‘ลุงน้อม’กระบอกเสียงเพื่อเด็กบนพื้นที่สูง ขอช่วยเด็กจนหมดลมหายใจ

‘ลุงน้อม’กระบอกเสียงเพื่อเด็กบนพื้นที่สูง ขอช่วยเด็กจนหมดลมหายใจ

ประสบการณ์ชีวิตกว่า 30 ปี ของนายน้อม ทรัพย์เจริญ หรือ ‘ลุงน้อม’ อายุ 54 ปี เจ้าพนักงานพัฒนาสังคมชำนาญงาน ศูนย์พัฒนาราษฏร์บนพื้นที่สูง กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กว่าครึ่งชีวิตขับรถคู่ใจขึ้นลงเขาทำงานช่วยเหลือคนบนดอยสูงมาตลอด โดยเฉพาะด้านการศึกษา ถือเป็น 1 ในภาระกิจสำคัญ จึงเข้าใจปัญหาทุกอย่างลึกซึ้ง ถ้าให้หลับตาเดินคงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับลุงน้อม

“เรารู้อยู่แล้วว่าพื้นที่ไหนทุรกันดารหรือไม่ หลับตารู้หมด โดยเฉพาะจังหวัดลำพูน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ว่าพื้นที่ไหนลำบากไม่ลำบาก มีปัญหาอะไรแบบไหน ตอนไปค้นหาเด็กยากจนขาดแคลนทุนทรัพย์เรานั่งรถออกไปกับอาจารย์วิทยาลัยเทคนิคลำพูนไปหาเด็ก เราสามารถพาพวกเขาเข้าสู่ระบบการศึกษาได้จำนวนมาก” ลุงน้อมกล่าว

ลุงน้อม เริ่มต้นย้อนเล่าว่า หลังทราบข่าวว่ามีทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ต้องการมอบทุนให้กับเด็กๆด้อยโอกาสจริง ๆ จึงได้มีโอกาสไปทำงานร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคลำพูน ที่ต้องออกไปค้นหาเด็ก ๆ ในแต่ละพื้นที่ และพูดคุยกับอาจารย์ถึงแนวทางช่วยเหลือค้นหาเด็กที่ยากจนขาดแคลนทุนทรัพย์จริง ๆ ประจวบเหมาะกับเราเชี่ยวชาญชำนาญคลุกคลีในพื้นที่ดอยมาตลอด จึงรู้จุดไหนมีเด็กประสบปัญหาเสี่ยงหยุดเรียนเพราะความยากจน จึงเป็นที่มาของการได้ร่วมทำงานกัน

การสร้างความไว้วางใจจึงถูกเริ่มต้น ลุงน้อม บอกต่อไปว่า สิ่งแรกที่พวกเราขึ้นไปค้นหาเด็ก ๆ ต้องสร้างความไว้ใจกับผู้ปกครองเด็กก่อน บนดอยมักสื่อสารภาษาถิ่นเป็นหลักไม่ค่อยพูดภาษาไทย เราจึงเป็นตัวกลางพูดสร้างความเข้าใจความมั่นใจ ชักชวนเด็กเหล่านั้นเข้าสู่ระบบการศึกษาเนื่องจากหลายครอบครัวไม่เชื่อว่าจะมีทุนการศึกษาจริง สุดท้ายครอบครัวเด็ก ๆ เชื่อใจเรายอมปล่อยให้ลูกหลานไปเรียน ผ่านวิธีสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและมั่นใจว่ามีทุนการศึกษาจริง ๆ ไม่ใช่การหลอกลวง

ลุงน้อม เปิดใจบอกว่า บทบาทของเราเหมือน ‘กระบอกเสียงการศึกษา’ เพราะกว่า 30 ปี ทำเรื่องเด็กบนพื้นที่สูงตลอด ช่วงเวลาไหนมีข่าวเกี่ยวกับทุนการศึกษาประเภทใด เราจะนำข้อมูลไปบอกต่อให้เด็ก เพราะอยากเห็นเด็กทุกคนได้เรียนหนังสือ เหมือนอย่างเช่น ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง เราก็ไปบอกพวกเขาว่า “มีทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง เป็นทุนสายอาชีพนะ เป็นทุนมาใหม่ เพื่อช่วยเด็กๆด้อยโอกาส เด็กยากจน มันตรงกับพวกเรา ตรงนี้เป็นโอกาสสำหรับพวกเราแล้วนะ”

“หลังจากเด็กได้ทุนการศึกษา ผมกลับไปเยี่ยมครอบครัวเขา ผมเห็นรอยยิ้มผู้ปกครองมันเกิดขึ้น เขามั่นใจว่ามีทุนการศึกษาให้ลูกเขาจริงๆ บางคนเสียใจทำเรื่องไม่ทัน ทุนนี้มันเหมือนกับไปเปิดโลกทรรศน์ให้เด็กให้ผู้ปกครอง ที่สำคัญกว่า 80 เปอร์เซ็นต์เด็กที่มาเรียนในวิทยาลัยเทคนิคลำพูนอยู่บนดอย อย่างตอนนี้ปัญหาบนดอยมันเกิดขึ้นจากความไม่รู้ ไม่มีการศึกษา ถูกหลอกปลูกพืช ปลูกข้าวโพด เด็กก็ถูกใช้ฉีดยาพ่นยากันไป” ลุงน้อมบรรยาย

เจ้าพนักงานพัฒนาสังคมชำนาญงาน กล่าวอย่างปลื้มใจอีกว่า รู้สึกดีใจเห็นเด็กหลายคนบนดอยมีโอกาสรับทุนนี้ พวกเขาเป็นเด็กด้อยโอกาสอย่างแท้จริง มันบอกไม่ถูกดีใจที่ทุนการศึกษาเข้าไปถึงเด็กจริงๆ ที่สำคัญภูมิใจกับครูวิทยาลัยเทคนิคลำพูน ที่ลงไปค้นหาเด็กๆ ยอมปรับตัว เข้าใจ เพื่อพาเด็กกลับสู่ห้องเรียน ครูหลายท่านสู้อย่างมาก กินนอน เดินทาง ลุยป่า ขึ้นเขาไปค้นหาเด็กแบบถึงลูกถึงคน ไม่เคยปฏิเสธความลำบากเลย

“มั่นใจว่าถ้าทุนนี้ไม่มีสิ่งใดเป็นตัวแปรให้เกิดความเปลี่ยนแปลง คิดว่ายังมีเด็กด้อยโอกาสบนพื้นที่สูงจำนวนมาก ที่รอโอกาสจากทุนนี้ ส่วนตัวเชื่อว่าหากเด็กกลุ่มนี้ได้เรียนจะกลับไปพัฒนาบ้านเกิดตัวเอง สิ่งต่าง ๆ บนพื้นที่สูงชนบทมันจะถูกฟื้นฟูอย่างครบวงจร” ลุงน้อมแสดงความเชื่อมั่นคุณภาพของทุน ฯ

ลุงน้อม ยังเปรียญเทียบเรื่องการศึกษาอย่างน่าสนใจว่า พื้นที่สูงคือต้นน้ำ เราอยู่ตรงนี้คือกลางน้ำ ปลายน้ำคือกรุงเทพมหานคร ถ้าบนพื้นที่สูงเสียหาย โดยเฉพาะเด็กๆถ้าไม่ได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้องถูกทางจะพัฒนาประเทศไม่ได้ เนื่องจากทุกวันนี้เราหล่อเลี้ยงประเทศจากน้ำบนยอดดอยหรือต้นน้ำที่ไหลลงมารวมกัน โดยนำความจำเป็นพื้นฐานก็คือน้ำมาสร้างเมืองไทย แต่ถ้าคนที่อยู่บนต้นน้ำไม่ได้รับการพัฒนาที่ถูกต้อง สิ่งที่อยู่ข้างล่างจะเสียหายไปด้วย

“ผมไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงได้เพียงคนเดียว แต่ถ้ามีแรงผลักดันอื่นมาช่วยเช่น ให้การศึกษา ให้ความรู้ที่ถูกต้อง เราในฐานะผู้พัฒนามันจะไปด้วยกันได้ และจะขอทำงานช่วยเหลือเด็กต่อไปจนกว่าจะหมดลมหายใจ” ลุงน้อมย้ำความสำคัญของการศึกษา