เติมความสุขในการเรียน เสริมทักษะคิดวิเคราะห์ผ่านการเรียนภาษา

เติมความสุขในการเรียน เสริมทักษะคิดวิเคราะห์ผ่านการเรียนภาษา

เรื่องเล่าจากชุมนุมครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยงออนไลน์ (PLC) โดยโรงเรียนบ้านตะโละใส จังหวัดสตูล ที่มีเป้าหมายหลักในการออกแบบการเรียนรู้วิชาภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ควบคู่กับกระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning เพื่อมุ่งยกระดับคุณภาพของผู้เรียนให้มีทักษะภาษาที่แข็งแรง อันจะเป็นพื้นฐานสู่การเรียนวิชาอื่นๆ  

ครูรีย์ นัจรีย์ หมื่นพราน ครูวิชาภาษาไทย โรงเรียนบ้านตะโละใส ได้วางแผนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นให้นักเรียนเข้าใจภาษาไทยให้ถูกต้อง โดยเน้นเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ เชื่อมโยงผ่านเรื่องราวในชีวิตประจำวัน และที่สำคัญคือ เด็กๆ ต้องมีความสุขในการเรียน

 

‘รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง’

ในกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องหน่วยชนิดและหน้าที่ของคำ ชั้น ป.5 เรื่อง คำนามซึ่งมีเป้าหมายให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจและสามารถจำแนกชนิดของคำนามได้ ครูรีย์เล่าว่า ก่อนเริ่มเรียนจะทำความเข้าใจกับวัตถุประสงค์ของเรื่องที่สอนอย่างละเอียด แล้วทำความรู้จักนักเรียนแต่ละคนว่ามีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร โดยยึดภาษิต รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง’ 

“หากเราเข้าใจเนื้อหาวิชาเป็นอย่างดีและรู้ว่านักเรียนมีความพร้อมแค่ไหน ไม่ว่าจะสอนหรือทดสอบเรื่องใด นักเรียนจะสามารถทำได้ อาวุธสำคัญของการรู้เขาจึงต้องประเมินเด็กก่อนเรียนด้วยแบบทดสอบ ซึ่งจะทำให้รู้จักผู้เรียนเบื้องต้นว่าเขามีความรู้พื้นฐานในเรื่องที่จะเรียนมากน้อยแค่ไหน”

ครูรีย์กล่าวว่า แบบทดสอบทำให้รู้ว่าเด็กในห้องเรียน 98% ยังสับสน แยกไม่ได้ว่าคำใดเป็นคำนามทั่วไป และคำใดเป็นคำนามเฉพาะเจาะจง ส่วนอีก 2% ที่สามารถแยกได้นั้นคือเด็กที่เคยเรียนผ่านมาก่อนล่วงหน้า

เมื่อรู้พื้นฐานของเด็กแต่ละคนแล้ว ขั้นต่อไปจะให้เด็กๆ อ่านออกเสียงกลอนเรื่องชนิดของคำพร้อมกัน ซึ่งถือเป็นเครื่องมือช่วยจำได้เป็นอย่างดี

“การเลือกกลอนเราไม่ได้เลือกเพียงเพราะเนื้อหาที่โดนใจ แต่กลอนที่เลือกมานั้นสามารถใส่ทำนองประกอบการอ่านคล้ายๆ กับนักเรียนกำลังร้องเพลงแร็พ ซึ่งการที่เขาสนุกนี้เอง ที่ทำให้มีสมาธิจำความหมายและตัวอย่างของคำได้รวดเร็ว” ครูรีย์กล่าว

 

ไม่ใช่แค่ตอบคำถามได้ แต่ต้องอธิบายคำตอบได้ด้วย

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือคำถามของครูและการให้นักเรียนอธิบายเหตุผลประกอบควบคู่กัน ในการพูดคุยหลังอ่านกลอนจบ โดยการสอนที่ใช้คำถามให้นักเรียนคิดเพื่ออธิบายคำตอบ เป็นวิธีทำความเข้าใจกับผู้เรียนเกี่ยวกับความหมายของคำนาม ที่ทำให้นักเรียนสามารถจำ เข้าใจ และจินตภาพออกได้ด้วยตัวเอง เพราะการสอนให้รู้จักคำผ่านการคิดล้วนเป็นพื้นฐานที่แข็งแรงและสำคัญสำหรับนักเรียนในระดับที่ลึกขึ้นในอนาคต

ผลพลอยได้ของการชวนเด็กๆ คุย ยังช่วยสร้างบรรยากาศในห้องเรียนและกระตุ้นการตอบสนองของผู้เรียน เขาจะพร้อมเปิดใจที่จะเรียนรู้ ต่อจากนั้นครูจึงสามารถสอนเนื้อหาที่ลึกขึ้น อย่างหลักสังเกตคำนามทั่วไปกับคำนามเฉพาะเจาะจง พร้อมทำกิจกรรมพาทำเช่น ให้นักเรียนเขียนคำ 2 คำที่ประกอบด้วยคำนามทั่วไป 1 คำ และคำนามเฉพาะเจาะจง 1 คำ ในระหว่างกิจกรรมครูจะคอยกระตุ้นเด็กๆ ให้นึกคำที่ใช้เรียกชื่อคน สัตว์ สิ่งของ หรือสถานที่ที่พบเห็นรอบตัว หรือจากประสบการณ์ของตนเอง โดยกำหนดเวลาสั้นๆ ราว 5 นาที จากนั้นสุ่มถามนักเรียนทีละคน

“ในการเฉลย ครูได้เปิดโอกาสให้นักเรียนทั้งห้องช่วยกันพิจารณาคำตอบของเพื่อน หยิบยกเหตุผลมาอธิบายกันว่าถูกต้องหรือไม่ ถือเป็นการทวนหลักการวิเคราะห์ไปด้วยกัน ซึ่งถึงตรงนี้เด็กๆ ส่วนใหญ่สามารถเข้าใจและยกตัวอย่างได้แล้ว เช่น โรงเรียน เป็นคำนามทั่วไป ขณะที่โรงเรียนบ้านตะโละใสคือคำนามที่ชี้เฉพาะเจาะจง ใจความสำคัญของการถามตอบในกิจกรรมพาทำนี้ ช่วยให้ครูประเมินระหว่างเรียนได้ว่าเขาเข้าใจความหมายหรือความต่างของคำนามทั้งสองแบบมากน้อยแค่ไหน”

 

เชื่อมโยงบทเรียนผ่านเรื่องราวในชีวิตประจำวัน

หลักการสำคัญของ Active Learning คือการทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมกับบทเรียน โดยมีครูทำหน้าที่เป็นโค้ชคอยกำกับ การให้โจทย์ที่เชื่อมโยงกับเรื่องราวหรือเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน จึงเป็นวิธีหนึ่งที่สนับสนุนการตอบสนองของนักเรียนได้เป็นอย่างดี ระหว่างนั้นครูจะคอยให้ข้อแนะนำและกำลังใจกับเด็กๆ ตลอดการทำกิจกรรมไปร่วมกัน

ครูรีย์ระบุว่า การดำเนินกิจกรรมคือสิ่งที่ทำให้นักเรียนเรียนรู้ไปพร้อมกันและช่วยเหลือกันได้ โดยเฉพาะการให้เด็ก ๆ แบ่งกลุ่มทำงาน มีการแบ่งหน้าที่ในกลุ่ม ตั้งหัวหน้า รองหัวหน้า เลขากลุ่ม คัดเลือกตัวแทนออกมาทำกิจกรรมในแต่ละโจทย์ เมื่อเขาได้ช่วยกันคิด วิเคราะห์คำตอบ กระบวนการจะสร้างการมีส่วนร่วมและทำให้นักเรียนสนุก มีแรงจูงใจที่จะค้นหาคำตอบและทำงานให้สำเร็จ

ขณะที่การตรวจคำตอบทีละกลุ่ม จะทำให้การประเมินนักเรียนทำได้ทั่วถึง เนื่องจากครูสามารถอธิบายย้อนกลับได้ทันที และนักเรียนก็สามารถสะท้อนกลับหาครูได้ทันทีเช่นกัน

“การประเมินรายกลุ่มเป็นการย้ำความเข้าใจให้เกิดความแม่นยำได้ดี เช่นในห้องเรียนมีเด็กที่สงสัยว่าแม่ให้ไปตลาดเพื่อซื้อปลา 1 กิโลกรัม เมื่อเด็กซื้อมาแม่ถามว่าทำไมซื้อปลาทู ไม่ซื้อปลากะพง แสดงให้เห็นว่าเด็กสามารถหยิบยกเรื่องนี้มาเป็นโจทย์ได้ว่าการที่แม่ไม่ได้ระบุสายพันธุ์ปลา เป็นการละเลยความเข้าใจเรื่องคำนามได้เป็นอย่างดี ทั้งลักษณะของข้อสงสัยที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน ยังทำให้ครูอธิบายเสริมเรื่องการพูดเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวันควบคู่ไปได้อีกด้วย

การเรียนที่ดี จึงควรเป็นการเรียนรู้ที่ครูต้องใช้วิธีการที่หลากหลายเพื่อพัฒนาผู้เรียน และสมรรถนะที่ควรปลูกฝังให้นักเรียนมีติดตัว นอกจากการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างคือทักษะการคิดนั่นเอง” ครูรีย์กล่าวสรุป

 

ความสนุกสนาน ช่วยดึงดูดความสนใจและจำบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น

ครูมะ ซาลามะ เกศา ครูวิชาภาษาอังกฤษ กล่าวเสริมว่าการจัดการเรียนการสอนที่เน้น Active Learning โดยการใช้รูปภาพ เพลง การขยับร่างกาย และการเล่นเกมประกอบ คือกลวิธีที่ช่วยทำให้การเรียนภาษาเป็นเรื่องสนุกและสร้างการเรียนรู้ที่ดีไปได้พร้อมกัน

การใช้เพลงนำเข้าสู่บทเรียนสามารถดึงดูดความสนใจของเด็กๆ ได้เร็ว และช่วยให้นักเรียนจำคำศัพท์ได้ดีขึ้น เด็กๆ จะสนุกกับการร้องเพลง ได้ฝึกออกเสียงคำ แล้วเมื่อได้ทำท่าทางประกอบเพลงเป็นประจำเขาจะจำคำศัพท์ได้ เช่นการสอนเรื่อง My Body โดยใช้เพลง Head, Shoulder, Knees and Toes เด็กๆ ก็จะจำเนื้อหาในหน่วย My Body ได้อย่างแม่นยำ

“การสอดแทรกเนื้อหาผ่านความบันเทิง ช่วยให้นักเรียนมีพื้นฐานภาษาที่แข็งแรง เป็นประโยชน์ในการเรียนภาษาในระดับที่สูงขึ้นต่อไป” ครูมะกล่าว

 

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค