ดึงจังหวัด หอการค้า เอกชน เพิ่มทักษะเด็กเสมอภาค ต้นแบบบริหารครบวงจร

ดึงจังหวัด หอการค้า เอกชน เพิ่มทักษะเด็กเสมอภาค ต้นแบบบริหารครบวงจร

จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตของโรงเรียนบ้านสว้า อ.บ่อเกลือ จ.น่าน  ด้วยข้อจำกัดทางฐานะทางเศรษฐกิจ ทำให้นักเรียนในชั้นมัธยมปลายจำนวนมากทยอยลาออก​เพื่อไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัวจนบางปีเหลือนักเรียนอยู่ไม่ถึง 40% นับเป็นความสูญเสียทั้งโอกาสทางการศึกษาและอนาคตหลายคนกลับต้องออกมาเป็นลูกจ้างทำไร่ไถนาแทนที่จะได้จบออกไปเป็นแรงงานคุณภาพมีงานดีมีเงินดี

ปกรณ์ ศศิวัจน์ไพสิฐ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสว้า จึงได้คิดหาแนวทางการแก้ปัญหาด้วยการจัดโครงการฝึกทักษะอาชีพให้กับนักเรียนตั้งแต่ชั้น ม.1 ผ่านวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ ให้เด็กนักเรียนได้มีทักษะอาชีพติดตัว หากวันหนึ่งต้องออกจากระบบการศึกษาไปประกอบอาชีพก็จะได้เป็นแรงงานที่มีทักษะมีงานมีเงินที่มากขึ้นกว่าเดิม หรือหากจะศึกษาต่อก็จะได้ค้นพบว่าตัวเองชอบอะไรตั้งแต่เนิ่นๆ

​“สิ่งที่ดีที่สุดคือทำให้เขาค้นพบตัวเองว่าเหมาะกับอะไร บางคนอยากเป็นช่าง บางคนชอบเกษตรก็จะได้โฟกัสหาความรู้ตรงนั้นไปเลยหรือออกไปเรียนสายอาชีพเลย เด็กบางคน ออกไปเป็นลูกจ้างเขา ไม่มีความรู้อะไรไปหิ้วถังปูน แบกกระสอบปูนได้ค่าจ้างวันละ​120 บาท แต่หากเขาได้ฝึกทักษะอาชีพปูกระเบื้องได้ค่าจ้างวันหนึ่งจะสูงถึง 500 บาท ดังนั้นหากจะออกก็ควรจะออกไปเป็นแรงงานที่มีทักษะไม่ใช่แค่ไปรับจ้าง”  ผอ.ปกรณ์ กล่าว

สำหรับโครงการฝึกทักษะอาชีพเริ่มจากการเชิญผู้ว่าราชการจังหวัด พาณิชย์จังหวัด หอการค้า เอกชนที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่มาร่วมกันแสดงความคิดเห็นว่าทักษะแรงงานด้านไหนที่จำเป็นในอนาคต และลักษณะของคนแบบไหนที่จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน จนตกผลึกเป็นโครงการฝึกอาชีพที่เชิญวิทยากรจากวิทยาลัยการอาชีพมาสอนให้นักเรียนทั้งทักษะอาชีพและลักษณะนิสัยที่ต้องมีอิทธิบาท 4 ในการทำงาน

โดยทักษะอาชีพจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ  1  เกษตร เช่น การปลูกผัก เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงหมู เน้นที่การลงมือปฏิบัติ ​ 2 ช่างอุตสาหกรรมทั้งช่างเชื่อม ช่างก่อสร้าง รวมไปถึงการประดิษฐ์ของจากทรัพยากรที่มีในพื้นที่ เช่น ประดิษฐ์นาฬิกาจากเศษไม้ รวมกับงานโลหะ และ 3 การท่องเที่ยว โรงแรม รองรับกับงานในพื้นที่ซึ่ง อ.บ่อเกลือ ถือเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวที่กำลังเป็นที่นิยม ล่าสุดเริ่มมีการอบรมทำธุรกิจร้านกาแฟ

ผอ.โรงเรียนบ้านสว้า เล่าให้ฟังว่า ด้วยอ.บ่อเกลือเป็นเมืองท่องเที่ยว ปีที่ผ่านมามีการทำเสื้อที่ระลึกขายโดยประยุกต์ไปกับวิชาศิลปะที่เด็กจะต้องทำศิลปะนิพนธ์ตามโจทย์ของแต่ละปี เช่น ภาพขาวดำ วิถีชนเผ่า เมื่อเด็กส่งงานแล้วก็จะคัดเลือกผลงานมาทำเป็นแบบเพื่อพิมพ์สกรีนลงเสื้อ ไปขายออกบู๊ทที่ กาดละอ่อนน่าน ร่วมกับโรงเรียนขยายโอกาสทั่วจังหวัดน่าน  3 วันได้เงินมาเกือบ 2 แสนบาท ซึ่งเป็นการบริหารจัดการของเด็กๆ เอง

“เด็กบางคนจากที่เคยเข้าโครงการได้ฝึกทักษะเรื่องเครื่องยนต์เล็กเป็นความรู้พื้นฐานติดตัว พอต่อไปก็ไปยอดหาความรู้เพิ่มเติม ตอนนี้กลับมาเปิดร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ร้านใหญ่ประจำหมู่บ้าน ​ตรงนี้เราก็ภูมิใจ ซึ่งเด็กแต่ละคนจะได้เลือกเรียนทักษะอาชีพที่ตัวเองสนใจ 2-3 ชม. ต่อสัปดาห์ รวมทั้งมีทั้งชุมนุม หรือชมรมให้ฝึกเพิ่มเติม เพื่อให้เขาได้ลองทำ ลองฝึกในสิ่งที่เขาคิดว่าชอบ หากไม่ชอบก็ลองเปลี่ยนไปฝึกอย่างอื่นได้ หากชอบก็อาจเอาดีไปเรียนทางด้านสายอาชีพด้านนั้นๆ โดยตรงได้ในอนาคต”

นอกจากนี้ ในส่วนของเงินสนับสนุนนักเรียนยากจนพิเศษ หรือนักเรียนทุนเสมอภาค จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในเทอมที่แล้ว  ทางโรงเรียนได้นำมา ​จัดโครงการให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติทางด้านการเกษตร ทั้งปลูกผัก เลี้ยงไก่ขายเข้าโครงการอาหารกลางวัน และอาหารเช้าของเด็กพักนอนที่โรงเรียน ​ซึ่งแต่ละปีจะต้องซื้อผักประกอบอาหาร​ 12-14 ตัน ​จึงมีแนวคิดที่จะลดการซื้อและหันมาผลิตเองโดยให้เด็กมีรายได้เสริมด้วย ส่วนเทอมถัดไปก็จะนำเงินที่ได้ไปพัฒนาในโครงการฝึกทักษะอาชีพด้านช่างและท่องเที่ยวต่อไป

ปกรณ์ อธิบายว่า ​จากโครงการฝึกทักษะการเกษตรที่ผ่านมา แต่ละวันเด็กจะผลิตไข่ได้ 2-3 แผง เขาก็จะขายส่งเข้ามาในโครงการอาหารของโรงเรียนอย่างเป็นระบบ ในรูปแบบของสหกรณ์การผลิต สหกรณ์ร้านค้า ที่จะได้เรียนรู้แบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิต การทำงานร่วมกับผู้อื่น ไปจนถึงการทำบัญชี  ซึ่งสุดท้ายแล้วเด็กก็จะมีรายได้วนกลับมาเป็นค่าขนมใช้ซื้อของใช้ที่จำเป็น แบ่งเบาภาระผู้ปกครองได้อีกทางหนึ่งด้วย