ลดช่องว่างพื้นที่ห่างไกล เพิ่มความใกล้ชิดชุมชน

ลดช่องว่างพื้นที่ห่างไกล เพิ่มความใกล้ชิดชุมชน

น้องรุจน์เดินหน้าตามฝันสู่ครูรัก(ษ์)ถิ่น
ลดช่องว่างพื้นที่ห่างไกล เพิ่มความใกล้ชิดชุมชน

“ท้องถิ่นของเราถ้าเราไม่พัฒนาแล้วใครจะมาพัฒนา ผมตั้งใจว่าหากเรียนจบจะกลับมาเป็นครูอยู่ที่บ้านเกิดของตัวเอง จะอยู่จนเกษียณที่นี่ ไม่ย้ายไปไหน จะอยู่เพื่อพัฒนาหมู่บ้านตัวเองจนกว่าจะประสบความสำเร็จด้วยมือของตัวเอง”

ความมุ่งมั่นตั้งใจของ น้องรุจน์-ธีรภัทร หลานสัน นักศึกษาครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี  ซึ่งผ่านการคัดเลือกได้เข้าร่วมโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ตั้งใจจะกลับมาสอนหนังสือที่ “เกาะกลาง” ต.คลองประสงค์ อ.เมือง จ.กระบี่

ชุมชนเกาะกลางเป็นพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยธรรมชาติและวิถีชีวิตของผู้คนที่เงียบสงบ ห่างไกลจากตัวเมือง คนในพื้นที่อยู่กันแบบพี่น้องรู้จักกันหมด แต่ด้วยความห่างไกลนี่เอง ทำให้ที่ผ่านมาครูต่างถิ่นที่ย้ายมาสอนหนังสือในพื้นที่เมื่อครบกำหนดเวลาก็มักจะขอย้ายออกไปสอนที่อื่น

 

การเดินทางที่ลำบากทำให้ครูย้ายบ่อย

น้องรุจน์ เล่าให้ฟังว่า สมัยที่เรียนอยู่ที่โรงเรียนบ้านคลองกำ ภาพที่เห็นก็คือเวลาครูจากจังหวัดอื่นย้ายมาบรรจุใหม่ที่โรงเรียนอยู่ได้ไม่นานก็ย้ายออกขอกลับไปสอนที่บ้านตัวเอง ดังนั้นตั้งแต่อยู่อนุบาลมาก็จะเห็นครูเปลี่ยนหน้ามาสอนไปเรื่อยๆ นานๆ ถึงจะมีสักคนที่รักพื้นที่ ผูกพันธ์กับชาวบ้านและอยู่จนเกษียณ     

ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะการเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล ครูที่มาจากพื้นที่อื่นมักจะเช่าบ้านในตัวเมือง การเดินทางมาสอนแต่ละครั้งจะต้องนั่งรถเครื่องมาที่ท่าเรือแล้วแล้วขนขึ้นเรือข้ามฟากมาที่เกาะ พอลงจากเรือก็ขี่รถเครื่องมาสอนที่โรงเรียนใช้เวลาเป็นชั่วโมง เพราะเรือข้ามฟากมีเป็นรอบๆ ไม่เหมือนโรงเรียนอื่นที่ขับรถมาจอดที่โรงเรียนแล้วขึ้นตึกสอนหนังสือได้เลย

 

คนในชุมชนอยู่กันแบบพี่แบบน้องเข้าใจวิถีชีวิต

จุดแข็งของความเป็นคนในพื้นที่ทำให้ น้องรุจน์ ซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนเกาะกลางอยู่แล้วเมื่อกลับมาเป็นครู ก็ไม่ต้องเดินทางไปกลับเหมือนคนอื่น ที่สำคัญการเป็นคนในชุมชนยังทำให้รู้จักกับชาวบ้านที่อยู่กันแบบพี่แบบน้องและยังเข้าใจวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของในชุมชน

ที่สำคัญ น้องรุจน์ มีความตั้งใจที่แน่วแน่ว่าอยากจะเป็นครูมาตั้งแต่เด็ก  เคยไปสอบถามจากรุ่นพี่ว่าถ้าอยากเป็นครูจะต้องทำอย่างไร รุ่นพี่ก็บอกว่าต้องตั้งใจเรียนทำเกรดเฉลี่ยให้ดีเพื่อจะได้สอบเข้าคณะครุศาสตร์ได้ ทำให้เขาตั้งใจเรียนเพื่อเดินตามความฝัน และรักษาเกรดเฉลี่ยได้ 3.48 จนจบชั้นมัธยมปลาย

เวลาว่างก็จะชวนน้องๆ หลานๆ มาสอนการบ้าน สอนวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาไทย ตั้งโจทย์คณิตศาสตร์ให้น้องๆ ไปทำ แล้วเราก็มาตรวจ มาอธิบาย เราก็มีความสุข เขาก็ได้ความรู้แล้วก็สนุกด้วย อย่างบางทีเราไม่ว่าง เขาก็จะมาถามน้าๆ ไม่มาสอนหนังสือแล้วหรือ

 

เรียนดี-กิจกรรมเด่น เพิ่มโอกาสทางการศึกษา

เส้นทางสู่ความเป็นครูของ น้องรุจน์ เกือบจะต้องสะดุด เพราะคุณแม่ซึ่งเป็นเสาหลักหาเลี้ยงคนทั้งครอบครัวไม่สามารถส่งให้เรียนต่อ ตั้งแต่ระดับมัธยมปลาย แต่ช่วงนั้น พอดีครูที่โรงเรียนมุสลิมวังทองวิทยา ซึ่งอยู่ในหมู่บ้านเขารู้ว่าน้องรุจน์เกรดเฉลี่ยดี มีความตั้งใจอยากเรียนแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ก็ช่วยไปประสานจนได้ทุนเรียนฟรี อยู่หอพักฟรี โดยต้องรักษาเกรดเฉลี่ยไม่ให้ตก และช่วยเหลือกิจกรรมโรงเรียน ที่ผ่านมา น้องรุจน์ ยังเป็นตัวแทนโรงเรียนไปคว้าแชมป์ 3 สมัยซ้อน ของจังหวัดกระบี่ ในการแข่งขันต่อคำศัพท์ภาษาไทย (คำคมเดิม) อีกด้วย

 

เดินตามฝันกลับมาเป็นครูพัฒนาบ้านเกิด

น้องรุจน์ เล่าให้ฟังว่า ช่วงใกล้จะเรียนจบม.ปลาย ก็คิดว่าอาจไม่ได้เรียนต่อแล้วโชคดีที่ได้ยินข่าวโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ของ กสศ. เราก็รีบไปรับใบสมัครที่อบต.ตั้งแต่วันแรกเลยเพราะกลัวใบสมัครหมด พอไปเข้าค่ายได้มีโอกาสไปดูงานที่อนุบาลสุราษฎร์ธานี ได้เห็นแผนการสอน การจัดห้องเรียน ยิ่งชอบอยากเป็นครูมากขึ้น

“ผมยิ่งมั่นใจว่าอยากเป็นครูจริงๆ  ถึงเขาจะบอกว่าเป็นนักศึกษาทุนแล้วต้องขยันเกรดต้องไม่ตก ต้องอยู่ในระเบียบ ต้องทำกิจกรรม แต่ผมมั่นใจว่าทำได้  มั่นใจว่าทำได้อยู่แล้ว ผมจะไม่ทำให้ความฝันที่อยากเป็นครูของผมต้องล่มสลาย จะตั้งใจเรียนกลับมาเป็นครูพัฒนาบ้านเกิดให้ได้” น้องรุจน์กล่าวทิ้งท้าย

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค