เสียงหัวเราะของนักเรียนคือคำตอบ เสียงหัวเราะของนักเรียนคือคำตอบ สร้างการเรียนรู้ สู่ห้องเรียนแบบ Active Learning

เสียงหัวเราะของนักเรียนคือคำตอบ เสียงหัวเราะของนักเรียนคือคำตอบ สร้างการเรียนรู้ สู่ห้องเรียนแบบ Active Learning

เมื่อการเรียนรู้ของเด็กๆ ไม่จำเป็นต้องได้มาด้วยท่องจำ หรือมีครูเป็นผู้คอยบอกเนื้อหาหน้าชั้นเรียนเสมอไป การ ‘เล่นเกม’ ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ควบคู่ไปกับความสุขและความสนุกในห้องเรียนได้

หลักสูตรการพัฒนานวัตกรรมบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้เชิงรุก หรือ Active Learning จึงเป็นอีกหนึ่งหลักสูตรในโครงการพัฒนาทักษะการจัดการการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่ สํานักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้การสนับสนุน ด้วยเป้าหมายให้ครูผู้สอนสามารถเตรียมทักษะให้ผู้เรียนมีความพร้อมต่อการรับมือกับโลกยุคใหม่ ที่มีความท้าทายและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งในปีนี้เป็นปีที่ 2 ของโครงการ โดยมี โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมน้อมเกล้า ,โรงเรียนบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์) และโรงเรียนวัดวังเรือน จังหวัดพิจิตร ได้เข้าร่วมและพัฒนา จนเกิดเป็น 3 บอร์ดเกม ใน 3 สาขาวิชา ได้แก่ ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ และสังคม ที่สามารถเปิดโลกการเรียนรู้รูปแบบใหม่ๆให้นักเรียนได้อย่างสนุกสนาน

‘วรรณคดี’ เป็นเหมือนหลักฐานทางประวัติศาสตร์

“หากพูดถึงวรรณกรรมหรือวรรณคดี เมื่อก่อนเด็กๆยี้กันหมด จึงคิดว่าบอร์ดเกมน่าจะช่วยได้ พอทำแล้ว อย่างแรกเลย เด็กๆเขารู้สึก ว๊าว จากการสอนแบบเดิมๆ เด็กๆ เปิดหนังสือไปหน้านี้ค่ะ เขาก็อีกละ เบื่อ แต่คราวนี้แค่เห็นการ์ดเขาก็สนใจทันที บอกว่าการ์ดสวยจังเลย จากนั้นก็จะเข้าไปสู่การเรียนรู้ซึมซับของเขาเองไปเรื่อยๆ เช่น เวลาเห็นคนถือธงขาวในการ์ด เขาก็รู้ว่าเป็นระตูปาหยังเพราะยอมแพ้การรบ หรือจรกาถือรูปผู้หญิง เขาก็รู้ว่าเป็นรูปบุษบา เด็กจะเกิดคำถามและเรียนรู้ไปในตัวเวลาดูการ์ด เป็นการเรียนรู้หาคำตอบที่เขาได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่การการบอก และดูเหมือนว่าเขาได้ความรู้จากกิจกรรมที่มากกว่าการสอนแบบเราบอกเองเสียอีก”

ธัชชา ไตรทอง หรือครูจ๊ะ เป็นครูจากกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมน้อมเกล้า ที่เลือกเปลี่ยนบรรยากาศในห้องเรียนด้วยวิธีการสอนผ่านบอร์ดเกม ‘กองทัพอิเหนากับศึกกะหมังกุหนิง’ เพื่อเป็นสื่อการสอนวิชาวรรณคดี ด้วยเหตุผลที่เข้าใจนักเรียนดีว่า ‘อิเหนา’ เป็นวรรณคดีที่มีตัวละครชื่อยาก ด้วยความที่มีต้นฉบับดั้งเดิมมาจากชวา ไม่ใช่วรรณคดีไทยแท้ ทำให้ต้องเจอชื่อแปลกๆไม่คุ้นหู เอาตั้งแต่ชื่อตอน ‘ศึกกะหมังกุหนิง’ แค่อ่านชื่อก็ยากแล้ว ยังมีชื่อคนอีก อิเหนา, สังคามาระตา ,วิหยาสะกำ ,ระเด่นกาหยน ฯลฯ ทุกปีเวลาสอนเด็กๆบอก โหครูชื่อยากเหลือเกิน จำไม่ได้เลย ชื่อเมืองก็ยากอีก  กุเลปัน ดาหา กาหลัง หรือสิงหัดส่าหรี เป็นต้น 

“พอดีจำได้ว่า ตอนสมัยเด็กๆจะเห็นเพื่อนๆเล่นไพ่ยูกิหรืออูโน่กัน โดยเฉพาะเด็กผู้ชายจะชอบสะสมการ์ดสวยๆอย่างคลั่งไคล้เลย พอโตขึ้นเรามองย้อนกลับไปจึงคิดว่า ถ้าเราเอาความชอบของเด็กมาเป็นสื่อการเรียนรู้แล้วสอดแทรกเนื้อหาที่จะสอนเด็กเข้าไปในสื่อจะต้องดีแน่ๆ เด็กน่าจะสนใจ จึงคิดทำเป็นบอร์ดเกมนี้ขึ้น เป้าหมายคืออยากให้เด็กๆรู้จักชื่อตัวละครและความสัมพันธ์ เช่น อิเหนาเป็นลูกท้าวกุเรปัน ท้าวกุเรปันเป็นพี่ชายคนโตในกลุ่มพี่น้อง ก็จะไล่สาแหรกและเห็นภาพจากบทประพันธ์ได้ว่าหมายถึงใคร”

ครูจ๊ะ บอกว่า ความจริงแล้วการทำบอร์ดเกมเป็นเครื่องมือที่ทำได้ไม่ยาก ครูท่านใดที่อยากทำ สามารถทำได้แน่ เพราะในฐานะคนสอนรู้เนื้อหาอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ต้องเพิ่มก็แค่การออกแบบรูปแบบการเล่นที่เอาความรู้ที่เรามีมาสร้างเงื่อนไขต่างๆ ในเกม เราเองชอบวาดรูปและสนใจอยากทำอยู่แล้วก็ได้มาเริ่มพัฒนาครั้งแรกกับโครงการนี้เมื่อ 2 ปีก่อน ลองทำไปเรื่อยๆ วาดรูป ใส่รายละเอียด เติมตรงนั้นตรงนี้เข้าไปเป็นลูกเล่น เด็กๆเห็นก็ชอบมาก ตอนนี้ได้ขยายผลต่อด้วยการให้เพื่อนครูลองเอาบอร์ดเกมไปใช้ และมีการส่งไฟล์เกมไปให้โรงเรียนอื่นๆนำไปทดลองสอนด้วย เด็กจะได้ไม่เบื่อ เพราะคิดว่าการทำบอร์ดเกมสามารถเอาไปได้ทุกวิชา

“ถามว่าทำไมการเรียนเรื่องอิเหนาจึงยังสำคัญในยุคนี้ เพราะวรรณคดีหรือวรรณกรรมมีประโยชน์หลายอย่าง อย่างแรกคือเป็นทักษะการอ่านและการวิเคราะห์ เขาจะได้เห็นถ้อยคำในบทประพันธ์ที่จะไม่เหมือนงานเขียนทั่วไปให้ได้เรียนรู้ เป็นการเขียนในหลายรูปแบบ ตัดคำบ้าง ผสานคำบ้าง เชื่อมคำบ้าง เด็กก็สามารถที่จะหัดแปล เพื่ออ่านและเข้าใจได้ ส่วนอีกประเด็นคือ วรรณคดีสามารถบ่งบอกถึงสภาพสังคมในสมัยนั้นๆได้ด้วย เวลาเรียนวิชาสังคม เราอาจจะเข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นอย่างไร แต่จะไม่เข้าใจชีวิตความเชื่อ ความเป็นอยู่ ค่านิยม ที่ซ่อนอยู่ ซึ่งวรรณกรรมหรือวรรณคดีสามารถบอกได้ผ่านตัวละครที่อยู่ในเนื้อเรื่อง จึงเป็นเหมือนหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งในสมัยนั้น อย่างอิเหนาเป็นวรรณคดีชวา ก็จะทำให้เราเห็นขนบวัฒนธรรมที่ต่างไปอีกด้วย

การเรียน ‘วิทยาศาสตร์’ที่มีเสียงหัวเราะของนักเรียนเป็นคำตอบ

“ตอนเริ่มก็ค่อนข้างลำบาก เพราะยังประหม่าว่าจะใช้ได้จริงไหม จึงลองจากกลุ่มเล็กๆ เมื่อได้เสียงตอบรับดี ก็ขยายวงไปเรื่อยๆ ตอนนี้เสียงหัวเราะเด็กๆ คือคำตอบแล้วครับ”

วิวัฒน์ สุภพิทักษ์กุล หรือครูตั้ม จากโรงเรียนบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์) เป็นอีกคนหนึ่งที่พัฒนาบอร์ดเกม ‘การลำเลียงสารเข้าสู่เซล’ มาสอนในวิชาวิทยาศาสตร์ ชีววิทยา ระดับ ม.4 ซึ่งปกติเขาจะสอนทั้งสายวิทย์และสายศิลป์ แต่สำหรับบอร์ดเกมนี้ ครูตั้ม บอกว่า จะเหมาะสำหรับเด็กสายศิลป์ซึ่งจะขาดแรงจูงใจในการเรียนวิทยาศาสตร์มากกว่า

“อย่างเรื่องการลำเลียงสาร เขาจะงงไปหมดกับคำศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ มองภาพไม่ออกเลยว่าอะไรลำเลียงอย่างไร เพราะเป็นเรื่องมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่พอเป็นบอร์ดเกมมีทั้งภาพและกลไกของเกมที่ช่วยให้เขาจะเห็นกระบวนการ เขาก็จะเข้าใจมากขึ้นและก็สนุกด้วย ซึ่งเรื่องการลำเลียงสารจะเป็นเรื่องแรกที่เด็กสายศิลป์จะได้เรียนวิทยาศาสตร์ ดังนั้น หากประตูด่านแรกที่เปิดมาเจอแล้วงง เขาก็จะท้อและถอยมาเลย 

“สิ่งที่ผมอยากเริ่มให้เขาจึงเป็นเรื่องทัศนคติที่ดีต่อการเรียน ทำให้เขาเปิดใจก่อน ไม่จำเป็นต้องเรียนผ่านหนังสือ แต่ให้ทำกิจกรรมหรืออะไรก็ได้ที่จุดประกายให้เขา อย่างน้อยทำให้เขารู้สึกอยากสืบค้น อยากรู้เพิ่มเติม อย่างเกมนี้เล่นจบเขาก็จะถามว่า กระบวนการนั้นกระบวนการนี้ไปใช้ประโยชน์อะไรต่อได้อีกไหมครู แค่นี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จมากๆ ผมก็ดีใจแล้ว”

ครูตั้ม บอกว่า หลังใช้บอร์ดเกมเป็นสื่อ การตอบรับของเด็กๆส่วนใหญ่ค่อนข้างดี แต่ต้องยอมรับกันก่อนว่า กิจกรรมบอร์ดเกมเป็นทางเลือก อาจไม่ได้เหมาะกับเด็กทุกคน บางคนอาจถนัดอ่านหนังสือไปเลยก็มี แต่เกมนี้ พอเขาเล่นเข้าใจเขาก็เอาไปเล่นเองกับเพื่อนนอกเวลาได้เช่นกัน

“เป็นครูวิทยาศาสตร์ ทำไมต้องมาประดิษฐ์เกม คือเริ่มจากเราอยากหาสื่อจูงใจเด็กๆที่ไม่ใช่แค่การบรรยายแบบเดิมๆ ซึ่งเด็กแทบไม่ได้อะไรเลย ตอนนั้นที่กำลังค้นหาว่าจะใช้กิจกรรมอะไรดี เดินผ่านไปห้องหนึ่งได้ยินเสียงเด็กๆหัวเราะกันสนุก เลยเข้าไปดูว่าเล่นอะไรกัน เขาบอกว่าเล่นบอร์ดเกม เขาลองเล่นให้ดู จึงเริ่มสนใจตั้งแต่ตอนนั้นว่า ถ้าใส่เนื้อหาบทเรียนเข้าไปด้วยจะทำได้ไหม จึงเป็นที่มาของการเริ่มสืบค้นลองทำและมาเข้าร่วมกับโครงการนี้ในที่สุด”

ครูตั้ม บอกว่า วิชานี้มีเนื้อหาค่อนข้างซับซ้อน หากใส่ข้อมูลเข้าไปในตัวเกมเยอะๆ ก็จะทำให้งง กระบวนการของเกมจะไม่ clean คือเล่นแล้วมีจุดสะดุด จากเวอร์ชั่นแรกก็ปรับเรื่องมา ค่อยๆทำกลไกให้ง่ายขึ้น ซับซ้อนน้อยลงจนเล่นได้จริง เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงไปด้วย ก็จะใช้การฟังเสียงสะท้อนจากเด็กๆ ตรงไหนเขาบอกว่ายังงงอยู่เราก็ปรับแก้ 

“พอเป็นรูปเป็นร่างก็ชวนเด็กๆ เข้ามาร่วมทำเกมกับเราด้วย เพราะบอร์ดหนึ่งจะเล่นได้ประมาณ 6 คน จะให้พอหนึ่งห้องจะต้องใช้ประมาณ 6-7 ชุด ก็เด็กๆสนใจมาช่วยทำ เขาอาจจะถามก่อนทำยากไหม สอนได้ไหม โดยเฉพาะเด็กชุมนุมบอร์ดเกมที่เขาสนใจด้านนี้อยู่แล้วก็มาช่วยทำ เขามีเวทีของเขาและมีมุมมองไปพัฒนางานของเขามากขึ้น เพราะกว่าจะเป็นบอร์ดเกมต้องผ่านกระบวนการทดสอบรวมถึงการออกแบบด้วย”

ความเปลี่ยนแปลงเมื่อนำกระบวนการนี้มาใช้ในการสอน ครูตั้ม ยืนยันว่า เห็นได้ชัด เพราะการสอนในแบบเดิมที่มักเริ่มจากการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน จะเห็นความเครียดและความวิตกกังวลของเด็ก แต่พอมาเป็นบอร์ดเกม เราสามารถยืดหยุ่นได้ โดยวิธีการทดสอบจะให้ลองเล่น 2-3 รอบ แล้วประเมิดูคะแนนจากเกมรอบแรกกับรอบหลังๆ ว่าเล่นดีขึ้นหรือไม่ และเขาสามารถอธิบายได้ไหมว่าที่ได้คะแนนดีขึ้นเพราะอะไร ก็จะเห็นการคิดวิเคราะห์ และแม้แต่ความเข้าใจในกติกาก็ตอบโจทย์ของเรา ซึ่งเป็นการออกแบบมาเพื่อให้เขาเรียนรู้ในสิ่งที่เราต้องการสื่อสาร เมื่อเขาเข้าใจพื้นฐานตรงนั้นก็ถือว่าประสบความสำเร็จ เป็นการวัดผลอีกแบบหนึ่ง

“รูปแบบเกม ด้วยกลไกของมันจะมีสิ่งที่เรียกว่า การ Random หรือการสุ่มสถานการณ์ ทุกครั้งที่เขาเล่นสถานการณ์จึงไม่เหมือนกัน หรือเปลี่ยนกลุ่มเปลี่ยนคนเล่นด้วยก็จะไม่เหมือนกันอีก เป็นสิ่งที่เขาต้องคิดวิเคราะห์ เมื่อเขามีการ์ดชุดหนึ่ง ด้วยทรัพยากรที่จำกัดจะแก้ไขสถานการณ์ซึ่งหน้าตรงนั้นอย่างไร เพราะแต่ละรอบจะไม่เหมือนกันเลย ทักษะการคิดวิเคราะห์และทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเหล่านี้ก็จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับครูที่จะใช้กระบวนการนี้ สิ่งที่อยากฝากไว้คือการถอดบทเรียนหลังเล่น ซึ่งสำคัญมาก เมื่อเล่นเกมแล้วควรจะต้องเหลือเวลาสำหรับทำตรงนี้ด้วยครับ”

‘สังคม’ เรียนรู้ได้จากโจทย์ใกล้ตัว

“บอร์ดเกมทำให้ได้เรียนรู้เรื่องภัยพิบัติและภาวะโลกร้อนรวมถึงการวิเคราะห์คำตอบค่ะ” – น้ำหวาน

“สิ่งที่ได้คือทักษะการอ่าน เพื่อนบางคนเคยอ่านไม่ออกก็มาได้จากเกมนี้ คิดว่าได้ทักษะการสื่อสารระหว่างเพื่อนด้วยครับ” – นะโม

“ได้คุณธรรมความซื่อสัตย์ และการทำงานเป็นทีม” – อัน

เมื่อได้ฟังเสียงสะท้อนจากเด็ก ๆ โรงเรียนวัดวังเรือน จังหวัดพิจิตร คือความรู้สึกแปลกใหม่ต่อวิชาสังคมที่เดิมอาจเคยเป็นเหมือนยานอนหลับสำหรับใครหลายคนในห้องเรียน แต่ทันทีที่ ดํารงฤทธิ์ คุณสิน หรือครูบอน ได้เปลี่ยนหลักสูตรทั่วไปให้กลายเป็นบอร์ดเกม Animal Racing : The disaster เพื่อสอนเด็กๆชั้นประถมให้เรียนรู้เรื่องจากประสบการณ์รอบตัว เรื่องสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศก็กลายเป็นความสนุกสนานแปลกใหม่ ด้วยลักษณะของตัวเกมที่ออกแบบมาอย่างน่าสนใจไม่น้อย มีลูกเล่นจากบรรดาตุ๊กตาสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยหลากชนิด เพื่อให้เด็กๆได้แสดงบทบาทสมมติตามตัวละครที่เลือก พร้อมกับอุปกรณ์เสริมอื่นๆ ทำให้รู้สึกจับต้องได้และอยากสนุกไปกับเกมเรื่อยๆ โดยเกมนี้จะมีมหันตภัยแบบต่างๆ สอดแทรกที่มาสาเหตุของความผันแปรของสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อนให้เด็กๆได้เรียนรู้ เป็นหนึ่งในหลักสูตรการพัฒนานวัตกรรมบอร์ดเกมเพื่อการพัฒนาเชิงรุกสำหรับครูในศตวรรษที่ 21 ที่ชวนให้เด็กๆเรียนรู้ได้อย่างน่าทึ่ง

“เดิมผมไม่มีความรู้ด้านบอร์ดเกมเลยครับ เราก็เริ่มจากรูปแบบเกมที่เด็กคุ้นเคยก่อน นั่นคือเกมเศรษฐี แล้วก็พัฒนามาเรื่อยๆ เติมตรงนั้นตรงนี้เข้าไปเพื่อใช้สอนเรื่องภัยพิบัติกับเด็ก ป.6” ครูบอน บอก

“ลำดับแรกเลย เราต้องตั้งเป้าหมายของเราเองก่อนว่าทักษะใดบ้างที่เราอยากจะให้เด็กของเรามี อย่างผมสังเกตว่า ในห้องเรียนเด็กไม่ค่อยพูดกัน จึงเลือกทักษะสื่อสารเป็นเป้าประสงค์ของกิจกรรม หลังจากนั้นจึงนำเนื้อหาที่คิดว่าเหมาะสมมาบูรณาการเข้าไปในตัวเกม ผมเลือกจากโจทย์ปัญหาของท้องถิ่นที่เขาเจอ ซึ่งก็คือเรื่องภัยพิบัติเพราะเขาเจอน้ำท่วมกันบ่อย จากนั้นจึงร่วมกันทำ ตั้งแต่ออกแบบไปจนถึงทดลองใช้ มีนักเรียนและเพื่อนครูมาช่วย เช่น เด็กบอกว่าอยากได้การ์ดพิเศษแบบไหนเพิ่ม อยากได้การป้องกันแบบไหนเพิ่ม ก็ใส่ไป พัฒนากันมา 3-4 รอบ ร่วมกับทางโครงการนี้ ที่สนับสนุนองค์ความรู้และงบประมาณ ภัยพิบัติ ที่เด็กๆได้เรียนรู้จะมีตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ ไปจนถึงระดับโลกเลย นี่คือสิ่งที่เด็กๆจะได้เรียนรู้ผ่านเกมของเราครับ”

ครูบอน ยังกล่าวอีกว่า เกมนี้ยังออกแบบให้เด็กได้เคลื่อนไหว ด้วยการให้เลือกตัวเล่นเป็นสัตว์แล้วสวมบทบาทเป็นสัตว์ตัวที่เลือก ก่อนเล่นก็จะต้องทำท่าทางสมมติ หรือทำตามการ์ดคำสั่งที่ได้ แล้วก็จะมีช่วงให้เลือกเปลี่ยนบทบาท เมื่อจะเปลี่ยนตัวเล่นก็จะต้องเปลี่ยนท่าทาง เด็กก็จะได้เคลื่อนไหวร่างกาย แก้โจทย์ที่ว่า การเล่นเกมจะทำให้เด็กอยู่กับที่นานเกินไป เด็กจะมีการเปลี่ยนอิริยาบทระหว่างเล่นเกมอยู่เรื่อยๆ 

“ในเกมของเรามีกิมมิคต่างๆนอกจากการ์ดด้วย เช่น เหรียญ หรือตัวตุ๊กตาต่างๆ สิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นความสนใจให้เขาอยากเล่นได้ตั้งแต่แรก เพราะการที่ได้เห็น ได้สัมผัส เด็กวัยนี้จะชอบมาก เป็นต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อยก็จริง แต่สามารถหาได้ไม่ยาก บางอย่างก็แพง บางอย่างก็ถูก ก็เลือกเอาที่เราอยากจะใช้จริงๆ สั่งซื้อได้ทางออนไลน์ได้ การเสริมสิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้เกมมีความน่าสนใจขึ้นได้ครับ” ครูบอน ระบุ