การได้เห็นเด็กพัฒนาคือ “แรงใจ” ให้ครู

การได้เห็นเด็กพัฒนาคือ “แรงใจ” ให้ครู

ครูหมี ทุ่มเทดูแลเด็กไกลบ้าน
สอนการปรับตัว​ในรั้ววิทยาลัย

ชีวิตในรั้ววิทยาลัยไม่ได้มีแค่การเรียนการสอนในเชิงเนื้อหาวิชาการเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเรื่องการใช้ชีวิตในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะก้าวผ่านจาก  “วัยเรียน” ไปสู่  “วัยทำงาน”  จำเป็นต้องเสริมทักษะเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น และเป็นเรื่องที่ครูบาอาจารย์ต้องลงไปดูแลอย่างใกล้ชิด

คล้ายกับ “ครูหมี” พันธ์ศักดิ์ แสนอินต๊ะ ครูพี่เลี้ยงนักเรียนทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง วิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรง จ.สุโขทัย  ที่ต้องเข้าไปคอยดูแลสอดส่องเอาใจใส่นักศึกษาเริ่มตั้งแต่การใช้เงิน เพราะเด็กทุนทั้งหมดเป็นเด็กที่มาจากครอบครัวฐานะยากลำบาก จากคนที่ไม่มีเมื่อเขามีเงินเราก็ต้องไปสอนวิธีใช้ วิธีบริหาร วิธีเก็บไม่ใช่ได้มาแล้วใช้หมดเลย

 

งัด “ไม้แข็ง” สอนวินัยการใช้เงิน

ส่วนเด็กที่มีแนวโน้มว่าจะมีปัญหา ครูจะเข้าไปช่วยดูแนะนำการใช้เงินว่าที่มาของทุนเป็นอย่างนี้ วัตถุประสงค์การใช้เงินเป็นอย่างนี้ ถ้ายังมีปัญหาก็ใช้ “ไม้แข็ง”ให้เด็กมาเบิกกับทางวิทยาลัยเป็นสัปดาห์ สัปดาห์ละ 700- 1,000 บาท ขึ้นกับสาขาวิชาที่เรียน เช่น เรียนด้านอาหารต้องซื้อวัตถุดิบด้วยก็อาจต้องใช้เงินมากหน่อยหรือช่วงไหนมีกิจกรรมพิเศษก็จะเบิกได้เพิ่มขึ้นได้บางส่วน

“แรกๆ เด็กก็ไม่ค่อยกล้าพูด เราต้องใช้กระบวนการจิตปัญญา เข้าไปเปิดใจกับเขาว่ามีปัญหาอะไรบ้าง หลังรับทุนไปแล้วเป็นยังไง เด็กบางกลุ่มใช้เงินไม่เป็นจากไม่เคยมีเงินพอมีเงินอยากได้อะไรก็ซื้อไปหมด เราก็ต้องเข้าไปควบคุมการใช้เงินของเขา เพื่อให้เขามีเงินใช้เพียงพอไปจนกว่าจะจบการศึกษา”

 

สุ่มตรวจหอพักสกัดเด็กออกนอกลู่นอกทาง

ทั้งนี้ จะมีนักเรียนบางส่วนที่มาจากพื้นที่จังหวัดอื่น ต้องเดินทางต่างบ้านต่างถิ่นมาไกล มาอยู่หอในบริเวณวิทยาลัย พอช่วงเวลาหลัง 4 โมงเย็นก็ต้องกลับไปอยู่หอไม่มีใครดูแล เวลาเขาไปอยู่กับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันเราก็ไม่รู้ว่าจะมีการชักชวนกันไปทำอะไรนอกลู่นอกทางกันบ้างหรือไม่ ตรงนี้เป็นหน้าที่ที่ครูต้องเข้าไปสอดส่องดูแล 

ครูหมี เล่าให้ฟังว่า ทางวิทยาลัยได้วางหลักเกณฑ์ลงไปสุ่มตรวจหอพักเทอมละ 3-4 ครั้ง แต่ไม่บอกว่าจะไปวันไหนเวลาไหน หรือบางครั้งเราได้รับเรื่องจากเพื่อนนักเรียน คนในชุมชน เครือข่ายในพื้นที่เขาแจ้งเข้ามาเราก็จะลงไปตรวจดู เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างท่านท่วงที 

ที่ผ่านมาเราเข้าไปช่วยแก้ปัญหาเด็กๆ ที่มีเรื่องทั้งการเรียนตกต่ำ การใช้เงินเกินตัว  ไปจนถึงแอบหนีเที่ยว ทางวิทยาลัยได้ใช้วิธีเรียกผู้ปกครองมาทำทัณฑ์บน ริบสมุดบัญชีให้มาเบิกเงินใช้แต่ละเดือนที่วิทยาลัยโดยมีผู้ปกครองเซ็นยินยอม นอกจากนี้ก็ยังพาเด็กไปทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ ล้างห้องน้ำ ทำทุกอย่างเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมซึ่งสุดท้ายเด็กก็ดีขึ้น

 

ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้ปกครอง

อีกด้านหนึ่งทางวิทยาลัย​ได้จัดโครงการลงไปเยี่ยมบ้านเด็กจริง ๆ คือ จัดกลุ่มครูกลุ่มละ 3 คน ลงไปหาผู้ปกครองของเด็กแต่ละคนในแต่ละเดือน 4 ครั้ง รวมแล้วเด็กหนึ่งคน จะมีครู 4 กลุ่มที่ลงไปเยี่ยมบ้านเด็ก โดยจะไปกันทุกบ้าน บางบ้านอยู่ อ.พบพระ จ.ตาก ห่างจากวิทยาลัย 300 กม. บางบ้านอยู่ อ.เวียงสา จ.น่าน 200 กม. หรือ พิจิตร 100 กม. ทั้งครูทั้งเจ้าหน้าที่ก็จะไปกันหมด

การได้ไปพบกับผู้ปกครองเป็นทั้งการไปถามสารทุกข์สุขดิบ รวมทั้งได้สอบถามว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ ​ที่สำคัญทำให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างใกล้ชิดระหว่างผู้ปกครองและทางวิทยาลัย และครูก็จะนำข้อมูลที่ได้มาอภิปรายกันในกลุ่ม เพื่อเวลาขึ้นปี 2 จะได้ปรับแนวทางดูแลเด็กให้ดีขึ้น

 

โอกาสได้ทำบุญให้เขาได้รับการศึกษาเท่าเทียมคนอื่น

ส่วนที่วิทยาลัยเองก็จะมีครูกระบวนกร หรือ ครู FA  โดยครู FA จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้เด็ก ทุกเช้าเด็กต้องไปหาครู FA เพื่อพูดคุยเรื่องการเรียน การใช้ชีวิต ซึ่งครู  FA จะเลือกจากครูที่ไม่ใช่อยู่ในสาขาวิชาที่เด็กเรียน เพื่อให้เด็กได้รู้จักคนเยอะขึ้น กล้าพูดมากขึ้น  ซึ่งครู FA ก็จะคอยดูแลให้คำปรึกษา ทั้งการเรียน การใช้เงิน การทำกิจกรรม  

“ผมมองว่าตรงนี้เป็นการทำบุญที่เป็นโอกาสของครูคนหนึ่งที่จะได้ทำ จากที่เราไปดูบ้านเขาแล้วเขาแทบจะไม่ได้เรียนต่อ เพราะแค่ อาหารการกินก็เกือบจะไม่มีกิน เรามีโอกาสช่วยเขา พยุงเขา ให้ได้รับการศึกษาเท่าเทียมกันคนอื่นก็เป็นการทำบุญอย่างหนึ่งที่ไม่ต้องไปเข้าวัด แค่ดูแลเขาให้ดีจนจบการศึกษาตรงนี้ก็เป็นบุญกุศลอย่างแท้จริง”

 

การเห็นเด็กพัฒนา​คือ ​”แรงใจ” ให้ครู​

ครูหมี อธิบายว่า เราไม่ได้หวังว่าเขาจะต้องมาตอบแทนอะไร แค่ทำให้เขาได้มีอนาคตที่ดีแค่นี้ก็เป็นความภูมิใจ ที่ทำให้เด็กคนหนึ่งที่ยากลำบากได้มีการศึกษาที่ดี นำความรู้เอาไปประกอบอาชีพ เลี้ยงดูคนในบ้าน พัฒนาชุมชนให้ดียิ่งขึ้น ช่วยเขาไม่ต้องไปเร่ร่อนเป็นแรงานค่าแรงต่ำ ​ได้โอกาสที่ดี 

อย่างไรก็ตาม การดูแลเด็กก็เหมือนกับการปลูกต้นไม้ต้นหนึ่ง ตั้งแต่แรกจากต้นไม้ต้นเล็กพอผ่านไปหนึ่งปี ต้นไม้โตแตกกิ่งก้าน โตใหญ่ เด็กมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น มีทัศนคติ มองโลกเป็นบวกมากขึ้น แค่เราได้เห็นเด็กพัฒนาก็เป็นแรงใจให้กับครูที่เข้าร่วมกับ กสศ. มีกำลังใจมากขึ้น อย่างน้อยเราก็เป็นครูที่ช่วยสร้างสรรค์เด็กให้มีคุณภาพเป็นอนาคต คนดีของสังคมได้