“อยากเปิดหัวใจนักเรียน อยากให้ห้องเรียนเป็น Safe Zone และเด็ก ๆ ได้แสดงตัวตนของเขา”
เติม ‘จิตวิทยาเชิงบวก’ ในกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ในสไตล์ ครูปีร์พฤจิกาล หมายเจริญ จากโรงเรียนบ้านตาเปาว์ จังหวัดสุรินทร์

“อยากเปิดหัวใจนักเรียน อยากให้ห้องเรียนเป็น Safe Zone และเด็ก ๆ ได้แสดงตัวตนของเขา”

การเรียนรู้เชิงรุก หรือ Active Learning เป็นทักษะสำคัญในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่เปลี่ยนจากการสื่อสารทางเดียวจากครูไปสู่ผู้เรียนในห้องเรียนแบบเดิม ไปสู่การกระตุ้นให้นักเรียน คือ ศูนย์กลางของการเรียนรู้ สามารถร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมออกแบบเพื่อหาคำตอบและเดินไปสู่เป้าหมายพร้อมกันกับครูและเพื่อน ๆ

นอกจากนี้ หลังวิกฤตโควิด-19 ที่นำไปสู่สถานการณ์ความถดถอยทางการเรียนรู้ของเด็ก ๆ เนื่องจากการต้องปิดการสอนในห้องเรียนไปกว่า 2 ปี ทำให้จำเป็นต้องมีกระบวนการเรียนการสอนที่ยืดหยุ่นขึ้น เพื่อฟื้นฟูการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ที่หายไป ผ่านกระบวนการคิด การทดลอง ที่สอดคล้องกับความสนใจ ความถนัดและบริบทพื้นที่ของเด็ก ๆ

‘โรงเรียนบ้านตาเปาว์’ เป็นโรงเรียนขนาดกลางในจังหวัดสุรินทร์ ที่เปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเป็นแบบ Active Learning มากว่า 7 ปีแล้ว จึงสามารถยืนยันได้ถึงผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่เกิดขึ้น พร้อมการเป็น ‘ห้องเรียนต้นแบบ’ ที่สามารถขยายผลไปยังโรงเรียนอื่น ๆ เกิดเป็นห้องเรียน Active Learning  เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ของเขตพื้นที่การศึกษาเขต 1 จังหวัดสุรินทร์

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อสังเกตจาก ‘ครูปีร์พฤจิกาล หมายเจริญ’ หรือ ครูไซอิ๋ว ผู้ขับเคลื่อนห้องเรียน Active Learning ในโรงเรียนบ้านตาเปาว์มาตั้งแต่ปีแรก มองเห็นว่า ปัจจุบันปัญหาสุขภาพจิตสุขภาพใจของเด็ก ๆ มีความรุนแรงมากขึ้น ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและแรงกดดันมากมายของสังคม เช่น เด็ก ๆ ในชุมชนบ้านตาเปาว์ ส่วนใหญ่ต้องห่างไกลจากพ่อแม่ที่ต้องเดินทางไปรับจ้างลงเรือประมงในทะเลภาคใต้ปีละหลายเดือน การสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจและพัฒนาให้โรงเรียนเป็น Safe Zone ของเด็ก ๆ จึงเป็นอีกเป้าหมายใหม่ของเธอด้วย

นั่นจึงเป็นที่มาของการเลือกเรียนรู้ ‘จิตวิทยาเชิงบวก’ และเติมเข้าไปในกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ซึ่งสามารถสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจและความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้นให้กับเด็ก ๆ ได้มากมาย

7 ปี Active Learning ‘โรงเรียนบ้านตาเปาว์’

โรงเรียนบ้านตาเปาว์ เป็นโรงเรียนขนาดกลาง มีนักเรียน 140 คน ครู 14 คน ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมือง 18 กิโลเมตร ส่วนใหญ่นักเรียนมาจาก 2 หมู่บ้านในชุมชน ผู้ปกครองมีอาชีพรับจ้างลงเรือประมงเดินทาง 2 – 3 เดือน จึงค่อยกลับบ้านได้ครั้งหนึ่ง บางส่วนมีอาชีพทำนาและการเกษตร เป็นสังคมค่อนข้างไปในทางแบบชนบทมากกว่าเมือง

“เด็ก ๆ ค่อนข้างห่างจากผู้ปกครอง ต้องอยู่กับปู่ย่าตายายเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ช่วงโควิดที่ผ่านมาจึงได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างหนักมาก เพราะเด็กเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่พร้อมเรียนออนไลน์ ต่อให้มีเทคโนโลยี ผู้ปกครองซึ่งอายุค่อนข้างมากแล้วแทบไม่สามารถช่วยเสริมในส่วนนี้ได้เลย ทำให้กระบวนการเรียนรู้ของเด็ก ๆ หายไปกว่า 2 ปี

ครูไซอิ๋ว เล่าถึงสถานการณ์ที่ผ่านมาพร้อมบอกว่า วิธีเฉพาะหน้าคือครูจะใช้วิธีขับรถไปสอนตามบ้าน แต่ก็ทำได้ไม่มาก หลังหนึ่งไปสอนได้ราวหนึ่งชั่วโมงแล้วก็วนไปเรื่อย

“สำหรับปัญหาอื่น ๆ ก็คงเหมือนโรงเรียนอื่นทั่วไปในประเทศไทย ตอนนี้มีครูครบชั้นก็จริง แต่ส่วนใหญ่ต้องสอนไม่ตรงเอก อย่างตัวเองจบด้านภาษาไทย แต่ก็ต้องสอนประจำชั้น ป.3 ทุกวิชา ทำให้บางทีวิชาอื่น ๆ ที่ครูไม่ได้เรียนมาอย่างเจาะลึกก็เข้าไม่ถึงแก่นของวิชานั้น อาจสื่อสารกับเด็ก ๆ ได้ไม่ตรงจุด ลงรายละเอียดหรือตอบบางคำถามให้เขาไม่ได้ ทำให้มีงานมากขึ้นที่เราต้องไปหาคำตอบให้เขา”

สิ่งที่มาเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้คือ กระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ซึ่งโรงเรียนบ้านตาเปาว์ขับเคลื่อนเรื่องนี้มาแล้ว 7 ปี ครูไซอิ๋ว บอกว่า ห้องเรียนของเธอเป็นห้องเรียนต้นแบบมาตั้งแต่แรก ค่อย ๆ เก็บประสบการณ์และพัฒนาเรื่อยมาจนตอนนี้สามารถเป็นวิทยากรให้กับเขตพื้นที่ได้ โดยตอนนี้ สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาคือการนำหลักจิตวิทยาเชิงบวกมาปรับใช้กับการสอนแบบ Active Learning ด้วย

“กระบวนการทำ Active Learning ของบ้านตาเปาว์ จะเริ่มจากการให้คุณครูมาช่วยกันเขียนแผนเพื่อจัดกระบวนการเรียนการสอนร่วมกัน จะทำไปด้วยกันทุกชั้นเรียนตั้งแต่อนุบาลเลย หากถามว่าการลงหลักปักฐานของ Active Learning  โรงเรียนแห่งนี้เริ่มอย่างไร ตอนแรกแนวคิดนี้มาจากเขตพื้นที่การศึกษาแนะนำมา เนื่องจากเล็งเห็นว่า แนวทางนี้ทำให้เด็ก ๆ ประสบผลสำเร็จทางการศึกษาในหลายประเทศ น่าจะลองนำมาปรับใช้ในพื้นที่ได้ ทางเขตจึงพยายามมองหาครูและห้องเรียนต้นแบบเพื่อมาพัฒนาโครงการนี้ด้วยกัน เราก็สนใจเข้าร่วมพร้อมกับเพื่อนครูอีก 7 – 8 คน มีการติดตามผลไปเรื่อย ๆ เมื่อเห็นว่าได้ผลดี ไม่มีปัญหาก็เริ่มขับเคลื่อนไป ขยายไปเรื่อย ๆ ในโรงเรียนแห่งอื่น จนตอนนี้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ทั้งเขตพื้นที่การศึกษา”

ครูไซอิ๋ว ยอมรับว่า ช่วงแรกที่เริ่มทำกระบวนการก็คงเหมือนกับคนอื่น ๆ ที่เริ่มในสิ่งใหม่ ยังไม่ได้เข้าใจคำว่า Active Learning มากนัก คิดว่าให้เด็กได้ตัดกระดาษ ทำชิ้นงานแปะ ๆ ไป ช่วงแรกจึงรู้สึกว่ากระบวนการแบบนี้เป็นภาระของครู เพราะยังเข้าใจแค่ว่า Active Learning คือ กระบวนการเรียนที่ให้เด็กได้ลงมือทำชิ้นงานเท่านั้น แต่พอทำไปเรื่อย ๆ ทำให้เข้าใจว่า วิธีนี้เป็นเพียงกระบวนการหนึ่งในการจัดการเรียนการสอน ไม่ได้หมายความว่าเราต้องมีสื่อหรือวัสดุอุปกรณ์มากมาย แต่อยู่ที่ครูจะมีแผนการจัดการเรียนรู้อย่างไรให้เด็กได้ลงมือทำหรือคิดเอง มีโอกาสแสดงผลงานความคิดเห็นหรือความรู้ของเขาออกมา ทุนหรืออุปกรณ์ไม่ใช่หัวใจหลักในการเรียนรู้แบบนี้

“จากช่วงแรกที่ยังคลำทางกันไม่ถูก พอลงมือทำไปสักพัก เริ่มเห็นปัญหา เริ่มแก้ปัญหาด้วยกันทำให้เราเห็นทิศทางที่จะไปถึงเป้าหมายได้ว่าเป็นแบบไหน ก็เดินไปพร้อมกัน และเราจะมีอีกกระบวนการหนึ่งคือการจัดอบรมทุก ๆ ปี คอยช่วยกันแลกเปลี่ยนความคิด ใครมีไอเดียอะไรใหม่ ๆ ก็เอามาแลกเปลี่ยนกันตลอด”

ในช่วงแรกครูบางส่วนอาจยังไม่เปิดรับ เพราะเขามองว่ากระบวนการสอนแบบเดิมก็ดีอยู่แล้ว เด็กก็ได้ผลสัมฤทธิ์ดีแล้ว แบบนี้ทำให้เสียเวลา แต่พอเขาได้เห็นสิ่งที่เราทำก็เกิดความเข้าใจว่า การที่เด็กมีทักษะในการเรียนรู้หลาย ๆ อย่างพร้อม ๆ กับการเรียนเรื่ององค์ความรู้ไปด้วย จะนำไปสู่การพัฒนาเด็กได้อย่างไร

“พอเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของเด็ก ๆ ครูคนอื่น ๆ ก็เริ่มนำมาปรับใช้ เมื่อกระบวนการเดินไปเรื่อย ๆ จากที่เคยมองว่าต้องเตรียมสื่อ ครูต้องทำงานหนัก ตอนนี้ก็กลายเป็นไม่หนักแล้ว เพราะครูรู้แล้วว่าหน้าที่ของครูเป็นเพียงการเตรียมการสอนและวางกระบวนการไว้ จากนั้นเป็นเรื่องของเด็ก ๆ ที่เขาจะไปถึงเป้าหมายด้วยตัวเองโดยมีครูคอยชี้แนะ ตอนเตรียมอาจจะเหนื่อยบ้าง แต่พอเข้าชั่วโมงเรียน ครูแทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย อาจต้องสอดแทรกในส่วนที่ต้องเสริมสิ่งที่เกี่ยวกับองค์ความรู้บ้างเท่านั้น ชวนเขาคิดและแลกเปลี่ยน ชี้ให้เห็นวิธีการนำสิ่งที่เขาได้ไปใช้ ครูทำหน้าที่แค่คอยกระตุ้นดึงสิ่งเหล่านี้ออกมาจากเด็ก ๆ”

อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ ครูไซอิ๋วบอกว่า จำเป็นต้องมีการวางกลไกรองรับความเปลี่ยนแปลงนี้ทั้งระบบ อย่างในเขตพื้นที่จะมีการตั้งกลุ่มไลน์ของระดับชั้นต่าง ๆ ร่วมกัน ซึ่งในนั้นจะมีศึกษานิเทศก์และครูต้นแบบอยู่ในกลุ่มเพื่อคอยรับฟังและให้คำแนะนำ พื้นที่ตรงนี้จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนไปทั้งระบบ

Active Learning ผสาน ‘จิตวิทยาเชิงบวก’

ปีที่ผ่านมาเป็นปีแรกที่ครูไซอิ๋ว บอกว่า เริ่มทำอะไรใหม่ ๆ มากขึ้นด้วยการนำจิตวิทยาเชิงบวกมาใช้กับ Active Learning

“สิ่งที่น่าสนใจคือเรื่องนี้เป็นศาสตร์ใหม่ เราก็อยากลองอะไรใหม่ ๆ มาปรับใช้ในห้องเรียน เนื่องจากสภาพสังคมในปัจจุบัน เรื่องสุขภาพจิตดูจะเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้น และเราเองก็มองว่า สุขภาพใจสำคัญกับการเรียนมาก เลยขอลงอบรมเรียนรู้เรื่องนี้ ตอนแรกทุกคนก็งงเหมือนกันว่า เป็นครูภาษาไทย ทำไมไม่เน้นที่ภาษาไทย พออบรมเสร็จ เราก็นำมาออกแบบให้จิตวิทยาเชิงบวกอยู่ในการเรียนการสอนของเรา โดยจะเน้นที่สอนให้เขาได้รู้จักกับ character strengths หรือคุณลักษณะที่เป็นจุดเด่น 24 ตัว มีอะไรบ้าง จากนั้นก็ชี้ให้เห็นว่า พฤติกรรมไหนบ้างที่แสดงถึงคุณลักษณะด้านนี้ เช่น ความซื่อสัตย์ มีอะไร ทำอะไรถึงจะเรียกว่า ซื่อสัตย์ เป็นต้น”

จิตวิทยาเชิงบวก บางคนอาจมองว่า ต้องมีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์หรือจิตวิทยามาก่อน แต่ความจริงแล้วใครก็เรียนรู้และนำมาใช้ได้ ครูไซอิ๋ว บอกว่าตนเองก็เริ่มมาจากศูนย์เช่นกัน หลังจากอบรมก็ได้หาข้อมูลเพิ่มเติมเอง โดยตั้งเป้าว่าจะนำไปขยายผลต่อในโรงเรียนอื่น ๆ ในเขตพื้นที่การศึกษาด้วย

“เป้าหมายของจิตวิทยาเชิงบวกที่ครูไซอิ๋วเน้นคือ character strengths ที่มนุษย์ทุกคนมีในตัว เช่น ซื่อสัตย์ อารมณ์ขัน ความคิดสร้างสรรค์ การใฝ่รู้ มีวินัย ซึ่งคนจะดึงคุณลักษณะเหล่านี้ออกมาเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ เราจะใส่สถานการณ์ต่าง ๆ เข้าไปเพื่อให้เด็กได้ทดลองคิดว่า หากวันหนึ่งเขาต้องเจอกับปัญหาหรือสถานการณ์แบบนี้ เขาจะดึงจุดแข็งส่วนไหนของเขามาใช้เพื่อให้ผ่านเหตุการณ์ช่วงนั้นไปได้ ”

“บางทีเด็กตัวเล็ก ๆ เขาไม่รู้ว่าจะสื่อสารอย่างไร บางคนคิดว่าตัวเองไม่มีอะไรดีเลย เรียนก็ไม่เก่ง ไม่ได้เรื่องอะไรเลย แต่เขาอาจไม่รู้ว่าการที่เขามีอารมณ์ขันก็เป็นจุดแข็งที่จะทำให้เขาผ่านพ้นปัญหาต่าง ๆ และเอาตัวรอดในสังคมได้เหมือนกัน เด็ก ๆ จะรู้จักสถานการณ์ รู้จักตัวเองและปรับตัวกับมันได้” 

อย่างไรก็ตาม ครูไซอิ๋ว บอกว่า การนำจิตวิทยาเชิงบวกไปใช้อาจไม่ต้องจริงจังขนาดตั้งเป็นรายวิชาขึ้น แต่สามารถสอดแทรกเข้าไปในชีวิตประจำวันได้ เช่น การพูดคุยกันในตอนเช้า เราจะหาวิธีให้เขาได้ลองสำรวจตัวเอง  เช่นถามว่าวันนี้มีอะไรที่เราทำแล้วรู้สึกดี เมื่อเขาบอกออกมา เช่น ช่วยแม่ล้างจาน เพียงเท่านี้ก็เป็นการเริ่มต้นวันด้วยความคิดดี ๆ ให้เขาได้ เขารู้สึกถึงคุณค่า แม้จะเล็กจะน้อย เขาก็ได้เริ่มต้นทำแล้ว

ส่วนในวิชาก็ทำได้เหมือนกัน อย่างเวลาเราสอนแล้วเด็กพูดหรือแสดงพฤติกรรมที่เป็น character strengths ของเขา เราควรพูดชื่นชมในตอนนั้น เช่น มีอารมณ์ขันนะเนี่ย เพื่อให้รู้ว่า นั่นคือจุดเด่นของเขา เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสมก็ต้องบอกและทำให้เขาได้ทำความเข้าใจเรื่องความสมดุลพอดีในการแสดงคุณลักษณะแต่ละด้าน

“บางคนเป็นคนใฝ่รู้มาก ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่เขาจะพูด ๆ ๆ ตลอด เราต้องชื่นชมว่า สิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ดีนะ คือความใฝ่รู้นะ แต่เราก็ต้องบอกว่ารออีกนิด เดี๋ยวครูพูดจบแล้ว เรามาตอบคำถามกัน เพื่อให้เขารู้จังหวะ ไม่จำเป็นว่า เราจะต้องเอาเรื่องเหล่านี้ไปลงในรายวิชา ไปสอนว่า ความใฝ่รู้คืออะไร วัดผลกันจริงจังอะไรแบบนั้น ใช้ชีวิตประจำวันง่าย ๆ ให้เด็กได้เรียนรู้ทบทวนตัวเอง เห็นจุดแข็งคุณค่าของตัวเองก็พอ รวมถึงการทำให้เขาได้รู้จักกับสถานการณ์ ซึ่งครูไซอิ๋วทำผ่านเกมชื่อ ‘นักล่ามหาสมบัติ’ เพื่อให้เขาเรียนรู้แบบ Active Learning ด้วย”

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กำลังร่วมเล่นเกมนักล่ามหาสมบัติกับเด็ก ๆ เกมนี้จัดทำเป็นจิ๊กซอว์แสดงถึงคุณลักษณะด้านต่าง ๆ เช่น ความมุมานะ ซึ่งตอนแรกเด็ก ๆ อาจไม่เข้าใจว่าคืออะไร สิ่งที่ครูเสริมคือการบอกให้เขาเห็นเป็นรูปพฤติกรรมผ่านภาพจิ๊กซอว์จากนิทานที่เขาคุ้นเคยมาตัดแล้วก็ให้เขาต่อกับคุณลักษณะนั้นเป็นภาพขึ้นมา

“ความเปลี่ยนแปลงที่ประทับใจหลังใช้กระบวนการนี้มีหลายกรณี อย่างนักเรียนคนหนึ่ง เราสังเกตมาสักพักแล้วว่า เขาดูเหมือนไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง เขารู้สึกว่าเขาไม่ดีด้านไหนสักอย่าง กีฬาก็เล่นไม่ได้ เวลาครูสอน เขาก็พูดมาก่อนเลยว่าเขาทำไม่ได้หรอก ๆ ในการนำจิตวิทยาเชิงบวกมาใช้ ครูจะค่อย ๆ ชี้ให้เขาเห็นว่าคุณลักษณะเด่นของเขามีด้านใดบ้าง เขาก็ค่อย ๆ มั่นใจขึ้น เชื่อมั่นว่าตัวเองทำได้และเวลาที่เขาทำได้เขาก็รู้สึกพัฒนาตัวเองขึ้นมามาก”

7 ปี ของการนำ Active Learning มาใช้ ครูไซอิ๋ว บอกว่า รู้สึกว่าพอใจกับผลที่ออกมามาก ๆ ถ้ามองย้อนไปว่ากุญแจความสำเร็จอยู่ตรงไหน อันดับแรกคือ ‘ครู’ ที่ต้องเข้าใจก่อนว่า กระบวนการ Active Learning  คืออะไรและต้องนำมาใช้ให้ถูกต้อง เพราะเชื่อว่าตอนนี้ครูเกินกว่าครึ่งคิดว่า Active Learning  คือการเพิ่มภาระครู เพิ่มภาระนักเรียน ให้เด็กทำอะไรก็ไม่รู้ไม่เห็นได้เรียนเลย

“จากเดิมครูสอน ๆ เด็กก็ฟัง จำแล้วก็ตอบไปตามครู แต่ตอนนี้ไม่ใช่แบบนั้นอีกแล้ว ครูจะเป็นผู้เตรียมการสอน เตรียมสื่ออุปกรณ์ต่าง ๆ บอกโจทย์และแนวทางการเข้าถึงเป้าหมาย แล้วให้เด็ก ๆ ทำด้วยตัวเขาเอง เราอาจแทรกองค์ความรู้ ช่วยจัดผลงานและสรุปผลให้ สิ่งที่ได้คือกระบวนการคิดของเด็ก ๆ ครูต้องเข้าใจตรงนี้ให้มาก ๆ อย่ากังวลว่าเป็นการเสียเวลา ไม่ได้ความรู้ เพราะ Active Learning สอนทั้งองค์ความรู้ ทักษะการทำงาน ทักษะการคิดไปพร้อม ๆ กัน แต่ที่สำคัญคือ เด็กสนุกและมีความสุขที่จะเรียนรู้มากขึ้น” ครูไซอิ๋ว กล่าวด้วยรอยยิ้ม

8 หลักสูตร ‘ห้องเรียนต้นแบบ’ Active Learning

หลักสูตรจิตศึกษากับการพัฒนาหลักการจิตวิทยาเชิงบวกเพื่อการเสริมสร้างอุปนิสัยผู้เรียน ที่ครูไซอิ๋ว จากโรงเรียนบ้านตาเปาว์ เข้าร่วมอบรมและกำลังพัฒนาเพื่อใช้เป็นอีกกลไกขับเคลื่อนห้องเรียน Active Learning ในปีที่ผ่านมา คือ 1 ใน 8 หลักสูตร จาก ‘โครงการพัฒนาทักษะการจัดการการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21’ ที่ สํานักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ.  สพฐ. และภาคีเครือข่ายร่วมกันจัดทำขึ้น มีครูและนักจัดการเรียนรู้กว่า 400 คน จากทั่วประเทศเข้าร่วม โดยมีศึกษานิเทศและนักวิจัยในโครงการเป็นพี่เลี้ยงให้กับครูโรงเรียนต่าง ๆ จนสามารถขับเคลื่อนให้ห้องเรียน Active Learning เดินหน้าไปอย่างเข้มแข็ง ผ่านการเรียนการสอนที่ใช้ได้จริงในโรงเรียน

โดยทั้ง 8 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรโครงการนวัตกรรมจากประสบการณ์โลก, หลักสูตรการจัดการเรียนรู้อิงสมรรถนะผู้เรียน, หลักสูตรการจัดการเรียนรู้ในสถานการณ์โควิดโดยใช้บ้านแทนห้องเรียน, หลักสูตรการออกแบบบอร์ดเกมสำหรับห้องเรียน Active Learning, หลักสูตรจิตศึกษากับการพัฒนาสมองส่วนหน้า, หลักสูตรจิตศึกษากับการพัฒนาหลักการจิตวิทยาเชิงบวกเพื่อการเสริมสร้างอุปนิสัยผู้เรียน, หลักสูตรทักษะการตั้งคำถามเพื่อเสริมสร้างการคิดเชิงเหตุผล และหลักสูตรการเขียนเพื่อพัฒนาการคิดในห้องเรียน

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาทักษะการจัดการการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 มีเป้าหมายในการพัฒนาครูแกนนําและนักจัดการเรียนรู้ด้วยแนวทาง Active Learning เพื่อเตรียมทักษะผู้เรียนให้มีความพร้อมต่อการรับมือกับโลกยุคใหม่ที่มีความท้าทายและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว