ยิ่งเจอไวรัส COVID-19 หนูน้อยก็ยิ่งต้องการหนังสือ

ยิ่งเจอไวรัส COVID-19 หนูน้อยก็ยิ่งต้องการหนังสือ

สถานการณ์ในปัจจุบันที่ต้องเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้รัฐบาลนานาประเทศทั่วโลกบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ จำกัดการเดินทาง และกักตัวภายในบ้านออกมาใช้อย่างเข้มงวด ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้ใหญ่วัยทำงานเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อกิจวัตรของเหล่าสมาชิกตัวน้อยในบ้านอย่างมากอีกด้วย

เพราะการที่จำเป็นต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับพ่อแม่ภายในบริเวณบ้าน ย่อมหมายถึง เด็กๆ ทั้งหลายไม่สามารถออกไปวิ่งเล่นกับเพื่อน ไปออกกำลังกายในสวน ไปเล่นกีฬา จับกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ และการไปโรงเรียนเพื่อเรียนหนังสือ

มองในแง่บวก การกักตัวอยู่แต่ในบ้านเพื่อหยุดแพร่เชื้อ อาจช่วยให้พ่อแม่ลูกได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกันมากขึ้น แต่การถูกจำกัดบริเวณ ซึ่งขัดกับวิสัยของเด็ก ก็อาจทำให้เหล่าสมาชิกตัวน้อยของบ้าน รู้สึกอึดอัดขับข้องใจ ไม่เข้าใจ และยากที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหันที่เกิดขึ้นจากไวรัสโควิด-19 ได้เช่นกัน 

โดยแนวทางแก้ไขที่ดีที่สุดก็คือการหากิจกรรมในบ้านให้เด็กๆ ได้ทำ

และหนึ่งในนั้นที่สมควรทำมากที่สุดก็คือการอ่านหนังสือ

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) กล่าวว่า

ช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้ เป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ ทั้งหลายต้องการหนังสือมากที่สุด พร้อมเรียกร้องผลักดันให้รัฐบาลนานาประเทศที่ประกาศใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) จัดหาหนังสือมาแจกจ่ายให้แก่เด็กๆ โดยเฉพาะเด็กในครอบครัวยากจน

เหตุผลเพราะหนังสือมีบทบาทอย่างมากต่อการช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัวของตนเองได้ง่ายมากขึ้น 

ทั้งนี้ ผลการศึกษาวิจัยเมื่อไม่นานมานนี้ของ OECD พบว่า เด็กวัย 5 ขวบที่พ่อแม่อ่านหนังสือให้ฟัง หรือสามารถเข้าถึงหนังสือได้มากกว่า มีระดับความเชื่อมั่นไว้ใจ ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ทักษะทางสังคม และความใจเย็นมากกว่าเด็กในวัยเดียวกันที่ไม่ได้หยิบจับหนังสือขึ้นมาอ่าน โดยข้อดีที่ค้นพบจากการอ่านหนังสือนี้ ถือเป็นประโยชน์เพิ่มเติมจากบทบาทของหนังสือที่มีผลต่อความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ และทักษะการเรียนรู้ในด้านอื่นๆ ของเด็กทุกกลุ่มชนชั้นเศรษฐกิจสังคม 

ขณะเดียวกัน การที่ศูนย์ดูแลเด็กและโรงเรียนต้องระงับการให้บริการเป็นการชั่วคราว สภาพสิ่งแวดล้อมภายในบ้านจึงมีความสำคัญอย่างมากในการเติมเต็มความต้องการของเด็กๆ ทั้งในด้านรู้สึกปลอดภัย ความสุข และการศึกษาเล่าเรียน

รายงานระบุว่า ในแง่ของการศึกษาเล่าเรียน เด็กโตสามารถเรียนจากบ้านได้อย่างเต็มที่ผ่านการเชื่อมโยงกับโลกอินเทอร์เน็ต ที่ทำให้เข้าถึงบรรดาทรัพยากรที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียน ไม่ว่าจะเป็น หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (อีบุ๊ค) และกิจกรรมออนไลน์ต่างๆ แต่กับเด็กที่มาจากครอบครัวยากจน หรือเป็นเด็กที่อยู่ในวัยเล็ก การเรียนทางไกลผ่านออนไลน์กลับไม่อาจทำได้หรือเป็นประโยชน์สักเท่าไรนัก

 

ช่องว่างของโอกาสในการเรียนรู้จะยิ่งกว้างมากขึ้น

OECD เปิดเผยว่า ในช่วงเวลาปิดภาคเทอมใหญ่ราว 2 เดือน เด็กจากครอบครัวยากจน ที่การเข้าถึงหนังสือและอินเทอร์เน็ตทำได้ยาก จะสูญเสียเวลาในการเรียนหนังสือนานร่วมเดือน ตรงกันข้ามกับเด็กที่ครอบครัวมีฐานะ ที่สามารถเรียนรู้เพิ่มพูนความรู้ได้เสมอในช่วงปิดเทอมดังกล่าว ซึ่งจะเรียนรู้ได้มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับ กิจกรรมที่เด็กๆ ร่วมทำร่วมกับชุมชนหรือครอบครัว

สิ่งที่ OECD วิตกก็คือ ช่องว่างความแตกต่างของโอกาสในการเรียนรู้ช่วงโรงเรียนปิดนี้ จะยิ่งกว้างมากขึ้น เว้นเสียแต่ว่าจะมีใครสักคนก้าวออกมาให้ความช่วยเห็นเด็กครวบครัวฐานะยากจนเหล่านี้ 

ที่ผ่านมา องค์กรการกุศลและรัฐบาลนานาประเทศทั่วโลกต่างเห็นความสำคัญและมุ่งเพิ่มโอกาสให้เด็กได้เข้าถึงหนังสือมากขึ้น ในฐานะหนึ่งในแนวทางสำคัญของการยกระดับความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ตั้งแต่วัยเยาว์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในภายภาคหน้า และหลายโครงการมีเป้าหมายช่วยเหลือเด็กจากครอบครัวยากจน 

ตัวอย่างเช่น หนังสือในโครงการ Homes programme ที่ริเริ่มโดย นาย Alan Duffy ในประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งจะคอยจัดหาหนังสือให้แก่เด็กที่มีฐานะครอบครัวยากจน ผ่านศูนย์อนุบาลเด็กเล็กหรือโรงเรียนต่างๆ  โครงการ Dolly Parton’s Imagination Library ที่คอยจัดส่งหนังสือใหม่ทางพัสดุไปรษณีย์ไปให้เด็กอนุบาลโดยตรง ขณะที่ โครงการห้องสมุดเคลื่อนที่อย่าง BookBuses ในอังกฤษ ก็เปิดให้บริการให้ยืมหนังสือแก่เด็กๆ ในชุมชนยากจน 

อย่างไรก็ตาม โครงการดีๆ ข้างต้นเหล่านี้ กลับต้องระงับเป็นการชั่วคราว เช่นเดียวกับการปิดโรงเรียน ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องน่าเสียดายว่า ช่วงเวลาที่ได้อยู่กับบ้านจะเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขที่เด็กๆ จะได้อ่านหนังสือ ร่วมกับพ่อแม่ผู้ปกครอง

OECD พบว่า เด็กจากครอบครัวยากจนมีโอกาสเข้าถึงหนังสือเด็กที่บ้านน้อยกว่าเด็กจากครอบครัวร่ำรวยถึง 4 เท่า ยิ่งในห้วงเวลานี้ที่ พ่อแม่ของเด็กเหล่านี้ไม่สามารถพาลูกไปห้องสมุดหรือซื้อหนังสือให้ได้ ก็ยิ่งทำให้การกักตัวกลายเป็นช่วงที่เด็กจะเสียโอกาสทางการศึกษาไปอย่างน่าเสียดาย แถมครอบครัวที่มีรายได้จำกัดก็กลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้เด็กไม่สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้บนโลกออนไลน์

พร้อมกันนี้ OECD แนะนำว่า ขณะนี้มีห้องสมุดโรงเรียนและห้องสมุดสาธารณะมากมายที่ปิดให้บริการอยู่ ซึ่งหนังสือที่อัดแน่นอยู่ในห้องสมุดเหล่านั้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการแจกจ่ายให้ยืมแก่เด็กๆ ที่ต้องการได้ อีกทั้ง OECD ยังเชื่อว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีวิธีการในการจัดส่งหนังสือได้อย่างปลอดภัยปราศจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ ผ่าน

  • เครือข่ายองค์การการกุศลและการศึกษาที่มีอยู่ในการจัดส่งหนังสือไปถึงบ้านของเด็กโดยตรง หรือ
  • ซูเปอร์มาร์เก็ต และตลาดจำหน่ายอาหารในแหล่งชุมชนยากจน (หรือสาขาที่มีครอบครัวรายได้น้อยเข้าไปใช้บริการ)
  • ตั้งจุดแจกจ่ายหนังสือเพื่อการนี้โดยเฉพาะ

ที่มา : Rowena Phair
นักวิเคราะห์อาวุโส ของคณะกรรมการเพื่อทักษะและการศึกษา
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (
OECD)
https://bit.ly/2Rjw4QX