เจาะลึกอาชีวศึกษา – ค่าแรงและแนวทางการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจ
โดย : ณัฐชานันท์ กล้าหาญ
ภาพประกอบ : ภาพิมล หล่อตระกูล

เจาะลึกอาชีวศึกษา – ค่าแรงและแนวทางการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจ

ต้นปี 2564 มีปัจจัยทางเศรษฐกิจหลายประการ อาทิ สถานการณ์โควิด-19 ระบาดหนัก ทำให้เกิดปรากฏการณ์ชั่วโมงการทำงานลดลง ตำแหน่งงานไม่เพียงพอรับนักศึกษาจบใหม่ แต่ในขณะเดียวกัน เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าระบบการศึกษายังคงมีปัญหาเรื้อรังอย่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาและความล้มเหลวในระบบบางอย่างที่ก่อให้เกิดปัญหาการว่างงานตามมา

หนึ่งในสมมติฐานเกี่ยวกับความล้มเหลวทางการศึกษาคือระบบไม่สามารถผลิตแรงงานที่ตรงความต้องการของตลาด ดังนั้น การฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษา (technical and vocational education and training (TVET)) จึงเป็นที่พูดถึงกันอย่างแพร่หลายมากขึ้นในฐานะระบบการศึกษาที่มีบทบาทสำคัญด้านการผลิตแรงงานฝีมือ ตอบโจทย์ตลาดเฉพาะทางมากกว่าหลักสูตรการศึกษาทั่วไป (general education)

แต่การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาเพื่อสร้างแรงงานพัฒนาเศรษฐกิจจำเป็นต้องมีข้อมูลมากพอเกี่ยวกับลักษณะผู้เรียน อุปสรรคในการพัฒนา และบทเรียนจากประเทศอื่นๆ 101 จึงขอชวนคุณเจาะลึกงานวิจัย “บทบาทของการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษาเพื่อสนับสนุนการเติบโตอย่างทั่วถึงในระดับท้องถิ่นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (The role of technical and vocational education and training (TVET) in fostering inclusive growth at the local level in Southeast Asia) โดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ที่ศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศยังไม่พัฒนาว่า การฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษาส่งผลต่อการจ้างงาน ค่าแรงอย่างไร และปัญหาอะไรที่ต้องเร่งแก้ไขโดยเร็ว

เมื่ออาชีวศึกษากำลังทวีความสำคัญ

หากพิจารณาจากทฤษฎีทุนมนุษย์ (human capital) กระบวนทัศน์ที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาในเชิงเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่าการศึกษาและพัฒนาทักษะอาชีพสามารถฝึกฝนให้มนุษย์มีกำลังทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้เรียนมีโอกาสเข้าถึงงานและได้รับค่าจ้างสูงขึ้น 

พูดให้เห็นภาพคือยิ่งเราได้รับการศึกษาสูงขึ้นมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสเข้าสู่ระบบการจ้างงานที่มีค่าตอบแทนสูงขึ้นตามไปด้วย ในประเทศสมาชิกของ OECD ร้อยละ 64 ของประชากรที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา และร้อยละ 74 ที่จบการศึกษาระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายได้รับการจ้างงาน เมื่อเทียบกับร้อยละ 56 ของผู้ที่ไม่ได้รับการศึกษาในระดับมัธยมต้น

แต่หากจะพิจารณาในรายละเอียด อาจต้องมองให้ลึกลงไปในระดับการพัฒนาหลักสูตร ทั้งการศึกษาทั่วไปและการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษาว่ามีจุดบอดในเชิงวิชาการ การสร้างทักษะพร้อมทำงานให้กับนักเรียน หรือมีปัจจัยทางวัฒนธรรมอะไรบ้างที่ทำให้ผู้เรียนเลือกการศึกษาแบบใดแบบหนึ่ง

โดยปกติแล้ว การศึกษาทั่วไป (general education) มักได้รับความสนใจ เพราะหลักสูตรส่วนใหญ่สอนทักษะแบบไม่ยึดติดกับอาชีพใดอาชีพหนึ่ง พลิกแพลงได้ (Transferable Skills) มีแนวโน้มเลือกอาชีพได้หลากหลาย และสามารถขยับโยกย้ายไปสู่ตำแหน่งที่มีค่าตอบแทนสูง

แต่ลักษณะเช่นนี้กลับเป็นปัญหาเช่นกันเมื่อทั่วโลกประสบกับภาวะการว่างงานของเยาวชน เนื่องจากหลักสูตรการศึกษาทั่วไปอาจเต็มไปด้วยข้อมูลเชิงทฤษฎี เมื่อลงทำงานภาคสนาม เด็กก็ไม่มีโอกาสฝึกทักษะความเชี่ยวชาญเชิงเทคนิคมากพอ จนสุดท้ายทักษะที่มีก็ไม่สอดรับกับความต้องการของผู้ว่าจ้าง และทำให้บางประเทศขาดแรงงานที่มีประสิทธิภาพในภาคเศรษฐกิจ ตัวอย่างมีให้เห็นจากงานวิจัยเรื่องแรงงานฝีมือ (skilled labour) ในประเทศสมาชิกอาเซียน 5 ประเทศ ที่ระบุว่าปัญหาการขาดแรงงานฝีมือพร้อมทำงานในอุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของภูมิภาค และเหตุผลเป็นเพราะการศึกษาไม่ได้ผลิตแรงงานตรงตามความต้องการของนายจ้าง บวกกับมีช่องว่างในเชิงทักษะค่อนข้างสูง

ทั้งหมดนำมาสู่ข้อสรุปว่าการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษาจึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่สมควรได้รับการพัฒนาในระดับโลก

กระนั้น ‘การเลือก’ ที่จะเรียนอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสนใจของผู้เรียนเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับฐานะทางเศรษฐกิจของผู้เรียน ทัศนคติต่อหลักสูตร และแนวโน้มของอาชีพที่นักเรียนในวันนี้มองเห็นลู่ทางการอยู่รอดในวันหน้าด้วย โดยนอกจากแนวทางของหลักสูตรที่แตกต่างจากการศึกษาทั่วไปอย่างสิ้นเชิงและความเชื่อของผู้เรียนจะเป็นกุญแจสำคัญของการเลือกแล้ว นักเรียนที่มีภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำยังมีแนวโน้มเลือกเรียนเทคนิคและการอาชีวศึกษา เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนถูกกว่าการศึกษาทั่วไป

อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นการศึกษาทางเลือกของนักเรียนผู้ยากไร้จำนวนมาก ทว่ามีเพียงไม่กี่ประเทศที่ลงทุนทำวิจัยเรื่องประสิทธิภาพของการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษา ยิ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนายิ่งหาหลักฐานพิสูจน์ได้ยากกว่าการศึกษาดังกล่าวส่งผลต่อเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด อีกทั้งนิยามของการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษา ไปจนถึงโปรแกรมการฝึกงานของสถาบันแต่ละแห่งในแต่ละประเทศยังแตกต่างกันอย่างมหาศาล จึงยากที่จะคาดการณ์ผลลัพธ์ที่แน่ชัด

ที่สำคัญที่สุดคือรูปแบบการจ้างงานและค่าจ้างที่แรงงานได้รับไม่ได้สะท้อนถึงคุณภาพของการศึกษาเสมอไป แต่สะท้อนเพียงความผันผวนของตลาดแรงงานที่ต้องการแรงงานในบางภาคส่วนมากเป็นพิเศษ และค่าจ้างสำหรับบางสายอาชีพก็ไม่ได้เหมาะสมกับความรู้และทักษะขั้นสูงของพนักงาน การศึกษาประสิทธิภาพของการอาชีวศึกษาที่เป็นอยู่ในประเทศจึงถือเป็นขั้นเริ่มต้นสำหรับการพัฒนาหลักสูตรอันตอบโจทย์ทั้งผู้เรียนและตลาดแรงงานไปพร้อมๆ กัน

ประเทศพัฒนาแล้ว – ทางเลือกใหม่ของการศึกษา

ในประเทศพัฒนาแล้ว นักเรียนที่ผ่านการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษาควบคู่ไปกับการเข้าร่วมโปรแกรมฝึกทักษะมักเข้าสู่สายพานการทำงานได้รวดเร็วหลังจบจากโรงเรียน และในประเทศอย่างเยอรมันหรือฝรั่งเศส นักเรียนอาชีวศึกษาที่เข้าร่วมโปรแกรมฝึกทักษะไปพร้อมๆ กัน (dual apparenticeship) จะสามารถเดินเข้าสู่ตลาดแรงงานด้วยความพร้อมที่มากกว่านักเรียนที่เข้าร่วมการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษาเพียงอย่างเดียว 

ถึงแม้ว่าผู้ที่จบการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษาจะสามารถหางานได้รวดเร็วกว่าการศึกษาทั่วไป แต่ในระยะยาว ข้อได้เปรียบนั้นจะค่อยๆ ลดลงตามกาลเวลา 

หลักฐานจากประเทศสมาชิกของ OECD 11 ประเทศบ่งบอกว่าผู้ที่จบการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษามีแนวโน้มได้รับการจ้างงานสูงกว่า แต่ในเชิงสถิติแล้ว พนักงานที่มีอายุระหว่าง 56-65 ปีจะเริ่มเจอข้อจำกัดในการทำงาน เพราะความรู้และทักษะอาจจะล้าสมัยเร็วกว่าพนักงานที่จบการศึกษาทั่วไป อีกทั้งยังมีโอกาสในการเข้าถึงความรู้น้อยกว่า ดังนั้นการปรับปรุงระบบการเข้าถึงความรู้เชิงวิชาการที่นำไปต่อยอดได้ จะสามารถลดข้อเสียเปรียบในการทำงานของนักเรียนที่เลือกเรียนการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษาได้

ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับค่าแรงคือ ผู้ที่จบการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษาในระดับมัธยมได้รับค่าแรงมากกว่าหรือเท่ากับผู้ที่จบการศึกษาทั่วไปในระดับมัธยม ทำให้ในสหรัฐอเมริกาหรือในประเทศแถบยุโรป คนเริ่มหันมาสนใจตักตวงความรู้ด้านทักษะและเชิงเทคนิคมากขึ้นเรื่อยๆ

ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างผู้ที่จบการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษาและผู้จบการศึกษาทั่วไปยังสามารถวิเคราะห์ได้จากหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ระดับของคุณสมบัติ, รูปแบบของการฝึกปฏิบัติ, ความเกี่ยวข้องของการฝึกปฏิบัติกับสายงาน, การให้ความสำคัญและการลงทุนกับการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษา และตัวเลือกที่หลากหลายของการฝึกปฏิบัติ ขึ้นอยู่กับบริบทในแต่ละประเทศ ปัจจัยด้านตลาดแรงงาน และนโยบายการสนับสนุนของรัฐ

ตัวอย่างเช่นในประเทศอิสราเอล พ.ศ. 2526 ผู้ที่จบการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษาในระดับมัธยมได้ค่าจ้างมากกว่าผู้ที่จบการศึกษาทั่วไปในระดับมัธยมร้อยละ 8-10 หากทักษะของพวกเขาลงล็อกพอดีกับสายอาชีพที่เปิดรับ ส่วนประเทศเกาหลีใต้ รัฐลงทุนมหาศาลไปกับการพัฒนาแรงงานคุณภาพจากการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษาเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตและก่อสร้างภายในประเทศ ทำให้ผู้ที่บการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษาในระดับมัธยมถึงร้อยละ 30 ได้รับค่าจ้างมากกว่าผู้ที่จบการศึกษาทั่วไป

แน่นอนว่า สายงานที่ต่างกันก็ย่อมส่งผลถึงระดับค่าจ้าง ข้อมูลภายในประเทศสมาชิกของ OECD เปิดเผยว่าค่าแรงของประชากรที่จบการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษามีระดับที่แตกต่างมหาศาลอย่างแท้จริงเมื่อเปรียบเทียบระหว่างสายงานที่จบมา ตัวอย่างมีให้เห็นเช่นในชิลี พ.ศ. 2553 ค่าแรงของบุคคลที่จบการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษาต่างสาขากันทั้งหมด 4 สาขาเริ่มตั้งแต่ 114 ไปจนถึง 447 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน

สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าแม้การฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษาจะมีตัวเลือกอาชีพที่จำกัดหากเทียบกับการศึกษาทั่วไป แต่การเปิดเผยข้อมูลค่าแรงและความเป็นไปได้ในการเติบโตบนสายอาชีพเฉพาะทางก็สามารถสร้างแรงบันดาลใจ และทำให้ผู้เรียนวางแผนออกแบบเส้นทางชีวิตได้เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญที่ควรเร่งแก้ไขในแวดวงของการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษาทั่วโลก คือเรื่องการแบ่งแยกทางเพศ (sex segregation) ปัจจุบัน ผู้หญิงยังโดนกีดกันออกจากการเรียนการสอนเชิงเทคนิคที่จะนำพาพวกเธอไปสู่อาชีพค่าแรงสูง โดยถูกบังคับให้เข้าเรียนเฉพาะหลักสูตรที่แปะป้ายว่านี่คือการศึกษาของ ‘ผู้หญิง’ อีกทั้งประสบปัญหาอคติทางเพศ ความบกพร่องของข้อมูลต่อขั้นตอนการฝึกปฏิบัติ และการคุมคามทางเพศ (sexual harassment) กดทับให้พวกเธอไม่อาจเติบโตในเส้นทางอาชีพ

ในประเทศออสเตรเลีย ผู้หญิงที่จบการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษามีแนวโน้มที่จะไม่ถูกจ้างหรือเข้าระบบได้เพียงแค่ระดับพนักงานพาร์ตไทม์ และได้รับค่าแรงต่ำกว่าผู้ชายที่จบการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษา ซึ่งประเทศในแถบยุโรป สหรัฐอเมริกา หรืออิสราเอลก็มีข้อสังเกตนี้เช่นเดียวกัน

ดังนั้น การปรับปรุงแนวทางปฏิบัติและสร้างมาตราการคืนอำนาจให้ผู้หญิงได้แสดงประสิทธิภาพเต็มที่ท่ามกลางบรรยากาศการศึกษาในขนบของผู้ชายจึงเป็นสิ่งจำเป็น ประเทศที่สามารถนำประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศเข้าไปยกระดับการศึกษาและสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรในระบบการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษาได้ จะทำให้ช่องว่างของการจ้างงานและค่าแรงระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายต่ำลงด้วย

ประเทศที่กำลังพัฒนา – การศึกษาที่ช่วยเด็กยากไร้

ปัญหาที่พบร่วมกันในประเทศกำลังพัฒนา คือเด็กจำนวนมากติดกับดักการเรียนไม่จบมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับระดับต่ำสุดที่สามารถเข้าสู่การฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษาตามรูปแบบปกติ พวกเขาจึงโดนผลักออกไปเรียนฝึกอบรมทักษะกับองค์กรเอกชนเล็กๆ ที่อาจต้อนรับนักเรียนยืดหยุ่นมากกว่า ทั้งยังมีประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าระบบการศึกษาปกติ ทำให้เด็กจากครอบครัวยากจนเข้าถึงการฝึกอบรมลักษณะนี้ได้มากกว่า

และด้วยค่าจ้างแรงงานนอกระบบในประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้มสูงกว่าแรงงานในระบบ ทำให้ผู้ที่จบการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษา ไปจนถึงผู้ที่เรียนจบการศึกษาทั่วไปส่วนหนึ่งเลือกทำงานนอกระบบด้วยเหตุผลทางสังคมและวัฒนธรรมต่างๆ ต่างจากผู้ที่จบการศึกษาระดับมัธยมซึ่งเลือกทำงานในระบบเพราะมีค่าแรงขั้นต่ำการันตีและกฎหมายแรงงานคุ้มครอง หรือต่อให้เป็นผู้ที่จบการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษาอย่างเป็นทางการจากสถาบัน ก็อาจโดนบีบให้ทำงานนอกระบบอยู่ดี เพราะเมื่อทำงานในระบบ ตำแหน่งงานของพวกเขามีแนวโน้มค้างอยู่ที่ระดับไม่สูงมาก เป็นตำแหน่งงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะหรือความรู้เชิงเทคนิคในการทำงาน

ตัดภาพมาที่ประเทศไทย กรณีศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ระบุว่า ผู้ที่จบการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษาในระดับมัธยมได้รับค่าจ้างมากกว่าผู้ที่จบการศึกษาทั่วไปในระดับมัธยมต้น 

แต่ก็เช่นเดียวกันกับประเทศพัฒนาแล้ว ผู้ที่จบการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษาในระบบปกติจะได้รับค่าจ้างระดับแตกต่างกันไปตามปัจจัยแวดล้อม เช่น ตัวเลือกที่หลากหลายของการฝึกปฏิบัติ, ความเกี่ยวข้องของการฝึกปฏิบัติกับสายงาน, การให้ความสำคัญและการลงทุนกับการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษา และหนทางสู่การศึกษาที่สูงขึ้น

ปัจเจกจะได้รับค่าแรงเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับว่าเขาหรือเธอประกอบอาชีพอะไร ข้อมูลจากประเทศเปรู พ.ศ. 2557 ผู้ที่จบการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษาระดับอุดมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ทำรายได้ถึงร้อยละ 71 โดยประมาณเมื่อเทียบกับผู้ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในเอกเดียวกันที่ทำรายได้ร้อยละ 49 แต่ในสายสังคมศาสตร์ เช่น ศิลปะ หรือสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผู้ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยได้ค่าแรงมากกว่า

แต่ปัญหาหลักของประเทศกำลังพัฒนา คือผู้ที่จบการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษาในระดับมัธยมมีจำนวนน้อยมากที่ได้รับการศึกษาระดับสูง พวกเขาจึงถูกดันออกจากระบบและออกไปทำงานเลยโดยอัตโนมัติและยากจะกลับเข้ามาศึกษาต่อยอดอีก การแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเหล่านี้สามารถเรียนรู้ในระดับสูงขึ้นเพื่อประกอบอาชีพที่มีค่าแรงสูงขึ้นจึงเป็นประเด็นที่รัฐควรพิจารณา

นอกจากนี้ อีกหนึ่งประเด็นที่นับรวมเป็นอุปสรรคต่อการทำความเข้าใจการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษาในประเทศกำลังพัฒนา คือบรรทัดฐานทางสังคมและข้อกังวลในคุณภาพของงาน

รัฐบาลในประเทศกำลังพัฒนามักมีงบประมาณจำกัดในการพัฒนาการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษา ส่งผลให้นักเรียนนักศึกษาที่จบจากด้านนี้ได้รับค่าแรงต่ำเพราะระบบการศึกษาไม่มีคุณภาพ ฉะนั้นการลงทุนสนับสนุนการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษาเพื่อรับประกันว่าผู้จ้างจะได้รับพนักงานที่ดีและมีคุณภาพ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณของรัฐที่มักจะผูกโยงอยู่กับรายได้ประชาชาติ (national income) จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนระดับค่าจ้างและความสามารถของผู้ที่เลือกจะเรียนสายนี้

แม้แต่องค์กรเอกชนเองก็สามารถสนับสนุนผู้เรียนได้เช่นกัน ในประเทศอย่างบราซิล ชิลี เปรู การเข้ารับการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษาของภาคเอกชนมักตอบแทนผู้เรียนด้วยค่าจ้างที่สูงกว่าสถาบันอบรมของรัฐ และสามารถเพิ่มสูงขึ้นได้อีกหากสายอาชีพที่จบมาสอดรับกันพอดีกับตำแหน่งงานที่ต้องการทักษะเฉพาะทาง 

สำหรับประเด็นปัญหาการแบ่งแยกทางเพศ ในประเทศกำลังพัฒนามักเกิดขึ้นในพื้นที่เฉพาะกลุ่ม แต่ผลลัพธ์ก็คล้ายกันกับประเทศที่พัฒนาแล้ว นั่นคือผู้หญิงได้ค่าแรงน้อยกว่าผู้ชายด้วยปัจจัยทางวัฒนธรรม ผู้ชายมักจะได้รับการเชิดชูด้านการงานในภาคส่วนนอกระบบ พวกเขาได้รับค่าจ้างด้วยสัดส่วนที่สูงในฐานะพนักงาน ในขณะที่ผู้หญิงมีแนวโน้มได้รับค่าจ้างในระดับหางแถว ในฐานะของผู้ใช้แรงงานในบ้านหรือผู้ดูแลบ้านที่ไม่ได้รับค่าจ้างตอบแทนใดๆ จากการทำงาน

ยังไม่นับรวมว่าผู้หญิงยังเข้าสู่ตลาดแรงงานช้ากว่าผู้ชายหลังจบการศึกษา และแม้กระทั่งระดับผู้ประกอบการเองก็เห็นได้ชัดว่าผู้ประกอบการเพศหญิงเข้าถึงสินเชื่อและเครือข่ายทางเศรษฐกิจได้ยากกว่าผู้ชาย ซึ่งปัจจัยนี้จะส่งผลกระทบต่อรายได้ในระยะยาว

แน่นอนว่ารัฐสามารถปรับปรุงคุณภาพชีวิตและทัศนคติเรื่องเพศในการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษาได้ เช่นในประเทศตุรกี ผู้หญิงสามารถยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง ลืมตาอ้าปากได้โดยที่ไม่พึ่งพิงคู่ครองเพศชาย ส่งผลให้มีอำนาจต่อรองหากมีเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว (domestic violence) เกิดขึ้น 

โดยสรุปแล้ว แนวทางการพัฒนาการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษาที่สำคัญทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ได้แก่ การที่รัฐช่วยปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำผ่านการออกนโยบายทางการเมืองและการเงินที่ยุติธรรมมากพอเพื่อยกระดับการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษา

ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการออกแบบโครงสร้างการฝึกทักษะเชิงเทคนิคเพื่อตอบรับความต้องการของตลาดได้อย่างแท้จริง รวมถึงช่วยสนับสนุนงบประมาณพัฒนาข้อมูลเรื่องผลกระทบของตลาดแรงงานต่อการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษา และควบรวมระบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการเข้าไว้ด้วยกันอย่างยั่งยืน

สังคมร่วมสร้างมาตรการเด็ดขาดเรื่องการแบ่งแยกทางเพศ ยกเลิกการกดทับและปลิดโอกาสของผู้หญิง เพื่อสร้างกำลังการผลิตที่มีประสิทธิภาพทั้งในและนอกระบบ ปรับปรุงการเติบโตของเส้นทางอาชีพในวงจรเศรษฐกิจหลัก

จะขาดปัจจัยเหล่านี้ไปไม่ได้แม้แต่อย่างเดียว

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world