกัน 4 คน คือแม่ผู้เป็นเสาหลักทำงานหาเงินเข้าบ้าน ขณะที่พ่อเป็นเสาหลักอีกต้นคอยรับหน้าที่ดูแลน้องชายที่เป็นออทิสติก วัยเด็กฟิลจึงใกล้ชิดกับพ่อผู้ชื่นชอบการเป็นพ่อครัวทำอาหารให้ทุกคนในบ้านได้กิน เขาเลยได้ซึมซับวิชาจากการเป็นลูกมือพ่อ ลองหัดทำเอง

ด้วยคำแนะนำแรงสนับสนุนจากครอบครัว ถึงชั้นประถม ฟิลก็สามารถทำอาหารง่ายๆ กินเองและหลายครั้งก็แบ่งให้คนในบ้านได้ลองชิมด้วย 

“ความรักในการทำอาหารของผมมีพื้นฐานมาจากครอบครัว มันเป็นหัวข้อพูดคุยของเราเสมอเวลาที่อยู่พร้อมหน้า ทุกครั้งที่ทำงานในครัวจึงเหมือนกับว่าผมได้นึกถึงบรรยากาศความผูกพันที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ผมจึงเลือกเรียนด้านนี้ อยากเป็นคนทำอาหารให้ครอบครัวได้กินกันพร้อมหน้าพร้อมตา มีความสุขด้วยกันไปอีกนานๆ สิ่งนี้คือแรงผลักให้ผมไม่เคยรู้สึกท้อ และอยากประสบความสำเร็จในอาชีพให้ได้” ฟิลกล่าวถึงแรงบันดาลใจของเขา

 

การเรียนสายอาชีพ
“ปฏิบัติ” ก่อนแล้วค่อยทฤษฎี

เมื่อรู้แล้วว่าต้องไปทางไหน เขาก็ไม่ลังเลที่จะมุ่งเดินไปทางนั้น ประกอบกับการสนับสนุนจากทางบ้าน ทำให้เขาแน่ใจว่าการเลือกเรียน ปวช. ในสายงานเกี่ยวกับอาหาร คือเส้นทางที่เหมาะกับเขา ตอนที่จบ ม.3 เขาตัดสินใจเรียนต่อสายอาชีพอย่างมั่นใจ เพราะรู้แล้วว่าตนเองชอบและต้องการเรียนอะไร 

เพราะข้อดีของการเรียนสายอาชีพคือการได้ฝึกความอดทน ขัดเกลาวินัยในตัวเอง  ได้พบผู้คนที่ต่างและหลากหลาย ทั้งครูและเพื่อนๆ ที่สนใจในสิ่งเดียวกัน หมกมุ่นในเรื่องเดียวกัน นั่นทำให้ฟิลแทบไม่ต้องปรับตัวเลยกับการเรียนในระดับ ปวช.  

และการออกไปทำงานข้างนอกนั้น เป็นบทเรียนสำคัญของการเรียนสายอาชีพ ทำให้เขาได้ทำความเข้าใจกับโลกข้างนอกวิทยาลัย มากกว่าที่คนวัยเดียวกันจะได้รับ

“การเรียนสายอาชีพเป็นหลักสูตรที่เน้นการปฏิบัติมากๆ มันไม่มีทางลัด ต้องทำซ้ำๆ เก็บเกี่ยวประสบการณ์จนชำนาญ ไม่ใช่แค่รู้ทฤษฎีก็สามารถทำได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องของการทำอาหารยิ่งต้องอาศัยการทดลอง พลิกแพลง มันมีทั้งเรื่องของประวัติศาสตร์ การส่งต่อความรู้ ขณะเดียวกันก็เป็นศาสตร์ที่ไม่มีจุดสิ้นสุด ต้องเรียนรู้ต่อไปเรื่อยๆ เพราะมีความรู้ใหม่เกิดขึ้นทุกวันและต่อยอดได้ไม่รู้จบ นอกจากนี้การที่ได้ไปทำงาน 2-3 วันต่อสัปดาห์ ยังเป็นการเปิดโลกทัศน์ ทำให้เราได้เห็นอะไรมากกว่าคนรุ่นเดียวกันที่เขายังไม่เคยทำงาน ตรงนี้เป็นสิ่งที่หาไม่ได้เลยจากในห้องเรียนครับ” 

 

จุดผกผันที่เกือบจะไม่ได้เรียนต่อ

อีกเหตุผลหนึ่งที่ฟิลเลือกเส้นทางนี้คือ หากวันหนึ่งครอบครัวไม่มีกำลังส่งเสียให้เรียนต่อ การเรียนสายอาชีพจะเป็นหลักประกันว่าเขามีวิชาติดตัว สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ทันที 

“แม่ผมมีรายได้ต่อเดือนไม่มากนัก แต่ก็พอส่งเสียให้เรียนมาได้ตลอด แต่การเรียนยิ่งสูงก็ยิ่งต้องใช้เงินมากขึ้น ผมเลยมองว่าเรียนสายอาชีพพอเราเรียนจบก็ทำงานได้เลย หรือหากไม่ได้เรียนต่อ การมีทักษะอาชีพที่สนใจติดตัวจะช่วยให้เรามีช่องทางมากกว่าเรียนสายสามัญซึ่งต้องต่อให้ถึงระดับปริญญา เพราะในการเรียนสายอาชีพ เราได้ลงมือปฏิบัติซ้ำๆ ทุกวัน ได้ฝึกงานมีประสบการณ์ ยิ่งเป็นสิ่งที่เราถนัดด้วยแล้ว ยิ่งหมายความว่าเราสามารถทำงานได้จริงๆ

 

และแล้วสิ่งที่คิดก็เกือบจะเป็นจริง เมื่อช่วงที่เรียนจบปวช. สถานการณ์การเงินในบ้านของฟิลเริ่มไม่ค่อยดีนัก  

‘มันคือการตัดสินใจที่ยากลำบาก ใจผมอยากเรียนต่อไปให้สูงที่สุด แต่พอเห็นว่าแม่ต้องทำงานหนักมากเพื่อหาเงินให้ผมเรียน เลยคิดว่าจะหยุดเรียนไว้ก่อนเพื่อไปทำงานเก็บเงิน แล้วค่อยกลับมาเรียนต่อทีหลัง’

แต่ด้วยคำแนะนำจากอาจารย์ ที่ให้ลองสมัคร ‘ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง’
ซึ่งอาจารย์บอกว่าเป็นทุนที่เหมาะกับเขา ทั้งในด้านทุนการศึกษา และด้านความมุ่งมั่นที่เขาอยากจะเรียนสายอาชีพ

“ผมใช้เวลาไม่นานยื่นสมัครเป็นนักศึกษาทุน จึงได้เรียนต่อ ได้มีประสบการณ์ที่ดีทั้งในด้านการเรียน การทำงานพิเศษ และสังคมดีๆ ที่ผมได้รับตลอดเวลาเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา”

 

ความภูมิใจกับ ‘อาชีพที่เลือกแล้ว’

ถึงวันนี้ “ฟิล” ได้ผ่านประสบการณ์การเรียนในสายอาชีพเข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว แม้จะยังไม่ได้ทำงานเต็มตัว แต่ขาข้างหนึ่งของเขาก็ก้าวเข้าไปสู่สายงานที่สนใจ และเลือกด้วยตนเอง โดยพูดอย่างเต็มปากว่าเขา ‘รัก’ ที่จะเรียนและทำงานด้านอาหารต่อไปจนกว่าจะถึงวันที่ประสบความสำเร็จ

“การเรียนสายอาชีพทำให้ผมมีประสบการณ์ทำงานในร้านอาหารตั้งแต่สมัยเรียน ปวช. จนถึงตอนนี้ที่เรียน ปวส.1 ผมรู้สึกโชคดีที่ได้เริ่มต้นเรียนรู้การทำงานจริงๆ มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว มีชั่วโมงงานและประสบการณ์ในระดับหนึ่ง ถึงแม้จะเป็นแค่ช่วงเริ่มต้น แต่มันสำคัญมาก เพราะการทำงานด้านอาหารมันต้องสังเกต ฝึกฝน ทำซ้ำในทุกขั้นตอน การได้ปฏิบัติจริงมันช่วยให้ความเข้าใจในงานมีเพิ่มขึ้นทุกวัน”

ซึ่งฟิลได้ทำให้เราเห็นว่าการศึกษาที่มีประสิทธิภาพนั้น ต้องเริ่มจากสิ่งที่เราอินและเรียนรู้ ผ่านการลงมือ แล้วค่อยๆ ตอกความรักลงไป 2 ฟอง เติมความมุ่งมั่นลงไปอีก 4 ช้อนโต๊ะ ผสมผสานด้วยการฝึกฝนจริงอีก 200 กรัม คลุกเคล้าให้เข้ากันอย่างพอดี ก็จะเป็นการเรียนรู้ที่สนุกและไม่มีที่สิ้นสุด 

เป็น 1 ในไอดอลจาก “โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” ที่มุ่งเน้นในการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชนจากครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์จากร้อยละ 20 ของประเทศ ได้เรียนต่อในสายอาชีพ นำทักษะความรู้เฉพาะทางมาใช้ทำงานได้จริง

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค