การกลับมาของ “ครูพี่ใหญ่” ครูรัก(ษ์)ถิ่นแห่งโรงเรียนบ้านร่องไผ่ และหัวใจที่รู้ดีว่าเด็กๆ ในชุมชนต้องการอะไร

การกลับมาของ “ครูพี่ใหญ่” ครูรัก(ษ์)ถิ่นแห่งโรงเรียนบ้านร่องไผ่ และหัวใจที่รู้ดีว่าเด็กๆ ในชุมชนต้องการอะไร

โจทย์ของครูรัก(ษ์)ถิ่น เริ่มต้นจากปัญหาชีวิตของเด็กๆในชุมชนบ้านเกิ

โรงเรียนบ้านร่องไผ่ เป็นโรงเรียนในชุมชนขนาดเล็ก อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย ที่นี่คือ 1 ใน 696  โรงเรียนปลายทางในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งเป็นบ้านเกิดของนักศึกษาครูรักษ์ถิ่น ที่พวกเขาและเธอจะได้รับการบรรจุเป็นคุณครูที่นี่ทันที่ภายหลังจากจบการศึกษา 

เคว้งคว้าง ห่างไกลพ่อแม่ แต่มีครู ‘พี่ใหญ่’ เด็กๆ ไม่หลงทาง

หากมองภายนอกที่นี่ก็เหมือนชุมชนชนบททั่วไป ชีวิตของเด็กๆ อยู่กับธรรมชาติและเกษตรกรรม แต่ความจริงแล้วในหลายครอบครัวอาจแฝงด้วยความเหงาและเคว้งคว้าง ด้วยภาระงานของพ่อแม่ทำให้ต้องห่างจากลูกด้วยความจำใจ 

นาวิน จำปาวัฒ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านร่องไผ่  เล่าว่า  อาชีพของคนในชุมชนบ้านร่องไผ่ ส่วนใหญ่ทำไร่ หลักๆ เป็นยางพารากับมันสำปะหลัง  กราฟชีวิตขึ้นอยู่กับราคาสินค้าเกษตร บางครอบครัวมีรายได้ไม่ถึงสองหมื่นบาทต่อปี หรือเดือนละพันหกร้อยกว่าบาท  ครอบครัวไหนมีที่ดินทำกิน ก็สามารถปลูกพืชผลขายได้ ถือว่ามีรายได้อยู่บ้าง แต่ครอบครัวที่ไม่มีที่ดินทำกินเลย ก็ต้องเข้าเมืองเพื่อหางานทำ แล้วให้ปู่ย่าตายายดูแลลูกหลานแทนเพราะถ้าไม่มีเงินก็ส่งเด็กๆเรียนไม่ได้ ยิ่งหากไปศึกษาต่อในโรงเรียนใหญ่ ก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นอีกเป็นเท่าตัว ขณะที่บางครอบครัวมาจากต่างถิ่น เพื่อมารับจ้างกรีดยาง ก็หอบลูกมาเข้าเรียนที่นี่ เด็กๆหลายคนต้องตื่นแต่เช้ามืดเพื่อไปช่วยพ่อแม่กรีดยาง กรีดเสร็จก็กลับมาเรียน 

 

“การที่เด็กๆส่วนใหญ่ไม่ได้ใกล้ชิดพ่อแม่แต่อยู่กับปู่ย่าตายาบางครั้งก็กลายเป็นความอึดอัด ระหว่างกันในครอบครัว เพราะช่วงวัยห่างกันมาก  พ่อแม่ และปู่ย่าตายายก็ไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่า สิ่งใดจะสามารถตอบโจทย์ด้านการเรียนรู้ของลูกหลานได้ ดังนั้นเมื่อมี ‘พี่ใหญ่’กลับมาเป็นครู เป็นลูกหลานของชุมชนที่เคยเห็นหน้าเห็นตากันอยู่ก็สร้างความสบายใจให้พ่อแม่รวมถึงกลายเป็นต้นแบบดึงดูดให้น้องๆ มีแรงบันดาลใจ ใส่ใจในการเรียนรู้มากขึ้น”

คุ้ยเคยฉันท์พี่น้อง เป็นแม่เหล็กดึงดูดน้องๆเรียนรู้อย่างมีความสุข

“เด็กในโรงเรียนจะเจอพี่ใหญ่ในชุมชนของพวกเขาตั้งแต่เล็กแต่น้อยแล้วพอพี่ใหญ่ของพวกเขาเรียนครูและมาฝึกสอนที่นี่ เด็กๆก็จะติดพี่ใหญ่ของพวกเขา พอมาสอน เด็กก็อยากเรียน มันมีความกลมเกลียวและคุ้นเคยเหมือนพี่กับน้องที่ใกล้ชิดกัน เด็กประถมเป็นวัยที่กำลังเริ่มเรียนรู้ และหาต้นแบบ พี่ใหญ่ที่มาฝึกสอนเป็นตัวอย่างให้เด็กได้รู้สึกว่าอยากเป็นอย่างพวกพี่ๆ เขา   บรรยากาศในห้องเรียนก็เช่นกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าครูที่อายุเยอะ เมื่อมาอยู่ร่วมกับเด็กที่อายุห่างกันหลายสิบปี ย่อมเกิดความไม่เข้าใจกันในหลายเรื่อง อันเนื่องมาจากยุคสมัยที่หล่อหลอมคนสองรุ่นนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่การมาของครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นเหมือนการสร้างสะพานเชื่อมของคนสองวัยให้ได้ เข้าใจซึ่งกันและกันก่อเกิดผลดีต่อทุกฝ่าย”

“การเรียนการสอนกลายเป็นความกันเอง คนรุ่นใหม่มีวิธีจัดการที่ดี สร้างความเข้าใจให้เด็กได้ง่าย พี่ใหญ่ของพวกเขาก็เหมือนเป็นแม่เหล็กที่ดึงให้เด็กมาเรียนกันได้ ที่สำคัญ บ้านร่องไผ่เป็นชุมชนขนาดเล็ก ใครทำอะไรก็รู้กันหมด ซึ่งเมื่อพี่ใหญ่ของเด็กๆ เป็นคนในชุมชน จึงหมายความว่าเขาไม่ได้คุ้นเคยกันแค่เด็ก แต่คุ้นเคยไปทั้งชุมชน พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็เบาใจ เห็นว่าโรงเรียนเล็กๆแห่งนี้ ก็สอนลูกหลานพวกเขาได้ดีได้ คนสอนก็เป็นลูกหลานในชุมชน  เด็กๆ ก็ได้เรียนไม่ต้องไปหาโรงเรียนไกลบ้านซึ่งคุณภาพการศึกษาไม่ต่างกัน ลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว ไม่ต้องเสียเงินไปส่งเรียนในโรงเรียนใหญ่ และครูรัก(ษ์)ถิ่น เขาดูแลตัวเองได้ เขาผ่านการฝึกมา ทำอาหารเป็น แถมทำเกษตรได้ นี่ยังมาช่วยเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่เลี้ยงหมูที่โรงเรียนด้วย” ผอ.นาวิน เล่าด้วยความภูมิใจ

เพราะมีหัวใจที่รู้ดีว่าเด็กในชุมชนต้องการอะไร

“ความสัมพันธ์เป็นเรื่องสำคัญมากนะ ครูจากข้างนอกมาประจำสองปีก็ทำเรื่องย้ายแล้ว ส่วนครูรัก(ษ์)ถิ่นมีสัญญาห้าปีก็จริง แต่เขาเป็นคนในชุมชน เขาจะอยากไปที่อื่นทำไม บ้านของพวกเขาอยู่ที่นี่ ครูได้กลับมาอยู่บ้าน มีงานทำ ไม่เครียด ได้ดูแลพ่อแม่ของตัวเองและมีความภูมิใจต่องานที่ทำ ส่วนคนในชุมชนก็สบายใจ เพราะเป็นวิถีชีวิตเดียวกัน มีวิธีการถ่ายทอดให้คนในพื้นที่เข้าใจได้ และสำคัญที่สุดคือหัวใจที่รู้ดีว่าเด็กในชุมชนต้องการอะไร ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นประโยชน์สำคัญที่สุดต่อเด็กๆ ของเรา”

ที่นี่คือบ้านเกิด ครูพี่ใหญ่ จะไม่ย้ายไปไหน

ผอ.นาวิน ย้ำว่า โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น นอกจากช่วยบรรเทาปัญหาครูไม่เพียงพอยังลดปัญหาการโยกย้ายของครูบรรจุด้วย เพราะที่นี่คือบ้านของเขาและไม่ว่าใครก็ต้องอยากเห็นบ้านเกิดของตัวเองพัฒนาหรือเห็นเด็กๆที่เป็นลูกหลานค่อยๆเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพอีกจุดเด่นสำคัญของโครงการนี้ก็คือ การที่ครูรัก(ษ์)ถิ่น กลับมาเป็นพี่ใหญ่ เป็นต้นแบบของน้องๆ ที่สามารถคุยกับครูอย่างพวกเราก็เข้าใจ ถ่ายทอดไปหาเด็กๆก็เข้าใจหรือสื่อสารกลับมาเพื่อทำให้เราเข้าใจเด็กๆมากขึ้นได้ช่วยสลายปัญหาช่องว่างระหว่างวัยพวกเขายังสามารถสร้างแรงผลักดันแรงบันดาลใจให้เด็กในชุมชนหันมาให้ความสำคัญกับการศึกษามากขึ้นเยอะเลยทีเดียว

รู้จักโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น

จากสถานการณ์ที่ระบบการผลิตครูในปัจจุบันยังไม่ตอบสนองต่อปัญหาความขาดแคลนครูในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลได้ ทั้งยังขาดการวางแผนการผลิตครูในภาพรวม ทำให้การบรรจุครูในแต่ละพื้นที่ได้ครูที่ไม่ใช่คนท้องถิ่นมากถึงร้อยละ 80 ผลที่ตามมา คือ หลังบรรจุเพียงไม่นาน ครูมักขอย้ายออกจากพื้นที่ห่างไกลจํานวนมาก จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อโอกาสและคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล

กสศ.ริเริ่ม โครงการ “ครูรัก(ษ์)ถิ่น” ร่วมกับ 6 หน่วยงานประกอบด้วย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.), กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.), สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.), สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) และสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา   พัฒนานวัตกรรมกระบวนการผลิตและพัฒนาครูสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลอย่างเป็นระบบ และช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนครู ครูไม่ครบชั้น รวมถึงพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลตามพื้นฐานและศักยภาพที่แตกต่างกัน

โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น มุ่งทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาต้นแบบที่ร่วมโครงการในลักษณะเครือข่าย ร่วมพัฒนาหลักสูตรสร้างครูรุ่นใหม่ที่มีอัตลักษณ์ สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของชุมชนแต่ละภูมิภาค และสร้างโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่มีจิตวิญญาณของความเป็นครู ให้ได้เรียนครูจนจบปริญญาตรีและได้รับการบรรจุเป็นครูในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลซึ่งเป็นบ้านเกิดของตนเองทั้งหมด โดยนักศึกษาจะได้รับการบ่มเพาะให้เป็นครูของชุมชนที่มีคุณภาพสูง มีสมรรถนะทั้งทางวิชาการ และวิชาชีพ มีความสามารถพัฒนาผู้เรียนและชุมชนเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในโรงเรียนได้

โครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินงานผลิตและพัฒนาครูตั้งแต่ปี 2563-2571 มีเป้าหมายผลิตครูให้ได้จำนวน 1,500 คน ปัจจุบันเป็นปีที่ 4 มีนักเรียนที่ได้รับโอกาสเข้าศึกษาต่อเข้าเรียนครูในสาขาประถมศึกษาและปฐมวัยรวมทั้งสิ้น 861 คน และมีเป้าหมายในการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลจำนวน 696 แห่ง โดยมีสถาบันผลิตและพัฒนาครูเข้าร่วมโครงการจำนวน 16 สถาบัน