สก็อตแลนด์หวั่นเด็กมีปัญหาหยุดเรียนช่วงไวรัส COVID-19 ระบาด

สก็อตแลนด์หวั่นเด็กมีปัญหาหยุดเรียนช่วงไวรัส COVID-19 ระบาด

ขณะที่โรงเรียนหลายแห่งต้องปิดตัวลงเพราะไวรัสโควิด-19 ระบาดหนัก ทางการสก็อตแลนด์ ได้ประสบปัญหา เมื่อเด็กที่มีปัญหาทางบ้านหรือเด็กยากจน การหยุดเรียนเพราะโควิด-19 อาจนำพาให้ไม่ยอมกลับเข้ามาเรียนต่อ

บรู๊ซ อดัมสัน (Bruce Adamson) เทศมนตรีด้านเด็กและเยาวชนแห่งสก็อตแลนด์ ให้สัมภาษณ์ กับทางเว็บไซต์ TES สก็อตแลนด์ ระบุว่า เด็กที่มีแนวโน้มตกอยู่ในอันตรายหากต้องอยู่ที่บ้านช่วงไวรัสโควิด-19 ส่วนใหญ่ต่างไม่ยอมมาเข้าเรียนกับชั้นเรียนพิเศษที่ทางโรงเรียนจัดขึ้นในช่วงไวรัส 

โดย อดัมสัน กล่าวว่า จำนวนเด็กในกลุ่มเสี่ยงที่มาเข้าร่วมกับชั้นเรียนที่ทางโรงเรียนหรือศูนย์ดูแลเด็กอยู่ในระดับที่ต่ำมากจนน่าหวั่นใจ ก่อนประเมินว่า ปัญหาดังกล่าวน่าจะเกิดจากความรุนแรงที่เด็กได้รับ ผนวกกับการสื่อสารที่ไม่ชัดเจนของทางการ และปัญหาในเชิงการปฎิบัติอื่นๆ ทำให้ครอบครัวเหล่านี้ ไม่ยอมหรือไม่พาเด็กไปเข้าร่วมชั้นเรียน

ทั้งนี้ ปัญหาเหล่านี้ ไม่ได้หมายความถึงเรื่องความรุนแรงเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ความยากจน’ ซึ่ง อดัมสัน ยอมรับว่า สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 จะมีผลกระทบต่อปัญหาเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาในกลุ่มเด็กยากจนเพิ่มมากขึ้น

“ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ หลักๆ น่าจะมาจากความสับสนของพ่อแม่หรือผู้ปกครอง เนื่องจากการสื่อสารอาจทำให้พวกเขารู้สึกว่า การให้เด็กๆ ไปเข้าชั้นเรียนพิเศษ ขณะที่เด็กทั่วไปไม่ต้องไปเรียน จะเป็นการแสดงปมด้อย” อดัมสันกล่าว 

นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายในสหราชอาณาจักร สก็อตแลน์ได้ตัดสินใจประกาศปิดโรงเรียนและสถาบันการศึกษาเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา แต่ยังจัดให้มีชั้นเรียนพิเศษสำหรับเด็กกลุ่มเสี่ยง ที่การมาโรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของสวัสดิภาพและความปลอดภัยของเด็กนักเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กตกเป็นผู้ถูกกระทำในด้านต่างๆ จากครอบครัวและสิ่งแวดล้อม

เทศมนตรีด้านเด็กและเยาวชนแห่งสก็อตแลนด์ ยังใช้โอกาสนี้เรียกร้องให้รัฐบาลสก็อตแลนด์ เดินหน้าปฎิรูปโครงการมื้ออาหารฟรีที่โรงเรียน ซึ่งรวมถึงการจ่ายเงินเข้าบัญชีธนาคารโดยตรงให้แก่เด็กนักเรียนที่มาเข้าเรียนและกินมื้ออาหารฟรีที่โรงเรียน สัปดาห์ละ 20 ปอนด์ เพิ่มขึ้นจากจำนวนปัจจุบันที่ทางสภาสก็อตแลนด์มอบให้

“สิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือการที่เราเฝ้าติดต่อสื่อสารกับครอบครัวในกลุ่มเสี่ยงอย่างใกล้ชิด และหาทางช่วยเหลือสนับสนุนตามความเหมาะสม ซึ่งการสื่อสารก็ทำได้หลายทาง เช่น การโทรศัพท์ การสไกป์ เพราะครอบครัวเหล่านี้ยังจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ” อดัมสันระบุ

เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลสก็อตแลนด์ได้ประกาศจัดสรรงบเพิ่มเติมมูลค่า 300 ล้านปอนด์ให้กับทางสภาเพื่อนำไปช่วยเหลือสนับสนุนครอบครัวที่ขาดอาหารเพราะไวรัสโควิด-19 ระบาด ซึ่งรวมถึงการเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นสามารถช่วยเหลือครอบครัวที่เด็กมีสิทธิ์รับมื้ออาหารฟรีที่โรงเรียน

อย่างไรก็ตาม อดัมสัน กล่าวว่า เงื่อนไขการรับมื้ออาหารของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นแต่ละเขตในสก็อตแลนด์ ค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน ดังนั้น การให้เงินโดยตรงจากรัฐบาลสก็อตแลดน์จะเป็นอะไรที่ดีกว่า และเข้าถึงประชาชนได้กว้างกว่า ซึ่งการแจกเงินโดยตรง ยังหมายรวมถึงการให้ บัตรกำนัล (Voucher) การจัดส่งอาหาร หรือการไปรับอาหารตามจุดนัดต่างๆ เพื่อให้ครอบครัวที่มีปัญหาเรื่องระยะทางได้รับอาหารทุกวัน 

ขณะเดียวกัน แม้จะยอมรับว่า การปิดโรงเรียนเป็นมาตรการจำเป็นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เหมาะสม และเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน กระนั้น การปกป้องและให้ความช่วยเหลือแก่เด็กและครอบครัวในกลุ่มเสี่ยงก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่อาจมองข้ามได้เช่นกัน เพราะสำหรับเด็กบางคนการโดนกักตัวอยู่ในบ้านอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจติดตัวไปจนโต 

ยิ่งไปกว่านั้น ในบางครอบครัวการกักตัว ยังเกี่ยวพันถึงปัญหาเรื่องปากท้อง และการโดนตัดขาดจากโลกดิจิทัลอย่างสิ้นเชิง การช่วยเหลือจากภาครัฐยิ่งเป็นสิ่งจำเป็น

อดัมสัน กล่าวว่า หนึ่งในข้อดีของการล็อคดาวน์ก็คือการเกิดขึ้นของชุมชนออนไลน์ ที่บรรดาผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย ต่างร่วมใจออกมาแบ่งปันข้อมูลความรู้ของตนเอง แต่ข้อดีเหล่านี้ กลับไม่เป็นประโยชน์ต่อครอบครัวยากจนที่ขาดอุปกรณ์เทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งผลกระทบต่อเด็กในแง่ของการศึกษา และเรียกร้องให้รัฐบาลสก็อตแลนด์ กดดันให้บรรดาบริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไข

“ผมไม่ได้แนะนำว่า การมีส่วนร่วมต้องมาในแง่ของการกุศล แต่เป็นการที่รัฐบาลหาทางสนับสนุนให้เอกชนเพิ่มกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ที่ไม่แสวงหากำไรให้มากขึ้น โดยในประเทศอื่นๆ รัฐบาลเป็นผู้ริ่เริ่มโครงการ ในขณะที่เอกชนเข้ามาช่วยผลักดันสานต่อเพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวม ซึ่งไม่ว่าจะเป็นทางไหน เราก็จำเป็นต้องหาทางออก ไม่เช่นนั้นทรัพยากรและความช่วยเหลือที่มีอยู่มากมายก็ไม่อาจส่งไปถึงเด็กๆ ที่จำเป็นต้องได้รับสิ่งเหล่านี้มากที่สุดได้” 

 

ที่มา Emma Seith ผู้สื่อข่าว เว็บไซต์ TES,สก็อตแลนด์
https://bit.ly/2xjazJ6