โรงเรียนส่วนใหญ่กว่า 80 % วางแผนจัดการเรียนการสอนปกติ

โรงเรียนส่วนใหญ่กว่า 80 % วางแผนจัดการเรียนการสอนปกติ

แม้สถานศึกษาทั่วประเทศเปิดภาคเรียนประจำปีการศึกษา 2563  ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ไปแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นการเปิดภาคเรียนที่ทำให้ บุคลากรทางการศึกษา เด็กนักเรียนและผู้ปกครอง ได้สัมผัสกับสถานการณ์ใหม่ทางการศึกษา

อย่างไรก็ดี ก่อนการเปิดเทอมไม่กี่วัน กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้เสนอการเตรียมการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานก่อนการเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2563 ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบเช่นกัน

ตามรายงานดังกล่าว ศธ. สรุปข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

1.ได้จัดทำแนวทางการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในสังกัด ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (COVID-19) ปีการศึกษา 2563 และได้มีการชี้แจงเอกสารดังกล่าวในที่ประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาผ่าน Video Conference เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563 ดำเนินการประเมินตนเองเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคจังหวัด (ศปก.จ.) ตามลำดับ รวมถึงมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

2. กำหนดให้โรงเรียนสำรวจความพร้อมการเปิดเรียน ภาคเรียนที่ 1/2563 โดยจำแนกแบบสำรวจเป็น 3 ฉบับ ได้แก่ 1) แบบสำรวจข้อมูลสำหรับโรงเรียนทั่วไป 2) แบบสำรวจข้อมูลสำหรับโรงเรียนที่มีจำนวนลักษณะพิเศษ (พักนอน) และ 3) แบบสำรวจโรงเรียนทั่วไปที่มีจำนวนนักเรียนมากกว่า 20 คนต่อห้อง สำหรับระดับชั้นอนุบาล ประถมศึกษา และโรงเรียนขยายโอกาส หรือจำนวนนักเรียนมากกว่า 25 คนต่อห้อง สำหรับระดับมัธยมศึกษา ซึ่งผลการสำรวจสรุปได้ ดังนี้

2.1 ข้อมูลพื้นฐานของโรงเรียน

1) โรงเรียน 51.00 % เป็นโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน ไม่เกิน 120 คน

2) มีโรงเรียน/สถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ซึ่งจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ ทั้งเฉพาะความพิการและศูนย์การศึกษาพิเศษ รวมถึงเด็กด้อยโอกาสในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์โดยรับนักเรียนทั้งประเภทอยู่ประจำ และไป-กลับ จำนวนรวม 176 โรงเรียน

2.2 แนวทางการจัดการเรียนการสอน และมาตรการเฝ้าระวัง/ป้องกันโรค  จากการสำรวจพบว่า แผนการดำเนินการของโรงเรียนเป็นไปตามเอกสารแนวทางการจัดการเรียนการสอน โดยโรงเรียนส่วนใหญ่กว่า 81.77 % วางแผนจัดการเรียนการสอนปกติ (On-site) ที่เหลือจัดแบบผสมผสาน 

2.3 กรณีพิเศษอื่นๆ

1) กรณีนักเรียนไทยที่ตกค้างอยู่ในต่างประเทศ ที่ไม่สามารถข้ามพรมแดนกลับมาได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำนักเรียนกลับมายังประเทศไทย ทั้งนี้ ต้องสอดคล้องกับมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)

2) กรณีนักเรียนต่างชาติ ยังไม่สามารถข้ามชายแดนมาเรียนได้ สพฐ.จะดำเนินการตามมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) สำหรับการจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนกลุ่มนี้ เช่น ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือนักเรียนให้ได้รับสื่อการเรียนการสอน หรือวิธีการอื่น ๆ ตามบริบทพื้นที่

3) กรณีโรงเรียนประจำ/นักเรียนประจำพักนอน สพฐ. กำหนดมาตรการการดำเนินงานสำหรับโรงเรียนประจำ/นักเรียนประจำพักนอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อการบริหารจัดการของสถานศึกษา และการบริหารค่าอาหารนักเรียน

3. แนวทางการใช้จ่ายเงินอุดหนุนสำหรับโรงเรียนที่จัดสถานที่พักนอนให้กับนักเรียนในพื้นที่ยากลำบาก ห่างไกล  ไม่สามารถเดินทางไป-กลับได้ 

ศธ.ได้จัดสรรงบประมาณงบเงินอุดหนุน ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป รายการค่าอาหารนักเรียนพักนอน  สำหรับโรงเรียนที่จัดสถานที่พักนอนให้กับนักเรียนในพื้นที่ยากลำบาก ห่างไกล ไม่สามารถเดินทางไป-กลับได้ โดยโรงเรียนได้ดำเนินการ กำกับ ดูแล และจัดระบบแบบเต็มเวลา และเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)  กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดรูปแบบการจัดการเรียนการสอน 3 รูปแบบ ซึ่งโรงเรียนสามารถเลือกรูปแบบการจัดการเรียนการสอนโดยพิจารณาตามความเหมาะสมและบริบทของโรงเรียน ดังนี้

1) การเรียนในชั้นเรียน (On-Site) 2) การเรียนผ่านโทรทัศน์ (On-Air) และ 3) การเรียนการสอนแบบออนไลน์ (Online)  กรณีโรงเรียนเลือกจัดการเรียนผ่านโทรทัศน์ (On-Air)  และ/หรือการเรียนการสอนแบบออนไลน์ (Online)  นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้จากที่บ้าน ซึ่งไม่ได้พักนอนที่โรงเรียน

ดังนั้น โรงเรียนจึงไม่สามารถดำเนินการจัดอาหารให้แก่นักเรียนได้ กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  จึงกำหนดแนวทางการบริหารงบประมาณค่าอาหารนักเรียนพักนอน โดยให้โรงเรียนแต่งตั้งคณะกรรมการอย่างน้อย 3 คน  ดำเนินการจ่ายเงินสดให้แก่ผู้ปกครอง/นักเรียนตามงบประมาณที่ได้รับจัดสรรจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีหลักฐาน คือ ใบสำคัญรับเงิน และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ปกครอง/นักเรียน (ผู้รับเงิน)

4. แนวทางการใช้จ่ายงบอุดหนุนสำหรับโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย

ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 ศธ.โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้จัดสรรงบประมาณงบเงินอุดหนุน ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป รายการค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย 12 แห่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน  และค่าใช้จ่ายสำหรับนักเรียนประจำ

ประกอบด้วย รายการค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาด้านวิชาการสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และรายการค่าใช้จ่ายสำหรับการเป็นนักเรียนประจำ   และเพื่อดำเนินการตามมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จึงเตรียมการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนร่วมกันในหลายวิธีการ เช่น การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ การเรียนการสอนในชั้นเรียน  และหรือการเรียนการสอนแบบผสมผสาน

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขความพร้อมของพื้นที่จังหวัดและดุลยพินิจของผู้ปกครอง  คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมกับโรงเรียน โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการและการใช้จ่ายงบประมาณของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ให้โรงเรียนกำหนดรูปแบบวิธีการและจ่ายค่าอาหาร ค่าอาหารเสริม สำหรับนักเรียนที่เรียนผ่านระบบออนไลน์ตามที่โรงเรียนกำหนดหรือได้รับอนุญาตจากโรงเรียน

ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม  2563 เป็นต้นไป  และให้โรงเรียนสามารถใช้เงินอุดหนุนทั่วไป  รายการค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาของแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

สำหรับนักเรียนประจำ และเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ การเรียนการสอนในชั้นเรียน การเรียนการสอนแบบผสมผสาน และการสอนชดเชย  เช่น  ค่าสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอนออนไลน์ ค่าจัดทำเอกสารประกอบการเรียนรู้ ค่าสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเช่าสัญญาณอินเทอร์เน็ต การปรับปรุงพัฒนาอาคารสถานที่แหล่งเรียนรู้  การจัดหาอุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดสำหรับนักเรียน ค่าใช้จ่าย สำหรับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ ค่าเบี้ยประชุม เป็นต้น  ตามบริบทของโรงเรียน

5. การอนุมัติการจบการศึกษาปีการศึกษา 2562 ภายหลังวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 (ระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2563)

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันวิกฤตการณ์จากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้ออกประกาศกระทรวง ลงวันที่ 17 มีนาคม 2563 ให้สถานศึกษาทุกแห่งของรัฐและเอกชน  ทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งอยู่ในสังกัดและกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป ทำให้โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนเพื่อแก้ไขผลการเรียนในช่วงนี้ได้ ต่อมากระทรวงศึกษาธิการ ได้มีประกาศกระทรวง ลงวันที่   9 เมษายน 2563 ให้สถานศึกษาทุกแห่งของรัฐและเอกชน  ทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งอยู่ในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563

กระทรวงศึกษาธิการจึงได้พิจารณาการอนุมัติการจบการศึกษาภายหลังวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 กับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยปีการศึกษา การเปิดและปิดสถานศึกษา พ.ศ. 2549 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 6 ที่กำหนดวันเริ่มต้นปีการศึกษา คือวันที่ 16 พฤษภาคม วันสิ้นปีการศึกษา คือวันที่ 15 พฤษภาคม ของปีถัดไป  และกฎหมายระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ข้อสรุปว่า การแก้ไขผลการเรียนและอนุมัติการจบการศึกษา ระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม ถึง 30 มิถุนายน 2563 ถือเป็นเหตุสุดวิสัยและถือว่าเป็นการแก้ไขผลการเรียนก่อนเปิดภาคเรียนปีการศึกษาถัดไป

โดยไม่ถือเป็นการขัดแย้งกับระเบียบดังกล่าว ดังนั้น การที่สถานศึกษาแก้ไขผลการเรียนของนักเรียนเสร็จสิ้น หลังจากวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 (ระหว่างวันที่  16 พฤษภาคม ถึง 30 มิถุนายน 2563) ต้องถือว่าเป็นการอนุมัติให้จบการศึกษา ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562

6. การขอรับจัดสรรกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิทัล จากสํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้สำรวจความต้องการขอรับกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิทัลของนักเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่านักเรียนมีความต้องการกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิทัล รวมทั้งสิ้น 1,158,931 กล่อง เป็นความต้องการของนักเรียนในสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 1,030,798 กล่อง กระทรวงมหาดไทย จำนวน 127,867 กล่อง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 266 กล่อง ซึ่งจะประสานขอรับจากสํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต่อไป

ศธ.ยังได้รายงานผลกระทบจากการเปิดภาคเรียนในสถานการณ์โควิด-19 ว่า การจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนเป็นการให้โอกาสผู้เรียนได้เรียนรู้ร่วมกับเพื่อนร่วมชั้นในโรงเรียน ทั้งองค์ความรู้ ทักษะวิชาการ  ทักษะชีวิตจากการมีปฏิสังคม และยังช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองในการกำกับดูแลบุตรหลานให้เรียนทางไกล ให้ผู้ปกครองสามารถกลับไปทำงานได้อย่างมีผลิตภาพ

แต่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน   ศธ.โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ตระหนักว่าการจัดการเรียนการสอน และจัดกิจกรรมในโรงเรียนต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและระมัดระวัง  เพื่อความปลอดภัยของนักเรียนและบุคลากร และป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดอันจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจสังคมของประเทศต่อไป