สายอาชีพชั้นสูง สร้างโอกาส ลดเหลื่อมล้ำ

สายอาชีพชั้นสูง สร้างโอกาส ลดเหลื่อมล้ำ

บทความโดย ธันว์ธิดา วงศ์ประสงศ์
ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วม นวัตกรรมและทุนการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

หนึ่งในชุดตัวเลขที่สะท้อนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่สำคัญจากผลวิจัยบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ (National Education Account) คือ ปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กและเยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุด 20% ประมาณ 160,000 คน มีโอกาสศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาโดยเฉลี่ยเพียง 5 % หรือประมาณ 8,000 คน ต่อรุ่น ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยครอบครัวทั่วไปที่ได้เรียนต่อระดับอุดมศึกษาถึงร้อยละ 32 เด็กและเยาวชนด้อยโอกาสเหล่านี้เป็นกลุ่มที่อยู่ก้นบึ้งของสังคมไทย

ภารกิจหลักด้านหนึ่งของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือ กสศ. คือ การช่วยเหลือเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้มีโอกาสศึกษาต่อเต็มศักยภาพ ด้วยงบประมาณจำกัด เราคิดค้นวิธีการลงทุนเพื่อพัฒนาเรื่องนี้ให้ถูกจุด เริ่มต้นจาก การเรียนรูปแบบไหนที่สร้างโอกาสให้กับเยาวชนกลุ่มนี้มากที่สุด และยังตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจของประเทศควบคู่กันไปด้วย

ที่ผ่านมาระบบการศึกษาที่ผลิตกำลังคนเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการ
ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพในบริบทของโลกการทำงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างมาก จากวิเคราะห์ข้อมูลการศึกษาสายอาชีพ:เส้นทางเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมของ กสศ. สัดส่วนแรงงานจบปริญญาตรีในผู้มีงานทำทั้งหมดอยู่ที่ร้อยละ 16 และความต้องการของผู้ประกอบการในแรงงานกลุ่มนี้อยู่ที่ร้อยละ 15 ขณะที่ตลาดมีความต้องการแรงงานระดับปวช./ม.6 และ ปวส. รวมกันสัดส่วนถึงร้อยละ 28 ของความต้องการแรงงานทั้งหมดของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ยังเกิดปัญหา “Skill Mismatch” โดยเราก็ยังเห็นผู้ว่างงานที่มีวุฒิ ปวช. และ ปวส. รวมกันถึง 74,826 คนเป็นสัดส่วนถึง 17% สะท้อนว่าแรงงานยังไม่มีความรู้ และไม่มีทักษะตรงตามความต้องการของนายจ้างต้องการนัก

หากพิจารณาปัญหาช่องว่างทักษะ (Skills Gap) ที่เกิน 25% ซึ่งสะท้อนถึงทักษะของแรงงานต่ำกว่าที่นายจ้างคาดหวัง พบว่าแรงงานไทยมีช่องว่างทักษะสูงที่สุดในกลุ่มทักษะความรู้ในงาน รองลงมาคือทักษะพื้นฐานการทำงาน (เช่น ทักษะภาษาต่างประเทศ (38%), การใช้คอมพิวเตอร์ (36%), คณิตศาสตร์และการคำนวณ (33%), ความสามารถ/สมรรถนะ และคุณลักษณะ ตามลำดับ

นอกจากนี้จากการวิเคราะห์แนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจไทยและโลกในอนาคตที่มีความจำเป็นต้องยกระดับเทคโนโลยีให้สูงขึ้นตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เทคโนโลยีสมัยใหม่ต้องอาศัยบุคลากรที่มีขีดความสามารถที่จะใช้และควบคุมเทคโนโลยี รวมถึงสามารถพัฒนาขีดความสามารถต่อเนื่องให้ทันความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ในภาคการผลิตและการเป็นผู้ประกอบการ โดยหากเรียนในระบบทวิภาคีที่มีคุณภาพที่มีการเรียนภาคทฤษฎีที่สอดคล้องต่อการนำไปประยุกต์ใช้ในการฝึก ภาคปฏิบัติในสถานประกอบการก็จะยิ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานช่วยลดปัญหา Skill Mismatch ในตลาดแรงงานได้

คุณภาพของแรงงานในระดับสายอาชีพขั้นสูง นับว่าเป็นกำลังแรงงานกลุ่มสำคัญที่จะทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมากกว่าแรงงานในระดับการศึกษาอื่น ดังที่ประจักษ์ในความสำเร็จของหลายประเทศ เช่น เยอรมนี ไต้หวัน สิงคโปร์ เป็นต้น

จุดนี้เองคือคำตอบจนนำมาสู่การคิดค้นนวัตกรรมการสนับสนุนทุนที่ไม่ได้ใช้งบประมาณสูงแต่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่คุ้มค่า ภายใต้ชื่อ “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง: สร้างคน สร้างโอกาส สร้างงาน”  ของกสศ. ซึ่งสนับสนุนทุนแก่สถาบันการศึกษาสายอาชีพที่มีศักยภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนสายอาชีพยุคใหม่จำนวนประมาณ 50 สถาบันจากทุกสังกัดทั่วประเทศ ให้สามารถผลิตนวัตกรสายอาชีพ กำลังคนที่สร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการผลิตและภาคธุรกิจ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และสนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่มาจากครอบครัวรายได้ต่ำ 20%และมีทักษะฝีมือสูงจำนวน 2,500 ทุนในปีการศึกษา 2562 ให้ศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาที่ผ่านการคัดเลือก

หากเราสามารถสร้างโอกาสให้นักเรียนมัธยมศึกษาที่มีโอกาสจะยุติการศึกษาได้มีโอกาสเรียนต่อในสายอาชีพชั้นสูงก็จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและทางรายได้โดยเฉพาะประชากรกลุ่มรายได้ต่ำสุด 20% แรกของประเทศมีงานทำและมีรายได้สูง ทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหา Skill Mismatch และ Skills Gap ในตลาดแรงงานได้ในอีกทางหนึ่งด้วย

ต้องขอบคุณรัฐบาลและสำนักงบประมาณที่มองเห็นถึงประโยชน์และสนับสนุนให้ กสศ.คิดค้นโครงการที่เป็นนวัตกรรมรวมถึงการสร้างต้นแบบ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนของประเทศ แม้ว่าจะเป็นงบประมาณผูกพันต่อเนื่อง หากเมื่อถึงปีที่ห้าเมื่อรุ่นแรกจบการศึกษาจากนั้นงบประมาณก็จะไม่เพิ่มขึ้นในลักษณะสะสม กสศ.ได้คำนวณผลตอบแทนของโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพขั้นสูง จากนักเรียนผู้รับทุน 2,500 ทุน ในปีแรก จากข้อสมมติฐานว่าผู้รับทุนทุกคนทำงานหลังจบการศึกษาจนถึงเกษียณอายุ 60 ปี จะคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value : NPV ) ประมาณ 10,000 ล้านบาท หรืออัตราผลตอบแทนการลงทุน (IRR หรือ Internal Rate of Return อยู่ที่ร้อยละ 10) และจะส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่ตามมาในอีกหลายด้านอีกด้วย

ทุนนี้ กสศ.เปิดกว้างให้สถาบันการศึกษา (สถานศึกษาอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาลัยชุมชน) และสถาบันอื่นที่จัดการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)
หรืออนุปริญญาสายอาชีพจากทุกสังกัด โดยมีกำหนดรับข้อเสนอโครงการผ่านระบบออนไลน์ www.EEF.or.th
ภายในวันที่ 28 ธันวาคม 2561 และสามารถติดตาม ข่าวสารที่ www.EEF.or.th หรือ สายด่วน โทร 02-079-5475 กด 2 ในวันและเวลาราชการ

____________________________________________________________________

ธันว์ธิดา วงศ์ประสงศ์

ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วม
นวัตกรรมและทุนการศึกษา

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา


______________________
______________________________________________