ล่ามพิธีกร ‘นานาชาติ’ ระดับประเทศ ภาษาทำให้มีทางเลือกในชีวิต

ล่ามพิธีกร ‘นานาชาติ’ ระดับประเทศ ภาษาทำให้มีทางเลือกในชีวิต

แม้จะไม่เคยไปเข้าค่ายฤดูร้อนที่ต่างประเทศ หรือมีครูกวดวิชาค่าตัวแพงคอยช่วยปรับแต่งสำเนียงให้ใกล้เคียงเจ้าของภาษา แต่ด้วยใจรักประกอบกับความมุมานะพยายาม ‘น้องเอเปก’ นาถวัฒน์ ลิ้มสกุล นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่น 1 แผนกพาณิชยกรรมและบริการฐานวิทยาศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีการท่องเที่ยว วิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์พังงา(วท.พังงา) กลับสามารถฝึกฝนทักษะภาษาอังกฤษด้วยตนเองจนชำนาญ กระทั่งได้รับเลือกให้รับตำแหน่งสำคัญที่ต้องใช้ทักษะสื่อสารภาษาอังกฤษระดับสูง ในงานวิชาการและการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติมาแล้ว ทั้งที่ยังเรียนอยู่ในระดับชั้น ปวช.1 เท่านั้น

เอเปก เล่าว่า เพียงเทอมการศึกษาเดียวก็ได้รับโอกาสอันหาได้ยากยิ่ง ในการทำหน้าที่พิธีกรในงานประชุมวิชาการนานาชาติโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 4 (The 4 th International Convention on Vocational Student’s Innovation Project) และ รับหน้าที่ล่ามควบตำแหน่งผู้จัดการ ในงานแข่งขันกีฬาฟุตบอลอาวุโสนานาชาติ (Thailand Masters) ที่จังหวัดพังงารับหน้าที่เป็นเจ้าภาพ โดยทั้ง 2 งานแม้จะเป็นการทำงานที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารเหมือนกัน แต่เมื่อลงลึกในรายละเอียดแล้ว การเตรียมตัวทำการบ้านและนำทักษะอื่นมาประกอบเพื่อรับผิดชอบงาน ให้ลุล่วงผ่านไปได้นั้น นับว่าแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

งานแรกที่ผมได้เข้าร่วม เป็นงานใหญ่มาก มีนักเรียนถึง 331 คน จาก 7 ประเทศที่เดินทางมาร่วมประชุมและนำเสนอผลงานกว่า 90 ชิ้น ทั้งยังเป็นความร่วมมือของวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ทั้ง 5 แห่งในประเทศไทย ผมต้องรับหน้าที่เป็นพิธีกรบนเวที ใช้ภาษาอังกฤษดำเนินรายการทั้งหมด กว่าจะได้งานนี้ ผมต้องผ่านการคัดเลือกจากผู้สมัครที่เป็นรุ่นพี่และเพื่อนๆ ที่แต่ละคนมีความสามารถทางพิธีกรและภาษาอังกฤษดีมากทุกคน แล้วที่ผ่านมาผู้ได้รับเลือกจะเป็นนักศึกษาชั้นปี 3 ทั้งหมด การออดิชั่นต้องทำกันหลายรอบหลายขั้นตอน สุดท้ายพอรู้ว่าได้รับเลือกผมดีใจมาก เพราะทีแรกไม่คิดว่าตนจะได้รับโอกาส

“เราคิดว่าเป็นเด็กปี 1 เพิ่งเข้ามาเรียน คงต้องรอไปก่อน แต่ความที่อยากมีประสบการณ์เราก็ไปคัดเลือกกับเขา พอได้รับเลือกแล้วก็ยิ่งตื่นเต้น รู้สึกไม่มั่นใจว่าตนเองจะทำได้แค่ไหนในงานใหญ่ระดับประเทศขนาดนี้ แต่ผมก็อาศัยความตั้งใจ พยายามฝึกฝนเพิ่มเติมทุกวันเพื่อขัดเกลาข้อบกพร่องให้ได้มากที่สุด จนทำให้งานผ่านไปได้ สิ่งที่ผมประทับใจมากที่สุดคือได้รับคำชมจากคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ ที่มาเป็นประธาน ว่าเราสามารถดำเนินงานและสื่อสารภาษาได้ดี สิ่งนี้เป็นความภูมิใจมากกว่าเกียรติบัตรใดๆ ที่ได้รับเลยครับ” นาถวัฒน์บอกความรู้สึก

นาถวัฒน์ เล่าต่อไปว่า ส่วนอีกงานหนึ่งคือต้องเป็นทั้งล่าม เป็นไกด์ และเป็นคนคอยประสานงานเรื่องที่พัก อาหาร แผนการเดินทางหรือสถานที่ท่องเที่ยวให้กับทีมนักกีฬาจากประเทศสหรัฐอเมริกา รุ่นอายุ 65 ปี ในงานกีฬาที่จัดแข่งขันติดต่อกัน 5 วัน มี 6 ประเทศเข้าร่วม ซึ่งนอกจากแข่งกีฬาแล้ว เป้าหมายของงานยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัด ทำให้มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นพันคน บรรยากาศของทั้งสองงานจึงแตกต่างกันมาก

“ที่แตกต่างกันชัดคืองานแรกใช้เวลาสั้นๆ ไม่กี่ชั่วโมง คนที่เจอในงานก็อยู่ในวัยไล่เลี่ยกันเป็นส่วนใหญ่ แต่เราต้องเตรียมตัวเป็นสัปดาห์สำหรับการท่องสคริปท์ จำลำดับขั้นตอน คาดเดาสถานการณ์เฉพาะหน้าบนเวที แต่งานหลังผมต้องใช้เวลาทั้งวันตลอดสัปดาห์ ในการดูแลคนทั้งทีมร่วม 20 กว่าคน แล้วเราเป็นเด็กคนเดียวที่ต้องคอยดูแลผู้สูงอายุเป็นกลุ่ม ทั้งยังต่างชาติต่างภาษา ต่างวัยและวัฒนธรรม เป็นงานที่ยากแต่ท้าทาย ต้องใช้ทั้งทักษะภาษา ความเป็นไกด์ และเทคนิคบริหารจัดการมาผสมรวมกัน มันก็มีบ้างครับที่เขาไม่เข้าใจเราหรือเราไม่เข้าใจเขา แต่วิธีการทำงานของผมคือใช้ความสุภาพ ให้เกียรติ พยายามปรับจูนตัวเองกับเขาด้วยความเข้าใจ คิดแค่ว่าเราต้องจูนเข้าหากันให้ได้” นาถวัฒน์ย้อนถึงประสบการณ์ที่ได้รับจากงาน

นาถวัฒน์ ย้ำว่าโอกาสที่ได้รับจากทั้งสองงานคือการเปิดโลกครั้งสำคัญของตัวเอง การได้เจอผู้คนที่มาจากหลากหลายพื้นที่ในโลกนับเป็นการเปิดหูเปิดตา ที่ช่วยฝึกฝนให้เขามีทักษะชีวิตที่ดีขึ้นในทุกด้าน ตั้งแต่รุ่นพี่ที่มีความสามารถในการเป็นพิธีกรที่ทำให้เขารู้ว่าต้องพัฒนา ตัวเองให้ดีขึ้นตรงไหน หรือในด้านความรับผิดชอบในการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายที่ทำให้ เขานำสิ่งที่ได้รับมาใช้ได้ในชีวิตจริง ได้เข้าใจว่าในสังคมมีผู้คนที่แตกต่างกันอีกมาก ทั้งงานยังสอนให้เขารู้จักการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ต้องหาวิธีปรับตัวเข้ากับคนมากมายที่ไม่รู้เลยว่าแต่ละคนมีพื้นเพแบบไหน หรือมีความต้องการอย่างไร ซึ่งนั่นคือบทเรียนนอกวิทยาลัยที่จะนำไปต่อยอดได้กับงานที่ใฝ่ฝันอยากทำในอนาคต

ส่วนเรื่องความสามารถด้านภาษาอังกฤษ นาถวัฒน์ บอกว่าชอบภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็กและฝึกฝนด้วยตัวเองมาตลอด เนื่องจากครอบครัวของเขาอยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยชาวต่างชาติหลายแห่ง ความใกล้ชิดกับแหล่งท่องเที่ยวทำให้เขาคุ้นเคยกับการคุยกับคนต่างชาติ รวมถึงงานพิเศษที่ทำก็เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการใช้ภาษาให้ดีขึ้นทุกวัน

“ตอนเด็กๆ เวลาเจอคนต่างชาติผมจะอยากเข้าไปคุยกับเขา ไม่ได้รู้สึกว่าเขินอายอะไร ทั้งที่แรกๆ ก็คุยกับเขาไม่รู้เรื่องเลย แต่เพราะความที่ผมชอบ จึงพยายามทำทุกอย่างให้ตัวเองเก่งขึ้น ฝึกฟังเพลงภาษาอังกฤษ ดูหนังฝรั่งบ่อยๆ แล้วหัดพูดมาเรื่อยๆ อีกอย่างหนึ่งคือความที่ครอบครัวของผมไม่ได้มีฐานะดี ผมเลยต้องหางานพิเศษทำตั้งแต่ยังเรียนชั้น ม.2-ม.3 เพื่อแบ่งเบาภาระทางบ้าน ผมพยายามเลือกงานที่ได้ใช้ภาษา ไปเป็นเด็กเสิร์ฟในร้านที่ได้เจอคนต่างชาติ ได้ฟังได้พูดภาษาอังกฤษทุกวัน จากที่เคยรู้แบบงูๆ ปลาๆ ก็เข้าใจมากขึ้น ซึมซับจนพูดและฟังได้ดีขึ้น บางครั้งก็ได้รู้จักภาษาอื่นๆ เพิ่มเติมด้วยเพราะคนที่มาเที่ยวหลายคนก็ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก” นาถวัฒน์ ระบุ

ในฐานะนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ. นาถวัฒน์ เผยว่า เลือกสมัครเข้าเป็นนักศึกษาทุนฯ ด้วยตนเอง เนื่องจากเห็นว่าอายุพ่อแม่ใกล้ถึงวัยเกษียณแล้ว แต่ยังต้องทำงานรับจ้างไม่ประจำที่มีรายได้ไม่แน่นอน วันไหนที่ไม่มีงานก็หมายถึงไม่มีเงิน ผมเห็นว่าพ่อกับแม่เริ่มทำงานไม่ค่อยไหวแล้ว การได้ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงจึงเป็นสิ่งที่จะมาช่วยแบ่งเบาภาระ ของพ่อกับแม่ได้มาก ไม่ต้องให้ท่านกังวลว่าจะไม่มีเงินจ่ายค่าเทอมให้ หรือต้องเครียดว่าค่าใช้จ่ายในบ้านแต่ละเดือนจะพอหรือไม่ แล้วการเรียนระดับ ปวช. ก็ต้องใช้เงินมากขึ้นกว่าเดิม ทุนนี้ทำให้ผมมีสมาธิกับการเรียนได้มากขึ้น แต่งานพิเศษผมก็ยังคงรับทำอยู่ตลอด เพราะนอกจากมีรายได้ส่วนหนึ่งมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแล้ว งานยังช่วยให้ผมได้ฝึกฝนตัวเองทั้งเรื่องภาษาและเก็บเกี่ยวเป็นประสบการณ์สำหรับการทำงานในวันข้างหน้าด้วย

“ผมรักการทำงานบริการ มันคือความสนุกที่เราไม่รู้ว่าแต่ละวันจะได้เจอลูกค้าแบบไหน ผมใฝ่ฝันว่าอยากทำงานเป็นสจ๊วต หรือไม่ก็เป็นมัคคุเทศก์ เพราะเป็นงานที่ได้สื่อสาร ได้พบปะบริการผู้คน ที่ผ่านมานี้ผมก็พยายามเก็บเกี่ยวประสบการณ์งานด้านนี้ให้ได้มากที่สุด คิดว่าถ้าเราชอบแล้ว ก็ต้องหาจุดที่จะได้พัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ทั้งภาษาและทักษะอื่นๆ เพื่อเป็นต้นทุนไปสู่สิ่งที่ตั้งใจไว้ได้ ส่วนตัวผมมองว่าการมีภาษาที่ดีจะทำให้เรามีทางเลือกในชีวิตได้มากขึ้นครับ” นาถวัฒน์ กล่าวปิดท้าย