เสริมศักยภาพ ’ทีมโค้ช’ สร้างอาชีพกลุ่มเป้าหมาย บนทรัพยากรในพื้นที่ หนุนประเทศมั่นคง

เสริมศักยภาพ ’ทีมโค้ช’ สร้างอาชีพกลุ่มเป้าหมาย บนทรัพยากรในพื้นที่ หนุนประเทศมั่นคง

เวทีก่อการเรียนรู้จากคณะทำงานทีมภาคในโครงการ “การหนุนเสริมทางวิชาการ ติดตามและถอดบทเรียนระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน”

กลายเป็นประเด็นสำคัญของการแลกเปลี่ยนกระบวนการทำงานและนำไปปฏิบัติในแต่ละพื้นที่ ภายใต้เป้าหมายเดียวกันการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายด้อยโอกาสให้สำเร็จ ซึ่งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดประชุมคณะทำงานทีมภาคเพื่อรายงานความก้าวหน้า ณ ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล  เมื่อเร็วๆ นี้

นายชีวัน ขันธรรม หัวหน้าทีมภาคเหนือ

นายชีวัน ขันธรรม หัวหน้าทีมภาคเหนือ กล่าวว่า สิ่งที่ได้รับจากการประชุมครั้งนี้เรื่องแรกคือเรื่องแนวคิดจากวิทยากรที่เชิญมาทั้ง บังฮาซัน-นายอนุรักษ์ สรรฤทัย คุณหมอทานทิพย์ ธำรงวรางกูร และนักวิจัยชุมชน ทำให้เห็นแนวคิดตัวแบบของคนที่ทำงานจริงกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ด้อยโอกาส การทำงานจะเปลี่ยนแปลงคนด้อยโอกาสให้มีโอกาสจากคนที่ทำงานจริงเป็นอย่างไร ตรงนี้ทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนและมีพลังที่จะกลับไปทำงานต่อในพื้นที่ รวมทั้งได้เรียนรู้การทำงานของภาคต่างๆ ซึ่งแต่ละภาคมีชุดความคิดที่มาแบ่งปันทำให้เห็นรูปแบบ วิธีการทำงานและเครื่องมือที่มาใช้ทำงานหลายเรื่องเราสามารถเรียนรู้ปรับใช้ได้

ทั้งนี้ มีประเด็นที่คุณหมอทานทิพย์ พูดไว้คือประเด็นสำคัญเรื่องจะไปสร้างหรือให้โอกาสกับใครนั้น​ คนคนนั้นต้องเห็นสิ่งที่เป็นโอกาสตรงนั้นก่อน ถ้าไม่เห็นยากมากที่จะไปสร้างหรือให้โอกาสกับใครได้ ยกตัวอย่างการทำงานกับผู้พิการในส่วนของคุณหมอเองเห็นว่ามีโอกาสอะไรอยู่ และแปลงจากสิ่งที่เห็นเป็นวิธีการทำงาน​ ตรงนี้จะยากมากถ้าเราไม่เห็นว่ามีโอกาสอะไรและไปทำงานกับเขาเหมือนตาบอดกับตาบอดมาเจอกัน

นายชีวัน กล่าวว่า มีหลายเรื่องที่เป็นประโยชน์จากวิทยากร เช่น แนวคิด​เรื่อง growth mindset ของ อ.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค  ที่มาบรรยายว่าการจะไปทำให้หน่วยอาชีพหรือ กลุ่มเป้าหมายต้อง growth mindset ทีมภาคมีตรงนี้หรือไม่  เราต้องมีความเชื่อแนวคิดเรื่องนี้ไม่เช่นนั้นเวลาไปทำงานกับเขาก็จะกลายเป็นการท่องจำไปบอกเขา  ดังนั้นเราต้องมาดูว่าการทำงานของเรามีตรงนี้หรือยัง เพราะเป็นเรื่องสำคัญ

นายสมพงษ์ หลีเคราะห์ หัวหน้าทีมภาคใต้

เช่นเดียวกับ นายสมพงษ์ หลีเคราะห์ หัวหน้าทีมภาคใต้ กล่าวว่า จากการประชุมครั้งนี้ได้รับฟังการนำเสนอความคืบหน้าของแต่ละภาคซึ่งสามารถนำแนวคิด รูปแบบวิธีการมาปรับใช้กับการทำงานในพื้นที่ เช่นกรณีที่บางภาคใช้กิจกรรมจัดกระบวนการ ซึ่งทางภาคใต้ก็มีการนำมาใช้แต่จะเน้นการใช้โปรเจ็คท์เมเนจเมนต์ร่วมด้วย โดยจะให้ทางพื้นที่เน้นทำความเข้าใจและเข้าถึงตัวกลุ่มเป้าหมาย คือทำอย่างไรให้เขาได้อาชีพที่กลุ่มเป้าหมายชอบ ไม่ใช่อาชีพที่หน่วยพัฒนาอาชีพไปใส่ให้เขา ซึ่งจะทำให้เข้าถึง​ผู้ด้อยโอกาสมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างเรื่องบันไดกระบวนการเรียนรู้ของภาคกลางที่สามารถนำมาปรับใช้กับเรื่องบันไดผลลัพธ์ที่ทางภาคใต้ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งถ้าเดินด้วยกันก็จะทำให้โครงการมีประสิทธิภาพมาขึ้น ซึ่งกระบวนการทุกอย่างขณะนี้เริ่มเดินหน้าไปตามแผนโดยเราอยากให้หน่วยพัฒนาอาชีพทำหน้าที่เป็นนักจัดกระบวนการ แต่ระยะเวลาการจัดอบรมกับการเดินของโครงการมันเหลื่อมกัน ซึ่งเป้าหมายที่ตั้งใจคือการทำให้กลุ่มเป้าหมายมีทัศนคติที่จะประกอบอาชีพที่ตัวเองต้องการ

ในขณะที่ นางมัสยา คำแหง ทีมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า เป้าหมายของการมาประชุมครั้งนี้คือการมาเล่าความคืบหน้าในการทำงานที่ผ่านมา แลกเปลี่ยนชุดความรู้การทำงานแต่ละภาคซึ่งแตกต่างกัน รวมทั้งแผนงานที่จะทำต่อ ซึ่งได้เห็นชุดความรู้ของเพื่อนแต่ละภาคที่ดีมากที่จะเป็นบทเรียนให้เรากลับมามองตัวเอง ซึ่งเมื่อเราออกแบบกระบวนการเครื่องมือให้สอดคล้องกับพื้นที่  โดยสามารถนำแนวคิดบางอย่างมาปรับเสริมกับพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งเวลานี้มีความคืบหน้าระดับหนึ่งแต่ต้องรอดูผลลัพธ์ว่าจะออกมาอย่างที่ต้องการหรือไม่ เพราะแม้จะให้เครื่องมือ และเขาปรับเปลี่ยนวิธีการให้เหมาะสมแต่ตัวโค้ชก็ไม่ต้องยึดติดกับวิธีของเรา แต่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่มีอยู่

นางมัสยา คำแหง ทีมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในประเด็นนี้ถือว่าสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องการใช้ชุมชนเป็นฐาน ที่เป็นจุดเริ่มต้นที่หน่วยพัฒนาอาชีพวิเคราะห์หลักสูตรตัวเองเรื่องการสร้างงานอาชีพบนฐานทรัพยากรในพื้นที่หรือไม่ เช่น อาชีพแบบนี้ เขาเคยทำไหม พื้นที่ต้องการอาชีพนั้นหรือไม่  โดยเราไม่ได้ต้องการให้เขาได้แค่ทักษะอาชีพเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการให้เขาเข้าใจเป้าหมายในชีวิตของเขาก่อนว่าตัวเขามีความสามารถ ศักยภาพ ข้อจำกัด อะไรบ้าง เขาจะต้องทำอะไรเพื่อไปถึงตรงนั้น ​ระยะเวลา 6 เดือน ​ที่จะทำให้เกิดอาชีพ ก็เป็นเรื่องหนัก ​แต่สิ่งที่ต้องทำให้ได้ก่อนคือกลุ่มเป้าหมาย เริ่มเข้าใจ ​และเปิดออกมาเรียนรู้ให้โอกาสตัวเอง มีงานอาชีพรับความรู้ ความหวังดี ​พร้อมที่จะเดินต่อไปข้างหน้า ​ซึ่งอีสานมี 22 โครงการที่ใช้ชุมชนเป็นฐานที่หากพัฒนาก็จะทำให้พื้นที่ฐานของประเทศสมบูรณ์มั่นคงยิ่งขึ้น

ไม่ต่างจาก นายชิษนุวัตน์ มณีศรีขำ ทีมภาคกลางและภาคตะวันตก กล่าวว่า ในการประชุมที่ผ่านมาจะเห็นว่าทักษะในศตวรรษที่ 21 แรงงานที่เราจะไปพัฒนาไม่ใช่การจะไปฝึกอาชีพให้เขาอย่างเดียว แต่ยังต้องมีทักษะเรื่องอื่นทั้งการใช้สื่อโซเชียลทำการตลาด เทคโนโลยี ทำงานเป็นทีม  การบริหารการเงินที่ต้องเติมความรู้ตรงนี้เข้าไปด้วย นอกจากนี้ จากที่ได้การฟังพื้นที่ภาคใต้รายงานความคืบหน้าจะให้ทีมพี่เลี้ยงลงไปทำงานร่วมกับทีมพื้นที่ ในการทำกิจกรรมบางครั้ง ไม่ใช่แค่ให้คำปรึกษา ตรงนี้จะทำให้กลุ่มเป้าหมายได้รับความรู้จากต้นแบบ

นายชิษนุวัตน์ มณีศรีขำ ทีมภาคกลางและภาคตะวันตก

อย่างไรก็ตาม ด้วยระยะเวลาอันสั้นอาจไม่สามารถทำให้ provider ได้ปรับเปลี่ยนรวดเร็วขนาดนั้น เริ่มต้นอาจให้เขาได้มีพื้นที่คิด ไตร่ตรองปรับเปลี่ยน ไม่รุนแรงมากนัก ย้ายจากที่เขาคุ้นชินมาทำแบบเราไม่ง่าย ​แต่สิ่งที่สำคัญคือเรื่องการใช้ความรู้ในพื้นที่ ดึงมาเป็นจุดขาย ดังนั้นเวลาเราลงไปทำงานในพื้นที่เราต้องสร้างความรู้ข้อมูลระดับพื้นที่ตัวเอง และมีเทคนิคการสื่อสารให้น่าสนใจติดตาม

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค