สร้างแรงจูงใจดึงเด็กนอกระบบกลับมาเรียนต่อ

สร้างแรงจูงใจดึงเด็กนอกระบบกลับมาเรียนต่อ

การติดตามให้ความช่วยเหลือเด็กนอกระบบในพื้นที่นำร่อง 20 จังหวัด ให้กลับมาเรียนหนังสือหรือฝึกทักษะอาชีพเพื่อให้เขาสามารถนำไปประกอบอาชีพ มีงาน มีรายได้ ภายใต้โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในหลายพื้นที่ได้เริ่มเห็นผลการดำเนินการและมีเด็กที่ได้รับการช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก

ระยองนับเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ช่วยกันทำงานจนช่วยเหลือเด็กได้จำนวนมาก​ ธงชัย มั่นคง ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการศึกษาประจำจังหวัดระยอง เล่าถึงภาพรวมของพื้นที่ว่าได้รับโจทย์เป็นรายชื่อของเด็กนอกระบบกว่า 9,000 คนในพื้นที่ ซึ่งถึงขณะนี้สำรวจเจอแล้วเกือบ  7,000 คน

อย่างไรก็ตาม จากเด็กที่พบมีประมาณ 300 คน ที่เข้าเกณฑ์ต้องเข้าไปช่วยเหลือดูแล เพราะจากฐานข้อมูลที่เริ่มต้นจากเด็กอายุ 2-21 ปี ในพื้นที่แต่ไม่มีรายชื่อในสถาบันการศึกษานั้น ในข้อเท็จจริงแล้วมีเด็กที่จบ ปวช. ปวส. และออกไปทำงานในพื้นที่ โดยไม่จบปริญญาตรีทำให้ข้อมูลที่ได้มาจึงดูเหมือนมีเด็กนอกระบบเยอะมาก 

ทั้งนี้ จากเด็กนอกระบบ 300 คน ที่เข้าเกณฑ์ต้องไปช่วยเหลือนั้นมีเพียง 70 คน ที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ  ส่วนที่เหลือมีทั้งจบการศึกษาภาคบังคับแล้วไปช่วยงานที่บ้านต่อบ้าง หรือผู้หญิงบางคนแต่งงานแล้วเป็นแม่บ้านหรือทำกิจการส่วนตัวของครอบครัว  

 

ปรับแผนสร้างกลไกระดับตำบลค้นหาเด็กในพื้นที่

สำหรับขั้นตอนการดำเนินการติดตามหาเด็กนั้นในทางปฏิบัติแล้วถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะจากข้อมูลที่ได้ผ่านแอปพลิเคชัน และนำไปติดตามหาตัวเด็กตามที่อยู่ที่แจ้งไว้นั้น โดยพื้นที่เป็นทั้งบ้านจัดสรร หมู่บ้าน ลงไปแล้วไม่เจอตัว เลขที่บ้านที่แจ้งไว้ไม่มีบ้าง ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือบ้าง​ทำให้การหาด้วยวิธีนี้ตามหาเด็กได้น้อยมาก

“เราก็วางแผนปรับวิธีการใหม่ สร้างกลไกระดับตำบล ให้ผู้ใหญ่บ้านมานั่งดูกัน รอบแรกเอารายชื่อไปให้ดู ยังไม่ได้เท่าที่ควร ก็แยกเป็นหมู่บ้าน ให้ผู้ใหญ่บ้านหมู่หนึ่งมีใคร หมู่สองมีใครแยกกันไปดู เพราะผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นำชุมชนเป็นผู้ที่คุ้นเคยกับพื้นที่ บางพื้นที่ก็ให้ อสม. ช่วยดูบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นหลัก ถ้าผู้ใหญ่บ้านไม่รู้จักก็สามารถลงไปหาข้อมูลได้ต่อว่าเด็กคนนี้เป็นใครไปอยู่ที่ไหนแล้ว”​

 

ส่งเรียนต่อ กศน. สานฝันสู่พนักงานวิทยุ

จากจำนวนเด็ก 70 คนที่ต้องการให้เข้าไปช่วยเหลือ มีทั้งอยากเรียนต่อ และอยากฝึกอาชีพ สำหรับคนที่อยากฝึกอาชีพเราก็ประสานไปส่งไปยังหน่วยฝึกอาชีพ บางคนสนใจอยากเรียนเป็นช่าง บางคนก็อยากเรียนด้านคอมพิวเตอร์ ​แต่สำหรับคนที่ยังเรียนไม่จบการศึกษาภาคบังคับหรือคนที่อยากเรียนต่อก็จะพาไปเรียน กศน. ​

สำหรับกลุ่มที่เป็นเด็กพิการมีประมาณ 9 คน ​ได้ประสานไปยังศูนย์การศึกษาพิเศษเพื่อให้เขามารับไปดูแล จัดคนมาเยี่ยมบ้านให้ความช่วยเหลือ ควบคู่ไปกับการเรียน​ มีอยู่เคสหนึ่งเป็นเด็กพิการที่ใฝ่ฝันอยากเป็นพนักงานวิทยุ คอยรับแจ้งเหตุประสานความช่วยเหลือต่อไปยังหน่วยกู้ภัย  ซึ่งตอนนี้ก็ทำเป็นจิตอาสาอยู่แล้ว  เมื่อสอบถามไปยังหน่วยกู้ภัยเขาก็ยินดีที่จะรับน้องคนนี้ไว้ทำงานแต่ขอให้เรียนจบแล้วไปสอบให้ได้ใบรับรองมาก่อนก็จะจ้างเป็นพนักงานประจำมีรายได้ต่อไป 

 

ความคุ้นเคยปูทางสู่ความช่วยเหลือ

จากการลงพื้นที่พูดคุยกับเด็กๆ พบว่าสาเหตุที่เด็กออกจากโรงเรียนและไม่เรียนต่อนั้นเป็นเพราะเบื่อการเรียน โดยเห็นว่า​การเรียนไม่ตรงกับความต้องการ เรียนไปก็ไม่สนุก บางคนก็ออกไปทำงานอย่างบางคนจบม. 3 แล้วก็อยู่บ้านเฉยๆ บ้าง ออกมาช่วยงานที่บ้านบ้าง บางคนมีสวนก็ออกไปทำสวน ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งแรกบางครั้งเด็กยังไม่รู้จักเราไม่คุ้นเคยก็ยังไม่ไว้วางใจบางครั้งก็ปฏิเสธไม่ขอรับความช่วยเหลือ

“แต่เมื่อเป็นผู้ใหญ่บ้านที่เขาคุ้นเคยเป็นคนไปพูดคุยบางคนก็ยินดีที่จะรับความช่วยเหลือ ซึ่งบางคนพอไปถามผู้ใหญ่บ้านก็บอกว่าเคยฝากให้ไปทำงานหลายที่แล้วลาออกเปลี่ยนงานบ่อยตอนนี้ตกงานอีกแล้วหรือ​บางคนไม่อยากเรียนก็ไม่เรียน แต่ถ้าเป็นเด็กที่ไม่จบการศึกษาภาคบังคับอย่างไรก็ต้องให้เรียน”

 

ความภูมิใจที่ช่วยให้เด็กๆ มีอนาคตที่ดี

ธงชัย เล่าให้ฟังว่า รู้สึกดีใจที่สามารถช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ให้เขามีโอกาส มีอนาคตที่ดี งานอีกด้านหนึ่งคืองานการศึกษาในระบบที่ต้องไปดูเพื่อไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบทั้งเรื่องระเบียบหลักเกณฑ์ ความเข้มงวดที่ไม่ยืดหยุ่นให้เด็กได้เรียนสิ่งที่อยากเรียนหรือตัวเองถนัดก็อาจทำให้เด็กต้องออกจากระบบได้ ดังนั้นเราอาจต้องผ่อนคลายให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่เขาสนใจ ไม่ใช่เรียนไปเยอะๆ แล้วไม่เคยได้เอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้ ตรงนี้ต้องเปลี่ยนวิธีคิดว่าเด็กอยากรู้สิ่งไหนก็ให้ทำสิ่งนั้น จะมีประโยชน์และป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา

“ที่น่าสนใจคือถามว่าทำไมเด็กอยากมาเรียนเขาบอกว่าถ้าไม่จบม. 3 จะต้องทำงานหนัก แต่ถ้าจบม. 3 แล้วก็จะทำงานสบายหน่อย ตรงนี้เด็กที่หลุดออกจากระบบพูดเองเลยนะครับ พอเขาได้ไปทำงานเขาก็จะรู้ด้วยตัวเองว่า หากไม่จบ ม.​3 ก็ต้องทำงานอีกหนักๆ ประเภทหนึ่ง ตรงนี้ทำให้เมื่อมีโอกาสเขาก็อยากกลับมาเรียน”​ ธงชัยกล่าวทิ้งท้าย