พลังพื้นที่ท้องถิ่นจะพลิกโฉมการศึกษาให้เสมอภาคได้อย่างไร?

พลังพื้นที่ท้องถิ่นจะพลิกโฉมการศึกษาให้เสมอภาคได้อย่างไร?

หากจะพูดถึงการสร้างความภาคทางการศึกษา แน่นอนว่าลำพังหน่วยงานด้านการศึกษาอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอที่จะอุดช่องว่างความเหลื่อมล้ำไปได้ แต่ต้องอาศัยพลังจากทุกภาคส่วนมาร่วมด้วยช่วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนท้องถิ่นที่มีบทบาทสำคัญไม่น้อยในเรื่องนี้ จึงเป็นที่มาของการอภิปรายในหัวข้อ “พลังพื้นที่ท้องถิ่นจะพลิกโฉมการศึกษาให้เสมอภาคได้อย่างไร?” จากการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา “ปวงชนเพื่อการศึกษา” โดยหัวข้อนี้ได้มีการพูดคุยกันไปเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา ผ่านแนวคิดของเหล่า Speakers ผู้คลุกคลีทำงานในภาคชุมชนท้องถิ่น

คุณ Kristiina Erkkila MDI Public,Finland กล่าวว่า ในประเทศฟินแลนด์ เราเชื่อในพลังของการศึกษาและความรู้ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างประเทศ ด้วยความที่เรามีประชากรแค่ 5 ล้านคน เราจึงต้องใช้ทุกอย่างให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด  

ทั้งนี้การปฏิรูปการศึกษาในฟินแลนด์เริ่มในช่วงทศวรรษ ต้นปี 1960 – 1970 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ประเทศเปลี่ยนเป็นรัฐสวัสดิการ โดยการปฏิรูปการศึกษาในช่วงนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสที่เท่าเทียมกัน และหนึ่งในสิ่งที่เราทำในการปฏิรูปการศึกษาคือการให้เด็กๆ เรียนฟรี 9 ปี  นอกจากนี้ประเทศของเรามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาหลายฉบับซึ่งหน่วยงานแต่ละหน่วยงานที่อยู่ในระบบการศึกษาก็จะมีกฎหมายเป็นของตัวเอง แต่กฎหมายจะมีแนวคิดในไปในทางเดียวกันคือต้องให้การศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับทุกคนฟรีในทุกระดับตั้งแต่ก่อนประถมไปจนถึงการศึกษาระดับสูง และต้องสามารถเข้าถึง เงินความช่วยเหลือต่างๆ ด้วย โดยระบบการศึกษาของประเทศเรามีความยืดหยุ่นสูงมาก และได้รับการออกแบบมาเพื่อที่จะให้ทุกคนมีโอกาสอย่างเท่าเทียมกันและสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต 

การศึกษาเป็นหัวใจของสังคมฟินแลนด์ โดยมีความเชื่ออันแรงกล้าในการลงทุนด้านการศึกษาและความเท่าเทียม   ระบบการศึกษาของประเทศเราจึงอยู่บนพื้นฐานความเชื่อ ความไว้วางใจและความรับผิดชอบ ระบบการศึกษาของประเทศเรา ไม่มีการสอบเพื่อวัดผลการเรียนรู้ ไม่มีการจัดอันดับโรงเรียนเรา ไม่มีการเข้ามาตรวจสอบพื้นที่โรงเรียนและครูต่างมีบทบาทของตนเองและมีอิสระในการทำงาน 

เราได้พัฒนาระบบการศึกษาร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งในระดับประเทศ ท้องถิ่น สหภาพครู ตัวแทนภาคประชาชน ผู้ปกครอง นักเรียน หน่วยงานทางการศึกษาต่างๆ เพื่อให้ทุกคน มีส่วนร่วม และมีพันธะสัญญาในการทำงาน จึงทำให้เราดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน  ทั้งนี้การทำให้เกิดความเท่าเทียมอยู่ในระบบการศึกษาอาจจะต้องใช้ทรัพยากรทั้งเวลาและเงิน รวมทั้งต้องมีความมุ่งมั่นในระยะยาว อาจจะมีความท้าทายเกิดขึ้นแต่เราก็จะเดินหน้าปฏิรูปการศึกษาต่อไป ซึ่งเราตั้งเป้าที่จะลดการกีดกันทางสังคมและเพิ่มจำนวนปีในการศึกษาภาคบังคับให้เด็กๆ ในประเทศของเราได้เรียนฟรีเพิ่มขึ้นมากด้วย 

“การปฏิรูปการศึกษาเพื่อสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นไม่ใช่สิ่งที่ทำง่ายและต้องใช้ความพยายามอย่างมาก แต่การศึกษาก็เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากเกินกว่าที่จะทิ้งให้ครูผู้สอนหรือผู้ให้การศึกษาเป็นคนรับผิดชอบเพียงคนเดียว ซึ่งโมเดลความสำเร็จของประเทศฟินแลนด์ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกๆ คนที่มุ่งมั่นจะสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับเด็กๆในประเทศของเรา” Kristiina Erkkila เน้นย้ำ

ด้านคุณสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีภูเก็ต กล่าวว่า การจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจัดตามความพร้อมและความต้องการของพื้นที่ โดยเราสามารถจัดการศึกษาได้ทุกระดับทั้งในและนอกระบบและการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย รวมถึงวิธีการประเมินให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด การจัดการศึกษาของเทศบาลนครภูเก็ตถือว่าเป็นการบริการจัดการการศึกษาทั้งตลอดชีวิต และทุกระดับ ดังนั้นในเรื่องของการกระจายอำนาจจึงเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความเสมอภาค เพราะการกระจายอำนาจจะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด จากการที่เราลดขั้นตอนของการปฏิบัติงานรวมถึงการตัดสินใจ ประชาชนก็สามารถที่จะร่วมคิดร่วมทำรวมถึงร่วมตัดสินใจในทุกมิติ สิ่งสำคัญคือเราสามารถแก้ปัญหาได้ตามบริบทของพื้นที่ มีรูปแบบการกระจายอำนาจเพื่อส่งเสริมในเรื่องของความเสมอภาค   

นอกจากนี้เรายังให้ความสำคัญของข้อมูลของนักเรียนและผลการเรียนของเด็กทุกระดับ และหัวใจสำคัญของการทำพิมพ์เขียวด้านการศึกษาคือ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในทุกกลุ่มที่ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของจังหวัดและประเทศ รวมถึงต้องให้ความสำคัญในเรื่องของความยั่งยืนด้วย

เราคาดหวังว่าเราจะมีการเตรียมความพร้อมของเด็กและเยาวชนให้เข้าสู่การเป็นเด็กที่มีความเป็นสากลและเรื่องของการวัดความถนัดและความเป็นเลิศของนักเรียนเด็กอยากเรียนอะไรต้องได้เรียนและการยกระดับทางความสำเร็จทางการศึกษา การมีงานทำ และการเป็นคนดี นี่คือการคาดหวังของผู้ที่มาร่วมกันในการทำพิมพ์เขียวด้านการศึกษา

“จะเห็นได้ว่าท้องถิ่นก็สามารถมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและสังคมได้ ด้วยการใช้พิมพ์เขียวด้านการศึกษาในการบูรณาการ ทั้งคนภายนอกและภายในสำนักการศึกษา ทั้งในภาครัฐและภาคประชาสังคม ที่สำคัญพิมพ์เขียวด้านการศึกษาจะช่วยเด็กที่จะหลุดออกไปจากระบบได้ เพราะเราจะมีข้อมูลทุกอย่างของเด็ก การกระจายอำนาจเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจ การจัดการในเรื่องของทรัพยากรในการใช้หลักธรรมาภิบาล” คุณสมใจ กล่าว

ขณะที่คุณ Kwesi Rollins รองประธานด้านผู้นำและการมีส่วนร่วมสถาบันผู้นำด้านการศึกษา พูดในประเด็น พลังชุมชนและครอบครัวปฏิรูปการจัดการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาว่า การส่งเสริมความเท่าเทียมของโรงเรียนในสหรัฐอเมริกามีความท้าทายหลายอย่าง โดยเฉพาะปัญหาเรื่องความยากจนและเด็กผิวสี  ในประเทศอเมริกานักเรียน 50% อยู่ในภาวะยากจน ตั้งแต่ชั้นอนุบาลไปจนถึงชั้นมัธยม และกว่า 50% ของเด็กนักเรียนที่ยากจนทั้งหมดเป็นเด็กผิวสี ในขณะที่คนทำงานในภาคการศึกษาส่วนมากเป็นคนผิวขาว โดยมากกว่า 80% ของครูในอเมริกาเป็นผู้หญิงผิวขาว และเกือบ 80% ของผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้ชายผิวขาว ด้วยเหตุนี้ผู้นำในโรงเรียนจึงจำเป็นที่จะต้องเน้นการส่งเสริมการเรียนร่วม ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันแทนที่จะส่งเสริมการกระทำที่กีดกันหรือแบ่งแยกนักเรียน กับการจัดระบบการในระบบการศึกษา

เราแต่ละคนมีอคติและมีสมมติฐานของเราเอง แต่เราก็มีความสามารถที่จะสะท้อนตัวเองและเรียนรู้เพื่อที่จะก้าวข้ามอคติของเราได้โดยเฉพาะในยุค COVID-19 ที่ทุกอย่างปิดตัวลงข้ามคืน เราต้องเร่งจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนทางไกล นอกจากนี้สิ่งที่เราพบก็คือในวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ โรงเรียนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัวของนักเรียนจะมีการติดต่อสื่อสารทำงานร่วมกับครอบครัวพื้นที่และชุมชนอยู่แล้ว ซึ่งจะมีความพร้อมในการรับมือวิกฤตและวิธีใหม่ๆ มากกว่าโรงเรียนที่ไม่เคยสร้างสัมพันธ์กับครอบครัวเลย นี่เป็นสิ่งที่เราเห็นจากการพูดคุย กับชุมชนร้อยกว่าชุมชนทุกๆสัปดาห์ตั้งแต่เริ่มต้นวิกฤต COVID-19