เจาะลึกนวัตกรรมทางการเงินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

เจาะลึกนวัตกรรมทางการเงินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้นไม่มีสูตรสำเร็จที่ตายตัว เพราะแต่ละหน่วยงาน แต่ละภาคส่วนล้วนมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันไป แต่จุดหมายปลายทางนั้นมีเหมือนกันคือ การอุดช่องว่างที่มีให้เหลือน้อยที่สุด แล้วนวัตกรรมทางการเงินจะมาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้อย่างไร มาดูแนวคิดจากการอภิปรายในหัวข้อ “เจาะลึกนวัตกรรมทางการเงินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ผ่านเรื่องราวและมุมมองของ Speakers ชั้นนำ ที่ได้พูดคุยกันไปเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา วันแรกของการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา “ปวงชนเพื่อการศึกษา”

คุณ Stephen Fraser รองผู้จัดการกองทุนการศึกษาของประเทศอังกฤษที่ช่วยเหลือนักเรียนด้อยโอกาส กล่าววว่า เราเชื่อเรื่องการนำหลักฐานมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการสร้างระบบการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับเด็กนักเรียน เพราะถึงแม้เราจะมีความตั้งใจในการช่วยเหลือเด็กให้ดีอย่างไร หากไม่มีหลักฐานยืนยันความสำเร็จผลก็จะไม่เป็นไปตามที่คิด ดังนั้นการเก็บหลักฐานรวมถึงการนำหลักฐานมาใช้และการสื่อสารรวมถึงการทำงานร่วมกับครูผู้สอนให้มีความสามารถและมีความรู้ในการนำหลักฐานไปใช้ก็จะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่ช่วยให้ครูตัดสินใจได้ดีขึ้น ดังนั้นองค์กรของเขาจึงพัฒนาเครื่องมือขึ้นมาหนึ่งชิ้นเพื่อเป็นคู่มือที่ทำให้โรงเรียนนำไปปรับใช้ได้

เครื่องมือนี้เรียกว่า “Teaching and learning tool kit”  เป็นเครื่องมือที่จะช่วยรวบรวมข้อมูลโครงการต่างๆ ของแต่ละโรงเรียน พร้อมประเมินประสิทธิภาพของโครงการ ซึ่งโรงเรียนสามารถนำผลจากการประเมินนี้ ไปประกอบการเลือกทำโครงการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดสาหรับกลุ่มเด็กด้อยโอกาสได้  โดยเครื่องมือจะเก็บข้อมูลตั้งแต่งบประมาณ ไปถึงผลสำเร็จของโครงการและหลักฐานสนับสนุนความสำเร็จของโครงการต่างๆ ด้วย

“เราได้พบข้อมูลที่น่าสนใจจากการเก็บหลักฐานมาตลอดการทำงานว่า งบประมาณทางการศึกษาก้อนใหญ่ที่สุดควรถูกใช้ในเรื่องการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในแต่ละวัน เพราะเป็นสิ่งที่นักเรียนต้องเจอทุกวัน เราจึงต้องลงทุนกับการพัฒนาครูที่มีคุณภาพ หมายถึงการลงทุนในการคัดเลือกบุคคลที่จะมาเป็นครู และนอกจากการมีครูที่ดีที่เก่งแล้ว ก็ต้องมีระบบในการสนับสนุนให้เขาอยู่กับเด็กๆ นานโดยไม่ลาออก โดยเฉพาะตอนต้นต้องสนับสุนนให้คุณครูสามารถพัฒนาความสามารถและความเชี่ยวชาญของเขาได้ เพื่อไม่ให้เขาเปลี่ยนไปทำงานอาชีพอื่น” คุณ Stephen Fraser ระบุ

ขณะที่ รศ.ดร.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ นักเศรษฐศาสตร์และอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา งบประมาณด้านการศึกษาของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 200% ขณะที่งบประมาณที่ถูกนำไปจัดสรรในเรื่องความยากจนมีอยู่ 0.5 % เท่าเดิมมาตลอด โดยกระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากที่สุดทุกปี โดยเฉลี่ยแล้วรัฐบาลใช้งบประมาณทั้งหมด 20% ไปกับการศึกษา โดยการสนับสนุนงบประมาณการศึกษารายหัวของประเทศไทยไม่ได้รวมถึงค่าจ้างของบุคลากรทางการศึกษาต่างๆ เพราะค่าจ้างเหล่านี้คิดเป็น 75% ของงบประมาณการศึกษาทั้งหมด ซึ่งวิธีการสนับสนุนงบประมาณรายหัวสำหรับเด็กๆ จะเป็นประโยชน์กับโรงเรียนใหญ่มากกว่า แต่มีเงินเพียงส่วนน้อยที่จะลงไปช่วยเหลือให้ตรงตามความต้องการของเด็กๆ อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ รศ.ดร.ชัยยุทธ พบข้อเท็จจริงว่าโรงเรียนของรัฐบาลที่มีขนาดเล็กมากจะได้รับงบประมาณที่ไม่เพียงพอ และโรงเรียนเล็กๆ เหล่านี้ สามารถรองรับนักเรียนกว่า 1 ล้านคนที่อยู่ในครอบครัวที่ยากจน ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเห็นได้อย่างชัดเจนว่าผลการศึกษาระหว่างโรงเรียนเล็ก โรงเรียนใหญ่ โรงเรียนชนบทและโรงเรียนในเมืองมีช่องว่างที่เพิ่มมากขึ้น และถึงแม้ว่าการศึกษาในบ้านเราจะเป็นการศึกษาแบบฟรี แต่บ้านของเด็กๆ ที่ยากจนก็ยังต้องใช้จ่ายเงินในสัดส่วนที่สูงกว่ารายได้ทั้งหมดของครอบครัว เมื่อเทียบกับเด็กๆ ที่บ้านมีฐานะร่ำรวย

ในประเทศไทยมีเด็กนักเรียนที่ยากจนประมาณ 20% ที่อยู่ในการศึกษาขั้นพื้นฐาน และคิดเป็นประมาณ 1.8 ล้านคน โดยในจำนวนนี้มี 670,000 คน ที่หลุดออกจากระบบการศึกษา และเมื่อนำมาคิดเป็นความสูญเสียทางเศษฐกิจออกมาจะมากถึง 1.7% ของ GDP ในประเทศ คิดเป็นเงินได้มากถึง 6.5 สองพันล้านดอลล่าร์ 

นอกจากนี้เราพบว่าปัญหาในการลงเก็บข้อมูลของเด็กๆ จำนวน 2 ล้านคนนั้นมีความท้าทายอย่างยิ่ง เราจึงได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นเพื่อช่วยให้คุณครูสามารถเก็บข้อมูลเด็กระหว่างลงเยี่ยมที่บ้านได้ ซึ่งอยู่ในภารกิจหลักที่คุณครูต้องดำเนินการ ภายใต้ชื่อ “โครงการพัฒนาระบบการจัดการทรัพยากรเพื่อพัฒนาสุขภาพและการศึกษาของนักเรียน” ซึ่งกระบวนการในการเก็บข้อมูลผ่านแอปฯ นี้จะใช้ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล  15-20 นาทีต่อหนึ่งครอบครัว 

โดยข้อมูลที่เราต้องการคือรายได้ต่อครัวเรือน จึงได้มีการออกแบบชุดคำถามที่จะให้รู้สภาพรายได้ของแต่ละครัวเรือนของเด็กๆ ว่าพ้นเส้นความยากจนหรือไม่ เช่น คำถามเรื่องจำนวนคนที่ไม่มีรายได้ครอบครัว ลักษณะบ้านที่อยู่อาศัย พาหนะที่ใช้ที่บ้าน และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ครอบครัวมีเท่าไหร่ ซึ่งในกระบวนการการตรวจสอบข้อมูลเราทำงานร่วมกับชุมชนในการตรวจสอบข้อมูลที่แท้จริงอีกด้วย  หลังจากที่ได้ตรวจสอบข้อมูลเรียบร้อยแล้วเราก็จะทำการโอนเงินเข้าบัญชีให้แต่ละครอบครัวที่ยากจนโดยตรงเลย เพื่อให้การสรรงบประมาณด้านการศึกษามุ่งเน้นความเสมอภาคมากขึ้น

“ซึ่งจากจำนวนเด็ก 2 ล้านคนที่เราลงเก็บข้อมูลผ่านโครงการนี้ กสศ.สามารถช่วยให้เด็กไม่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษามากถึง 700,000 คน และในส่วนของเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไปแล้วเราก็ลงไปหาว่าเด็กอยู่ที่ไหน และต้องการความช่วยเหลืออะไร พร้อมหาโปรแกรมที่เหมาะสมสำหรับเด็ก ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการช่วยเหลือสูงกว่าเด็กลุ่มแรก เพราะเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษามากระจายอยู่ทั่วประเทศไทย และเป็นความท้าทายของ กสศ. ในการขยายการช่วยเหลือให้ใหญ่และครอบคลุมมากขึ้นในอนาคต เพราะเรายังขาดในเรื่องของทรัพยากร งบประมาณ และขีดความสามารถขององค์กร”

“การที่จะทำให้การศึกษามีคุณภาพนั้นไม่ใช่แค่เรื่องงบประมาณเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงเราต้องพัฒนาคุณครูที่มีคุณภาพควบคู่กันไปด้วย” รศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าวทิ้งท้าย

ด้านคุณ Heymin Lee ผู้บริการองค์กรแพนอิมแพคแห่งเกาหลีใต้กล่าวว่า องค์กรของเธอเป็นที่แรกที่นำโครงการพันธบัตรเพื่อสังคมหรือ (SIB) มาใช้ ซึ่งโครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรแพนอิมแพคและรัฐบาลกรุงโซลของเกาหลีใต้ โดยจะเป็นลงการลงทุนผ่านโครงการสาธารณะทางสังคมต่างๆ ของรัฐ ซึ่งจะทำให้รัฐลดการใช้งบประมาณอย่างเสียเปล่าและสามารถจัดสรรงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ  สำหรับรูปแบบการลงทุน SIB นั้นนักลงทุนภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการจะเป็นคนนำเงินมาลงทุนผ่านโครงการสาธารณะของรัฐ แล้วรัฐจะเป็นคนจ่ายเงินคืนให้กับนักลงทุนต่อเมื่อได้ผลตามที่ต้องการ ดังนั้นรัฐบาลก็เลยจะมีความเสี่ยงลดลงด้วย

โครงพันธบัตรเพื่อสังคม หรือ (SIB) เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ช่วยเหลือเด็กๆ ที่เรียนช้า ที่อยู่ในบ้านพักเด็กของรัฐบาล ซึ่งเราจะลงไปช่วยเหลือพัฒนาคุณชีวิตและสุขภาพจิตของเด็กและช่วยวางทักษะทางสังคมให้กับเด็กด้วย นอกจากนี้ในโครงการยังมีการพัฒนาไอคิวของเด็กๆ เพื่อจะให้เด็กๆ สามารถใช้ชีวิตและเป็นประชาชนที่มีคุณภาพได้  ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับทางตะวันตกแล้วโครงการนี้ยังเป็นโครงการที่ใหม่อยู่สำหรับประเทศในแถบเอเชีย เพราะปัจจุบันมีแค่ 2 ประเทศที่เริ่มมีการนำโครงการในรูปแบบนี้มาใช้คือประเทศเกาหลีกับประเทศญี่ปุ่น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วประเทศในแถบทวีปเอเชียมีศักยภาพที่จะสามารถนำมาใช้ได้

โครงการ SIB พิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กที่มีปัญหาในการเรียนรู้ได้ และโครงการสามารถดำเนินงานมาเป็นระยะเวลานานได้ ซึ่งเวลาที่เราจัดความช่วยเหลือให้เด็กเราจะช่วยในทุกเรื่องรวมถึงปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมรอบข้างเด็กด้วย เพราะเด็กที่มีปัญหาในการเรียนรู้นั้นก็ไม่ได้มาจากเรื่องไอคิวอย่างเดียว แต่ปัจจัยสภาพแวดล้อมรอบข้างก็มีผลกระทบกับพวกเขาด้วย

ทั้งนี้โครงการประสบความสำเร็จเกินจากเป้าหมายที่ตั้งไว้และรัฐบาลจ่ายเงินต้นคืนให้กับนักลงทุนและจ่ายดอกเบี้ย 25% ให้กับภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการด้วย   ซึ่งตอนนี้รัฐบาลก็ได้เริ่มโครงการ SIB ในเฟสที่ 2 แล้ว ซึ่งจะเน้นไปที่กลุ่มเยาวชนที่ว่างงาน