ครูชาวเกาะ ‘แม้ห่างไกลแต่ (ศักยภาพ) เราไม่ห่างกัน’

ครูชาวเกาะ ‘แม้ห่างไกลแต่ (ศักยภาพ) เราไม่ห่างกัน’

เฉลิมขวัญ ทองสุข หรือ ‘ครูขวัญ’ ของเด็กๆ ผู้เชื่อว่าเด็กทุกคนไม่ว่ายากดีมีจนหรือต้องอยู่ในพื้นที่ห่างไกลสักแค่ไหน พวกเขาก็ควรต้องมีสิทธิ์ในการเรียนรู้ที่เท่าเทียมกัน และนั่นคือแรงบันดาลใจให้เธอมุ่งมั่นในการเป็นครูผู้พร้อมทำทุกสิ่งเพื่อให้ลูกศิษย์ค้นพบความสามารถในตัวเอง ด้วยการพาพวกเขาออกไปเผชิญโลกกว้าง ได้มีโอกาสแข่งขันกับเด็กในพื้นที่อื่น ๆ และได้รับรางวัลกลับมาเติมเต็มความภูมิใจในตัวเอง และเหนืออื่นใด เธอต้องการลบคำสบประมาทว่า เด็กชาวเกาะที่รู้จักแต่หาดทราย ผืนทะเล และเรือหาปลานั้น จะไปสู้อะไรกับใครเขาได้

มีนักเรียนไม่ถึง 10 คน แต่อยู่อย่างมีความสุข

โรงเรียนบ้านเกาะนกเภา อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี เป็นโรงเรียนประถมเล็กๆ บนเกาะนกเภา แต่ละปีจะมีนักเรียนแค่ 7-9 คน กับคุณครูอีก 1 คน ครูขวัญเล่าว่า เธอเพิ่งมาเป็นครูที่โรงเรียนแห่งนี้ย่างเข้าปีที่สอง จากที่เคยสอนแต่ในโรงเรียนเอกชนขนาดใหญ่ในตัวจังหวัด แรกที่รู้ว่าต้องมาสอนที่นี่ ครูขวัญเข้าใจว่าเธอดูข้อมูลผิด เพราะไม่เคยคิดว่าโรงเรียนที่มีนักเรียนแค่ 7 คน จะมีอยู่จริงๆ และเป็นนักเรียนทุนเสมอภาคของ กสศ. ที่เราจะต้องดูแลเด็กๆ เหล่านี้ให้ดีที่สุด

ตอนแรกที่มาถึงมีครูอยู่ 1 คน รวมเราด้วยก็เป็น 2 คน ผ่านไปไม่นานครูคนเก่าเขาก็ต้องย้ายไปสอนที่อื่น โรงเรียนก็เหลือแค่เราคนเดียวที่เป็นครู เราก็ต้องคิดว่าจะทำยังไงดีกับเด็ก 7 คนที่มีคละชั้นตั้งแต่ ป.1 จนถึง ป.6 ในโรงเรียนที่ไม่มีสื่อการสอนอะไรเลย แรกๆ เราก็รู้สึกท้อ แต่ด้วยความน่ารักของเด็กๆ ที่เขามีความเป็นธรรมชาติ มีความมุ่งมั่นตั้งใจซึ่งเรารู้สึกว่าต่างจากเด็กในโรงเรียนใหญ่ มันทำให้เราหันมามองในด้านที่ดีๆ ของเขา สิ่งที่พวกเขาได้เปรียบเด็กในพื้นที่อื่นๆ คือทักษะชีวิตที่ดี เขาเพียงแค่ขาดโอกาสด้านการศึกษา เราก็คิดว่าด้วยหน้าที่ของครู เราจะต้องเติมให้เขามีสิ่งเหล่านี้ให้ได้ และต้องไม่ใช่แค่พอไปได้ แต่จะต้องโดดเด่นทัดเทียมกับเด็กในโรงเรียนใหญ่ๆ ได้ด้วย

เปิดโลกใบใหม่นร.บนเกาะ ลบคำสบประมาท

จากแรงผลักตรงนั้น ครูขวัญเริ่มต้นสร้างแรงจูงใจให้เด็กๆ โดยพาพวกเขาไปทัศนศึกษาให้เห็นว่าที่นอกเกาะนั้นโลกเป็นอย่างไร ขณะที่ค่อยๆ ส่งเสริมทักษะความรู้ไปพร้อมกัน และด้วยงบสนับสนุนน้อยนิดสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก ครูขวัญและ ผอ.โรงเรียนบ้านเกาะนกเภา ก็ได้ช่วยกันหาทุนมาเพิ่มเติม โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะพานักเรียนทุกคนไปร่วมแข่งขันทักษะในระดับอำเภอให้ได้ ช่วงนั้นเองที่ครูขวัญต้องได้รับคำถามอันเสียดแทงจากผู้คนบนเกาะว่า ‘จะพาเด็กไปทำไม เด็กพวกนี้จะไปทำอะไรได้’ ซึ่งสร้างความเจ็บปวดหัวใจให้กับครูขวัญอย่างยิ่ง แต่กลับกัน คำถามอันเสียดแทงนั้นก็เหมือนเป็นแรงขับให้ครูขวัญและเด็กๆ มุ่งมั่นกันยิ่งกว่าเดิม

“การพาพวกเขาไปตรงนั้นมันไม่มีอะไรง่ายเลย ในการแข่งขันทักษะเขาจะแบ่งเด็กเป็นช่วงชั้น ป.1-ป.3 และ ป.3-ป.6 โรงเรียนที่มีเด็กเยอะเขาจะส่งเด็กโตที่สุดในช่วงชั้นมาแข่ง ทำให้เด็ก ป.1 ของเราก็ต้องไปแข่งกับ ม.3 หรือ ป.4 ก็ต้องแข่งกับ ป.6 แต่ที่เราเห็นคือเด็กๆ ไม่เคยท้อ ไม่เคยคิดว่าพวกเขาทำไม่ได้ ที่สุดพวกเขาก็สามารถนำรางวัลกลับมากันได้ทุกคน ทั้งในระดับอำเภอและระดับจังหวัด ทั้งเด็กเรายังมีผลสอบประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน(NT) ระดับ ป.3 เป็นที่ 1 ของเขตการศึกษาจังหวัดที่มีโรงเรียนร้อยกว่าโรงอีกด้วย”

พิสูจน์ชัดถึงอยู่ทุรกันดารแต่มีศักยภาพ

นั่นเป็นช่วงเวลา 1 ปีแรกของครูขวัญ ที่โรงเรียนบ้านกะนกเภา ที่เธอได้เปิดโลกกว้างใหญ่ให้เด็กๆ สร้างทักษะการเรียนรู้ด้านวิชาการ และพาพวกเขาทุกคนไปคว้ารางวัลในการแข่งขันกับเด็กๆ ที่มีโอกาสในชีวิตที่ดีกว่า เหนืออื่นใดคือเด็กๆ ได้รู้ว่าชีวิตไม่ได้มีแค่บนเกาะ แต่ยังมีทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพียงเรียนจบ ป.6 หรือออกกลางคันไปทำงานหาปลาเหมือนที่คนรุ่นพ่อแม่ทำต่อๆ กันมา การได้ไปเห็นโลกข้างนอกคือการสร้างโอกาสให้พวกเขาได้มีสิทธิ์เลือกอนาคตด้วยตัวเอง ผลจากความมุ่งมั่นนี้ ส่งให้ครูขวัญได้รับรางวัลครูดีเด่นของอำเภอดอนสักประจำปี 2563 นี้ แต่เธอบอกว่า รางวัลที่ภูมิใจที่สุดคือได้เห็นลูกศิษย์ได้รับโอกาสในสิ่งที่พวกเขาไม่เคยได้รับ

“เราอยากให้รางวัลที่ได้รับกลับมาจากการไปแข่งขันทักษะ เป็นกำลังใจให้เขาอยากเรียนรู้ไม่สิ้นสุด 1 ปีที่ผ่านมา เราได้รู้ว่าการอยู่กับเด็กจำนวนน้อยมีข้อดีคือเรารู้จักเขาได้มากในทุกด้าน ทำให้ส่งเสริมเขาได้ถูกจุด สิ่งนี้คือข้อได้เปรียบ เพราะเราสามารถอยู่ด้วยกันแบบครอบครัว เราเป็นทุกอย่างให้เขาได้ ทั้งเป็นครู เป็นเหมือนพ่อแม่ หรือเป็นแม่ครัวคอยทำอาหารกลางวันที่เหมาะสมให้ เราเชื่อเสมอว่าถ้าเด็กทุกคนได้รับโอกาส เขาจะพร้อมแสดงความสามารถ และจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ในที่สุด” ครูขวัญ กล่าวด้วยความมุ่งมั่น