อีกแค่ 1 ปี ครูรัก(ษ์) ถิ่น ‘ราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง’ รุ่นแรก จะกลับคืนบ้านเกิด

อีกแค่ 1 ปี ครูรัก(ษ์) ถิ่น ‘ราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง’ รุ่นแรก จะกลับคืนบ้านเกิด

ปัจจุบันโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนห่างไกลกำลังประสบปัญหาขาดแคลนครูผู้สอน หลายแห่งมีครูไม่ครบชั้น ครูหนึ่งคนต้องวิ่งสอนเกือบทุกชั้นปี ไล่ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงชั้นประถม และดังที่รู้กันดีว่า ยิ่งเป็นพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาล หรือมีลักษณะชายขอบก็ยิ่งทำให้ไม่มีครูอยากย้ายไป หรือถ้าถูกบรรจุอย่างเลี่ยงไม่ได้ เมื่อครบเวลาก็จะมักจะมีการขอย้ายออกจากพื้นที่อย่างรวดเร็ว ซึ่งปัญหานี้จะส่งผลให้เด็กๆขาดโอกาสทางการศึกษาที่มีความต่อเนื่องและมีคุณภาพไปด้วย 

แต่ปัญหานี้คงจบลงไปได้ง่ายๆ หากพื้นที่นั้นคือ ‘บ้าน’ ของพวกเขา เป็นสถานที่ที่ ‘ครูรุ่นใหม่’ จะได้กลับไปใช้ทักษะและความรู้ได้รับจากสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อทำงานใกล้ชิดครอบครัวและเป็นกำลังสำคัญให้กับชุมชน 

นั่นจึงเป็นที่มาของ โครงการ ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในการทุนการศึกษากับเด็กๆ ที่มีความฝันอยากเป็นครูแต่ขาดโอกาส เพื่อกลับไปบรรจุโรงเรียนปลายทางในพื้นที่ห่างไกลหรือและชุมชนเป้าหมาย ภายใต้ความร่วมมือจากหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนและชุมชน รวมถึงสถาบันการศึกษา ที่นอกจากการรับเด็กที่ผ่านการคัดเลือกจากโครงการเข้าเรียนแล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการออกแบบหลักสูตรที่ตอบโจทย์ในการเป็น ‘ครูของชุมชน’ อีกด้วย

เริ่มต้นที่ค้นหา

“กสศ.จะประกาศรายชื่อโรงเรียนปลายทาง ว่าเมื่อจบหลักสูตรจากเราแล้ว เด็กๆที่จะเป็นครูในโครงการนี้จะไปบรรจุในแห่งหนตำบลใดบ้าง จากนั้นจึงมีการประชาสัมพันธ์ไปที่โรงเรียนกลุ่มเป้าหมายและชุมชน เราจะลงไปคัดกรองถึงที่ และหลังสัมภาษณ์ก็จะช่วยกันคัดกรองอีกครั้งเพื่อให้เด็กที่ผ่านเข้ามาตรงตามหลักเกณฑ์มากที่สุด” 

ดร.เกรียงวุธ นีละคุปต์ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง เล่าถึงกระบวนการทำงานคัดเลือกนักศึกษาในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ซึ่งปีนี้เป็นรุ่นที่ 3 แล้ว โดยปี 2563 ถือเป็นรุ่นแรกที่เข้าร่วม และอีกเพียงปีเดียวเท่านั้น ก็จะถึงเวลาที่เด็กๆรุ่นนี้เรียนจบและกลับคืนสู่อ้อมกอดเพื่อไปเป็นครูของชุมชนอย่างเต็มตัว

“พื้นที่ของโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายก็แล้วแต่บริบทครับ บางพื้นที่ค่อนข้างทุรกันดารมาก บางพื้นที่อาจน้อยกว่า แต่จะมีลักษณะชายขอบ เช่น โรงเรียนในจังหวัดประจวบฯ หรืออำเภอสังขละ กาญจนบุรี ก็มาเรียนที่เรา ก็ถือว่าค่อนข้างห่างไกลพอสมควร”

ดร.เกรียงวุธ กล่าวว่า ในตอนรับรุ่นหนึ่งโครงการนี้ มีนักศึกษา 25 คน จากนั้น รุ่นที่ 2 ขยับมาเป็น 29  คน และรุ่นปัจจุบันซึ่งเป็นรุ่นที่ 3 เพิ่มมาเป็น 30 คน ทางสถาบันจะต้องให้ความสำคัญตั้งแต่กระบวนการแรก นั่นคือการคัดกรอง เพราะต้องตอบให้ได้ว่าทำไมเลือกคนนี้ ไม่เลือกคนนั้น หลักเกณฑ์ของ กสศ. จะเป็นเกณฑ์สำคัญที่ต้องทำความเข้าใจกันให้ชัดว่า นอกจากเรื่องของความฝันที่อยากเป็นครูหรือเรื่องของศักยภาพจากมีผลการเรียนที่พร้อมระดับหนึ่งแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญมากคือต้องมีข้อจำกัดเรื่องโอกาสทางการศึกษาด้วย

วิธีการค้นหาและขั้นตอนของทางมหาวิทยาลัยโดยสรุป มีดังนี้ 

1.ต้องใกล้ชิดพื้นที่ เริ่มตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ในโรงเรียนกลุ่มเป้าหมาย อบต. และชุมชน
2.รับสมัคร 
3.สัมภาษณ์นักศึกษา จะต้องมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู ตัวแทนชุมชน และคณะกรรมการจากสถานศึกษาสัมภาษณ์ทำหน้าที่ร่วมกัน 
4.หลังสัมภาษณ์จะมีการคัดกรองอีกครั้งเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์มากที่สุด
5.ประกาศผล 
6.หลังประกาศผลจะให้นักศึกษาที่ผ่านเข้าค่ายเป็นเวลา 5 วัน เพื่อประเมินความพร้อมและคุณสมบัติ

จากนั้นจะมีการประเมินอีกรอบจนได้นักศึกษาในโครงการตามต้องการ

หลักสูตรต้องสอดคล้อง ปรับตัวตามบริบทแต่ละชุมชน

“หลักสูตรของเราเป็นเด็กปฐมวัย แต่เมื่อเด็กรุ่นแรกถูกมอบหมายให้ไปเรียนรู้จากโรงเรียนในชุมชน เราพบว่าหลายครั้ง ครูต้องสอนในระดับประถมด้วย เพราะโรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งเลยยังมีครูไม่ครบชั้น จากโจทย์นี้เรามองแล้วว่าเด็กของเราแม้เป้าหมายเพื่อเป็นครูปฐมวัย แต่เมื่อจบออกไปจะต้องมีภาระการสอนเด็กประถมด้วยแน่นอน จึงมาคิดต่อว่าจะทำอย่างไรให้พวกเขาสามารถสอนได้ เลยมาจัดเป็นหลักสูตรระยะสั้นเพื่อให้เด็กได้เรียเพื่อสอนในระดับประถมได้ด้วย”

ดร.เกรียงวุธ กล่าวถึงลักษณะเฉพาะของเด็กในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นที่ต่างจากครูในหลักสูตรทั่วไปว่า คือการเน้นที่ชุมชนเป็นสำคัญ เขาจะต้องอยู่กับชุมชนได้ ดังนั้น หลักสูตรของเราเองก็ต้องปรับตัวไปตามบริบทที่เกิดขึ้นจริง ดังเช่นปัญหาครูไม่ครบชั้น ก็ต้องปรับหลักสูตรของสถาบันให้สอดคล้องกับเขามากขึ้น จากการได้แลกเปลี่ยนกับสถาบันอื่นบ้าง บางแห่งอาจใช้วิธีการจัดเป็นวิชาเอกและวิชาโท หรือเป็นการเรียนแบบเอกคู่ก็มี แต่ทางคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ใช้วิธีเพิ่ม 70 หน่วยกิจด้านประถมศึกษา เพื่อเป็นหลักสูตรขนาดสั้นให้เด็กได้เรียนในกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้

“ข้อดีของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น คือเด็กไม่ขาดจากชุมชนไปเลยระหว่างเรียน เพราะในหลักสูตรเด็กจะต้องลงไปที่โรงเรียนหรือชุมชนทุกปี ซึ่งเราจะตั้งโจทย์สมรรถนะเป็นเป้าหมายในแต่ละปี อย่างชั้นปีที่ 1 จะต้องกลับไปอยู่กับชุมชนเวลา 1 เดือน ให้กลับไปในฐานะผู้เรียนรู้ว่า หน้าที่ครูเป็นอย่างไร เพื่อให้รอบรู้ในงานครูจากสิ่งที่เขาสัมผัสจริง ปีที่ 2 จะเริ่มให้เป็นผู้ช่วยครู เช่น การทำงานเอกสารธุรการต่างๆ ปีที่ 3 ต้องเป็นผู้ช่วยสอน และปีที่ 4 ก็จะเป็นต้องทดลองเป็นครูผู้สอน

“พอเด็กๆออกไปฝึกประสบการณ์จริง เสียงสะท้อนที่เราได้รับกลับมาจากโรงเรียนค่อนข้างดี ตอนนี้จึงพยายามพัฒนาต่อไป ครูรัก(ษ์)ถิ่น เราจะเน้นด้านชุมชน ปลูกฝังให้เด็กมีแรงกระตุ้นในการมีส่วนร่วมกับการพัฒนาชุมชนและมีจิตอาสา สามารถเป็นนวัตกรเพื่อสร้างนวัตกรรมท้องถิ่นได้ เราจะปลูกฝังให้เขามีเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน และนวัตกรรมที่เขาสร้างขึ้นก็จะต้องเหมาะกับโรงเรียนปลายทางและชุมชนด้วย”

อนาคตของครูรัก(ษ์)ถิ่น

ดร.เกรียงวุธ กล่าวว่า สำหรับการพัฒนาโครงการนี้ต่อไปในอนาคต คืออยากพัฒนาทักษะเฉพาะตัวหรือความสามารถพื้นฐานของเขาที่ติดตัวมาแต่เดิมให้ต่อยอดไปได้มากขึ้น ดังนั้น ในตอนนี้ถ้าอะไรที่ส่งเสริมได้ก็จะทำ ไม่ใช่ว่าต้องทิ้งทักษะตัวเองไปเมื่อมาเรียนเป็นครู โจทย์ของเราคือต้องทำให้ศักยภาพเขาเด่นขึ้นมากกว่า อย่างบางคนชอบเล่นฟุตบอลก็จะหาทีมให้ได้เล่นและไปแข่งขันได้ หรือบางคนที่เก่งวิชาการ ชอบคณิตศาสตร์มาก ก็จะเน้นให้ศักยภาพด้านนี้เขาเด่นขึ้นไปอีก คือต้องหาวิธีพัฒนาเด็กๆให้ไปได้ตามความสามรถเฉพาะด้วย 

อีกเรื่องหนึ่งที่ ดร.เกรียงวุธ ให้ความสำคัญคือ เรื่องการทำงานอย่างมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดเป็นศักยภาพสูงสุดที่จะมีขึ้นจากโครงการนี้

“ครูรัก(ษ์)ถิ่น คือความร่วมมือ ไม่ใช่เราคิดคนเดียว เราจึงชวนโรงเรียนและชุมชนมาร่วมคุยเพื่อออกแบบการเรียนการสอนไปด้วยกัน เพราะเด็กมาจากแต่ละที่ มีความต่างกัน เราก็จะต้องออกแบบการศึกษาไปตามบริบทแต่ละสถานที่ ซึ่งชุมชนและโรงเรียนก็กำลังรอเหมือนกันว่าผลผลิตร่วมกันว่ารุ่นแรกที่สำเร็จออกไปจะเป็นอย่างไร” 

“ชุมชนตื่นเต้นมากครับ เป็นความคาดหวังเลยเพราะมองว่าเป็นลูกหลานของเขา พอมาถึงตรงนี้ เขาก็อยากเห็นว่าโครงการนี้จะต่อยอดไปถึงไหนได้บ้าง ชุมชนอยากให้ลูกหลานได้กลับมาพัฒนาชุมชนของเขาเองในอนาคต” ดร.เกรียงวุธ ระบุ ทิ้งท้าย

ดร.เกรียงวุธ นีละคุปต์ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง

รู้จักโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น

จากสถานการณ์ที่ระบบการผลิตครูในปัจจุบันยังไม่ตอบสนองต่อปัญหาความขาดแคลนครูในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลได้ ทั้งยังขาดการวางแผนการผลิตครูในภาพรวม ทำให้การบรรจุครูในแต่ละพื้นที่ได้ครูที่ไม่ใช่คนท้องถิ่นมากถึงร้อยละ 80 ผลที่ตามมา คือ หลังบรรจุเพียงไม่นาน ครูมักขอย้ายออกจากพื้นที่ห่างไกลจํานวนมาก จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อโอกาสและคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล

กสศ.ริเริ่ม โครงการ “ครูรัก(ษ์)ถิ่น” ร่วมกับ 6 หน่วยงานประกอบด้วย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.), กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.), สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา พัฒนานวัตกรรมกระบวนการผลิตและพัฒนาครูสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลอย่างเป็นระบบ และช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนครู ครูไม่ครบชั้น รวมถึงพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลตามพื้นฐานและศักยภาพที่แตกต่างกัน

โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น มุ่งทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาต้นแบบที่ร่วมโครงการในลักษณะเครือข่าย ร่วมพัฒนาหลักสูตรสร้างครูรุ่นใหม่ที่มีอัตลักษณ์ สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของชุมชนแต่ละภูมิภาค และสร้างโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่มีจิตวิญญาณของความเป็นครู ให้ได้เรียนครูจนจบปริญญาตรีและได้รับการบรรจุเป็นครูในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลซึ่งเป็นบ้านเกิดของตนเองทั้งหมด โดยนักศึกษาจะได้รับการบ่มเพาะให้เป็นครูของชุมชนที่มีคุณภาพสูง มีสมรรถนะทั้งทางวิชาการ และวิชาชีพ มีความสามารถพัฒนาผู้เรียนและชุมชนเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในโรงเรียนได้

โครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินงานผลิตและพัฒนาครูตั้งแต่ปี 2563-2571 มีเป้าหมายผลิตครูให้ได้จำนวน 1,500 คน ปัจจุบันเป็นปีที่ 4 มีนักเรียนที่ได้รับโอกาสเข้าศึกษาต่อเข้าเรียนครูในสาขาประถมศึกษาและปฐมวัยรวมทั้งสิ้น 861 คน และมีเป้าหมายในการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลจำนวน 696 แห่ง โดยมีสถาบันผลิตและพัฒนาครูเข้าร่วมโครงการจำนวน 16 สถาบัน