กว่า95 เปอร์เซนต์เดือดร้อนค่าใช้จ่ายการศึกษาวอนเรียนฟรี

กว่า95 เปอร์เซนต์เดือดร้อนค่าใช้จ่ายการศึกษาวอนเรียนฟรี

เป็นอีกเสียงสะท้อนจากภาคประชาสังคมสื่อถึงรัฐบาล ต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการศึกษา โดยเฉพาะปัญหาค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในช่วงการเปิดเทอม  โดย เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จัดงานเสวนาความยากลำบากของผู้ปกครองในการรับมือเปิดเทอมช่วงโควิด-19” ที่เดอะฮอล์ บางกอก เมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา 

ปาลิณี  ต่างสี  ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่  ให้ข้อมูลไว้ว่า   จากการสำรวจกลุ่มที่มีบุตรหลานในวัยเรียน 2,286 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 16-26 มิถุนายน จากผู้ปกครองหลากสาขาอาชีพ ซึ่งมีหัวข้อข้อหนึ่งได้สอบถามถึงความกังวลใจช่วงเปิดเทอม พบว่ากว่า 28.69  % ระบุว่า เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 รองลงมาคือกลัวบุตรหลานเรียนไม่ทันหรือไม่เข้าใจบทเรียน กังวลว่าเด็กๆอยู่กับสังคมออนไลน์มากเกินไป และห่วงความไม่ปลอดภัยหลังมีข่าวเด็กนักเรียนถูกคุกคามทางเพศมากขึ้น

ปาลิณี  ต่างสี  ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่

ผู้ปกครองต่างได้รับผลกระทบจากโควิด 19 โดย 69.24  %  มีรายได้ลดลง ขณะที่ 16.97 % ตกงาน ประกอบอาชีพไม่ได้ เมื่อถามถึงได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐหรือไม่พบว่า  48.48 %  ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐแต่ไม่เพียงพอ  27.42 %  หรือประมาณ 1 ใน 4 ไม่ได้รับความช่วยเหลือ  12.29  % ได้รับความช่วยเหลือเพียงพอ และ 11.81 %  ไม่ขอรับความช่วยเหลือ”

“วิกฤตครั้งนี้ทำให้ผู้ปกครองเกือบทั้งหมดหรือ กว่า 95.41 %  มีผลกระทบด้านการศึกษาของบุตรหลาน  25.41 % ต้องหาแหล่งกู้เงินมาใช้จ่าย  24.06 %  งดซื้ออุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน  14.55 % ลดค่าขนมไปโรงเรียน  8.17 % เลือกจำนำสิ่งของเครื่องใช้ ผู้ปกครองเกินครึ่งอยากรัฐให้มีนโยบายช่วยเหลือ ลดหรืองดเว้นค่าเทอม ค่าบำรุง ตามด้วยมีกองทุนช่วยเหลือที่เข้าถึงได้ง่าย” ปาลิณี กล่าว

ขณะที่ อนรรฆ  พิทักษ์ธานิน นักวิจัยศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากผลสำรวจส่งสัญญาณว่า 1 ใน 4 ของประชากร ต้องกู้หนี้เพื่อมาใช้จ่ายด้านการศึกษา สวนทางกับนโยบายภาครัฐที่ให้เรียนฟรี ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เรียนฟรีไม่มีจริง เรายังต้องจ่ายเงินเพื่อการศึกษาอยู่ ทั้งที่การศึกษาไม่ควรมีค่าใช้จ่ายใดๆ โดยเฉพาะกับกลุ่มเปราะบาง

ยกตัวอย่าง ผู้ปกครองต้องมีภาระค่าใช้จ่ายจัดหาแมสก์ให้กับบุตรหลาน และในเดือนนี้จะสิ้นสุดมาตรการความช่วยเหลือของรัฐ จะทำให้รายได้น้อยกว่ารายจ่าย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการศึกษา หรือหลุดออกจากระบบการศึกษาได้

นายอนรรฆ  พิทักษ์ธานิน นักวิจัยศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทางออกของเรื่องนี้ เราต้องไปดูที่ภาครัฐจะเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางนี้อย่างไร โดยเฉพาะเงินกู้ 4 แสนล้านนี้ว่า จะลงไปช่วยกลุ่มที่เดือดร้อนได้จริงหรือไม่” นายอนรรฆ กล่าว

 ทั้งนี้ภาครัฐจะต้องออกมาเคลียร์ตัวเองให้ชัดเจน มีเป้าหมายการใช้เงิน เพื่อให้เกิดการจ้างงานกับคนกลุ่มนี้ หรือภาครัฐจะมีมาตรการลดรายจ่าย โดยเฉพาะในแง่ของการศึกษา ต้องมาดูว่าที่ผ่านมาผู้ปกครองมีต้นทุนด้านการศึกษามาตลอด รัฐบาลกล้าหรือไม่ที่จะประกาศว่าถ้าเป็นเรื่องของการศึกษาภายใน 1 ปีนี้ไม่ต้องเสียเงินสักบาทจริงๆ