เงินอุดหนุน ช่วยเด็กกลับมาเรียนสม่ำเสมอ 98% สพฐ.ย้ำรร.ช่วยตรวจสอบสิทธิ

เงินอุดหนุน ช่วยเด็กกลับมาเรียนสม่ำเสมอ 98% สพฐ.ย้ำรร.ช่วยตรวจสอบสิทธิ

สพฐ. ระบุ เงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้นักเรียนยากจนที่สุดได้จริง ส่งผล 98% มาเรียนสม่ำเสมอตามเกณฑ์ ลดความเสี่ยงหลุดออกนอกระบบ ย้ำเขตพื้นที่ กำชับโรงเรียน  300 กว่าแห่งบันทึกข้อมูลบัญชีรับทุนเสมอภาคให้ถูกต้อง ป้องกัน เด็กเสียสิทธิ์

ขณะที่ กสศ.เผย ภาคเรียน1/2562 ช่วยเด็กพิการที่ยากจนพิเศษมากกว่า 4 หมื่นคน  จับมือสพฐ.ปลดล็อคระบบ เพื่อช่วยเด็กด้อยโอกาสซ้ำซ้อนได้มากกว่านี้  ชี้หากไม่ถูกตัดงบ ปีการศึกษา 2563 สามารถช่วยเด็กอนุบาลยากจนที่สุดได้มากกว่า 1.5 แสนคน

เมื่อวันที่ 19  พฤศจิกายน 62  ที่ห้องประชุม DOC อาคาร สพฐ. 5  กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดประชุมชี้แจงการดำเนินงานจัดทำข้อมูลระบบการคัดกรองนักเรียนยากจนและนักเรียนยากจนพิเศษ (นักเรียนทุนเสมอภาค) ประจำภาคเรียนที่ 2/2562  .ให้แก่เขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 255 เขต ทั่วประเทศ ผ่านระบบ Tele Conference

ว่าที่ รต.ธนุ วงษ์จินดา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  กล่าวว่า โครงการเงินอุดหนุนช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไข หรือ CCT ของโรงเรียนสังกัด สพฐ.  เป็นหนึ่งในโครงการบูรณาการงานระหว่าง ศธ.และกสศ.  ที่เป็นรูปธรรมในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและเกิดผลลัพธ์มุ่งตรงกลุ่มเป้าหมายนักเรียนที่ยากจนที่สุด  ในปีการศึกษา 2562  มีนักเรียนยากจนพิเศษระดับชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้นผ่านการรับรองจากคณะกรรมการสถานศึกษาจำนวนทั้งหมด 723,604 คน ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขหรือทุนเสมอภาคจาก กสศ.   จำนวนทั้งสิ้น 699,737  คนใน 27,512 สถานศึกษาสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ หรือร้อยละ 98.5 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามร่วมมือจากสถานศึกษาและเขตพื้นที่ที่ช่วยกันกรอกข้อมูลเข้ามาได้ทันเวลาเกือบ 100%  อย่างไรก็ตามพบว่าในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 ที่ผ่านมายังมีสถานศึกษาที่บันทึกข้อมูลเลขบัญชีธนาคารไม่ถูกต้องจำนวน 309 สถานศึกษา ส่งผลให้นักเรียนที่อยู่ในเกณฑ์นักเรียนยากจนพิเศษเสียโอกาส ได้รับเงินอุดหนุนสร้างโอกาสทางการศึกษานี้ไป  ดังนั้นในภาคเรียนที่ 2 /2562 นี้ จึงขอความร่วมมือให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 225 เขต ติดตาม กำชับให้สถานศึกษา และคุณครู ร่วมกันกรอกข้อมูลในขั้นตอนต่างๆ ให้ครบถ้วนสมบูรณ์   ทั้งนี้ กสศ.ช่วยพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อเป็นเครื่องมือให้ทั้ง 225 เขตพื้นที่การศึกษาซึ่งเป็นหน่วยกำกับติดตาม   สามารถติดตามการคัดกรอง การจัดสรรเงินทุนเสมอภาคของทุกโรงเรียนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์แบบเรียลไทม์

รต.ธนุ วงษ์จินดา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

 

ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  กล่าวว่า  สิ่งที่สพฐ.และกสศ.ให้ความสำคัญอีกเรื่องคือ นักเรียนที่มีความด้อยโอกาสหลายประเภท ล่าสุดได้ประสานให้ทางกสศ. ปรับระบบการคัดกรองความยากจน CCT ในภาคเรียนที่2/2562  ให้ครูสามารถเลือกความด้อยโอกาสได้หลายประเภท เพื่อช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาความเดือดร้อนซ้ำซ้อนได้  นอกจากนี้จากรายงานผลลัพธ์โดยระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พบว่า 98% ของ นักเรียนทุนเสมอภาคมาเข้าเรียนสม่ำเสมอตามเกณฑ์มาตรฐาน คือไม่น้อยกว่า80%   ข้อมูลนี้ช่วยยืนยันว่า เงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขแม้เป็นจำนวนไม่มากแต่สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของ นักเรียนและครอบครัวได้จริง เพราะการขาดเรียนบ่อยเป็นสัญญาณเตือนของการหลุดออกจากระบบการศึกษา   อย่างไรก็ตาม ยังมีนักเรียนอีก 2% ที่ตัวเลขการมาเรียนไม่ถึง 80 % ตามเงื่อนไขของเงินอุดหนุน  ทางสพฐ.และกสศ.ไม่นิ่งเฉยต่อปัญหานี้ โดยร่วมกันวางระบบส่งต่อข้อมูล เร่งติดตาม เพื่อนำเด็กกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ของศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สพฐ. รวมถึงบูรณาการความช่วยเหลือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาเป็นรายคน ป้องกันไม่ให้มีนักเรียนคนใดหลุดออกจากระบบการศึกษา   โดย สพฐ.ได้ขอความร่วมมือจาก กสศ. ในการวิจัยพัฒนาหาแนวทางการส่งต่อและดูแลช่วยเหลือเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถช่วยเหลือนักเรียนยากจนได้อย่างครอบคลุมทุกมิติด้วย

ด้านดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า เงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข (Conditional Cash Transfer: CCT) เป็นนวัตกรรมปฏิรูปมาตรการลดความเหลื่อมล้ำที่เป็นแนวทางเดียวกับงานวิจัยที่ได้รับรางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ปีนี้ ซึ่งหลายประเทศประสบความสำเร็จในการใช้มาตรการดังกล่าวลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างมีประสิทธิผล กสศ. จึงได้วิจัยพัฒนามาตรการดังกล่าวมาใช้ในประเทศไทยเป็นที่แรกร่วมกับ สพฐ. เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่ยากจนที่สุด ได้ตรงความต้องการที่แท้จริง และสามารถใช้ป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาและส่งเสริมพัฒนาการที่สมวัยตามช่วงวัย ทั้งเด็กเยาวชนที่ประสบปัญหาความด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจสังคม และปัญหาสุขภาพ อย่างกรณีนักเรียนที่ยากจนพิเศษที่มีความพิการร่วม ภาคเรียนที่ 1/2562  ก็ได้รับเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข จำนวน  42,228 คน ทั่วประเทศ  และในภาคเรียนที่2/2562 กสศ.ได้ปรับระบบการคัดกรอง ให้ครูสามารถเลือกความด้อยโอกาสได้หลายประเภท เช่น นักเรียนที่พิการและยังยากจนด้วย  จะช่วยให้กสศ. สามารถช่วยเหลือนักเรียนที่มีความด้อยโอกาสซ้ำซ้อนได้มากขึ้นกว่านี้และไม่มีตกหล่น

“คุณครูสามารถคัดกรองและบันทึกข้อมูลนักเรียนกลุ่มเข้าใหม่และนักเรียนที่ประสงค์ขอรับทุนเสมอภาคเพิ่มเติมได้ระหว่างวันที่ 1.-20 ธันวาคม 2562 นี้นอกจากนี้ ในปีการศึกษา 2563 กสศ.ยังได้เตรียมขยายฐานการช่วยเหลือไปถึงเด็กอนุบาลยากจนพิเศษราว  ประมาณ 1.5 แสนคน เพื่อตอบโจทย์เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 54 ที่กำหนดให้รัฐมีหน้าที่จัดการศึกษาตั้งแต่ระดับก่อนวัยเรียนจนถึงการศึกษาภาคบังคับโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และให้จัดตั้ง กสศ. ขึ้นเพื่อสนับสนุนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้มีโอกาสที่เสมอภาคทางการศึกษา คณะกรรมการบริหาร กสศ. จึงได้มีมติขยายผลการดำเนินการช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษสู่ระดับอนุบาลในปีงบประมาณ 2563 นี้ อย่างไรก็ตาม งบประมาณที่แน่นอนจะต้องรอ ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา คาดว่าจะทราบผลในเดือน ธ.ค. 62 – ม.ค. 63 นี้”

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

 

ดร.ไกรยส กล่าวว่า กสศ.ร่วมกับซุปเปอร์โพลล์สำรวจความคิดเห็นของ  คุณครู กลุ่มตัวอย่าง 500 คน ทั่วประเทศครอบคลุมทุกภูมิภาคที่มีต่อโครงการเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไข กสศ.พบว่า ร้อยละ 96 เห็นว่าโครงการนี้เป็นโยชน์แก่นักเรียนมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 96.71  พร้อมสนับสนุนโครงการระดับมากถึงมากที่สุด  และ ร้อยละ 89.8 เห็นว่า การที่ครูได้ลงเยี่ยมบ้านนักเรียนเพื่อทำการคัดกรองตลอดจนกระบวนการทั้งหมด เช่น การกรอกข้อมูลขาดลามาสาย ,น้ำหนัก ,ส่วนสูง มีประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพนักเรียน ในระดับมากถึงมากที่สุด   ทั้งนี้ ภายหลังการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากช่องทางต่างๆ ทั่วประเทศ   สพฐ.ร่วมกับ กสศ. ได้พัฒนาระบบการคัดกรองให้ดีขึ้นเพื่อลดขั้นตอนเวลาและภาระการบันทึกข้อมูลของครูและสถานศึกษา รวมถึงการปรับหลักเกณฑ์ต่างๆให้มีความเหมาะสม เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินงานให้กับครูและสถานศึกษา เพราะถือเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มที่ยากจนที่สุด