เบื้องหลังเยี่ยมบ้านนักเรียนทุนเสมอภาค กับคำถาม “ทำไมครูต้องลงพื้นที่คัดกรอง?”

เบื้องหลังเยี่ยมบ้านนักเรียนทุนเสมอภาค กับคำถาม “ทำไมครูต้องลงพื้นที่คัดกรอง?”

นอกจากมอบความรู้ ให้แรงบันดาลใจ กระตุ้นไฟฝันในตัวเด็กนักเรียนแล้ว ครูยังมีบทบาทในการสร้างความเสมอภาคให้เกิดขึ้นจริงได้

คุณครูกว่า 4 แสนคนที่ลงพื้นที่ค้นหา คัดกรองนักเรียน ไม่ว่าพื้นที่จะห่างไกล ทุรกันดารเพียงใด นั่นไม่ใช่เงื่อนไขสำคัญของครูที่จะบ่ายเบี่ยงการทำงาน แต่เพราะหวังเพียงสิ่งเดียวคือเด็กๆ ทุกคนต้องได้เรียนและเรียนอย่างมีความสุข

การลงพื้นที่เยี่ยมบ้านถือเป็นภารกิจสำคัญ โดยครูจะทำหน้าที่ไปพบผู้ปกครอง ไปเยี่ยมเยือนบ้าน ดูความเป็นอยู่ของเด็ก พร้อมทั้งตรวจสอบข้อมูลพื้นฐาน เช่น สถานะความยากจนของเด็กเป็นรายบุคคล นอกจากต้องเก็บข้อมูลแล้ว ยังต้องใช้หัวใจและสายตาที่เปิดกว้างอีกด้วย

วันนี้เราได้คุยกับ คุณครูพริมมธุรา สุขศิริบุญญาคมน์ หรือคุณครูนับดาว จากโรงเรียนบ้านวังสาร จังหวัดพิษณุโลก กับภารกิจตามหาเด็กนักเรียนเพื่อให้ได้ทุนเสมอภาค

สำหรับจุดเริ่มต้นทำหน้าที่คัดกรองเด็ก คุณครูพริมมธุราเล่าว่า “พอดีพี่คนที่เป็นครูเขาจะย้ายโรงเรียน เขาก็มาถามว่ามีใครอยากทำเรื่องทุนเสมอภาคไหม ตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าคืออะไร เพราะเพิ่งมาใหม่ เขาก็อธิบายกระบวนการว่าเป็นอย่างไร จึงตัดสินใจทำ เพราะคิดว่าการทำสิ่งนี้จะเกิดผลดีต่อเด็ก ตัดสินใจทำคัดกรอง ทำทุกอย่าง สำรวจทุกอย่าง ตัดสินใจที่จะพูดความจริงกับผู้บริหารว่าเด็กบ้านนี้จน ต้องช่วยนะ นอกจากทุนจาก กสศ. ซึ่งไม่น่าจะเพียงพอ ก็ต้องหาทางอื่นเสริม เช่น ครูก็ทำเกษตรที่โรงเรียน มีไข่และผักขาย ครูก็แบ่งให้เด็กไปเป็นอาหาร เราช่วยเหลืออะไรได้ก็จะช่วย ต้องบอกผู้ใหญ่ว่าเด็กเขาขาดนะ ถ้าไม่ได้เขาก็จะอด”

คุณครูพริมมธุราเป็นครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 แต่ลงมาช่วยทำหน้าที่คัดกรองเด็กอนุบาล 3 เพื่อมารับทุน จากการลงพื้นที่พบว่าหลายครอบครัวมีรายได้น้อย ทำให้ไม่พร้อมสำหรับการเรียนของเด็กโดยปริยาย

“ไปคัดกรองรอบนี้ ครูอยากออกบวชเลยค่ะ  มันเศร้ามาก เห็นทุกเรื่องที่เขาเจอ อนุบาล 3 จะขึ้น ป.1 อยู่แล้ว เด็กยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ มันหนักมากในการจะขึ้นชั้นเรียนใหม่ แล้วเรียนออนไลน์เด็กก็เรียนไม่ได้ เพราะไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์ ไม่มีค่าอินเทอร์เน็ต จะให้ผู้ปกครองสอนก็ไม่ได้ ไปไม่รอด เพราะเขาไม่มีเวลา ต้องทำงาน

“เวลาลงพื้นที่ คุณครูจะเข้าไปพูดคุยกับครอบครัวของเด็ก ถามว่าเด็กอยู่กับใคร ส่วนมากเขาจะฝากเด็กไว้กับบ้านญาติ แต่ก็มีกรณีเด็กที่พ่อแม่แยกทางกันเยอะมาก เนื่องจากพ่อแม่เป็นวัยรุ่น บางทีลูกก็ต้องมาอยู่กับตายาย ซึ่งทำให้มีปัญหาการเรียนออนไลน์ตามมา เพราะตากับยายก็อ่านหนังสือไม่ออก แล้วตัวเด็กเองก็ยังอ่านไม่ออกด้วย เรื่องเหล่านี้จึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ เด็กบางคนไม่มีโทรศัพท์ใช้ ก็ต้องไปเรียนกับเพื่อนข้างบ้านที่ครอบครัวพ่อแม่มีทุนทรัพย์ซื้ออุปกรณ์

“การลงพื้นที่บ้านเด็กซึ่งอยู่ห่างไกล บางพื้นที่ต้องข้ามแม่น้ำ ต้องเจอทางลูกรัง คุณครูไปด้วยรถยนต์ส่วนตัวกันสองคน พอไปถึงหน้างานก็เจอปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้คือ ปัญหาเรื่องเงินใช้จ่าย เนื่องจากเด็กตัวเล็กกว่าที่ควรเป็นเพราะไม่ค่อยได้กินอะไร บ้านเขาตั้งอยู่ไกลจากร้านค้ามาก ต้องขี่รถมาไกลเพื่อจะซื้อของ หรือไม่ก็ต้องปั่นจักรยานเป็นระยะทางประมาณ 4-5 กิโลเมตร แต่เขาก็พยายามมาเรียนนะคะ บางทีครูก็ไปส่งตอนเย็น เพราะไม่มีรถ บางทีไม่มีคนมารับ เราก็ต้องไปส่ง”

พาน้องกลับโรงเรียน

“กรณีที่ครูภูมิใจคือ เด็กผู้ชายอยู่ ป.3 เขาเป็นโรค LD (Learning Disorder หรือโรคการเรียนรู้บกพร่อง) เขามาโรงเรียนด้วยสภาพเนื้อตัวมอมแมมมาก ใส่แต่เสื้อตัวเดิมมาโรงเรียนทุกวัน ไม่ซักเสื้อผ้า น้ำก็ไม่อาบ ครูก็เครียด เพราะเขาไม่ยอมเรียน เดินไปก่อกวนห้องโน้นห้องนี้ ครูเลยทำวิจัยเกี่ยวกับเด็กคนนี้ แล้วจึงไปรู้ถึงปัญหาที่บ้านของเด็ก

“ไปเยี่ยมบ้านเด็ก เขาอยู่กับยายทวดและตาทวดที่อายุ 70 กว่า พ่อเขาติดแอลกอฮอล์อย่างหนัก ไม่ค่อยมีเวลาดูแลลูก ตาและยายทวดทั้งคู่ก็อ่านหนังสือไม่ออก แล้วเขามีพฤติกรรมด้านอารมณ์รุนแรง โมโหร้าย ครูก็เลยถ่ายรูปบ้าน สำรวจบ้าน จากนั้นก็ได้ปรึกษากับทาง อบต. ให้เขาช่วยเหลือ ปรากฏว่ามีของมาให้เด็กเต็มเลย วันนั้นเด็กคนนี้ก็ได้เสื้อผ้าใหม่ ที่นอนใหม่ สิ่งแวดล้อมดีขึ้น

ความสนใจเรียนของเขามีมากขึ้น ถามถึงการบ้าน มีการถามครูว่า “ครูมีงานไหม? ครูสอนหน่อยได้ไหม?” เขาเสนอตัวว่า “ผมช่วยงานครูนะ ผมอยู่กับครูได้นะ” แล้วเขาก็มาอยู่ช่วยครูตลอด ช่วยเหลือโรงเรียนทุกอย่าง เป็นจิตอาสาดีมาก

“จากที่เกเร ไม่สนใจเรียน ป่วนมาก ก็กลับมาเรียนได้ ส่วนเรื่องเสื้อผ้า ครูก็ใช้วิธีให้เขาใส่ชุดธรรมดามาเรียนวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ครูตระเตรียมชุดนักเรียนไว้ให้ที่โรงเรียน โดยให้เขาใส่ให้ถูกวัน สร้างความเคยชินว่าวันนี้ต้องใส่อะไร แล้วก็สอนเขาซักผ้าที่โรงเรียน เพราะเขายังทำอะไรไม่เป็น ก็สอนซักผ้า กวาดบ้าน ถูบ้าน เพื่อให้เขาได้ไปดูแลตายายที่บ้านด้วย เด็กคนนี้ก็เริ่มมีอะไรเหมือนเพื่อนๆ มากขึ้นและไม่ถูกใครล้อเลียนอีกแล้ว มีชีวิตดีขึ้น และมีความสุขกับการเรียน”

กรณีรอวันคลี่คลาย

“มีกรณีของน้องมายซึ่งอยู่อนุบาล 3 น้องขาดเรียนเพราะคุณแม่พาลูกไปทำงานที่นั่นที่นี่ คือไม่ได้เอาลูกมาเรียน แต่เอาลูกไปทำงาน เราก็ติดต่อคุณแม่ เขาก็บอกว่ามีภารกิจ ไม่มีใครมารับได้ในช่วงเย็น น้องอยู่ก็ไม่รู้จะอยู่กับใคร ครูก็เลยคิดแก้ปัญหาว่า ถ้าแถวนั้นมีคนมาโรงเรียน ก็ให้ฝากลูกติดมาด้วยได้ไหม แต่ก็ดีอยู่พักหนึ่ง แล้วก็กลับไปเป็นเหมือนเดิมอีกแล้ว คือมีปัญหาเรื่องการเดินทาง เด็กจะต้องเดินทางข้ามคลองถึงจะมาเรียนได้

“อีกคนก็เป็นเหมือนกัน อยู่โซนเดียวกับน้องมาย คือต้องข้ามคลองมาเรียน น้องคนนี้ก็ไม่ไปโรงเรียน เวลามาโรงเรียนก็ไม่พูดกับใคร ไม่ว่าจะครูหรือเพื่อน เอาแต่กินและนอนอย่างเดียว เรียกว่าสื่อสารด้วยไม่ได้ เพราะเด็กปิดประตู ครูก็เลยไปถามละแวกบ้านว่าน้องพูดบ้างไหม ถ้าไม่พูดนี่น่าจะมีปัญหา จะได้พาไปหาหมอ แต่ถ้าพูดจะได้ลองหาวิธีพูดกับเขาดู ละแวกบ้านก็บอกว่าเขาคุยบ้างนะ แต่คุยไม่เยอะ เลยคิดว่าพัฒนาการได้ แต่ต้องลองหาวิธีการให้เขาเล่นบ่อยๆ เขาจะได้กล้า”

เด็กที่ต้องการทุนเสมอภาคมีมากกว่าที่คิด

“ไม่มีอุปสรรคในการมาทำหน้าที่คัดกรองเด็ก ครูรู้สึกสบายใจที่ได้ช่วยเด็ก พอได้เห็นชีวิตเด็กดีขึ้น ครูก็ภูมิใจและดีใจ ทำให้ครูมีความหวัง อยากช่วยเด็กให้มีอนาคตที่ดี ครูปฏิบัติกับเด็กนักเรียนเหมือนเป็นลูก ไปสำรวจด้วยตัวเองทุกบ้าน ทั้ง ๆ ที่หน้าที่คัดกรองไม่ต้องถ่ายรูปก็ได้ ไม่ต้องลงพื้นที่ก็ได้ แต่ครูก็อยากรู้จักเด็ก จะได้กรอกข้อมูลตามที่เป็นจริง 

“มีเด็กที่เหมาะสมจะรับทุนเสมอภาคเยอะมาก ซึ่งจำนวนทุนไม่น่าจะเพียงพอกับจำนวนเด็ก เด็กอนุบาล 3 มีจำนวน 18 คน เด็กที่ต้องการทุนมีประมาณ 10 คนได้  เป็นเด็กที่ค่อนข้างยากจนและครอบครัวมีปัญหา เด็กที่นี่ขาดแคลนจริงๆ  ครอบครัวลำบาก แม้ค่าครองชีพจะกลางๆ แต่ครอบครัวยากจน รายได้น้อยมาก อยากให้รัฐบาลอนุมัติทุนนี้เยอะๆ หน่อย เพื่อที่จะสามารถเพิ่มจำนวนเงินสำหรับเด็กแต่ละคนค่ะ” คุณครูพริมมธุราเล่าบรรยายกาศและเรื่องราวระหว่างคัดกรอง