บทเรียนจาก COVID-19 กับช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ขยายกว้าง

บทเรียนจาก COVID-19 กับช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ขยายกว้าง

จากสถานการณ์วิกฤต COVID-19 ที่เกิดขึ้น เราสามารถแบ่งความคิดเห็นของผู้คนที่มีต่อเรื่องของระบบการศึกษาได้เป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าการปรับรูปแบบการเรียนมาเป็นออนไลน์แบบนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ได้วางแผนล่วงหน้าและเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว บุคลากรขาดการฝึกฝน ไม่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพมากพอ รวมถึงการไม่ได้เตรียมตัวนักเรียนให้ดี ผลที่ได้จึงเป็นประสบการณ์การเรียนที่ไม่นำไปสู่การงอกเงยทางความรู้แต่อย่างใด ส่วนอีกฝ่ายเชื่อว่ารูปแบบการเรียนแบบใหม่ที่ผสมผสานนี้สร้างผลประโยชน์ต่อผู้เรียน อย่างเช่นที่ Wang Tao รองประธานของ Tencent Cloud และ Tencent Education ได้กล่าวไว้ว่า “ผมเชื่อว่า การผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการศึกษานั้นจะเป็นทำให้เกิดการเรียนออนไลน์ที่จะกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเรียนในโรงเรียนต่อไปในอนาคต”

แน่นอนว่าในระดับมหาวิทยาลัย มีหลายแห่งที่ประสบความสำเร็จต่อการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ อย่างเช่น มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ที่สามารถจัดการคลาสเรียนออนไลน์กว่า 5,000 คลาสได้สำเร็จในสองสัปดาห์ โดยการใช้แพลทฟอร์ม DingTalk ZJU หรือ Imperial College ลอนดอน ได้เปิดคอร์สออนไลน์เรื่องวิทยาศาสตร์แห่งโคโรน่าไวรัส ลงสอนที่แพลทฟอร์มเรียนออนไลน์อย่าง Coursera.

การเอาชนะต่อการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จำเป็นต้องใช้ทัศนคติใหม่ในการรับมือ แม้ว่านักเรียนบางคนจะไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตหรือเทคโนโลยี และมีปัญหากับการมีส่วนร่วมต่อการเรียนออนไลน์ ช่องว่างที่กระจายตัวไปในประเทศต่างๆ ทั่วโลก อาทิ ในขณะที่เด็กนักเรียน 95% ในสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และออสเตรเลียมีคอมพิวเตอร์ใช้เรียนและทำการบ้าน แต่สำหรับเด็กในอินโดนีเซียมีคอมพิวเตอร์เพียง 34% เท่านั้น

สำหรับในประเทศไทย เป็นที่แน่นอนว่าผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้เด็กนักเรียนไทยกว่า 15 ล้านคน นั้นต้องหยุดเรียนยาวตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม นั่นหมายความว่าเด็กนักเรียกจะขาดหายเวลาเข้าเรียนไปกว่า 1 ใน 3 ของปี กระทรวงศึกษาธิการของไทยเองก็มีแนวโน้มว่าจะยกเลิกวันหยุดในอนาคตเพื่อนำมาเป็นเวลาเรียนชดเชย ดังนั้นแล้ว ตั้งแต่รัฐบาล เอกชน และภาคประชาชน ต้องร่วมกันจำกัดขอบเขตความเสียหายกับกลุ่มเด็กนักเรียนให้เกิดน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ผลต่อเนื่องมาถึงระบบการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบเป็นคลื่นต่อเนื่อง Kenan Foundation Asia ได้ออกรายงานระบุผลที่เกิดขึ้นต่อระบบการศึกษาไทย เป็นประเด็นที่ต้องได้รับการแก้ไข

 

1. ช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำยิ่งขยายกว้าง

จากวิกฤต COVID-19 ที่ยิ่งเป็นการเปิดพรมให้เห็นความไม่เท่าเทียมในทุกมิติที่เคยซ่อนอยู่ในประเทศไทยให้เห็น ในเรื่องของความเหลื่อมล้ำภายในระบบการศึกษา หลังจากที่นโยบายด้านบนสั่งลงมาให้เรียนทางไกล ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับเด็กนักเรียนโรงเรียนนานาชาติหรือเด็กนักเรียนโรงเรียนเอกชนในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่การเรียนทางไกลนั้นไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้เลยสำหรับเด็กต่างจังหวัด เพราะมีเด็กนักเรียนไทยจำนวนมากที่ไม่มีแล็ปท๊อปเป็นของตัวเองหรือไม่สามารถเข้าถึงซอฟต์แวร์การวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ได้                                                              

ตัวอย่างข้างต้นนั้นยังไม่ได้ตัวอย่างที่แย่มากพอ เพราะเมื่อเราถอยมามองในวงกว้างขึ้น เราจะเห็นภาพในระดับครอบครัว พ่อและแม่ที่ไม่ได้ทำงาน “สำคัญ” เป็นด่านหน้าฝ่าวิกฤต แต่เป็นครอบครัวรายได้น้อย ทั้งบางครอบครัวเอง พ่อแม่ก็ขาดงานหรือถูกไล่ออกจากบริษัท ในสถานการณ์นี้ฝั่งครอบครัวเองก็ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะทำหน้าที่เป็นครูชั่วคราวเพื่อสอนเด็กในบ้าน เพราะต้องจัดสรรเวลาไปหารายได้ทางอื่นเพื่อมาดูแลครอบครัว

ยิ่งวิกฤต COVID-19 กินเวลานานเท่าไหร่ ดูเหมือนช่องว่างแห่งความไม่เท่าเทียมยิ่งขยายกว้างขึ้นเท่านั้น

 

2. เรียนออนไลน์ ไม่ใช่ทุกคนจะพร้อม

เมื่อเกิดวิกฤติ ทุกภาคส่วนของประเทศเองต้องยอมรับว่าจะไม่กลับไปเป็นปกติ ในส่วนของภาคการศึกษา หมายถึงการที่ผู้กำหนดนโยบายจะต้องพิจารณาถึงรูปแบบการเรียนออนไลน์เป็นสำคัญ แต่ถึงอย่างนั้น เราจะเห็นได้เลยว่าประเทศไทยเองไม่ได้มีความพร้อมที่จะให้เด็กในเรียนเรียนออนไลน์ในระดับประเทศ โดยเฉพาะกับเด็กนักเรียนในพื้นที่ชนบทหรือพื้นที่ห่างไกลที่ไม่อาจเข้าถึงเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์การเรียนได้แบบ e-learning ได้ แม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการของไทยเองจะมีการแจกแท็บเล็ตสำหรับผู้สอนและเด็กนักเรียนที่ต้องการ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นเพียงก้าวแรกของการสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นได้จริงเท่านั้น

การแจกอุปกรณ์อย่างแท็บเล็ตให้กับเด็กและครอบครัวที่กักตัวนั้นอาจเป็นการสนับสนุนการเรียนแบบท่องจำอย่างเดียว เพราะถ้าหากคุณครูไม่เคยได้รับการฝึกฝนหรือมีประสบการณ์การสอนห้องเรียนออนไลน์มาก่อน อาจมีแนวโน้มว่าจะเป็นการสอนที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือแม้กระทั่งเป็นการสื่อสารทางเดียวได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือบทเรียนที่ครูอาจสอนแบบบรรยายเป็นหลักชั่วโมง ซึ่งไม่ได้เปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมกับบทเรียนนั้น การเรียนรูปแบบนี้ไม่เพียงแต่เต็มไปด้วยความน่าเบื่อ แต่จะไร้ประสิทธิภาพถึงที่สุด

 

3. สนับสนุนคุณครูด้วยความเข้าใจ

แน่นอนว่าอาชีพครูนั้นเปรียบเหมือนฮีโร่ของชุมชน แม้ความเป็นจริง ครูจะเป็นอาชีพที่ได้รับผลตอบแทนน้อยเมื่อเทียบกับขอบเขตงานที่ได้รับ วิกฤต COVID-19 ในครั้งนี้ทำให้การสนับสนุนประสิทธิภาพในการสอนนั้นยิ่งต่ำลงไป ซึ่งสังคมได้นำเสนอการดูแลความปลอดภัยและสภาพความเป็นอยู่ การเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันมาสู่การเรียนออนไลน์โดยไม่มีทิศทางที่ถูกต้องและเหมาะสมจากผู้นำโรงเรียน ยิ่งเป็นการทำให้ครูรู้สึกเป็นกังวล สับสน และหมดกำลังใจได้ ในความเป็นจริงเราไม่อาจยื่นแล็ปท๊อปให้กับผู้เป็นครูแล้วบอกว่า “สอนวิชาเคมี” นั่นเป็นเหตุการณ์สมมติที่ไม่อาจเป็นไปได้ สิ่งที่ทุกคนต้องทำคือทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ร่วมกัน และหาวิธีการที่ครูจะสามารถสื่อสารบทเรียน ประเมินศักยภาพในการเรียนรู้ของเด็ก ให้ความช่วยเหลือกับเด็กที่มีปัญหา และข้อควรทำอื่นๆ อีกมากมาย

 

โอกาสแห่งการเปลี่ยนแปลง

หากคำกล่าวที่ว่า เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสนั้นเป็นจริง รูปแบบการศึกษาแบบเดิมที่ล้าสมัย เน้นการท่องจำ วิธีการที่บังคับให้เด็กไทยได้เรียนมานานนับทศวรรษ การเกิดขึ้นของวิกฤต COVID-19 จึงเป็นเหมือนทางแยกซ้ายขวา เราทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการเลือกได้ว่าจะอยู่กับรูปแบบการเรียนรู้แบบเดิม หรือว่าเปิดรับวิธีการเรียนแบบใหม่แห่งศตวรรษที่ 21

ถ้าคำตอบเลือกเป็นอย่างหลัง
สิ่งแรกที่ต้องทำคือการสนับสนุนครูแต่ละคนให้เป็นใจกลางของการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในครั้งนี้

ประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรองรับและสนับสนุนให้คุณครูมีความพร้อมในการสอน แหล่งข้อมูลสำหรับการเรียนของเด็ก และการเข้าถึงเทคโนโลยี องค์ประกอบสำหรับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ทั้งหมด ทางฝั่งครูเองก็ต้องมี “ความเข้าอกเข้าใจ” ให้นักเรียน ต่อการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ เป็นแบบอย่างใหม่สำหรับการผสมผสานการเรียนแบบใหม่นี้ (หมายถึงการผสมผสานการเรียนออนไลน์และรูปแบบการสอนในห้องเรียนแบบเดิม) ส่วนที่สำคัญที่สุดอยู่ที่ ต้นแบบการสอนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด อย่างเช่นเรื่องของการมีส่วนร่วมหรือการเรียนรู้ตามโปรเจ็กต์ เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีส่วนร่วม แสดงความกระตือรือร้น และทดลองใช้แหล่งข้อมูล หนังสือเรียน ได้ยกมือถามคำถาม และได้หาคำตอบด้วยตัวเอง ข้อปฏิบัติแบบลงมือทำด้วยตัวเองเป็นกุญแจสำคัญของการพัฒนาทักษะเด็กนักเรียนในศตวรรษที่ 21 ซึ่งประเทศไทยนั้นมีความต้องการอย่างมากในการพัฒนาประเทศไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน

สถานการณ์ COVID-19 เป็นความเลวร้ายที่ส่งผลกับทุกภาคส่วนของประเทศ แต่เราไม่อาจปล่อยให้ความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นเหตุให้เราไร้ซึ่งความหวัง แต่ต้องเปลี่ยนให้สถานการณ์ในปัจจุบันเป็นโอกาสสำคัญที่เราทุกคนจะมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนการศึกษาของไทยและเด็กนักเรียนทุกคนให้ก้าวเข้าสู่อนาคตที่ดียิ่งขึ้น

 

ที่มาข้อมูล :
What lessons from the coronavirus pandemic will shape the future of education?
3 Consequences of COVID-19 on Thai Education