พัฒนาสินค้านักเรียน ยกระดับคุณภาพชีวิต โรงเรียนราษฎร์บำรุงธรรม

พัฒนาสินค้านักเรียน ยกระดับคุณภาพชีวิต โรงเรียนราษฎร์บำรุงธรรม

โรงเรียนราษฎร์บำรุงธรรม เป็นโรงเรียนขยายโอกาส ตั้งอยู่ในตำบลทุ่งกระบ่ำ อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี จุดที่โรงเรียนตั้งอยู่ เป็นพื้นที่ห่างไกล จากโรงเรียนถึงอำเภอมีระยะทางถึง 28 กิโลเมตร โรงเรียนขนาดเล็กแห่งนี้ มีนักเรียน 258 คน จากหลายครอบครัว แต่ส่วนใหญ่ประสบปัญหาด้านทุนทรัพย์ โรงเรียนต้องพยายามหามาตรการมาช่วยประคับประคองนักเรียน ด้วยการช่วยฝึกอาชีพฝึกฝีมือที่สอดคล้องกับวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น นั่นจึงเป็นที่มาของการผลิตชาใบหม่อนและสบู่สมุนไพร

ทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ทำมาจากฝีมือเด็กนักเรียน แต่สินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่โรงเรียนช่วยกันคิดขึ้น ก็ยังมีหลายด้านที่ต้องพัฒนาให้เป็นที่น่าสนใจในท้องตลาด โดยเฉพาะเรื่อง การบรรจุหีบห่อที่ยังไม่สามารถทำให้สินค้าเป็นที่น่าสนใจในท้องตลาด รวมถึงคุณภาพที่ตอบโจทย์ความต้องการสินค้าที่ได้ จึงยังขายอยู่ในวงจำกัดเฉพาะบริเวณรอบโรงเรียน

“ตอนนี้เรากำลังประสบปัญหาเรื่องของหีบห่อผลิตภัณฑ์ดูไม่ทันสมัย เก่า ไร้การดึงดูดชวนคนมาซื้อ ผลิตภัณฑ์จึงไม่ได้ถูกพัฒนาต่อยอดให้ดีเท่าที่ควร การผลิตจึงหยุดชะงักไม่ต่อเนื่อง ช่องทางการติดต่อซื้อขายยังไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย เราต้องการขยายตลาดออกไปสร้างรายได้ให้กับเด็กๆ ที่ทำสินค้าเหล่านี้ คาดว่าอนาคตหากสินค้าได้รับพัฒนาโรงเรียนอาจปลูกใบหม่อนและเลี้ยงไหมเองด้วย” เหมภัส คำรัศมี อาจารย์โรงเรียนราษฎร์บำรุงธรรม จ.กาญจนบุรี สะท้อนให้เห็นภาพปัญหาที่ประสบอยู่

อาจารย์โรงเรียนราษฎร์บำรุงธรรม เล่าอีกว่า ที่ผ่านมา โรงเรียน ชุมชน และวัด ทำกิจกรรมด้วยกันอยู่เสมอ อย่างโครงการทำ ‘ชาใบหม่อน’ และ ‘สบู่สมุนไพรโปรตีนไหม’ ชุมชนได้เข้ามาช่วยเหลือด้านความรู้ พร้อมสนับสนุนวัตถุดิบอย่างใบหม่อน รังไหม จนเกิดผลิตภัณฑ์กลายเป็นสินค้าประจำโรงเรียนและมีรายได้ขึ้น สำหรับสินค้าเหล่านี้มาจากฝีมือเด็กนักเรียนที่ได้ทุนการศึกษาใน ‘โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข’ ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และนักเรียนคนอื่นๆที่ช่วยกันทำ สนนราคาขายไม่แพงอย่างชาใบหม่อนขายเพียงห่อละ 20 บาท ลูกค้าคือกลุ่มชาวบ้าน ครู ที่ช่วยกันสนับสนุน

เหมภัส กล่าวว่า นอกจากรายได้ที่เข้ามาเด็กนักเรียนทุกคนยังได้เรียนรู้ทักษะวิธีทำผลิตภัณฑ์ชาใบหม่อน สบู่ และหวังถึงอนาคตได้ต่อยอดแปรรูปไปถึงสินค้าชนิดต่างๆเพิ่มขึ้นกว่าเดิม ซึ่งทักษะเหล่านี้จะติดตัวเด็กไปตลอดชีวิต สามารถนำไปประกอบอาชีพได้เมื่อจบการศึกษา เนื่องจากเด็กในละแวกโรงเรียนส่วนใหญ่เมื่อจบการศึกษาชั้น ม.3 แล้วมักหยุดเรียนต่อทันที เพราะขาดแคลนโอกาสและทุนการศึกษา ท้ายที่สุดแล้วจุดรปะสงค์ของโรงเรียนคือเน้นการสอนทักษะอาชีพให้กับนักเรียนควบคู่กับงานวิชาการด้วย

ละมุด กร่างปรีชา วิทยากรกลุ่มชุมชนหม่อนไหมอาสา (มอส.) จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า ชุมชนมีสมาชิกปลูกใบหม่อน เลี้ยงตัวไหมอยู่ประมาณ 10 คน ผลิตสินค้าขาย อาทิ สบู่ ชาใบหม่อน เป็นต้น ตามจังหวัดต่างๆ ทางกลุ่มชุมชนจึงนำความรู้มาถ่ายทอดให้กับโรงเรียนราษฎร์บำรุงธรรม หวังให้โรงเรียนและเด็กมีรายได้ไว้ใช้พัฒนาโรงเรียน และยังช่วยสืบสานอนุรักษ์การทำสินค้าจากใบหม่อนและรังไหมให้อยู่คู่ต่อไปกับชุมชน

“ชุมชมช่วยสนับสนุนวัตถุดิบทั้งใบหม่อน รังไหมกับโรงเรียนสำหรับทดลองทำเรียนรู้กระบวนการขั้นตอนอย่างละเอียด วัตถุประสงค์ต้องการให้โรงเรียนสร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นมาเป็นของตัวเอง จะช่วยเพิ่มรายได้บริหารดูแลเด็กๆให้มีอาหารการกินดี มีคุณภาพชีวิตดี และเด็กยังได้ความรู้ติดตัวไปหลังเรียนจบด้วย” ละมุด กล่าว

ขวัญหทัย ตัณฑ์เกยูร ที่ปรึกษาด้านผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ รับฟังเรื่องทั้งหมด ก่อนจะบอกว่านั่น คือโจทย์ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ต้องเข้าไปช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์จากโรงเรียนราษฎร์บำรุงธรรม จ.กาญจนบุรี ซึ่งเดิมมีผลิตภัณฑ์ชาใบหม่อนและสบู่สมุนไพรรังไหมที่เด็กนักเรียนช่วยกันทำเอง แต่เมื่อลงพื้นที่ทำให้เห็นศักยภาพวัตถุดิบต่างๆที่มีความเป็นไปได้สูงมากต่อการพัฒนาเปลี่ยนแปลงสินค้าให้มีความแปลกใหม่ เพิ่มมูลค่าสินค้าที่สามารถขยายตลาดต่อไปได้ และทำให้เด็กนักเรียน โรงเรียนมีรายได้ที่ยั่งยืนสามารถเลี้ยงดูกันเองได้

ทว่า การดำเนินการต้องทำภายใต้ความคิดที่เด็กนักเรียนสามารถทำได้จริงค่อยๆฝึกทักษะและมุมมองความคิด อย่างเช่นสินค้าที่คิดว่าจะสามารถพัฒนาได้ อาทิ ตัวรังไหมสามารถปรับทำเป็นที่ “รองจานรองแก้วน้ำ” เติมสีจากธรรมชาติอย่างอัญชัน ใบเตย ฯลฯ สร้างความน่าสนใจเกิดสีสัน “ข้าวเกรียบใบหม่อน” หรืออาจปรุงด้วยผงปรุงรสชาติต่างๆ ทานเล่นเพลินๆได้

ที่ปรึกษาด้านผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันโรงเรียนได้ตู้อบทำขนมมาใหม่ โดยมีวัตถุดิบตัวดักแด้ที่หาได้ง่ายในละแวกชุมชนจำนวนมาก จึงคิดว่าน่าจะออกเป็นเมนูขนม “คุกกี้ดักแด้”อุดมด้วยโปรตีน ถ้าหากทำได้ถือว่าแปลกใหม่และไม่มีใครเคยทำมาก่อนด้วย แม้แต่ใบหม่อนที่ใช้ทำชามีกลิ่นหอมอุดมด้วยคุณค่าประโยชน์กับร่างกายหาก นำมาทำขนม “คุกกี้ใบหม่อน” เพื่อสุขภาพก็สามารถทำได้

“สิ่งที่ให้คำแนะนำกับโรงเรียนนี้คือการทำตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลัง ผ่านการนำวัตถุดิบเหล่านั้นมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้อย่างไร ตอนนี้ต้องเริ่มพัฒนาจากสิ่งที่โรงเรียนมีอยู่ ถ้าเข้มแข็งมีทักษะดีขึ้นสามารถทำสินค้าชิ้นใหญ่เพิ่มโอกาสทางธุรกิจได้ เราต้องระดมทุนระดมแรงออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อช่วยเหลือน้องๆและโรงเรียนให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นเป้าหมายให้กับอนาคตของชาติ” ขวัญหทัย กล่าวอย่างตั้งใจ

ทั้งหมดจากสิ่งที่พบในพื้นที่สามารถต่อยอดแปรรูปเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆได้ เชื่อมั่นว่าจะเป็นโครงการนำร่องที่ดีและเป็นตัวอย่างกับโรงเรียนต่างๆได้

#กสศเปิดประตูสู่โอกาส #เงินอุดหนุนนักเรียน #คุกกี้ #ชุมชน