พิชิตดอยอุ้มผาง 1,219 โค้ง ไกลใกล้แค่ไหนครูก็ไปสอน

พิชิตดอยอุ้มผาง 1,219 โค้ง ไกลใกล้แค่ไหนครูก็ไปสอน

เส้นทางคดโค้งถึง 1,219 โค้ง ซึ่งเป็นเส้นทางระหว่างอำเภอพบพระถึงอำเภออุ้มผาง เพียงแค่ 167 กิโลเมตร แต่ใช้เวลาขับรถอย่างน้อย 4 ชั่วโมงกว่าจะไปถึงโรงเรียนนุเซะโปล้ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ที่ตั้งอยู่บนยอดดอยสูงและติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้โรงเรียนมีเด็กๆ หลากหลายเชื้อชาติเรียนหนังสือร่วมกัน

เส้นทางแสนหฤโหดแบบนี้เรียกว่า ‘ปราบเซียน’ ก็คงไม่แปลก ที่สำคัญมีครูหลายคนสารภาพกับตัวเองมาอำเภออุ้มผางไม่ได้หลายคนถึงกับยอมแพ้ เลือกหันหลังขอเดินทางกลับไม่อยากมาสอนหนังสือในโรงเรียน จากปัจจัยความลำบากสารพัดทั้งเรื่องการสื่อสาร อินเตอร์เน็ต น้ำประปาที่ไม่มีอำนวยความสะดวก ส่วนไฟฟ้าต้องใช้พลังงานแสงอาทิตย์เท่านั้น ครูบรรจุใหม่ที่สอนครบ 4 ปี จึงมักขอย้ายออกจากพื้นที่อยู่ประจำ

แต่ดูเหมือนความลำบากที่กล่าวมาไม่ใช่ปัญหาสำหรับ ‘ครูโอ๋’ พรทิพย์ ไชยโยธา ครูโรงเรียนนุเซะโปล้ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ทำหน้าที่สอนหนังสืออยู่บนดอยแห่งนี้มา 8 ปี ทุ่มชีวิตดูแลนักเรียนทุนเสมอภาคและนักเรียนคนอื่นๆ ในโรงเรียนอย่างเท่าเทียม ถึงแม้เผชิญบททดสอบทุกอย่าง ไล่เรียงตั้งแต่การเดินทางขึ้น-ลงเขากว่า 1,219 โค้ง จนดูเป็นเรื่องปกติธรรมดา การไปเยี่ยมบ้านเด็ก ยิ่งหน้าฝนคือความทุกข์แสนสาหัส ล้อรถจักรยานต์ต้องใช้โซ่พันล้อให้สามารถขับต่อไปได้ ถนนเป็นดินสีแดง เสี่ยงสไลด์ตกลงข้างทางทุกนาที ชีวิตแขวนอยู่บนความเสี่ยงตลอดเวลา แต่ถึงไกลแค่ไหนครูก็ไปหาไปสอนเด็กๆ นำโอกาส นำความรู้ นำสิ่งดีๆ ไปมอบให้พวกเขา เพราะถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะช่วยเด็ก!

‘ครูโอ๋’ พรทิพย์ ไชยโยธา ครูโรงเรียนนุเซะโปล้ และเด็กๆ
‘รักษาสัจจะ’สอนทุกที่ทุรกันดารแค่ก็ไป

“วันแรกที่ได้รับการบรรจุข้าราชการครู คำถามแรกที่พุ่งตรงถามเราว่า ถ้าไปอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารจะอยู่ได้หรือไม่ เราตอบกลับไปทันทีว่าอยู่ได้ แต่ถ้าหากวันนี้เราตอบว่าไม่ได้ล่ะ มันจะผิดกับสัจจะที่เราตั้งไว้บอกไว้หรือเปล่า” ครูพรทิพย์ ย้อนวันแรกที่รับบรรจุข้าราชการ

อย่างไรก็ตาม แม้ ครูพรทิพย์ มีโอกาสหลายครั้งสามารถย้ายไปสอนพื้นที่อื่นได้ แต่ไม่เคยใช้สิทธิ์นั้นเลยเลือกล่ายเบี่ยงไม่สนใจ ปักหลักอาชีพครูบนดอยแห่งนี้อย่างแข็งขันไม่ย่อท้อ กลับกันที่ส่วนใหญ่หลายคนเลือกย้ายตัวเองออกจากพื้นที่ความยากลำบาก เพราะถ้าครูทุกคิดแบบนั้นโรงเรียนบนพื้นที่เหล่านั้นก็จะไม่มีครูสอนหนังสือ  แล้วเด็กที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดารจะอยู่อย่างไร นั่นจึงทำให้เราต้องอยู่ดูแลเด็กๆ แบบนี้

 

เกือบตัดอนาคตเด็กไปเพราะไม่รู้ข้อมูล

ครูพรทิพย์ เล่าเหตุการณ์สำคัญเกือบต้องตัดทุนการศึกษาเด็กว่า มีเด็กนักเรียนคนหนึ่งขาดเรียนจนไม่ครบเกณฑ์มาเรียน 80 เปอร์เซ็นต์ จึงสงสัยว่าทำไมไม่มาเรียนเลยตัดสินใจกับเพื่อนครูไปเยี่ยมที่บ้านเด็ก เดินทางลำบากมากแต่ก็ต้องไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น ปรากกฎพบว่าน้องเป็นแผลที่ขาไม่สามารถเดินได้ปกติยอมขาดเรียนไป ทั้งที่อยากมาโรงเรียน นั่นก็เป็นเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า หากเราไม่ศึกษาข้อมูลตัวเด็กจริงๆ บางครั้งเด็กๆ อาจขาดโอกาสหมดอนาคตไป

การออกเยี่ยมบ้านครั้งนี้ทำให้เห็นคุณประโยชน์ในการออกไปเยี่ยมเด็กๆทุกคน บ้างครั้งไม่สามารถอธิบายได้ต้องมาเห็นด้วยตัวเองจะรู้และทราบปัญหาเด็กๆ อย่างแท้จริง ซึ่งไม่ใช่เพียงน้องคนนี้ที่เป็นแบบนี้ แต่ยังมีนักเรียนคนอื่นๆ บนดอยอีกจำนวนมากรอความช่วยเหลือ หรือได้รับโอกาสดีๆ เหมือนเด็กในเมือง

 

ควักเงินลงขันอุปถัมภ์เด็กยากจน

หลายครั้งมีเด็กนักเรียนต้องเผชิญความยากจนทำให้สูญเสียโอกาส ทำให้ครูโอ๋ และเพื่อนครูบางคนยอมตัดสินใจเจียดเงินเดือนครู ลงขันอุปถัมภ์ดูแลเด็กๆให้ได้เรียนต่อในระดับชั้นสูงขึ้นแล้วหลายสิบคน เท่านั้นไม่พอครูโอ๋ ยังตระเวนหาสถานศึกษาให้เด็กๆ ได้เรียนต่อโรงเรียนดีๆ พยายามประสานคนรู้จัก หรือเพื่อนครูโรงเรียนต่างๆ ที่พอจะช่วยเหลือเด็กๆ ได้ ยังมีเด็กจำนวนมากเรียนดี มีความสามารถแต่ขาดโอกาส ช่างน่าเสียดายหากเด็กเหล่านั้นต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา

ครูพรทิพย์ ย้ำว่า ยิ่งในโรงเรียนสาขาของโรงเรียนนุเซะโปล้ ค่อนข้างลำบากหนักมาก เราพยายามเข้าไปช่วยเหลือทุกอย่างเท่าที่พอทำได้ ถ้าเด็กคนไหนมีแววมุ่งมั่นอยากเรียนต่อเราจะพยายามสนับสนุนให้พวกเขาได้มีอนาคตทางการศึกษาต่อไป ซึ่งก็ต้องขอบคุณ กสศ.ที่มอบทุนให้กับเด็กๆ บนดอยแห่งนี้ เชื่อว่าถ้าทุกคนได้เดินทางมาโรงเรียนแห่งนี้ทุกคนจะรักโรงเรียนนี้แน่นอน