ภารกิจอันแน่วแน่ของนาเดีย โลเปส ผู้นำทางการศึกษาที่มีวิสัยทัศน์แห่งโปรแกรมพัฒนาสังคมและชุมชน

ภารกิจอันแน่วแน่ของนาเดีย โลเปส ผู้นำทางการศึกษาที่มีวิสัยทัศน์แห่งโปรแกรมพัฒนาสังคมและชุมชน

เมืองบราวน์สวิลล์ในนิวยอร์กเป็นหนึ่งในเมืองที่เต็มไปด้วยย่านชุมชนแออัดเเละความรุนแรง โรงเรียนในพื้นที่ก็มีเด็กนักเรียนด้อยโอกาสที่มาจากครอบครัวยากจน รวมถึงเด็กคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เข้าไปอยู่ในระบบการศึกษาในโรงเรียน ความหวังจะเข้าเรียนตามหลักสูตรปกตินั้นเเทบจะเป็นไปไม่ได้

การเผชิญหน้ากับความจริงอันเจ็บปวดนี้ ทำให้นักการศึกษาอย่างนาเดีย โลเปส ตัดสินใจเปิดโรงเรียนในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด เธอเปิดสถาบันการศึกษาที่ชื่อว่า Mott Hall Bridges Academy โรงเรียนที่มีสภาพแวดล้อมซึ่งเด็กด้อยโอกาสจะได้รับการสนับสนุนโดยคุณครูที่มีความเข้าใจ เป็นพื้นที่แห่งโอกาสทางการศึกษาใหม่และการเตรียมตัวสอบเข้าระดับมหาวิทยาลัย โรงเรียนแห่งนี้สามารถพิสูจน์ตัวเองได้ด้วยอัตราเด็กนักเรียนจบการศึกษามากถึง 98%

นาเดีย โลเปส ผู้เปิดโรงเรียนในคุก – ที่มาภาพ : Humans of New York

 

“ฉันเปิดโรงเรียนเพื่อปิดคุก”

นี่คือประโยคที่แสดงถึงภารกิจอันแน่วแน่ของเธอ นาเดียมีบทบาทเป็นผู้นำทางการศึกษา เธอเป็นผู้อำนวยการที่มีวิสัยทัศน์แห่งโปรแกรมพัฒนาสังคมและชุมชน The Lopez Effect ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Bridge to Brilliance และเป็น “ครูใหญ่” แห่ง  Mott Hall Bridges Academy เว็บไซต์ SmartBrief ได้มีโอกาสเข้าไปสัมภาษณ์นาเดียในประเด็นเกี่ยวกับการศึกษา และการสร้างสภาพแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ที่ช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ในพื้นที่บราวน์สวิลล์แห่งนี้

ความท้าทาย 4 ประการที่นาเดียต้องเผชิญ คือ การขาดแคลนครูที่มีความเข้าใจต่อนักเรียน, การมีงบประมาณจำกัดสำหรับเทคโนโลยีที่ใช้การสอน, การขาดการมีส่วนร่วมจากพ่อแม่ และแรงกดดันจากคนในย่าน ซึ่งเป็นความท้าทายที่น่าหนักใจและชวนถอดใจ แต่สิ่งแรกที่เธอเลือกทำ คือการเข้าไปเรียนรู้ภายในชุมชนให้ได้มากที่สุด บราวน์สวิลล์เองนั้นถือเป็นย่านที่ยากจนและมีการใช้ความรุนเเรงมากที่สุดในรัฐนิวยอร์ก โดย 41% ของครอบครัวในพื้นที่นั้นมีรายได้ต่ำระดับยากจนที่สุด

บราวน์สวิลล์ไม่ใช่เมืองที่มีคาเฟ่ ร้านหนังสือ หรือร้านอาหารนั่งสบาย เด็กในชุมชนจะถูกเรียกตัวเข้าเป็นสมาชิกของแก๊งค์ในช่วงราวมัธยม 3 โดยพ่อแม่ส่วนมาเป็นครอบครัวที่ไม่ได้รับการศึกษา

ในส่วนของการจัดจ้างครู จะมีคณะกรรมการจากหลากหลายสาขาและนักวิชาการ มาร่วมกันทำความเข้าใจว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของโรงเรียนนี้คือนักเรียน โดยจะมีการนำนักเรียนออกนอกสถานที่ไปยังย่านต่างๆ ใกล้เคียงเพื่อทำให้คนในพื้นที่รู้อยู่เสมอว่านักเรียนนั้นอาศัยอยู่ที่ไหนและใส่ใจประเด็นเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงเดินทางจากโรงเรียนกลับที่พัก

ที่มาภาพ : The New York Times

สิ่งที่น่าสนใจของ MHBA ก็คือการมีโปรแกรมดูเเลสุขภาพจิตสำหรับเด็กนักเรียนและครอบครัวของพวกเขา โดยเน้นที่อารมณ์ทางสังคมเเละโปรแกรมสุขภาพจิต เพื่อรับมือกับความทุกข์ทนหรือความเจ็บปวดที่เด็กนักเรียนและครอบครัวอาจเคยเผชิญมา

ตัวอย่างเช่นเมื่อ 4 ปีก่อน ได้มีความคิดริเริ่มให้ครูที่โรงเรียนทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาสำหรับเด็ก 12-15 คน ที่ปรึกษาจะได้รับการเรียนกว่า “เเชมป์เปี้ยน” โดยทำหน้าที่ตรวจสอบความรู้สึกรายสัปดาห์ สนับสนุนแบบตัวต่อตัว ติดตามผลการเรียน และพูดคุยกับครอบครัวเกี่ยวกับการเรียนหรือข้อกังวลในเรื่องอารมณ์ทางสังคม

หลังจากที่นายกเทศมนตรีได้เริ่มโปรแกรม The Shepherds Program ทางโรงเรียนเองก็ได้เพิ่มเติมคำแนะนำจากที่ปรึกษาและนักสังคมสงเคราะห์ ที่คอยทำหน้าที่ไปเยี่ยมที่บ้านและให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำหน่วยงานที่อยู่ภายในชุมชน ที่สามารถช่วยหรือรองรับครอบครัวที่มีรายได้น้อยในการรับคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาทางสุขภาพจิต

ที่มาภาพ : The New York Times

ตัวอย่างเช่น นักเรียนเกรด 8 จะได้ใช้เวลาทั้งปีไปกับคลาสคำแนะนำเพื่อรับมือกับช่วงเปลี่ยนสู่ระดับมัธยมปลาย ทั้งการใช้โซเชียลมีเดียและการจัดการกับประเด็นต่างๆ ในโลกจริง แม้ว่าในตอนนี้โรงเรียนจะปรับมาเรียนออนไลน์ แต่บริการเหล่านี้ก็ยังคงดำเนินต่อ รวมถึงการสนับสนุนเชิงสุขภาพจิตแบบกลุ่ม ด้วยการพบผู้ปกครองรายสัปดาห์

 

การศึกษาจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อย่างไร?

นาเดียกล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำนั้นมีอยู่ได้เพราะการละเลยของคนส่วนมากในสังคม ซึ่งยึดโยงอยู่กับเรื่องของเชื้อชาติ ชนชาติ อัตลักษณ์ ชาติพันธ์ุ เพศ เมื่อไหร่ที่โรงเรียนมีเจตนาในการสอนเด็กทั้งหมดด้วยหลักสูตรที่สะท้อนความเข้าใจเรื่องความหลากหลาย เมื่อนั้นเด็กนักเรียนจะเริ่มต้นเรียนรู้เกี่ยวกับความสำคัญของความเท่าเทียม มีมุมมองที่คำนึงถึงคนทุกกลุ่ม ดังนั้นเเล้วเมื่อเด็กนักเรียนเติบโตขึ้นไปเป็นผู้นำสังคม ผู้จัดการ ผู้อุทิศตัวให้กับชุมชนในอนาคต พวกเขาก็จะอยู่ในจุดที่สามารถกำหนดนโยบายและสร้างพื้นที่ที่เอื้อให้เกิดความเท่าเทียมในสังคมได้

“หลักการหนึ่งที่ฉันยึดถืออยู่เสมอคือ การแสดงตัว จะแสดงตัวอย่างไร แสดงตัวเมื่อไหร่ และแสดงตัวที่ไหนที่ทำให้ผู้คนคิดถึงลักษณะของคุณ ประเมินความซื่อตรงของคุณ เเละเริ่มสร้างความเชื่อใจจากคุณสู่คนอื่นๆ”

ในช่วงวิกฤต COVID-19 ทางโรงเรียน MHBA ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือการทำให้แน่ใจว่าเด็กนักเรียนแต่ละคนนั้นเข้าถึงอุปกรณ์เพียงพอและเข้าถึงอินเทอร์เน็ต หลายครัวเรือนมีคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวที่ต้องแบ่งกันใช้งาน หรือบางบ้านที่ต้องใช้ Kindles Xboxes หรือโทรศัพท์มือถือเพื่อเข้าถึงการเรียนออนไลน์

ในท้ายที่สุด สำหรับเด็กนักเรียนที่ต้องการอุปกรณ์ จะมี iPad ส่งไปให้ที่บ้านจากการสนับสนุนของกรมการศึกษาแห่งนิวยอร์ก มากไปกว่านั้นคือ 32% ของเด็กนักเรียนที่โรงเรียนนั้นอยู่ในโปรแกรม Individualized Education Program ทางโรงเรียนเพียงต้องทำให้แน่ใจว่าเด็กนักเรียนที่มีความต้องการเฉพาะได้รับการสนับสนุนตามจริง ซึ่งครอบคลุมถึงคุณครูที่พร้อมสอนอย่างเต็มความสามารถด้วยเช่นกัน

ทางนาเดียเอง เธอหวังว่าครูเเละทีมบุคลากรที่ทำงานในโรงเรียนจะได้รับการฝึกอบรมที่เพียงพอต่อการสอนออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการเป็นพันธมิตรร่วมมือกับบริษัทด้านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อผู้ใช้งานและตอบกับความต้องการของครูเเละนักเรียน สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องสุขภาพจิตของนักเรียน ครอบครัว ครู เเละบุคลากรในโรงเรียน ที่อาจเกิดความเครียดอันมาจากการแยกตัวทางสังคมหรือการปรับรูปแบบการเรียนรู้เป็นออนไลน์

 

ที่มา : Fighting education inequality with empathy, opportunity