เงินเดือนน้อย กู้ง่าย จ่ายตลอดชีวิต: ขุดรากปัญหาหนี้ครูที่ตัวเลขไม่ได้บอก
โดย : ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย
ภาพประกอบ : ณัฐพล อุปฮาด

เงินเดือนน้อย กู้ง่าย จ่ายตลอดชีวิต: ขุดรากปัญหาหนี้ครูที่ตัวเลขไม่ได้บอก

1

ปี 2527 ชายหนุ่มคนหนึ่งเพิ่งเรียนจบปริญญาตรี สอบบรรจุครูครั้งแรกได้ที่อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย วันแรกที่เขาเดินทางไปโรงเรียน เขาลงรถประจำทางสายเลย-พิษณุโลก นั่งรถเล็กของชาวบ้านต่อไปอีก 23 กิโลเมตรจนถึงโรงเรียน ผ่านทางดินลูกรังที่เมื่อถึงฤดูฝนจะกลายเป็นโคลนเหนียวหนืด รถไม่สามารถผ่านได้ ที่นั่นมีบ้านพักครูเก่าโทรมหลังหนึ่ง เขาต้องพักอาศัยกับเพื่อนครูอีกสองคนในบ้านหลังนั้น ไฟฟ้าติดๆ ดับๆ และต้องไปอาบน้ำที่หนอง

เขาได้อัตราเงินเดือนเดือนแรกอยู่ที่ 2,765 บาท และได้เบี้ยกันดาร 20% ของเงินเดือน จากการถูกส่งมาบรรจุที่โรงเรียนห่างไกล รวมแล้วเขาจะได้เงินเดือนละ 3,318 บาท เขาต้องเดินทางไปรับเงินเดือนเองที่สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอภูเรือ แต่ไม่จำเป็นต้องเดินทางทุกเดือน เพราะเขาได้เงินเดือนจริงๆ หลังจากทำงานครบสามเดือนแล้ว ภาษาที่ข้าราชการเข้าใจกันคือเพิ่งได้ ‘ตกเบิก’

ระหว่างนั้นครูหนุ่มก็ไปสอบบรรจุครูที่ขอนแก่นไว้ เพราะคาดหวังว่าจะได้กลับไปอยู่ในเมือง หลังจากสามเดือนแห่งความยากลำบาก ที่ขอนแก่นก็เรียกบรรจุเขาไปเป็นครู แล้วชีวิตการเป็นข้าราชการครูก็เริ่มเข้ารูปเข้ารอยตั้งแต่ตอนนั้น

เขาย้ายไปเป็นครูที่ขอนแก่นได้สามปี ก็ยื่นกู้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูครั้งแรกเป็นจำนวนเงิน 35,000 บาท ด้วยเหตุผลว่าเอาเงินไปแต่งงาน

การเป็น ‘ครูน้อย’ ในต่างจังหวัด แม้จะมีเงินเดือนน้อยนิด แต่สิ่งที่เป็นสัจจะถาวรคือครูจะได้เงินเดือนทุกเดือน ไต่ลำดับขั้นบันไดไปจนวันเกษียณ เรื่องพวกนี้ทุกคนรู้ และคนที่รู้ดีที่สุดคือเหล่าบริษัทห้างร้าน นั่นทำให้พวกเขาส่งเซลส์แมนมาขายของตามโรงเรียน บุกทะลุทะลวงไปถึงครูทุกหมู่เหล่า ขายตั้งแต่นาฬิกา แว่นตา เตาแก๊ส เครื่องใช้ไฟฟ้า รถมอเตอร์ไซค์ ไปจนถึงอาหารทะเล – ของเหล่านี้ถูกเสนอขายในราคาผ่อนจ่าย ปลายเดือนส่งคนมาเก็บเงินที่โรงเรียน ผ่อนหลักร้อย สบายๆ เหมือนได้ฟรี นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นให้ครูหลายคนเป็นทั้งหนี้ก้อนใหญ่และก้อนเล็กทับถมพอกพูนไปไม่รู้จบ

เมื่อผ่อนของมาก เงินเดือนเหลือน้อย เงินไม่พอใช้ก็วนกลับไปกู้เงินก้อนใหญ่กับสหกรณ์ฯ ในขณะที่เงินเดือนกว่าจะขยับไปในระดับที่เหมาะสมก็กินเวลาเป็นสิบปี ถึงตอนนั้นหนี้สินก็พอกพูนเกินกว่าจะจัดการเงินได้ กลายเป็นหนี้ที่ต้องสะสางตลอดชีวิต

นี่เป็นชีวิตของครูเมื่อ 40 ปีที่แล้ว และดูเหมือนว่าเรื่องราวแบบเดิมยังฉายซ้ำวนเวียนไม่รู้จบ กลายเป็นปัญหาก้อนใหญ่ที่เรียกว่า ‘หนี้ครู’ กว่า 1.4 ล้านล้านบาทของครูกว่าเก้าแสนคนของประเทศไทยในปัจจุบัน

เรื่องนี้หากจะโทษเป็นความฟุ้งเฟ้อส่วนบุคคลก็อาจถูกเพียงครึ่งเดียว เพราะแท้จริงแล้วโครงสร้างสังคมล้วนเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้คนตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง ปัญหาก็คือเราจะมองเรื่องนี้อย่างไรให้ทะลุ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ถูกจุด

2

ตัวเลขหนี้สินครูเมื่อปี 2565 ชี้ว่า ครูไทยจำนวนเก้าแสนคนเป็นหนี้รวมกันกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของครูคือ ‘สหกรณ์ออมทรัพย์ครู’ ที่ครูเป็นหนี้อยู่กว่า 8.9 แสนล้านบาท คิดเป็น 64% ของยอดหนี้ทั้งหมด อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 5.64%

ส่วนสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้รองลงมา ได้แก่  

ธนาคารออมสิน 3.49 แสนล้านบาท คิดเป็น 25% ของยอดหนี้ อัตราดอกเบี้ย 6.9%

ธนาคารกรุงไทย 6.3 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 4% ของยอดหนี้ อัตราดอกเบี้ย 7.12%

และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) 6.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 4% ของยอดหนี้ อัตราดอกเบี้ย 6.4%

นี่เป็นเพียงหนี้ในระบบที่ตามเก็บตัวเลขได้เท่านั้น แต่ครูยังมีหนี้นอกระบบที่ดอกเบี้ยสูงลิบลิ่วอยู่อีกจำนวนมาก คำว่า ‘ชักหน้าไม่ถึงหลัง’ ถูกใช้เรียกชีวิตทางการเงินของครูจำนวนมาก ด้วยภาระค่าใช้จ่ายที่มาพร้อมกับภาระทางบ้านและภาระในหน้าที่การงาน

“ข้าราชการกู้ง่ายมากจริงๆ ยิ่งสหกรณ์ครูฯ ยิ่งกู้ง่าย ยื่นเอกสารวันนี้ ได้เงินพรุ่งนี้แล้ว ทำให้ครูหลายคนตัดสินใจกู้ได้แบบไม่คิดมาก” พล (นามสมมติ) ข้าราชการครูที่โรงเรียนแห่งหนึ่งเล่าถึงเหตุผลการเป็นหนี้ของครู

“แต่ก็ไม่ใช่ว่าคนเราอยู่เฉยๆ จะอยากเป็นหนี้นะ ครูเงินเดือนน้อยมาก แต่มีค่าใช้จ่ายเยอะมาก” พลขยายความ เขาเล่าให้ฟังว่าช่วงเริ่มต้นชีวิตการทำงานของครูคือช่วงที่ยากลำบากที่สุด และส่งผลต่อวินัยการเงินตั้งแต่แรกเริ่ม

“เงินเดือนครูน้อย ยิ่งคนที่ต้องบรรจุไกลบ้านยิ่งลำบาก ตอนแรกผมบรรจุที่อำเภอห่างไกล ต้องข้ามเขาไปสองลูก ห่างจากตัวอำเภอ 30 กิโลเมตร แรกๆ ไม่อยากอยู่บ้านพักครู เพราะโทรมมาก ไม่น่าอยู่เลย ก็ต้องไปเช่าห้องอยู่ เดือนละ 4,000 บาท รวมค่าน้ำค่าไฟเป็น 4,000 นิดๆ จ่ายค่าน้ำมันอีกเดือนละประมาณ 4-5 พัน ค่าโทรศัพท์อีกประมาณ 1,000 บาท เงินเดือนบรรจุตอนแรก 15,500 บาท เหลือได้ใช้จริงๆ ประมาณ 5,000-6,000 บาท” พลเล่า

นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายส่วนตัวแล้ว พลยังเล่าให้ฟังว่า มีค่าใช้จ่ายอีกจำนวนมากที่ครูต้องควักเองในการทำงาน เช่น ค่าน้ำมันพาเด็กไปแข่งวิชาการ ค่าอุปกรณ์ทำโครงการ ไปจนถึงค่าหมึกเครื่องถ่ายเอกสารที่การเบิกจ่ายล่าช้าจนครูต้องออกเงินกันเองในโรงเรียน

พลยกตัวอย่างเฉพาะเจาะจงว่า เขาเคยได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการให้ดูแลโครงการธนาคารขยะ แต่ไม่มีงบประมาณสนับสนุนในการเริ่มต้นทำโครงการแม้แต่น้อย

“ผอ. อยากให้ทำโครงการธนาคารขยะ ผมถามว่ามีงบให้ไหมครับ ผอ. บอกว่าไม่มี ผมก็ถามว่าแล้วผมจะเอาเงินไหนไปซื้อถังขยะ ตะแกรงเก็บขวด ตาชั่ง ฯลฯ ผอ. ก็บอกว่า เอางี้สิครูพล จัดการเองเลย ออกเงินไปก่อนทุกอย่าง เสร็จแล้วขายขยะได้เท่าไหร่ ครูพลก็เก็บเงินเข้าตัวเองเลย” พลเล่าถึงเหตุการณ์ในอดีต แล้วอธิบายต่อว่า

“ฟังเหมือนจะดีใช่ไหม แต่ความจริงไม่เป็นอย่างนั้น ผมขับรถเก๋ง เวลาจะเอาขยะไปขาย ก็ต้องทำความสะอาดขยะทั้งหมดแล้วใส่เบาะหลังรถเพื่อขับไปขายระยะทาง 30 กิโลเมตร รวมไปกลับประมาณ 60 กิโลเมตร ใช้น้ำมันไป 200-300 บาท ซึ่งขายขยะครั้งหนึ่งได้ 400 บาท แทบจะไม่คุ้มค่าน้ำมันอยู่แล้ว แล้วต้องทำอยู่อย่างนี้ 2-3 ปี” พลเล่า

ไม่ใช่แค่เรื่องโครงการธนาคารขยะเท่านั้น แต่หลายต่อหลายครั้งครูต้องเจอกับวลีที่ว่า “ออกเงินไปก่อน” กับอีกหลายเรื่อง เช่น ขับรถไปอบรมในระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร ซึ่งสุดท้ายแม้จะได้เงินค่าน้ำมันก็จริงอยู่ แต่ได้กลับมาเพียง 200 บาทเท่านั้น

“ครูที่อยู่กันมานาน เงินเดือน 30,000-40,000 บาท อาจจะไม่ลำบาก แต่คุณครูบรรจุใหม่ที่เงินเดือนยังแค่ 15,000-20,000 บาท อันนี้ก็อาจมีปัญหาบ้าง” พลสรุปประเด็น

ทั้งนี้แม้ครูจะมีค่าใช้จ่าย ‘จำเป็น’ อยู่พอสมควร แต่ขณะเดียวกันพลก็ยอมรับว่า ครูก็มีค่าใช้จ่ายที่ ‘ไม่จำเป็น’ อยู่เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่แต่ละคนเลือกจัดการชีวิตตัวเอง

พลบอกว่าทันทีที่ครูสอบบรรจุได้ จะมีสิ่งเร้าจำนวนมากเข้ามาในนามของสินค้าผ่อนจ่ายและบัตรเครดิต ทุนนิยมทำงานอย่างมั่นคงและหนักข้อ เป็นภาพที่เกิดขึ้นเหมือนครูเมื่อ 40 ปีที่แล้วไม่ผิดเพี้ยน

“พอบรรจุแล้วเนื้อหอมเลย มาถวายกันถึงโรงเรียน” พลเริ่มเล่าเรื่อง

“ธนาคารจะมาหาครูที่โรงเรียน ไม่ใช่แค่บัตรเครดิตนะ ประกันก็มาบ่อย เขาก็จะมาขออนุญาต ผอ. ก็ต้องอนุญาตเป็นมารยาท เขาก็จะเดินไปตื๊อครูคนนั้นคนนี้ สอนๆ อยู่จะให้ทำให้ได้ ครูบางคนก็ไม่ชอบ เขาก็ไม่อยากทำ ส่วนใหญ่ครูเขาเอาสหกรณ์ฯ เป็นที่ตั้ง เพราะสหกรณ์ฯ มีสินเชื่อตัวหนึ่งเรียกว่าสินเชื่อฉุกเฉิน ที่คล้ายๆ กับบัตรเงินสด มีเงินใส่บัญชีให้เราเลย 300,000-500,000 บาท ขึ้นอยู่กับอัตราเงินเดือนเรา” พลอธิบาย

มาถึงตรงนี้ หากครูคนไหนตัดสินใจทำบัตรเครดิตหรือซื้อประกัน ก็จะเริ่มมีภาระผูกพันรายเดือนเข้ามา และเมื่อไหร่ก็ตามที่ตัดสินใจกู้เงินก้อนใหญ่จากสหกรณ์ออมทรัพย์ครู เงินเดือนที่น้อยอยู่แล้วก็จะร่อยหรอลงไปอีกจนกลายเป็นปัญหางูกินหางที่ต้องกลับมากู้ใหม่เพื่อใช้จ่าย

เป็นที่รู้กันว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็น ‘เพื่อนแท้ยามยาก’ ของเหล่าข้าราชการครูโดยแท้ เพราะทันทีที่บรรจุเป็นข้าราชการ ครูจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหกรณ์ฯ และเริ่มจ่ายค่าหุ้นรายเดือน จนถึงระยะที่หุ้นถึงแล้วก็จะสามารถกู้เงินจากสหกรณ์ฯ ได้ โดยการกู้สหกรณ์ฯ มีข้อดีคือดอกเบี้ยตายตัวตลอดการชำระเงินกู้อยู่ที่ประมาณ 5-7% (แล้วแต่สหกรณ์ฯ กำหนด) ผ่อนยาวๆ กันได้ถึง 200-250 งวด ทั้งนี้เมื่อถึงปลายปี สหกรณ์ฯ ยังมีปันผลเฉลี่ยให้เพื่อนสมาชิกครูด้วย

ด้วยการเป็นสถาบันการเงินที่ ‘ใจดี’ เช่นนี้ ทำให้ครูหลายคนตัดสินใจเป็นหนี้ก้อนแรกจากสหกรณ์ฯ เสมอ ส่วนมากมักกู้ไปทำเรื่องใหญ่และสำคัญในชีวิต เช่น แต่งงาน หรือโปะหนี้ก้อนใหญ่ของสถาบันการเงินอื่น เป็นต้น

พลเองก็เป็นหนึ่งในคนที่ตัดสินใจกู้สหกรณ์ฯ ครั้งแรกเพื่อเอาเงินไปแต่งงาน เขากู้มาทั้งหมด 400,000 บาท หักเงินเข้าหุ้นสหกรณ์ 100,000 บาท เพื่อให้หุ้นถึง และเหลือมาใช้ประมาณ 300,000 บาท

ส่วนครั้งที่สองกู้ 150,000 บาท เอามาจ่ายหนี้บัตรเครดิต ที่ดอกเบี้ยขยายไปเหมือนไม่จบสิ้น พลจึงตัดสินใจเป็นหนี้สหกรณ์ทีเดียวเพื่อมาปิดหนี้บัตรเครดิต

พลยอมรับว่าเขาเองก็ตกหล่ม ‘การตื๊อ’ ของธนาคาร จนมีบัตรเครดิตหลายใบ แม้จะไม่ได้ใช้จ่ายจนเต็มวงเงินทุกใบ แต่ก็ใช้บัตรเครดิตใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าน้ำมัน ซื้อของใช้เข้าบ้าน ฯลฯ จนเป็นหนี้ดอกเบี้ยในที่สุด

พลบอกว่าจุดเปลี่ยนของชีวิตคือการตัดสินใจซื้อบ้านและมีลูก มาถึงวันนี้เขาทำงานมา 8 ปี เงินเดือนอยู่ที่ 23,900 บาท ซึ่งพอหักลบกลบหนี้แล้วก็เหลือใช้ไม่กี่บาท ยิ่งเมื่อต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวก็ยิ่งทำให้การเงินอยู่ในภาวะลำบาก

เมื่อถูกถามถึงเสียงวิจารณ์ที่บอกว่าปัญหาหนี้ครู ส่วนหนึ่งมาจากการฟุ้งเฟ้อของครูเองหรือไม่ พลตอบเร็วว่า “อันนี้มีส่วนมากเลย โดยเฉพาะในสังคมทุนนิยม ยิ่งตามชนบท เขามักจะถือหน้าถือตาเป็นใหญ่ ครูเป็นอาชีพทรงเกียรติ จะมาดูกระจอกไม่ได้ ใส่ซองงานบุญต้อง 500 บาทเป็นอย่างต่ำ คนคิดอย่างนี้ก็มี แต่ส่วนตัวแล้วผมไม่ได้ยึดติดกับตรงนั้น” พลกล่าว

ทั้งนี้พลยังขยายความว่าไม่ใช่ครูทุกคนที่ฟุ่มเฟือยจนเป็นหนี้ แต่หลายคนมีภาระทางบ้านติดค้างมาจนทำให้เงินเดือนไม่พอใช้  “บางคนไม่ฟุ่มเฟือยอะไรเลย เป็นคนสมถะด้วยซ้ำ แต่เขาทำงานคนเดียว เป็นเสาหลักของครอบครัว ต้องหาเลี้ยงน้อง เลี้ยงพ่อแม่ เงินเดือน 15,000 ให้ทางบ้านไปแล้ว 7,000 บาท จะเหลือใช้เท่าไหร่”

จากปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมา ถ้าหากจะเสนอวิธีแก้ปัญหา พลมองว่าอยากให้รัฐบาลเพิ่มเงินเดือนครูให้เหมาะสมกับความเป็นจริงในชีวิตมากขึ้น  

“เงินเดือนครูที่เป็นอยู่ตอนนี้ น้อยเกินไปมากจริงๆ นะ แล้วครูทำงานไม่ได้โอที แต่สามารถถูกเรียกใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง แล้วเวลามีโครงการต่างๆ มาอยากให้มีงบประมาณให้ ไม่ใช่สักแต่ว่าสั่งแต่ไม่ให้งบ” พลกล่าว

เขายังเล่าอีกว่ามีครูน้อยคนมากที่จะไม่เป็นหนี้ ส่วนมากคือคนที่บ้านมีฐานะอยู่แล้ว ส่วนครูโดยทั่วไปไม่สามารถดำรงชีพได้ด้วยเงินเดือนครูเพียงอย่างเดียว ส่วนมากจึงต้องมีอาชีพเสริม เช่น ถ้าอยู่ตามชนบท ครูก็ทำนาทำไร่ จ้างคนมาตัดอ้อยให้เพื่อเก็บกินรายได้จากผลผลิต หรือถ้าอยู่ในเมืองก็สอนพิเศษหรือขายของ เป็นต้น

มากไปกว่าเรื่องการแก้ปัญหาหนี้ครู พลมองว่า เขาอยากให้รัฐบาลเลิกโครงการผักชีโรยหน้าที่ทำให้ครูไกลจากห้องเรียน และทำให้มีค่าใช้จ่ายแฝงอีกมากมาย เขาทิ้งท้ายว่า “ผมอยากให้ครูได้สอนจริงๆ เสียที”

ปัญหาที่ดูเป็นคนละเรื่องนี้ กลับเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก

3

แม้ว่ากลุ่มข้าราชการครูจะเป็นกลุ่มที่ถูกพูดถึงมาก เมื่อพูดถึงปัญหาหนี้ครู แต่ยังมีครูอีกกลุ่มหนึ่งที่เผชิญปัญหาไม่ต่างกัน และดูจะหนักหนากว่าด้วยในบางที คนกลุ่มนั้นคือ ‘พนักงานราชการ’ หรือครูที่ยังไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการแต่ถือเป็นลูกจ้างของรัฐผ่านสัญญาจ้างงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับค่าตอบแทนจากงบประมาณของส่วนราชการ

“พนักงานราชการเจอปัญหาหนักกว่า เพราะข้าราชการมีทางแก้ มีสหกรณ์ฯ และสถาบันการเงินอื่นๆ ที่พอจะรวมหนี้ให้ พอปลายทางอายุ 60 เขาก็มีเงินจากส่วนต่างๆ มาปิดหนี้” แก้ว (นามสมมติ) ผู้ดูแลด้านการเงินครูให้ข้อมูล

อีกจุดหนึ่งที่แตกต่างกันระหว่าง ‘ข้าราชการครู’ และ ‘พนักงานราชการ’ คือ พนักงานราชการสามารถกู้เงินจากสหกรณ์ครูประมาณ 300,000-400,000 บาทเท่านั้น และต้องใช้หนี้ให้หมดภายในสัญญาทำงาน 3-4 ปี ซึ่งนั่นทำให้ยอดจ่ายแต่ละเดือนสูงมาก แตกต่างจากข้าราชการครูที่สามารถกู้สหกรณ์ฯ ได้ถึง 2-3 ล้านบาท (บางแห่งกู้ได้สูงถึง 5 ล้านบาท) และผ่อนเป็นระยะเวลานาน

เมื่อเป็นเช่นนี้ แหล่งการเงินที่พนักงานราชการหันหน้าไปหากลายเป็นโครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาชีวิตครู การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ร่วมกับธนาคารออมสิน เปิดให้บุคลากรทางการศึกษา (รวมถึงพนักงานราชการ) สามารถกู้ได้ถึงหลักล้าน และ ช.พ.ค. นี่เอง ที่กลายเป็นฝันร้ายครั้งใหญ่ของครูหลายแสนคน

“ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของบุคลากรต่างๆ เรื่องอัตราดอกเบี้ย มารู้เอาตอนที่ต้องแก้ปัญหาหนี้แล้วต้องกางสัญญาออกมาดู ถึงรู้ว่าดอกเบี้ย ช.พ.ค. ผ่อนเท่าไหร่ก็ไม่หมด หรือหมดยากมาก” แก้วอธิบาย

แก้วอธิบายว่าแม้แต่วันทำสัญญาต่างกันก็ส่งผลต่อดอกเบี้ยที่ต่างกัน เช่น นาย A ทำสัญญาวันที่ 10 แต่จ่ายเงินวันที่ 30 แม้จะเป็นเดือนเดียวกันแต่ดอกเบี้ยก็ยังเพิ่มขึ้น

“ครูบางคนกู้ ช.พ.ค. ไปล้านสอง ผ่อนมาแล้วสิบปี เงินต้นยังเหลืออยู่เก้าแสนอยู่เลย นี่เป็นปัญหาที่ระบบของโครงการ ซึ่งเกิดขึ้นไปแล้ว และเราไม่สามารถแก้ไขให้ได้เลย” แก้วกล่าว ทั้งนี้ทางธนาคารออมสินก็มีความพยายามลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยเพื่อนครูที่ไม่สามารถชำระหนี้ ช.พ.ค. ได้

แก้วให้ข้อมูลว่าครูจำนวนมากกำลังเผชิญกับการหักหนี้หน้าบัญชีเงินเดือนที่หนักหนาสาหัส จนถึงกับมีการพูดกันในหมู่ครูว่าเงินที่ได้นั้นเป็น ‘เงินเดือนทิพย์’

แก้วยกตัวอย่างว่า สมมติครูหนึ่งคนมีอัตราเงินเดือน 20,000 บาท แต่พอสลิปเงินเดือนออกมาจริงๆ แล้ว จะมีส่วนที่ถูกหักหน้าบัญชี เช่น หนี้สหกรณ์ฯ ผ่อนบ้าน ช.พ.ค. และธนาคารอื่นๆ ซึ่งส่วนมากหนี้เหล่านี้จะแตะหลักหมื่น ทั้งนี้มีระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการกำหนดว่าต้องให้ผู้ได้รับเงินเดือนมีเงินดำรงชีพไม่ต่ำกว่า 30% ของเงินเดือน นั่นหมายความว่าถ้าครูผู้นั้นเงินเดือน 20,000 บาท หน่วยงานหักหนี้ได้แต่ต้องให้มีเงินเหลือไม่ต่ำกว่า 6,000 บาท

“พอเราหักหน้าบัญชีไปตามนี้ แต่ถามว่าความจริงแล้วครูเหลือเงินดำรงชีพเพียงพอไหม คำตอบคือไม่ บางคนต้องเอาเงิน 6,000 บาทที่ได้ไปจ่ายหนี้นอกระบบอีก เช่น หนี้บัตรเครดิต งวดรถ บัตรกดเงินสด ฯลฯ บริหารกันวุ่นวายเลยทีนี้ เหมือนที่เขาพูดกันนั่นแหละว่าเป็นเงินเดือนทิพย์ นี่เป็นปัญหาของประเทศเลยนะ ถ้าให้เราแก้ก็ยากเหมือนกัน” แก้วกล่าว

จากที่รัฐบาลมีมาตรการนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินครู 2564 โดยกระทรวงศึกษาธิการเปิดตัวโครงการ ‘สร้างโอกาสใหม่ ให้ครูไทย’ ให้ครูลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการแก้หนี้ในระบบของกระทรวงฯ ในหน่วยที่แก้วรับผิดชอบอยู่ มีครูเข้าร่วมลงทะเบียนแก้หนี้ 10-20% จากบุคลากรทั้งหมด โดยส่วนมากที่ลงทะเบียนมาเป็นพนักงานราชการ และมีครูเกิน 10 คนที่กำลังถูกฟ้องในชั้นศาล

ปัญหาเรื่องหนี้สินกลายเป็นความทุกข์ของชีวิตครู แก้วบอกว่าจริงๆ แล้วภาระหนี้สินของครูมีมากกว่าที่ลงทะเบียนมามาก จากการพูดคุยกับครูหลายคนรวมถึงมองภาระของตัวเองแล้ว ทำให้แก้วลงความเห็นว่าเรื่องหนี้ครูเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัส ส่งผลต่อชีวิตของหลายคน และควรจะได้รับการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

ถ้ากลับมาดูที่การเปิดให้ลงทะเบียนแก้หนี้ของกระทรวงศึกษาธิการ ระบบให้ครูกรอกข้อมูลว่ามีหนี้สินอะไรบ้างทั้งหนี้ที่หักในเงินเดือนและไม่ได้หักในเงินเดือน แต่แก้วก็ยังกังวลว่าแม้จะรายงานตัวเลขให้กระทรวงฯ รับรู้ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องหนี้ครูได้จริงหรือไม่

แก้วกล่าวว่า จากการทำแบบสอบถามครูในพื้นที่ที่ดูแล พบว่าข้อเสนอที่ครูอยากให้ช่วยแก้ปัญหาที่สุดคือ ประสงค์ให้ลดอัตราดอกเบี้ย เช่น จากร้อยละ 7-8 อาจลดเหลือร้อยละ 2-3 ซึ่งอาจทำให้การผ่อนจ่ายต่อเดือนน้อยลง จนเหลือเงินให้บริหารจัดการต่อเดือนมากขึ้น

รองลงมาคือขอสินเชื่อที่รีไฟแนนซ์ได้ ลดค่าธรรมเนียมและการค้ำประกัน ปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ และลดยอดหนี้จากรายได้ในอนาคต ทั้งนี้ยังมีกลุ่มที่กำลังจะอยู่ในขั้นถูกฟ้องและถูกฟ้องไปแล้ว ที่ต้องการให้มีการช่วยไกล่เกลี่ย

จากที่กล่าวข้างต้นว่า พนักงานราชการคือคนที่ต้องรับภาระหนี้สินหนักกว่าข้าราชการ เพราะเงื่อนไขการกู้เงินจากสหกรณ์ และเมื่อพนักงานราชการอยู่ในระบบสัญญาจ้าง เมื่อหมดสัญญาแล้วก็ย้ายที่ออกไป ทิ้งหนี้เอาไว้ กลายเป็นผู้ค้ำประกันถูกสถาบันการเงินเข้ามาบีบแทน เป็นปัญหาวงจรอุบาทว์ในแวดวงครูที่ไม่มีใครอยากให้เกิดกับตัวเอง

“ตัวเราเองก็เป็นหนี้เหมือนกันนะ อาจจะเพราะความผิดพลาดรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คือไม่รู้ว่าเราจะแก้ปัญหาอย่างไร ไม่ได้คิดถึงอนาคต เป็นหนี้ที่ก่อมาตั้งแต่ก่อนสร้างครอบครัวแล้ว เห็นเพื่อนกู้ก็กู้ด้วย เอามาซื้อรถ ซื้อบ้าน อันนี้พูดจากตัวเองนะคะ สมัยก่อนด้วยความเด็ก ไม่ได้คิดรอบคอบเหมือนผู้ใหญ่ ไม่เคยศึกษามาก่อน ปัญหาเลยเกิดมาจนถึงตอนนี้ แต่ยังโชคดีว่าเราไม่ได้ติดหนี้ ช.พ.ค.” แก้วเล่าถึงสาเหตุการเป็นหนี้ของตัวเองที่เหมือนกับครูอีกจำนวนมาก  

ตัวแก้วเองก็เล่าเหมือนพลว่า ครูเป็นอาชีพมั่นคงที่สถาบันการเงินมักวิ่งเข้าหา เพราะถือเป็นลูกค้าชั้นดี

“สมัยก่อนระบบไม่ได้กำหนดว่าเป็นหนี้ได้เท่าไหร่ๆ แต่ตอนนี้หนี้เกิดไปแล้ว ก็ต้องมานั่งคิดกันว่าจะหาทางแก้อย่างไร ถ้าบอกว่าจะแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มขึ้นเงินเดือนครู ก็ต้องมาดูว่าเพิ่มเท่าไหร่ ถ้าเพิ่มแค่ 3% ก็คงไม่ได้แก้ปัญหาอะไร เงินเพิ่มมาแค่ 700-800 บาท ถ้าจะเพิ่มก็ต้องเพิ่มเป็นหมื่นถึงจะพอแก้ปัญหาได้ แต่ก็ต้องมาดูระบบการเงินระบบการคลังของประเทศว่าทำได้จริงไหม” แก้วกล่าว และยังกล่าวต่อถึงวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในตอนนี้ว่า

“จากใจคนที่คลุกอยู่ตรงนี้ คิดว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยน่าจะช่วยได้ สมมติตอนนี้ครูผ่อนหนี้สหกรณ์ฯ อยู่เดือนละ 13,000 บาท ถ้าลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 2-3% เขาก็จะเหลือจ่ายแค่เดือนละ 7,000 บาท ทำให้มีเงินเหลือใช้

“หรือในกรณีของ ช.พ.ค. เราอาจปรับสัญญาลูกหนี้ใหม่ได้ไหม ไม่ใช่แก้เฉพาะคนที่กำลังมีปัญหาฟ้องร้อง ทำอย่างไรให้เขาผ่อนถูกลง สมมติทุกวันนี้จ่ายหนี้ไป 8,000 บาท เข้าเงินต้นไปแค่ 1,000 กว่าบาท นอกนั้นเป็นดอกเบี้ยหมดเลย นี่ถึงเป็นเหตุผลที่เขาผ่อนอย่างไรก็ไม่หมด บางคนเสียชีวิตไปแล้ว ประกันไม่ได้ครอบคลุม ก็มาไล่ยึดทรัพย์เอากับผู้ค้ำประกันอีก กลายเป็นปัญหาวนเวียนเป็นงูกินหางไปเรื่อยๆ ถามว่าจะหมดเมื่อไหร่ ไม่หมดหรอก” แก้วกล่าว

อีกหนึ่งประเด็นที่เป็นปัญหาคือ หลายคนทำงานเป็นพนักงานราชการมาหลายปี จนเงินเดือนแตะหลัก 25,000 ขึ้นไป ครั้นจะสอบเป็นข้าราชการใหม่เพื่อรับเงินเดือน 15,000 บาท ก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดหนัก ยิ่งสำหรับคนอายุ 40 ปีขึ้นไปแล้ว การจะถอยกลับมาที่บันไดเงินเดือนขั้นแรกเพื่อรับสวัสดิการอย่างข้าราชการนั้น ยิ่งเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ เมื่อมองจากภาระครอบครัวที่ต้องแบกรับ ทำให้พนักงานราชการเป็นหนึ่งในกลุ่มครูที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเข้าใจเงื่อนไข

“แต่ละเหตุการณ์ แต่ละคน แต่ละเงื่อนไข ไม่เหมือนกันเลยสักคน ด้วยภาวะทางครอบครัว สิ่งแวดล้อมบริบทรอบตัว คนหนึ่งมีลูก คนหนึ่งไม่มีลูก คนหนึ่งมีพ่อแม่ต้องดูแล แต่คนหนึ่งไม่ต้องดูแล เราในฐานะคนดูแลเรื่องนี้เหมือนจะเป็นโรคซึมเศร้าเลย ฟังสถานการณ์ของแต่ละคนไม่รู้จะช่วยอย่างไร บางคน บ้านที่อยู่กำลังจะถูกยึด เขาจะมายึดแล้วๆ ก็พากันขนพ่อแม่หนีไป เป็นเหตุการณ์ที่ไม่น่าให้เกิด ไม่น่ามีแบบนี้ อยากให้กระทรวงจริงใจในการแก้ไขปัญหาของเราจริงๆ”

แก้วกล่าวถึงชีวิตการเป็นครูไว้คล้ายกับพลว่า ครูต้องแบกรับทั้งภาษีสังคม เช่น การจ่ายเงินค่าซองงานบุญ และมีบุคลิกภาพการแต่งตัวที่น่าเชื่อถือ ขณะเดียวกันครูก็ต้องแบกรับค่าครองชีพ เพราะครูเป็นข้าราชการที่ไม่มีที่พักให้ หรือถึงมีก็ทรุดโทรมจนไม่อาจใช้ชีวิตในนั้นได้จริง ยังไม่นับว่าถ้าครูอยากเลื่อนตำแหน่งเป็นครูชำนาญการ เป็นผู้อำนวยการ ก็ต้องขวนขวายไปเรียนปริญญาโทเพิ่ม สร้างผลงาน ในขณะที่เงินเดือนก็น้อยนิด ทางเดียวที่จะแก้ได้จึงเป็นการกู้สหกรณ์ฯ

“ปัญหาวนงูกินหาง ต้องแก้ที่ระบบ ไม่ใช่ให้ประชาชนยอมรับชะตากรรม” แก้วกล่าวสรุป  

4

ช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลเองรวมถึงสถาบันการเงินก็มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาหนี้ครู เช่นในปีที่ผ่านมา มีการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 70 แห่ง มีการปรับโครงสร้างหนี้มารวมหนี้ไว้ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯ ที่เดียว กําหนดให้สามารถหักเงินสวัสดิการ การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค) ในกลุ่มแรก (ร้อยละ 70 ของเงินเดือน) เพื่อให้สามารถใช้เงิน ช.พ.ค เป็นหลักประกันเงินกู้ได้

ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2566 คณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนฯ เคาะวงเงิน 200 ล้านบาท แก้วิกฤตหนี้สินครู ให้กู้ยืมคนละไม่เกิน 500,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าผู้กู้ยืมเงินทุนหมุนเวียนต้องมีหนี้สินที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เป็นหนี้เงินกู้ที่มีสัญญากู้ยืมเงินกับธนาคาร หรือสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสถาบันการเงินอื่นตามกฎหมาย หรือเป็นหนี้บัตรเครดิต หรือบัตรสินเชื่อเงินสด หรือเป็นหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันที่มีคำพิพากษา

โดยเปิดโอกาสให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่รับราชการมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี และไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ไม่เป็นผู้ที่ถูกฟ้องร้องคดีล้มละลาย หรือมีคำสั่งศาลให้พิทักษ์ทรัพย์ สามารถกู้ยืมเงินคนละไม่เกิน 500,000 บาท ในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี ผ่อนชำระคืนภายใน 12 ปี (144 งวด) โดยสามารถยื่นคำขอกู้ยืมได้ที่ต้นสังกัด ภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566

รวมถึงล่าสุด 2 พฤศจิกายน 2566 มีประกาศจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ เรื่องการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยให้รายงานต่อคณะรัฐมนตรีภายในพฤศจิกายน 2566

ทั้งนี้การโยนเงินลงไปหรือปรับเงื่อนไขกับสถาบันทางการเงิน อาจเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ในเบื้องต้น แต่รากของปัญหาที่แท้จริง มีเรื่องที่มากกว่าตัวเลขซ่อนอยู่ กล่าวคือเป็นเรื่องค่านิยม ความเชื่อ การสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานในชนบท ไปจนถึงการดึงให้ ‘ทุกคน’ อยู่บนเส้นคุณภาพชีวิตที่ดี โดยไม่ต้องมีใครแบกใครเกินจำเป็น ทั้งหมดนี้อาจต้องแก้ไปพร้อมกัน


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world