เทคโนโลยีแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้แค่ไหน : บทเรียนจาก 4 พื้นที่จริงของประเทศไทย
โดย : นิชาภัทร ไม้งาม
ภาพประกอบ : ภาพิมล หล่อตระกูล

เทคโนโลยีแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้แค่ไหน : บทเรียนจาก 4 พื้นที่จริงของประเทศไทย

ในช่วงที่ผ่านมา มีงานศึกษาจำนวนมากชี้ว่าการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยให้เด็กมีทักษะและความรู้ในเรื่องข้อมูลข่าวสาร ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และส่งเสริมการอยู่ร่วมกัน ขณะที่การศึกษาอีกจำนวนไม่น้อยก็ชี้ว่าเทคโนโลยีทำให้เด็กยากจนขาดโอกาสและยิ่งถ่างช่องว่างที่มีอยู่แล้วให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ หากไม่เกิดการกระจายเทคโนโลยีข้ามชาติพันธุ์และเส้นแบ่งทางสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงถ้าใช้แพลตฟอร์มโดยไม่ได้เตรียมการหรือสำรวจความพร้อมของนักเรียนก่อนการใช้เทคโนโลยี หรือไม่สนับสนุนและฝึกอบรมครู จะยิ่งก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างไม่เท่าเทียม

คำถามคือ เมื่อนำมาใช้จริงในประเทศไทย ผลเป็นอย่างไร?

โครงการศึกษาพฤติกรรมและแนวทางการสร้างแรงจูงใจในการอ่านหนังสือ เป็นโครงการที่ดำเนินการร่วมกันกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และยูเนสโก (UNESCO) กรุงเทพฯ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ผ่านการอ่านหนังสือ โดยมอบอุปกรณ์แท็บเล็ตและอินเทอร์เน็ตให้กับเด็กๆ เพื่อหวังจะแก้ปัญหาข้อจำกัดของการไม่มีอุปกรณ์เทคโนโลยีใช้สำหรับการอ่าน การไม่มีอินเทอร์เน็ต และไม่เพิ่มภาระให้กับผู้ปกครองที่ต้องจ่ายเงินค่าอินเทอร์เน็ต การใช้เทคโนโลยีจะทำให้เด็กสามารถเข้าสู่คลังหนังสือมากมายที่ได้บรรจุไว้ในแอปพลิเคชัน (application) สามารถเลือกอ่านหนังสือได้อย่างไม่จำกัดตามความสนใจและวัยของตนเอง มีทั้งหนังสือภาษาไทยและภาษาต่างประเทศหลากหลายประเภท โดยตอนท้ายของการอ่านหนังสือแต่ละเล่มจะมีการวัดความรู้ความเข้าใจที่ได้จากการอ่าน แล้วในทุกครั้งที่อ่านจะมีการบันทึกความสม่ำเสมอของการอ่าน และเวลาที่ได้ใช้ไปกับการอ่านหนังสือแต่ละวันผ่านแอปพลิเคชันอีกด้วย


ยิ่งยากจน ยิ่งได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล


กสศ. และ UNESCO กรุงเทพฯ ร่วมกับ SIAM Lab คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ดำเนินโครงการที่เกี่ยวกับการทดลองทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Experiment) ในขั้นตอนนี้ โครงการได้เริ่มรวบรวบผลการอ่านในพื้นที่ 4 จังหวัดตามภาคต่างๆ ของประเทศ ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน นครนายก ยะลา และกรุงเทพฯ จากเวลาที่เด็กใช้ในการอ่าน (reading time) ซึ่งวัดจากเวลาที่เด็กใช้แท็บเล็ตเพื่ออ่านหนังสือในแต่ละวัน และความต่อเนื่องในการอ่าน (consistency) ซึ่งวัดจากความต่อเนื่องที่เกิดขึ้นตลอดทั้งเดือน โดยมีเป้าหมายให้เด็กอ่านหนังสือเป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน รวมกันอย่างน้อย 30 ชั่วโมงต่อเดือน เพื่อให้เกิดผลต่อพัฒนาการด้านการอ่านหนังสือและเรียนรู้ของเด็ก

สำหรับผลการอ่านในช่วง 9 เดือนแรก ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 พบความน่าสนใจหลายประการ ได้แก่

1. เด็กที่เข้าร่วมโครงการซึ่งอยู่ในจังหวัดที่ห่างไกลและถูกจัดอันดับว่ามีอัตราความยากจนสูง มีคะแนนเวลาการอ่าน (reading time score) และคะแนนความต่อเนื่องในการอ่าน (consistency score) สูงกว่าเด็กในจังหวัดที่มีความเป็นเมืองอย่างชัดเจนตลอดทั้ง 9 เดือน ชี้ให้เห็นว่า การนำเทคโนโลยีไปใช้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีความเป็นไปได้ในประเทศไทย (ดูตารางที่ 1)

 reading time score จังหวัดแม่ฮ่องสอนconsistency score จังหวัดแม่ฮ่องสอนreading time score จังหวัดนครนายกconsistency score จังหวัดนครนายกreading time score จังหวัดยะลาconsistency score จังหวัดยะลาreading time score กรุงเทพฯconsistency score กรุงเทพฯ
ก.ค. 63 822000  
ส.ค. 63824131  
ก.ย. 63723042  
ต.ค. 6351402161
พ.ย. 63522010520
ธ.ค. 638240151284
ม.ค. 648210151061
ก.พ. 6415831161374
มี.ค. 641453014941
รวม782626279533311

ตารางที่ 1 แสดงผลคะแนนเวลาการอ่าน (reading time score) และคะแนนความต่อเนื่องในการอ่าน (consistency score) ของ 4 จังหวัด คือ จังหวัด 1 อยู่ทางภาคเหนือมีอัตราความยากจนสูง จังหวัด 2 อยู่ในภาคกลาง ค่อนข้างเป็นสังคมเมือง จังหวัด 3 อยู่ทางภาคใต้ มีอัตราความยากจนค่อนข้างสูง จังหวัด 4 อยู่ในภาคกลาง มีความเป็นสังคมเมืองสูง

2. ในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาด Covid-19 ระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา คะแนนเวลาการอ่านของเด็กที่เข้าร่วมโครงการมีทิศทางที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนธันวาคม 2563 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 แสดงว่า เด็กใช้แท็บเล็ตเข้ามาเพิ่มพูนความรู้ด้วยการอ่านมากขึ้น เทคโนโลยีมีบทบาทช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาได้ในสถานการณ์ Covid-19 และจังหวัดที่ห่างไกลและยากจนมีคะแนนเวลาการอ่านที่สูงขึ้นมากกว่า (ดูตารางที่ 2)

 reading time score จังหวัด 1reading time score จังหวัด 2reading time score จังหวัด 3reading time score จังหวัด 4
พ.ย. 6352102
ธ.ค. 6384158
ม.ค. 6481156
ก.พ. 64153167
มี.ค. 64143144

ตารางที่ 2 แสดงผลคะแนนเวลาการอ่าน (reading time score) ในช่วง Covid-19 แพร่ระบาด

3. เมื่อดูตามระดับชั้นของเด็ก พบว่า ในภาพรวมเด็กระดับชั้นประถมศึกษาอ่านหนังสือมากกว่าเด็กระดับชั้นมัธยมศึกษา และเด็ก กศน. สำหรับคะแนนเวลาการอ่านที่สูงที่สุดของชั้นประถมศึกษาอยู่ที่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้คะแนนอยู่ที่ 277 คะแนน มากกว่าคะแนนรวมเฉลี่ยถึงเกือบ 4 เท่า แสดงว่า เด็กชั้น ป.6 ที่มีความพยายามอ่านหนังสือและขวนขวายมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากกำลังจะเข้าเรียนต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษา ฉะนั้นแนวทางการส่งเสริมการอ่านหนังสือและสร้างนิสัยการอ่านด้วยการใช้เทคโนโลยีอาจจะเริ่มที่เด็กชั้นประถมศึกษา (ดูตารางที่ 3)

ระดับชั้นการศึกษาreading time score
กศน. ประถม/NFE Primary51
กศน. ม. ต้น/NFE Lower Secondary59
กศน. ม. ปลาย/NFE Upper Secondary52
ป. 1 /P. 150
ป. 2 /P. 275
ป. 3 /P. 391
ป. 4 /P. 480
ป. 5 /P. 574
ป. 6 /P. 6 277
ม. 1 /S. 150
ม. 2 /S. 252
ม. 3 /S. 352
ม. 5 /S. 550
รวม1,013

ตารางที่ 3 แสดงผลคะแนนเวลาการอ่าน (reading time score) แยกตามระดับชั้นของเด็ก

หัวใจคือการทำให้เด็กยากจนเข้าถึงเทคโนโลยี


แม้ว่าจะดูมีความหวังในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และเด็กในพื้นที่ยากจนและห่างไกลจะมีความตั้งใจสูงมากกว่าเด็กที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความเป็นเมือง แต่ระหว่างการลงพื้นที่ทำงาน เรากลับพบว่าเด็กหลายคนเผชิญกับอุปสรรคในการอ่าน จากการเก็บข้อมูลภูมิหลังทางด้านเศรษฐกิจสังคม (socio-economic background) ของเด็กและครอบครัว เบื้องต้นจำนวนทั้งสิ้น 402 คน ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะครอบครัวยากจนและค่อนข้างยากจน ซึ่งมีรายได้ครัวเรือนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 9,031 บาทต่อเดือน พบว่ายังมีปัจจัยที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้โดยเฉพาะเรื่องการอ่านอยู่บางประการ ดังนี้

ประการแรก เด็กกว่าร้อยละ 88 ไม่มีอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต โน้ตบุ๊ก อินเตอร์เน็ต ภายในบ้าน หลายคนแม้ที่บ้านจะใช้โทรศัพท์สมาร์ตโฟนแต่ต้องเติมเงินเป็นครั้งๆ การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตจึงทำได้จำกัด นี่ยังไม่รวมถึงการไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ในละแวกบ้านหรือการมีสัญญาณที่เสถียรตลอดเวลา

เมื่อได้พูดคุยกับเด็กบางคนที่เข้าร่วมโครงการ ได้พบปัญหาหนึ่งที่สำคัญคือ แม้จะมีแท็บเล็ตที่ได้รับจากโครงการ แต่แถวบ้านสัญญาณอินเตอร์เน็ตเข้ามาไม่ถึง ทำให้แต่ละครั้งที่เด็กจะอ่านหนังสือต้องเดินทางจากบ้านไปยังจุดที่มีอินเตอร์เน็ตรัฐบาลจัดไว้ให้ในชุมชน หรือบางคนต้องไปบ้านคุณครูเพื่อดาวน์โหลดหนังสือแล้วจึงนำกลับมานั่งอ่านที่บ้าน ปัจจัยข้อแรกแสดงให้เห็นว่า การมีเทคโนโลยีก็จะยังเป็นข้อจำกัด หากระบบการเชื่อมต่อพื้นฐานอย่างอินเตอร์เน็ตหรือสัญญาณโทรศัพท์ยังไม่โยงใยเข้าถึงทุกที่ของประเทศ

ประการที่สอง หนังสือภายในบ้านซึ่งเด็กๆ สามารถเข้าถึงอย่างง่ายด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี ได้ฝึกฝนทักษะการอ่าน สร้างนิสัยรักการอ่าน กลับไม่มีหรือมีจำนวนน้อยมาก จากคำถาม “บ้านของน้องมีหนังสือกี่เล่ม (ไม่นับรวมพวกหนังสือพิมพ์และตำราเรียนของโรงเรียน)” เด็กร้อยละ 34.9 ตอบว่ามี 0 เล่ม นั่นคือภายในบ้านไม่มีหนังสืออื่นเลยนอกจากหนังสือเรียน รองลงมาร้อยละ 14.2 บอกมีอยู่จำนวน 5 เล่ม

ในการศึกษาของ ผศ.ดร. ธันยพร จันทร์กระจ่าง และคณะ ได้อ้างอิงงานของ Brunello et. al (2006) ที่ชี้ให้เห็นว่า การเข้าถึงหนังสือจำนวนมากภายในบ้านจะทำให้เด็กได้รับการศึกษากลับมาสูงขึ้น และยังมีผลเชิงบวกต่อการก่อร่างทุนมนุษย์ โดยผลการศึกษาของงานนี้เองพบว่า การอ่านหนังสือช่วยให้เด็กจดจ่อและมีสมาธิมากขึ้น มีวินัยในตนเอง ปัจจัยที่สองแสดงให้เห็นว่านอกจากการเรียนในห้อง เด็กไม่มีแหล่งเรียนรู้ใกล้ตัวอื่นๆ เลย

ประการที่สาม เด็กบางคนมีภาระที่ต้องทำงานหารายได้ช่วยเหลือผู้ปกครอง ซึ่งสัมพันธ์กับฐานะของครอบครัว เด็กต้องทำงานหารายได้ควบคู่ไปกับการเรียนหนังสือ เท่ากับเวลาว่างจำนวนหนึ่งของเด็กถูกดึงไปใช้กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สูญเสียช่วงเวลาที่เด็กจะได้ทำกิจกรรมที่ชอบและเสริมสร้างทักษะด้านต่างๆ เด็กเกือบร้อยละ 70 ต้องช่วยผู้ปกครองหารายได้ ในจำนวนนี้มากที่สุดร้อยละ 45 ทำงานหารายได้ทุกวัน อีกร้อยละ 18.2 ทำบ้างบางวัน ส่วนกลุ่มที่ทำเฉพาะวันหยุด มีจำนวนร้อยละ 6.7 ผลการเก็บข้อมูลเราพบอีกว่าเมื่อถามเด็กถึงระยะเวลาที่สามารถอ่านหนังสือได้มากที่สุดกี่นาทีใน 1 วัน ส่วนใหญ่ตอบว่าได้วันละประมาณ 30 นาที ฉะนั้นตอนนี้เวลาของเด็กจำนวนหนึ่งได้ให้น้ำหนักไปที่การทำงานเพื่อช่วยครอบครัวและเลี้ยงดูตัวเองมากกว่าการอ่านหนังสือ

ประการสุดท้าย เราพบว่าบุคคลที่เป็นผู้ดูแลเด็กในเรื่องการเรียนไม่ได้เรียนสูงมากนัก ผู้ดูแลในที่นี้คือผู้ที่คอยกวดขันผลการเรียน ช่วยสอนการบ้าน ยังคงเป็นพ่อและแม่ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือ ร้อยละ 31.8 และ 33.6 นอกจากนี้คือบุคคลอื่นในครอบครัวอย่าง ปู่ย่าตายายหรือพี่ ร้อยละ 15.4 ส่วนเด็กที่ต้องดูแลตัวเองมีเพียงร้อยละ 2.5

เมื่อพิจารณาถึงระดับการศึกษาของผู้ที่คอยดูแลเด็กเรื่องการเรียน พบว่าผู้ที่คอยดูแลเหล่านี้จบการศึกษาสูงสุดในชั้นมัธยมศึกษา ประมาณร้อยละ 47 ขณะที่อีกร้อยละ 35 จบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษา และมีถึงร้อยละ 12 ไม่ได้เรียนหนังสือหรือเรียนไม่จบ สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า บุคคลในครอบครัวมีบทบาทในการดูแลเรื่องการเรียนของเด็ก ช่วยส่งเสริมความรู้ได้ระดับหนึ่ง และถือเป็นความท้าทายต่อการผลิตซ้ำเรื่องระดับการศึกษาภายในครอบครัวในยุคของการใช้เทคโนโลยีอีกด้วย

กล่าวโดยสรุป บทเรียนจากการดำเนินโครงการทั้งหมดนี้ ทำให้เห็นว่าสังคมไทยยังมีความหวังที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ในอนาคต แต่ภาครัฐต้องคำนึงถึงอุปสรรคที่ยังคงดำรงอยู่ในพื้นที่ควบคู่ไปกับการขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เรื่องแรกที่ภาครัฐควรจะเริ่มทำคือการพัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมในพื้นที่ทุกจุดจริง ๆ ไม่ใช่เฉพาะเพียงจุดใดจุดของชุมชนเท่านั้น สนับสนุนหนังสือที่เหมาะสมกับเด็ก และให้เงินอุดหนุนครอบครัวที่ยากจน

อ้างอิง :

Roth, K. (2020). Technology in Education: The Ongoing Debate of Access, Adequacy and Equity. New York : Bank Street College of Education. Retrieved from https://educate.bankstreet.edu/independent-studies/248

Thanyaporn Chankrajang. (2020). Are books children’s best friends? Impacts of access to book    corners and reading diaries on literacy scores and self-control: Evidence from field experiment in Nan, Thailand. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=QV8CHymByyM

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world